จงตามเรามา 2024
28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน: “ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ” มอรมอน 1–6


“28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน: ‘ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ’ มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
มอรมอนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

มอรมอนย่อแผ่นจารึก โดย ทอม โลเวลล์

28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน: “ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ”

มอรมอน 1–6

มอรมอนไม่ได้บันทึก “เรื่องราวไว้โดยครบถ้วน” ของ “ภาพอันน่าพรั่นพรึง” ของความชั่วร้ายและการนองเลือดที่เขาเห็นในบรรดาชาวนีไฟทั้งหมด (มอรมอน 2:18; 5:8) แต่สิ่งที่เขาบันทึกไว้ใน มอรมอน 1–6 มากพอจะเตือนสติเราว่าคนที่เคยชอบธรรมสามารถตกได้ไกลเพียงใด ท่ามกลางความชั่วร้ายที่แพร่ไปทั่ว ไม่มีใครตำหนิมอรมอนที่อ่อนล้าและท้อแท้ได้ แต่ด้วยทุกสิ่งที่เขาเห็นและประสบมา เขาไม่เคยสูญเสียสำนึกในพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าและความเชื่อมั่นของเขาที่ว่าการกลับใจเป็นวิธีได้รับพระเมตตานั้น และถึงแม้ผู้คนของมอรมอนเองปฏิเสธคำเชื้อเชิญแกมขอร้องของเขาให้กลับใจ แต่เขารู้ว่าเขามีผู้ฟังกลุ่มใหญ่กว่านั้นให้ชักชวน “ดูเถิด” เขาประกาศ “ข้าพเจ้าเขียนถึงทั่วสุดแดนแผ่นดินโลก” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เขาเขียนถึงท่าน (ดู มอรมอน 3:17–20) และข่าวสารของเขาถึงท่านวันนี้เป็นข่าวสารเดียวกับที่ได้ช่วยให้ชาวนีไฟรอดในยุคสมัยของพวกเขา นั่นคือ “เชื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ … กลับใจและเตรียมยืนอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของพระคริสต์” (มอรมอน 3:21–22)

ดู “Mormon Preserves the Record to Bring the House of Israel to Christ” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

มอรมอน 1–6

ภาพ
ไอคอนเซมินารี
ฉันสามารถติดตามพระเยซูคริสต์ไม่ว่าคนอื่นจะทำอะไร

ตอนที่อายุเพียง 10 ขวบ มอรมอนแตกต่างจากคนรอบข้างมาก ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 1–6 ให้มองหาด้านต่างๆ ที่ศรัทธาของมอรมอนในพระเยซูคริสต์ทำให้เขาไม่เหมือนใครและเปิดโอกาสให้เขาได้รับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่น ข้อต่อไปนี้อาจจะช่วยท่านเริ่ม:

มอรมอน 1:2–3, 13–17ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างมอรมอนกับผู้คนของเขา? เขามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่ช่วยให้เขาเข้มแข็งทางวิญญาณในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนั้น?

มอรมอน 2:18–19มอรมอนใช้คำพูดใดบรรยายโลกที่เขาอยู่? เขามีความหวังอยู่ได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น?

มอรมอน 3:12มอรมอนรู้สึกอย่างไรกับคนรอบข้าง? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาความรักแบบเดียวกับมอรมอน?

ข้อใดอีกบ้างใน มอรมอน 1–6 เน้นศรัทธาของมอรมอนในพระเยซูคริสต์? เขาได้รับโอกาสอะไรเพราะเขาเลือกซื่อสัตย์ต่อไป?

ท่านอาจจะศึกษาข่าวสารของประธานโธมัส เอส. มอนสันเรื่อง “จงเป็นแบบอย่างและแสงสว่าง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 86–88) โดยมองหาเหตุผลว่าทำไมจึงสำคัญผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ต้องโดดเด่นหรือแตกต่าง ท่านจะเติมประโยคทำนองนี้ให้สมบูรณ์ว่าอย่างไร? “ เป็นแบบอย่างให้ฉันเมื่อเขา [หรือเธอ] นี่ช่วยให้ฉันอยาก

มอรมอนอาจรู้สึกว่าแบบอย่างของเขาไม่ได้ทำให้ชีวิตผู้คนของเขาดีขึ้น หากท่านมีโอกาสพูดคุยกับมอรมอน ท่านจะบอกเขาอย่างไรว่าแบบอย่างของเขาทำให้ชีวิตท่านดีขึ้น?

ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ช่างสังเกต,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2006, 14–20; “Something Different about Us: Example” (วีดิทัศน์), Gospel Library; Gospel Topics, “Living the Gospel of Jesus Christ,” Gospel Library ด้วย

ช่วยผู้อื่นแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เมื่อผู้คนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ พวกเขากำลังเสริมสร้างศรัทธาของตนและศรัทธาของผู้อื่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122) ลองถามครอบครัวหรือชั้นเรียนว่าพวกเขามีประสบการณ์อะไรบ้างขณะศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
ชาวนีไฟกับชาวเลมันสู้รบกัน

การสู้รบ โดย จอร์จ ค็อคโค

มอรมอน 2:10–15

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านำฉันมาหาพระคริสต์และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืน

เมื่อมอรมอนเห็นโทมนัสของผู้คน เขาหวังว่าคนเหล่านั้นจะกลับใจ แต่ “โทมนัสของพวกเขาหาใช่เพื่อการกลับใจ” (มอรมอน 2:13)—ไม่ใช่ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นความเสียใจตามความประสงค์ของโลก เพื่อเข้าใจความแตกต่าง ท่านอาจจะบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้จาก มอรมอน 2:10–15 ลงในแผนผังลักษณะนี้:

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ความเสียใจตามความประสงค์ของโลก

มาหาพระเยซู (ข้อ 14)

สาปแช่งพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 14)

ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าความเสียใจของท่านเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือตามความประสงค์ของโลก? ถ้าท่านกำลังประสบความเสียใจตามความประสงค์ของโลก ท่านจะเปลี่ยนให้เป็นไปความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

ดู 2 โครินธ์ 7:8–11; มิเชลล์ ดี. เครก, “ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 52–55 ด้วย

มอรมอน 3:3, 9

“พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่าพระเจ้านั่นเองที่ทรงละเว้นพวกเขา”

มอรมอนสังเกตว่าชาวนีไฟไม่ยอมรับวิธีที่พระเจ้าประทานพรแก่พวกเขา ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 3:3, 9 ท่านจะไตร่ตรองว่าท่านกำลังยอมรับอิทธิพลของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่านอย่างไร พรใดเกิดขึ้นเมื่อท่านยอมรับอิทธิพลของพระองค์? อะไรคือผลของการไม่ยอมรับพระองค์? (ดู มอรมอน 2:26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:21)

ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “โอ้จงจำ จงจำไว้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 84–88 ด้วย

มอรมอน 5:8–24; 6:16–22

พระเยซูคริสต์ทรงยืนกางพระพาหุรับฉัน

หากท่านเคยรู้สึกท้อแท้กับบาปของตัวเอง คำบรรยายของมอรมอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยืน “กางพระพาหุรับท่านอยู่” จะให้ความมั่นใจแก่ท่านได้ ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 5:8–24 และ 6:16–22 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความรู้สึกของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูต่อท่าน แม้เมื่อท่านทำบาป? ท่านเคยรู้สึกว่าพระเยซูคริสต์ทรงกางพระพาหุให้ท่านอย่างไร? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรอันเนื่องจากความรู้สึกนี้?

ดู “มาหาพระเยซู,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 49 ด้วย

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

มอรมอน 1:1–3; 2:1, 23–24; 3:1–3, 12, 17–22

ฉันสามารถติดตามพระเยซูคริสต์เหมือนมอรมอน

  • เนื่องจากมอรมอนอายุน้อยมากตอนที่เขาพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์ เขาจึงสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กได้ ท่านอาจจะอ่าน มอรมอน 1:1–3 และให้เด็กฟังว่ามอรมอนอายุเท่าไรตอนที่แอมารอนให้ทำพันธกิจพิเศษ ท่านจะช่วยพวกเขาหาคุณสมบัติที่แอมารอนเห็นในมอรมอนในข้อเหล่านี้เช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้เราติดตามพระเยซูคริสต์อย่างไร?

    ภาพ
    มอรมอนเมื่อยังเด็ก

    มอรมอนวัย 10 ขวบ โดย สก็อตต์ เอ็ม. สโนว์

  • เพราะมอรมอนติดตามพระเยซูคริสต์ เขาจึงได้รับโอกาสให้รับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่น ท่านจะเชื้อเชิญให้เด็กอ่านข้อต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น และช่วยพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับมอรมอน: มอรมอน 1:1–3; 2:1, 23–24; และ 3:1–3, 12, 20–22 (ดู “บทที่ 49: มอรมอนและคำสอนของท่าน,” เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 138–142 ด้วย) มอรมอนได้ทำตามพระเยชูคริสต์อย่างไร? ศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์ช่วยหรือเป็นพรแก่ผู้อื่นอย่างไร? ศรัทธาของเราจะช่วยคนที่เรารู้จักได้อย่างไร?

มอรมอน 2:8–15

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านำฉันมาหาพระคริสต์และเกิดการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืน

  • ท่านอาจจะทำแผนผังเหมือนใน “แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์” เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความแตกต่างระหว่างความเสียใจตามความประสงค์ของโลกและความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในขณะที่เด็กอ่าน มอรมอน 2:8, 10–15 จากนั้นพวกเขาจะค้นคว้า มอรมอน 2:12 เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมการกลับใจควรทำให้ “ใจ [เรา] … ชื่นชมยินดี” เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความเสียใจที่เรารู้สึกต่อบาปจะนำเราให้แสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเปลี่ยนแปลง?

มอรมอน 3:3, 9

พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรมากมายแก่ฉัน

  • การเชื้อเชิญให้เด็กเขียน (หรือวาดรูป) บางสิ่งที่พวกเขารู้สึกขอบคุณอาจเป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้พวกเขารู้สึกสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ท่านจะอ่าน มอรมอน 3:3, 9 และอธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ประทานพรชาวนีไฟด้วย แต่พวกเขาไม่รับรู้ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงว่าเราขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับพรของเรา?

มอรมอน 3:12

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันรักทุกคน

  • ถึงแม้ชาวนีไฟจะชั่วร้าย แต่มอรมอนไม่เคยหยุดรักพวกเขา ช่วยเด็กหาคำว่า “รัก” และ “ความรัก” ใน มอรมอน 3:12 ท่านจะร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับการรักผู้อื่น เช่น “พระเยซูตรัสจงรักทุกคน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 39) ขณะให้ดูภาพเด็กๆ จากทั่วโลก เป็นพยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าต่อลูกๆ ทุกคนของพระองค์

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
แผ่นจารึกทองคำ

พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้ “เพื่อท่านจะเชื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” (มอรมอน 3:21)