การประชุมใหญ่สามัญ
ใจผูกพันกัน
การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2021


ใจผูกพันกัน

เมื่อท่านปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยใจเมตตากรุณา ห่วงใย และเห็นอกเห็นใจ ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะได้ยกแขนที่อ่อนล้าและเยียวยารักษาใจ

คำนำ

ไม่น่าอัศจรรย์หรอกหรือที่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญบางครั้งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เรียบง่ายเช่นแอปเปิลหล่นจากต้น?

วันนี้ข้าพเจ้าขอเล่าถึงการค้นพบที่เกิดขึ้นจากกลุ่มตัวอย่างของกระต่าย

ช่วงทศวรรษ 1970 นักวิจัยทำการทดลองเพื่อตรวจสอบผลกระทบของอาหารที่มีต่อสุขภาพหัวใจ ตลอดหลายเดือน นักวิจัยให้อาหารไขมันสูงแก่กระต่ายกลุ่มควบคุมและเฝ้าสังเกตความดันโลหิต ชีพจร และโคเลสเตอรอล

เป็นไปตามคาด กระต่ายหลายตัวแสดงให้เห็นไขมันสะสมเริ่มก่อตัวอยู่ด้านในหลอดเลือดแดง แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมด! นักวิจัยค้นพบบางสิ่งที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล แม้กระต่ายทุกตัวจะมีไขมันเริ่มก่อตัว แต่น่าแปลกใจที่กลุ่มหนึ่งมีน้อยกว่ากลุ่มอื่นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ราวกับว่านักวิจัยกำลังมองดูกระต่ายคนละกลุ่มกัน

สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ผลลัพธ์เช่นนี้อาจทำให้นอนไม่หลับได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? กระต่ายทุกตัวเป็นสายพันธุ์เดียวกันจากนิวซีแลนด์จากกลุ่มพันธุกรรมเดียวกัน แต่ละตัวได้รับอาหารชนิดเดียวกันในปริมาณเท่าๆ กัน

สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร?

ผลลัพธ์ดังกล่าวจะทำให้การศึกษาครั้งนี้ใช้ไม่ได้หรือไม่? มีข้อบกพร่องในการออกแบบการทดลองหรือเปล่า?

นักวิทยาศาสตร์ดิ้นรนหาวิธีทำความเข้าใจผลลัพธ์อันคาดไม่ถึงนี้!

ในที่สุด พวกเขาก็หันมาสนใจเจ้าหน้าที่ทีมวิจัย เป็นไปได้หรือไม่ที่นักวิจัยทำอะไรบางอย่างอันส่งผลต่อผลลัพธ์นั้น? เมื่อติดตามเรื่องนี้ พวกเขาค้นพบว่ากระต่ายทุกตัวที่มีไขมันสะสมต่ำอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิจัยคนเดียวกัน เธอให้อาหารกระต่ายเหมือนกับคนอื่นๆ ทุกคน แต่ตามที่นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งรายงาน “เธอเป็นคนใจดีและเอาใจใส่เป็นพิเศษ” เวลาเธอให้อาหารกระต่าย “เธอคุยกับกระต่าย กอดด้วยความรัก และลูบขนพวกมัน … เธออดใจไม่ได้ เธอเป็นของเธออย่างนั้นเอง”1

ภาพ
นักวิจัยใจดีกับกระต่าย

เธอทำมากกว่าการให้อาหารกระต่าย เธอให้ความรักพวกมัน!

ในแวบแรก เรื่องนี้ดูไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความแตกต่างมากมายขนาดนั้นได้ แต่ทีมวิจัยมองไม่เห็นความเป็นไปได้อื่น

ดังนั้นพวกเขาจึงทำการทดลองซ้ำ—คร้้งนี้ควบคุมตัวแปรทุกตัวอย่างเข้มงวด เมื่อพวกเขาวิเคราะห์ผลลัพธ์ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้น! กระต่ายภายใต้การดูแลของนักวิจัยที่ให้ความรักมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิทยาศาสตร์เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งนี้ในวารสารที่มีชื่อเสียงชื่อ Science2

หลายปีต่อมา การค้นพบจากการทดลองดังกล่าวยังดูเหมือนมีอิทธิพลในวงการแพทย์ ไม่กี่ปีก่อน ดร.เคลลี ฮาร์ดิงก์เผยแพร่หนังสือชื่อ The Rabbit Effect ซึ่งนำชื่อมาจากการทดลองนั้น ข้อสรุปของเธอคือ: “นำกระต่ายที่มีวิถีชีวิตไม่ดีต่อสุขภาพมา พูดคุยกับมัน กอดมัน ให้ความรักมัน … ความสัมพันธ์แบบนั้นสร้างความแตกต่าง … ในท้ายที่สุด” เธอสรุป “สิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราในวิธีที่มีความหมายที่สุดเกี่ยวข้องอย่างมากกับวิธีที่เราปฏิบัติต่อกัน วิธีที่เราดำเนินชีวิต และวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นมนุษย์”3

ในทางโลก สะพานที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับความจริงพระกิตติคุณบางครั้งดูเหมือนจะมีน้อยและห่างไกล แต่ในฐานะชาวคริสต์ ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ วิสุทธิชนยุคสุดท้าย—ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นี้อาจดูเหมือนเข้าใจได้ด้วยสัญชาตญาณมากกว่าน่าประหลาดใจ สำหรับข้าพเจ้า เรื่องนี้วางอิฐอีกก้อนในรากฐานแห่งความกรุณาในฐานะหลักธรรมพระกิตติคุณพื้นฐานที่รักษาเยียวยา—ซึ่งสามารถเยียวยาจิตใจทั้งทางอารมณ์ ทางวิญญาณ และแม้กระทั่งทางร่างกายดังที่อธิบายไป

ใจผูกพันกัน

เมื่อมีผู้ถามว่า “ท่านอาจารย์ … พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด?” พระผู้ช่วยให้รอดตรัสตอบว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน” ตามด้วย “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”4 พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดสนับสนุนหน้าที่จากสวรรค์ของเรา ศาสดาพยากรณ์ยุคโบราณท่านหนึ่งบัญชาว่า “ไม่ควรมีการขัดแย้งต่อกัน, แต่ว่า [เรา] ควรตั้งตารอ … โดยมี ใจ ของพวก [เรา] ผูกพันกัน ไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน”5 เราได้รับการสอนต่อไปว่า “อำนาจหรืออิทธิพล … จะธำรงไว้ได้ … โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, … โดยความกรุณา, …ปราศจากมารยา”6

ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลักธรรมนี้ประยุกต์ใช้ได้ทั่วไปกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคน: ผู้ใหญ่ เยาวชน และเด็ก

เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอพูดโดยตรงกับท่านที่เป็นเด็กปฐมวัยสักครู่

ท่านเข้าใจดีถึงความสำคัญของความมีใจเมตตากรุณา ท่อนคอรัสเพลงปฐมวัย “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” สอนว่า:

จงรักกันและกันดังเยซูรักท่าน

จงมั่นเมตตาในทุกสิ่งที่ท่านทำ

ทั้งความคิดและการกระทำรักและอาทร

เพราะเป็นสิ่งที่เยซูทรงสอน 7

กระนั้นท่านก็อาจยังมีช่วงเวลายากลำบากในบางครั้ง ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่อาจช่วยท่านได้ของเด็กชายปฐมวัยชื่อมินชาน คิม จากเกาหลีใต้ ครอบครัวเขาเข้าร่วมศาสนจักรประมาณหกปีก่อน

ภาพ
มินชาน คิม

“วันหนึ่งที่โรงเรียน เพื่อนร่วมชั้นบางคนกำลังล้อเลียนนักเรียนคนหนึ่งโดยเรียกเขาด้วยชื่อต่างๆ ดูท่าทางน่าสนุก สองสามสัปดาห์ต่อมาผมจึงผสมโรงด้วย

“หลายสัปดาห์ต่อมา เด็กคนนั้นบอกผมว่าแม้เขาจะทำเป็นไม่สนใจ แต่เขาเจ็บปวดกับคำพูดของเราและร้องไห้ทุกคืน ผมเกือบจะร้องไห้เมื่อเขาบอกผม ผมรู้สึกเสียใจมากและต้องการช่วย วันต่อมา ผมจึงเข้าไปหาเขาพร้อมกับโอบไหล่และขอโทษโดยพูดว่า ‘ฉันขอโทษจริงๆ ที่ล้อเลียนนาย’ เขาพยักหน้ารับรู้และน้ำตาคลอ

“แต่เด็กคนอื่นๆ ยังล้อเลียนเขาเหมือนเดิม เวลานั้นผมนึกถึงสิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนปฐมวัย เลือกสิ่งดี ผมจึงขอให้เพื่อนร่วมชั้นหยุด ส่วนมากเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงและโกรธผม แต่มีคนหนึ่งบอกว่าเขาเสียใจ และพวกเราสามคนกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

“แม้ยังมีบางคนล้อเลียนเขา แต่เขารู้สึกดีขึ้นเพราะเขามีเรา

“ผมเลือกสิ่งดีด้วยการช่วยเพื่อนที่เดือดร้อน”8

ภาพ
ภาพถ่ายมินชาน คิม

นี่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับท่านที่พากเพียรจะเป็นเหมือนพระเยซูมิใช่หรือ?

ทีนี้สำหรับเยาวชนชายและเยาวชนหญิง เมื่อท่านเติบโตขึ้น การล้อเลียนคนอื่นอาจก่ออันตรายร้ายแรงมากขึ้นไปอีก ทั้งภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และสิ่งที่ร้ายแรงกว่านี้มักมาคู่กับการกลั่นแกล้งรังแกกัน “แม้การกลั่นแกล้งรังแกกันจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีทำให้การกลั่นแกล้งรังแกยกระดับรุนแรงขึ้น กลายเป็นการคุกคามต่อเนื่องตลอดเวลา นั่นคือ—การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์”9

เห็นได้ชัดว่าปฏิปักษ์กำลังใช้สิ่งนี้ทำร้ายคนรุ่นท่าน ไม่มีที่ให้สิ่งนี้ในโลกไซเบอร์ ละแวกบ้าน โรงเรียน โควรัม หรือชั้นเรียนของท่าน ได้โปรดทำสุดความสามารถเพื่อให้สถานที่เหล่านี้มีเมตตากรุณาและปลอดภัยมากขึ้น ถ้าท่านมองดูอย่างนิ่งเฉยหรือมีส่วนร่วมในเรื่องแบบนี้ ข้าพเจ้ารู้ว่าไม่มีคำแนะนำใดดีไปกว่าคำแนะนำที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเคยให้ไว้:

“เมื่อมีความเกลียดชัง การนินทาว่าร้าย ความหมางเมิน การเย้ยหยัน ความเคืองแค้น หรือความประสงค์ร้าย โปรดทำดังนี้

“หยุดเถิด!”10

ท่านได้ยินไหม? หยุดเถิด! เมื่อท่านปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยใจเมตตากรุณา ห่วงใย และเห็นอกเห็นใจ แม้ทางดิจิทัล ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะได้ยกแขนที่อ่อนล้าและเยียวยารักษาใจ

ข้าพเจ้าพูดกับเด็กปฐมวัยและเยาวชนไปแล้ว ต่อไปนี้ขอพูดกับผู้ใหญ่ในศาสนจักรบ้าง เรามีความรับผิดชอบเบื้องต้นในการวางบรรยากาศและเป็นต้นแบบเรื่องความเมตตากรุณา การยอมรับทุกคน และความมีอัธยาศัยไมตรี—ในการสอนพฤติกรรมแบบพระคริสต์แก่อนุชนรุ่นหลังในสิ่งที่เราพูดและวิธีที่เราประพฤติตน สำคัญเป็นพิเศษเมื่อเราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเด่นชัดที่มุ่งไปสู่การแบ่งแยกทางการเมือง ชนชั้นทางสังคม และความแตกต่างด้านอื่นๆ แทบทุกเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนเราไว้เช่นกันว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่เพียงต้องมีใจเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น แต่ต่อทุกคนรอบข้างด้วย ท่านตั้งข้อสังเกตว่า: “บางครั้งข้าพเจ้าได้ยินเรื่องราวที่สมาชิกทำให้ผู้มีความเชื่ออื่นขุ่นเคืองด้วยการมองข้ามและกีดกันพวกเขาออกไป สิ่งนี้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในชุมชนที่สมาชิกเราเป็นชนกลุ่มใหญ่ ข้าพเจ้าได้ยินมาตลอดถึงเรื่องราวของบิดามารดาใจแคบที่สอนลูกๆ ไม่ให้เล่นกับเด็กบางคนในละแวกบ้านเพียงเพราะครอบครัวเขาไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักร ความประพฤติเช่นนี้ไม่เข้ากับคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมสมาชิกศาสนจักรบางคนจึงยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น … ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินสมาชิกของศาสนจักรนี้ได้รับการกระตุ้นให้ทำสิ่งใดนอกจากความรัก ความเมตตา ความอดกลั้น และความกรุณาต่อมิตรสหายและเพื่อนบ้านผู้มีความเชื่ออื่น”11

พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราสอนว่าการยอมรับทุกคนคือวิถีเชิงบวกสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันและการกีดกันนำไปสู่การแบ่งแยก

ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เราสลดใจเมื่อได้ยินว่ามีผู้ปฏิบัติไม่ดีต่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเพราะเชื้อชาติของพวกเขา เราใจสลายเมื่อได้ยินเรื่องการทำร้ายคนผิวดำ คนเอเชีย คนลาติน หรือคนกลุ่มอื่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ อคติ ความตึงเครียดทางเชื้อชาติ หรือความรุนแรงไม่ควรมีที่ในละแวกบ้าน ชุมชน หรือภายในศาสนจักรของเราเลย

ขอให้เราทุกคนไม่ว่าอยู่ในวัยใด จงพากเพียรเป็นคนที่ดีที่สุด

รักศัตรูของท่าน

ขณะท่านพากเพียรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก ความเคารพ และใจเมตตากรุณา แต่ท่านจะยังต้องเจ็บปวดหรือได้รับผลทางลบจากการเลือกที่ไม่ดีของคนอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วเราจะทำอย่างไร? เราจะทำตามพระดำรัสเตือนของพระเจ้าที่ว่า “จงรักศัตรูของท่าน … จงอธิษฐานเผื่อคนที่ทำร้ายท่าน”12

เราทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเอาชนะความยากลำบากที่ขวางทางเรา เราพากเพียรที่จะอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ สวดอ้อนวอนตลอดเวลาให้พระหัตถ์ของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ของเรา เราขอบพระทัยสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงวางไว้ในเส้นทางเราเพื่อช่วยเรา

ภาพ
ปาฏิหาริย์ที่ควินซี อิลลินอยส์

ข้าพเจ้าสะเทือนใจกับแบบอย่างของเรื่องนี้ในประวัติศาสนจักรของเรายุคแรกๆ ช่วงฤดูหนาวปี 1838 ซึ่งโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ ถูกกักขังอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้เมื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนในรัฐมิสซูรี วิสุทธิชนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้เพื่อน และทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากความหนาวเย็นและการขาดแคลนทรัพยากร ชาวเมืองควินซี อิลลินอยส์ เห็นสภาพอันลำบากน่าสิ้นหวังของคนเหล่านั้นจึงออกมาช่วยเหลือด้วยความเห็นใจและไมตรีจิต

ต่อมาแวนเดิล เมซ ชาวเมืองควินซี ได้เล่าถึงช่วงที่เขาเห็นวิสุทธิชนครั้งแรกในเต็นท์ชั่วคราวตามแนวฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปีว่า: “บางคนกางผ้าปูที่นอนเป็นที่กันลมเล็กๆ … เด็กๆ หนาวสั่นอยู่รอบกองไฟซึ่งช่วยอะไรไม่ได้มากนักเมื่อมีลมพัดมาอยู่ตลอดเวลา วิสุทธิชนที่น่าสงสารต้องทนทุกข์แสนสาหัส” 13

เมื่อเห็นสภาพของวิสุทธิชนเหล่านี้ ชาวเมืองควินซีต่างช่วยกันระดมความช่วยเหลือ บางคนถึงกับช่วยลำเลียงเพื่อนใหม่ของตนข้ามแม่น้ำไป เมซเล่าต่อว่า “[พวกเขา] บริจาคกันอย่างเผื่อแผ่ พวกพ่อค้าแม่ค้าแข่งกันเพื่อดูว่าใครจะเป็นยอดนักเผื่อแผ่ … ทั้ง … เนื้อหมู … น้ำตาล รองเท้าและเสื้อผ้า ทุกสิ่งที่ผู้ถูกขับไล่ที่น่าสงสารต้องการอย่างมาก”14 ไม่นานผู้อพยพก็มีจำนวนมากกว่าชาวเมืองควินซีผู้เปิดบ้านแบ่งปันทรัพยากรอันน้อยนิดให้ด้วยความเสียสละส่วนตัวอันยิ่งใหญ่15

วิสุทธิชนหลายคนรอดตายจากฤดูหนาวอันโหดร้ายได้เพียงเพราะความเห็นอกเห็นใจและความเอื้อเฟื้อของชาวเมืองควินซี เทพบนแผ่นดินโลกเหล่านี้เปิดใจและเปิดบ้าน นำอาหารประทังชีวิต ความอบอุ่น และ—สิ่งที่อาจสำคัญที่สุดคือ—มือแห่งมิตรภาพมาให้แก่วิสุทธิชนที่ทุกข์ทรมาน แม้วิสุทธิชนจะอยู่ในเมืองควินซีไม่นาน แต่พวกเขาไม่เคยลืมบุญคุณของเพื่อนบ้านผู้เป็นที่รักเหล่านั้น และเมืองควินซีกลายเป็นที่รู้จักในนาม “เมืองลี้ภัย”16

เมื่อความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นกับเราจากวิกฤตการณ์ เรื่องร้าย แม้แต่การกระทำที่ใจร้าย เราสามารถเลือกที่จะหวังในพระคริสต์ได้ ความหวังนี้มาจากพระดำรัสเชิญและคำสัญญาที่ว่า “จงรื่นเริงเถิด, เพราะเราจะนำทางเจ้าไป”17 และว่าพระองค์จะทรงอุทิศความทุกข์ของท่านให้เป็นพรของท่าน18

พระเมษบาลผู้ประเสริฐ

ขอให้เราจบตรงที่เราเริ่ม: ผู้ดูแลสัตว์คนหนึ่งที่มีการุณยธรรม ปฏิบัติในความเมตตากรุณาด้วยวิญญาณบำรุงเลี้ยง และพบผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง—คือการเยียวยาจิตใจสัตว์ที่เธอทำหน้าที่ดูแล ทำไม? เพราะเธอเป็นของเธออย่างนั้นเอง!

เมื่อเรามองผ่านเลนส์พระกิตติคุณ เรารับรู้ว่าเราเช่นกันที่อยู่ภายใต้การเฝ้าดูแลของผู้ดูแลที่ทรงมีการุณยธรรม ผู้ทรงปฏิบัติต่อผู้อื่นในความเมตตากรุณาและวิญญาณบำรุงเลี้ยง พระเมษบาลผู้ประเสริฐทรงรู้จักชื่อเราแต่ละคนและสนพระทัยเราเป็นการส่วนพระองค์19 พระเจ้าพระเยซูคริสต์พระองค์เองตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี เรารู้จักแกะของเรา … และเรา [จะ] สละชีวิตเพื่อฝูงแกะ”20

ภาพ
ค้นหาลูกแกะที่หายไป

ในสุดสัปดาห์อีสเตอร์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ ข้าพเจ้าพบสันติสุขตลอดกาลในความรู้ที่ว่า “พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ”21 และทรงรู้จักเราแต่ละคน และเราอยู่ภายใต้การเฝ้าดูแลด้วยพระเมตตากรุณาของพระองค์ เมื่อเราปะทะลมและพายุฝนของชีวิต ความป่วยไข้และการบาดเจ็บ พระเจ้า—พระเมษบาลของเรา พระองค์ผู้ทรงดูแลเรา—จะทรงบำรุงเลี้ยงเราด้วยความรักและพระเมตตากรุณา พระองค์จะทรงเยียวยาจิตใจและฟื้นฟูจิตวิญญาณเรา

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงสิ่งนี้—และถึงพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา—ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู Kelli Harding, The Rabbit Effect (2019), xxiii–xxiv.

  2. ดู Robert M. Nerem, Murina J. Levesque, and J. Frederick Cornhill, “Social Environment as a Factor in Diet-Induced Atherosclerosis,” Science vol. 208, no. 4451 (June 27, 1980): 1475–76.

  3. Harding, The Rabbit Effect, xxiv, xxv.

  4. ดู มัทธิว 22:36–39.

  5. โมไซยาห์ 18:21; เน้นตัวเอน.

  6. หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–42.

  7. “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41.

  8. ดัดแปลงจาก Minchan K., “The Apology,” Friend, Jan. 2020, 35.

  9. Frances Dalomba, “Social Media: The Good, the Bad, and the Ugly,” Lifespan, lifespan.org.

  10. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,”เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 75.

  11. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “คำสอนแห่งการยอมรับทุกคน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 47.

  12. ลูกา 6:27–28.

  13. Wandle Mace autobiography, circa 1890, typescript, 32–33, Church History Library, Salt Lake City.

  14. Wandle Mace autobiography, 33; ปรับตัวสะกดและตัวพิมพ์ตามมาตรฐาน.

  15. ดู Richard E. Bennett, “‘Quincy—the Home of Our Adoption’: A Study of the Mormons in Quincy, Illinois, 1838–40,” Mormon Historical Studies, vol. 2, no. 1 (Spring 2001), 110–111.

  16. ดู Susan Easton Black, “Quincy–A City of Refuge,” Mormon Historical Studies, vol. 2, no. 1 (Spring 2001), 83–94.

  17. หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:18.

  18. ดู 2 นีไฟ 2:2.

  19. ดู James E. Talmage, Jesus the Christ (1916), 417.

  20. ยอห์น 10:14, 15.

  21. สดุดี 23:1.