จงตามเรามา 2024
4–10 พฤศจิกายน: “ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า” มอรมอน 7–9


“4–10 พฤศจิกายน: ‘ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า’ มอรมอน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“4–10 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ โดย เดล คิลบอร์น

4–10 พฤศจิกายน: “ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า”

มอรมอน 7–9

โมโรไนรู้ว่าการอยู่คนเดียวในโลกที่ชั่วร้ายนั้นเป็นอย่างไร—โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากบิดาของเขาเสียชีวิตในการสู้รบและชาวนีไฟถูกทำลาย “ข้าพเจ้าแม้คงอยู่ผู้เดียว” เขาเขียน “ข้าพเจ้าไม่มีเพื่อนทั้งไม่มีที่จะไป” (มอรมอน 8:3, 5) สถานการณ์อาจดูเหมือนสิ้นหวัง แต่โมโรไนพบความหวังในพระเยซูคริสต์และประจักษ์พยานของเขาที่ว่า “จุดประสงค์อันเป็นนิรันดร์ของพระเจ้าจะดำเนินต่อไป” (มอรมอน 8:22) และโมโรไนรู้ว่าส่วนสำคัญของจุดประสงค์นิรันดร์เหล่านั้นคือพระคัมภีร์มอรมอน—บันทึกที่เวลานี้เขากำลังพยายามทำให้เสร็จสมบูรณ์ บันทึกที่วันหนึ่งจะนำคนมากมายมา “สู่ความรู้เรื่องพระคริสต์” (มอรมอน 8:16; 9:36) ศรัทธาของโมโรไนในคำสัญญาเหล่านี้ทำให้เขาประกาศต่อผู้อ่านพระคัมภีร์เล่มนี้ในอนาคตว่า “ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า” และ “ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านจะมีถ้อยคำของข้าพเจ้าอยู่กับท่าน” (มอรมอน 8:35; 9:30) เวลานี้เรามีถ้อยคำของเขา และงานของพระเจ้ากำลังดำเนินต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะมอรมอนและโมโรไนซื่อตรงต่อพันธกิจของพวกเขาแม้เมื่อพวกเขาอยู่โดดเดี่ยว

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

มอรมอน 7

“เชื่อในพระเยซูคริสต์” และ “ยึดมั่นในพระกิตติคุณ [ของพระองค์]”

หลังจากย่อบันทึกของผู้คนของเขาแล้ว มอรมอนให้ข่าวสารสรุปไว้ใน มอรมอน 7 ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงเลือกข่าวสารนี้? การ “ยึดมั่นในพระกิตติคุณของพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร? (มอรมอน 7:8)

ดู “ฉันเชื่อในพระคริสต์,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 57 ด้วย

มอรมอน 7:8–10; 8:12–16; 9:31–37

พระคัมภีร์มอรมอนมีค่าใหญ่หลวง

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันถามว่า “ถ้ามีคนมอบเพชรหรือทับทิม หรือ พระคัมภีร์มอรมอนให้ท่าน ท่านจะเลือกอย่างไหน พูดตามตรงคืออย่างไหน มี ค่าต่อท่านมากกว่า?” (“พระคัมภีร์มอรมอน: ชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระคัมภีร์เล่มนี้?,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 61)

ท่านพบอะไรใน มอรมอน 7:8–10; 8:12–22; และ 9:31–37 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจว่าเหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงมีค่าในยุคสมัยของเรา? เหตุใดจึงมีค่าต่อท่าน? ท่านอาจพบข้อคิดเพิ่มเติมใน 1 นีไฟ 13:38–41; 2 นีไฟ 3:11–12; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:16; 42:12–13

ภาพ
พระคัมภีร์มอรมอนในภาษาต่างๆ

งานเขียนของศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนประยุกต์ใช้กับเรา

มอรมอน 8:1–11

ฉันสามารถรักษาพระบัญญัติได้แม้เมื่อคนอื่นไม่รักษา

บางครั้งท่านอาจรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อท่านพยายามรักษาพระบัญญัติ ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของโมโรไนที่จะช่วยได้? (ดู มอรมอน 8:1–11) ถ้าท่านถามโมโรไนได้ว่าเขาซื่อสัตย์อยู่ได้อย่างไร ท่านคิดว่าเขาจะตอบว่าอย่างไร?

ดู “All May Know the Truth: Moroni’s Promise” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

มอรมอน 8:26–41; 9:1–30

พระคัมภีร์มอรมอนเขียนเพื่อยุคสมัยของเรา

พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้โมโรไนเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อพระคัมภีร์มอรมอนออกมา (ดู มอรมอน 8:34–35) ซึ่งนำเขาให้คำเตือนอย่างอาจหาญสำหรับยุคสมัยของเรา ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 8:26–41 และ 9:1–30 ให้ไตร่ตรองว่าถ้อยคำของเขาจะประยุกต์ใช้กับท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น ในข้อเหล่านี้โมโรไนถามคำถามทั้งหมด 24 ข้อ ท่านเห็นหลักฐานอะไรในคำถามเหล่านี้ที่ยืนยันว่าโมโรไนเห็นยุคสมัยของเรา? พระคัมภีร์มอรมอนจะช่วยเรื่องความท้าทายที่โมโรไนเห็นล่วงหน้าได้อย่างไร?

ฟังพระวิญญาณ จงเอาใจใส่ความคิดและความรู้สึกของท่าน แม้ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังอ่าน ความประทับใจเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ท่านมีความประทับใจอะไรบ้างหลังจากไตร่ตรองคำถามที่โมโรไนถามใน มอรมอน 9:1–30?

มอรมอน 9:1–25

ภาพ
ไอคอนเซมินารี
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์

โมโรไนสรุปข้อเขียนของบิดาด้วยข่าวสารอันทรงพลังสำหรับคนในยุคสมัยของเราที่ไม่เชื่อในปาฏิหาริย์ (ดู มอรมอน 8:26; 9:1, 10–11) เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าทุกวันนี้ต้องมีความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์? ค้นคว้า มอรมอน 9:9–11, 15–27 และ โมโรไน 7:27–29 และไตร่ตรองคำถามเช่น:

  • ฉันเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้?

  • ฉันเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน?

  • การเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์มีประโยชน์อย่างไร? อะไรคือผลของการไม่เชื่อในเรื่องนี้?

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์—ใหญ่และเล็ก—อะไรบ้างในชีวิตฉัน? ปาฏิหาริย์เหล่านี้สอนอะไรฉันเกี่ยวกับพระองค์?

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเราพระเยซูคริสต์จะทรงทำงานยิ่งใหญ่ที่สุดบางอย่างระหว่างเวลานี้และเมื่อพระองค์เสด็จมาอีกครั้ง เราจะเห็นข้อบ่งชี้อันน่าอัศจรรย์ว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ทรงควบคุมดูแลศาสนจักรนี้ในฤทธานุภาพและรัศมีภาพ” (“การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 96) ท่านรู้สึกว่าปาฏิหาริย์บางอย่างเหล่านี้น่าจะเป็นอะไร? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้พระผู้ช่วยให้รอดทำให้ปาฏิหาริย์สำเร็จ ?

ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับศรัทธาและปาฏิหาริย์จากประสบการณ์ของวิสุทธิชนในซามัว ตองกา ฟิจิ และตาฮีตีเมื่อประธานและซิสเตอร์เนลสันมาเยือนพวกเขา? (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระคริสต์ทรงฟื้น: ศรัทธาในพระองค์จะเคลื่อนภูเขา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 101–104)

ดู โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, “ดูเถิด! เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 109–112 ด้วย

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

มอรมอน 7:8–10

พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลต่างเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

  • เพื่อเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระคัมภีร์ไบเบิลกับพระคัมภีร์มอรมอนเหมือนที่โมโรไนเน้น ท่านจะเล่นเกมแบบนี้กับเด็ก: ขอให้พวกเขาพูดว่า “พันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่” เมื่อท่านชูพระคัมภีร์ไบเบิลและพูดว่า “พันธสัญญาอีกเล่มหนึ่ง” เมื่อท่านชูพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะเลือกหลายๆ เหตุการณ์ที่ทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานถึง—เช่น การประสูติ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู—และเชื้อเชิญให้เด็กหาภาพเหตุการณ์เหล่านี้ (ตัวอย่างใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ)

  • เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้หลักแห่งความเชื่อข้อแปด ท่านจะเขียนแต่ละคำลงในกระดาษแต่ละแผ่น ให้เด็กช่วยกันเรียงคำตามลำดับให้ถูกต้องและอ่านซ้ำหลายๆ ครั้ง

มอรมอน 8:1–7

ฉันสามารถรักษาพระบัญญัติแม้เมื่อฉันรู้สึกโดดเดี่ยว

  • แบบอย่างของโมโรไนจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแม้เมื่อพวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว หลังจากท่านอ่าน มอรมอน 8:1–7 กับพวกเขาแล้ว ให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าได้เป็นโมโรไน ใน ข้อ 1, 3, และ 4 โมโรไนได้รับบัญชาให้ทำอะไร และเขาเชื่อฟังอย่างไร? เราจะเป็นเหมือนโมโรไนมากขึ้นได้อย่างไร?

  • ท่านและเด็กอาจพูดคุยกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเลือกระหว่างถูกและผิดเมื่อไม่มีใครเห็น การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ช่วยเราได้อย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้? เพลงอย่างเช่น “ยืนหยัดความถูกต้อง” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 81) จะเสริมการสนทนานี้

มอรมอน 8:24–26; 9:7–26

พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์”

  • ท่านอาจจะต้องการอธิบายให้เด็กฟังว่าปาฏิหาริย์คือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อแสดงเดชานุภาพของพระองค์และเป็นพรแก่ชีวิตเรา จากนั้นท่านจะอ่านวลีต่างๆ จาก มอรมอน 9:11–13, 17 ที่พูดถึงปาฏิหาริย์บางอย่างของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นเด็กๆ จะนึกถึงปาฏิหาริย์อื่นๆ (ภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ เช่น ภาพที่ 26, 40, 41 และ83 จะช่วยได้) พูดคุยเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำในชีวิตท่าน

  • ให้เด็กดูสูตรอาหาร และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากท่านใส่ส่วนผสมที่จำเป็นไม่ครบถ้วน อ่าน มอรมอน 8:24 และ 9:20–21 ด้วยกันเพื่อหา “ส่วนผสม” ที่สามารถนำไปสู่ปาฏิหาริย์จากพระผู้เป็นเจ้า

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
โมโรไนมองดูความพินาศของชาวนีไฟ

Moroni Overlooking the Destruction of the Nephites [โมโรไนมองดูความพินาศของชาวนีไฟ] โดย โจเซฟ บริกคีย์