ความช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาครู
ประสบการณ์การเรียนรู้ 11: การตัดสินใจว่าจะสอนอย่างไร: ช่วยนักเรียนทำให้บทบาทของตนเกิดสัมฤทธิผล


ประสบการณ์การเรียนรู้ 11

การตัดสินใจว่าจะสอนอย่างไร: ช่วยนักเรียนทำให้บทบาทของตนเกิดสัมฤทธิผล

สาระโดยสังเขป

ประสบการณ์การเรียนรู้นี้ครอบคลุมแนวคิดต่อไปนี้

  • การตัดสินใจว่าจะสอน อย่างไร

  • การเข้าใจบทบาทของนักเรียนในการเรียนรู้

  • การช่วยนักเรียนทำให้บทบาทของตนเกิดสัมฤทธิผล

ภาพ
ตาชั่งที่สมดุล

แนวคิดหลัก

ขณะที่ท่านเตรียมบทเรียน สำคัญที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการตัดสินใจว่าจะสอน อะไร กับสอน อย่างไร

ในประสบการณ์การเรียนรู้ 10 ท่านเรียนรู้วิธีใช้หลักสูตรเมื่อตัดสินใจว่าจะสอน อะไร ในช่วงพระคัมภีร์ เวลานี้ท่านพร้อมจะตัดสินใจแล้วว่าจะสอนนักเรียนของท่าน อย่างไร

บทบาทของนักเรียนในกระบวนการเรียนรู้

หากนักเรียนต้องประสบการเติบโตทางวิญญาณ ท่านจะต้องเข้าใจบทบาทของพวกเขาในกระบวนการเรียนรู้และเตรียมกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้พวกเขาทำบทบาทของตนอย่างกระตือรือร้น

ตลอดประสบการณ์การเรียนรู้นี้ ให้บันทึกการดลใจหรือแนวคิดที่ท่านได้รับเพื่อช่วยนักเรียนทำให้บทบาทของตนในการกระบวนการเรียนรู้เกิดสัมฤทธิผล

กิจกรรมหนังสือคู่มือการสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ

ภาพ
ปกหนังสือคู่มือ

ศึกษา หัวข้อ 1.3.3 (หน้า 6–7) และสามย่อหน้าแรกของ หัวข้อ 4.3.4 (หน้า 55) ของ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา (2012) ขณะอ่าน ให้มองหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • อะไรคือบทบาทของนักเรียนในกระบวนการเรียนรู้

  • ท่านรู้สึกว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านจะทำได้เพื่อช่วยนักเรียนของท่านทำให้บทบาทของตนเกิดสัมฤทธิผล

จดคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาหรืออีกที่หนึ่งที่ท่านสามารถเปิดอ่านและแบ่งปันกับหัวหน้าหรือกลุ่มนิเทศของท่านได้

คำแนะนำของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับบทบาทของนักเรียน

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หลายท่านเน้นความสำคัญของการช่วยนักเรียนทำให้บทบาทของตนในกระบวนการเรียนรู้เกิดสัมฤทธิผล

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “คำสอนของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับบทบาทของนักเรียนในการเรียนรู้” (4:14) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ผู้นำศาสนจักรหลายท่านเป็นพยานถึงความสำคัญของบทบาทของนักเรียนในกระบวนการเรียนรู้

การใคร่ครวญส่วนตัว

นึกถึงเวลาที่ครูของชั้นที่ท่านเข้าเรียนได้เตรียมกิจกรรมให้ท่านมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ตอนนี้ให้นึกถึงเวลาที่ครูไม่ได้ให้สมาชิกชั้นเรียนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เปรียบเทียบประสบการณ์ทั้งสอง

  • เกิดความแตกต่างอะไรเมื่อเชื้อเชิญให้ท่านและคนอื่นๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้

  • ครูทำอะไรเพื่อช่วยท่านทำให้บทบาทผู้เรียนของท่านเกิดสัมฤทธิผล

จดคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาหรืออีกที่หนึ่งที่ท่านสามารถเปิดอ่านและแบ่งปันกับหัวหน้าหรือกลุ่มนิเทศของท่านได้

ภาพ
นักเรียนในห้องเรียนศาสนจักร

การช่วยนักเรียนทำให้บทบาทของตนเกิดสัมฤทธิผล

นักเรียนสามารถทำให้บทบาทของพวกเขาในการเรียนพระกิตติคุณเกิดสัมฤทธิผลเมื่อท่านเชื้อเชิญให้พวกเขา อธิบาย แบ่งปัน และ เป็นพยาน ถึงหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ การอธิบาย แบ่งปัน และเป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณทำให้ความเข้าใจของนักเรียนกระจ่างชัด ปรับปรุงความสามารถของพวกเขาในการสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น และเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาในสิ่งที่พวกเขากำลังแสดงออก (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ หัวข้อ 2.6 [หน้า 31–33])

  • นักเรียนสามารถ อธิบาย ข้อความพระคัมภีร์หรือหลักธรรมด้วยคำพูดของตนเอง ท่านสามารถเชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายเป็นคู่ ในกลุ่มเล็ก หรือกับนักเรียนทั้งชั้นผ่านการแสดงบทบาทสมมติ หรือในการเขียน

  • นักเรียนสามารถ แบ่งปัน ข้อคิด ประสบการณ์ หรือความรู้สึกเกี่ยวกับพระคัมภีร์หรือหลักธรรม ท่านสามารถเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความรู้สึกหรือประสบการณ์ส่วนตัวที่เหมาะสมซึ่งพวกเขาเคยมีกับหลักคำสอนหรือหลักธรรม พวกเขาสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยพบเห็นในชีวิตผู้อื่นได้เช่นกัน อาจจะด้วยวาจาหรือการเขียน

  • นักเรียนสามารถ เป็นพยาน ถึงหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขารู้ว่าเป็นความจริง ท่านสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขาเป็นพยานถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกและรู้ว่าเป็นความจริง และความแตกต่างที่เกิดขึ้นในชีวิตพวกเขา นักเรียนไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยการพูดว่า “ผมต้องการแสดงประจักษ์พยาน” หรือ “ดิฉันรู้” การกล่าวถ้อยคำที่แสดงความเชื่อมั่นหรือคำพยานส่วนตัวถึงความจริงคือการเป็นพยาน

การมีส่วนร่วมยกระดับการเรียนรู้

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “อธิบาย แบ่งปัน และเป็นพยาน: ประจักษ์พยานของนักเรียน” (2:28) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ นักเรียนพูดถึงการทำให้บทบาทของตนเกิดสัมฤทธิผลขณะอธิบาย แบ่งปัน และเป็นพยานในเซมินารี

ห้องเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “ห้องเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง: ตัวอย่าง” (6:51) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ซิสเตอร์เวลเลอร์ช่วยนักเรียนทำให้บทบาทในการเรียนรู้จากพระคัมภีร์เกิดสัมฤทธิผล ดูว่าเธอบรรลุจุดประสงค์นี้อย่างไร

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “ห้องเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง: ภาพสะท้อนของครู” (3:01) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ซิสเตอร์พาร์คพูดถึงความสำคัญของการช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้

กิจกรรมคู่มือครู

แต่ละบทในคู่มือครูมีคำถาม กิจกรรม และวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นขณะเรียนจากพระคัมภีร์ เปิดคู่มือครูของท่านไปที่บทใดก็ได้หรือใช้เอกสารชื่อ “ตัวอย่างบทเรียน—3 นีไฟ 11:1-17” ซี่งมีอยู่ในภาคผนวกของคู่มือเล่มนี้ มองหาคำถาม กิจกรรม และวิธีที่ท่านจะใช้เชื้อเชิญนักเรียนให้ทำบทบาทในกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดสัมฤทธิผล

จดคำถามสองสามข้อ กิจกรรม หรือวิธีที่ท่านพบลงในสมุดบันทึกการศึกษาหรืออีกที่หนึ่งที่ท่านสามารถเปิดอ่านและแบ่งปันกับหัวหน้าหรือกลุ่มนิเทศของท่านได้

การสอนนักเรียนให้รู้บทบาทของตน

นักเรียนจะมีส่วนร่วมเต็มที่มากขึ้นเมื่อพวกเขาเข้าใจบทบบาทของตนในการเรียนรู้พระกิตติคุณ หนึ่งในบทเรียนแรกๆ ในคู่มือครูเซมินารีส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอนนักเรียนให้รู้บทบาทของตน ทบทวนบทที่ 1 “บทบาทของผู้เรียน” ใน พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครูเซมินารี พอสังเขปและพิจารณาว่าท่านจะใช้หลักธรรมจากบทเรียนได้อย่างไรขณะที่ท่านสอนนักเรียนเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในกระบวนการเรียนรู้

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การสอนนักเรียนให้รู้บทบาทของตน” (6:27) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ บราเดอร์เฮาเวลล์สอนนักเรียนเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาเมื่อเริ่มปีการศึกษา

จดแนวคิดบางอย่างที่ท่านต้องการใช้ขณะสอนนักเรียนเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาเมื่อเริ่มปีการศึกษาและตลอดปี จดแนวคิดของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาหรืออีกที่หนึ่งที่ท่านสามารถเปิดอ่านและแบ่งปันกับหัวหน้าหรือกลุ่มนิเทศของท่านได้

สรุปและการประยุกต์ใช้

หลักธรรมที่พึงจดจำ

  • ท่านสามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ยอมรับ และทำให้บทบาทในการเรียนรู้พระกิตติคุณเกิดสัมฤทธิผล

  • สำคัญที่ท่านต้องสอนนักเรียนเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในการเรียนรู้พระกิตติคุณเมื่อต้นปีการศึกษาหรือตลอดปี

  • ท่านสามารถช่วยนักเรียนทำให้บทบาทในกระบวนการเรียนรู้เกิดสัมฤทธิผลโดยเชื้อเชิญให้พวกเขาอธิบาย แบ่งปัน และเป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรม

  • คู่มือครูสามารถช่วยท่านเตรียมกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“การตัดสินใจ [ของนักเรียน] ว่าจะมีส่วนร่วมเป็นการใช้สิทธิ์เสรีที่ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อข่าวสารส่วนตัวที่เหมาะกับความต้องการของพวกเขาแต่ละคน การสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมยกระดับความเป็นไปได้ว่าพระวิญญาณจะทรงสอนบทเรียนที่สำคัญเกินกว่าท่านจะสื่อสารได้

“การมีส่วนร่วมดังกล่าวจะนำการชี้ทางของพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตพวกเขา” (ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “To Learn and to Teach More Effectively” [Education Week devotional, Aug. 21, 2007], 4–5, speeches.byu.edu

“ฉะนั้น เราต้องทำอะไร”

เพื่อสรุปประสบการณ์การเรียนรู้นี้ ให้จดบางสิ่งที่ท่านจะทำโดยยึดหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้วันนี้