คู่มือและการเรียก
7. ฝ่ายอธิการ


“7. ฝ่ายอธิการ” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“7. ฝ่ายอธิการ” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ภาพ
ชายคนหนึ่งกำลังพูดที่แท่นพูด

7.

ฝ่ายอธิการ

7.1

อธิการและที่ปรึกษา

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อเป็นผู้นำในงานของศาสนจักรในวอร์ด (ดู 3.4.1) เขากับที่ปรึกษาประกอบกันเป็นฝ่ายอธิการ พวกเขาได้รับการนำทางจากฝ่ายประธานสเตค ฝ่ายอธิการดูแลสมาชิกวอร์ดด้วยความรักโดยช่วยให้คนเหล่านั้นเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ (ดู โมโรไน 7:48)

อธิการและที่ปรึกษาเป็นมหาปุโรหิต หากพวกเขาไม่ได้เป็นมหาปุโรหิตในเวลาที่ได้รับการเรียก พวกเขาควรได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตก่อนรับการวางมือมอบหน้าที่ให้รับใช้

อธิการมีหน้าที่รับผิดชอบหลักห้าประการ:

  • เป็นมหาปุโรหิตควบคุมในวอร์ด

  • เป็นประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

  • เป็นผู้พิพากษาใหญ่

  • ประสานงานแห่งความรอดและความสูงส่ง รวมทั้งการดูแลคนขัดสน

  • สอดส่องดูแลบันทึก การเงิน และการใช้อาคารประชุม

เพราะอธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตเขาจึงมีสิทธิ์รับการเปิดเผยสำหรับวอร์ด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:11) ด้วยเหตุนี้หน้าที่รับผิดชอบบางอย่างจึงเป็นของอธิการแต่ผู้เดียว หน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวอธิบายไว้ในบทนี้

หน้าที่รับผิดชอบอันดับแรกของอธิการคือดูแลคนรุ่นใหม่ในวอร์ด (เด็ก เยาวชน และหนุ่มสาวโสด) อธิการมอบหมายงานมากมายให้คนอื่นทำแทนเพื่อเขาจะสามารถจดจ่ออยู่กับหน้าที่รับผิดชอบนี้ได้ (ดู 4.2.5) เขาอาจมอบหมายให้ที่ปรึกษา พนักงานและผู้ช่วยพนักงาน เลขาธิการ ผู้นำโควรัม ผู้นำองค์การ และคนอื่นๆ ทำแทน

หากอธิการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของตนได้ ที่ปรึกษาจะทำแทนชั่วคราว ยกเว้นที่ระบุไว้ในคู่มือนี้ อธิการหรือที่ปรึกษาของเขาปรึกษากับประธานสเตคหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับที่ปรึกษาผู้ทำหน้าที่แทนอธิการ

7.1.1

มหาปุโรหิตควบคุม

อธิการเป็นผู้นำทางวิญญาณอันดับแรกของวอร์ด เขาเป็นแบบอย่างโดยรับใช้ “ด้วยใจอันบริสุทธิ์” (โมไซยาห์ 18:12) เขาสอน หนุนใจ และสร้างแรงบันดาลใจ (ดู มัทธิว 20:28) เขาทำตามหลักธรรมของการเป็นผู้นำใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46

อธิการเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ เขาซื่อตรงต่อพันธสัญญาของเขา เขาภักดีต่อภรรยาและครอบครัว เขาเป็นแบบอย่างของความชอบธรรมสำหรับครอบครัว วอร์ด และชุมชนของเขา (ดู 1 ทิโมธี 3:2–7) ที่ปรึกษาของอธิการเป็นผู้มีอุปนิสัยคล้ายกัน

อธิการให้แนวทางและคำปรึกษากับผู้นำคนอื่นๆ ในวอร์ด เขากระตุ้นให้คนเหล่านั้นทำหน้าที่รับผิดชอบของตน

7.1.1.1

องค์การวอร์ดและโควรัมฐานะปุโรหิต

อธิการมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลองค์การสมาคมสงเคราะห์วอร์ดและองค์การเยาวชนหญิงวอร์ด เขามอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ที่ปรึกษาดูแลองค์การโรงเรียนวันอาทิตย์ องค์การปฐมวัย และโปรแกรมอื่นๆ ของวอร์ด (ดู 9.3.1, 11.3.1, 12.3.1 และ 13.2.1)

หน้าที่รับผิดชอบของอธิการต่อโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนระบุไว้ใน 7.1.2 หน้าที่รับผิดชอบของอธิการต่อโควรัมเอ็ลเดอร์ระบุไว้ใน 8.3.1

อธิการแนะแนวประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ในการสอดส่องดูแลการปฏิบัติศาสนกิจด้วย เขาประชุมกับประธานทั้งสองพร้อมกันอย่างน้อยไตรมาสละครั้งเพื่อดูแลความต้องการของบุคคลและครอบครัว (ดู 21.2)

7.1.1.2

ศาสนพิธีและการให้พร

อธิการกำกับดูแลการปฏิบัติศาสนพิธีและการให้พรต่อไปนี้ในวอร์ด:

  • ศีลระลึก

  • การตั้งชื่อและให้พรเด็ก

  • บัพติศมาและการยืนยันเด็กในบันทึกอายุ 8 ขวบ (ดู 38.2.8.1 สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา; ดู 31.2.3.2 สำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส)

  • การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน และปุโรหิต

ดูข้อมูลเกี่ยวกับศาสนพิธีและการให้พรใน บทที่ 18

7.1.1.3

สภาและการประชุมต่างๆ

อธิการนำสภาวอร์ดและสภาเยาวชนวอร์ด (ดู 29.2.5 และ 29.2.6) เขาใช้สภาเหล่านี้ช่วยประสานงานแห่งความรอดและความสูงส่งในวอร์ด เขามอบหมายงานส่วนใหญ่นี้และติดตามงานมอบหมาย (ดู 4.2.5)

อธิการเชื้อเชิญให้ผู้นำปรึกษากันเกี่ยวกับวิธีสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณและความเป็นหนึ่งเดียวกันในวอร์ด เขากระตุ้นให้สมาชิกสภาทุกคนแสวงหาการดลใจและมีส่วนร่วมในการสนทนา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122; ดู 4.4 ในคู่มือนี้ด้วย)

ฝ่ายอธิการวางแผนการประชุมศีลระลึกและการประชุมอื่นๆ ของวอร์ดดังระบุไว้ใน บทที่ 29 อธิการเป็นประธานที่การประชุมต่างๆ ของวอร์ดเว้นแต่สมาชิกในฝ่ายประธานสเตค สาวกเจ็ดสิบภาคในภาคของเขา หรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วม ที่ปรึกษาของอธิการจะดำเนินการประชุม พวกเขาเป็นประธานในที่ประชุมด้วยหากอธิการไม่อยู่

7.1.1.4

การเรียกและการปลดให้พ้นจากหน้าที่

หน้าที่รับผิดชอบของอธิการต่อการเรียกและการปลดให้พ้นจากหน้าที่ระบุไว้ใน บทที่ 30 อธิการอาจมอบหมายให้ที่ปรึกษาให้การเรียกและการปลดให้พ้นจากหน้าที่ดังระบุไว้ใน 30.8

ภาพ
ชายหญิงจับมือทักทายกัน

7.1.2

ประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

“ฝ่ายอธิการเป็นประธานควบคุม ฐานะปุโรหิต [แห่งอาโรน], และถือกุญแจหรือสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตดังกล่าว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:15; ดู ข้อ 20 ด้วย) อธิการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อไปนี้ในฐานะประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในวอร์ด ที่ปรึกษาช่วยเหลือเขา

  • สนับสนุนบิดามารดาในการสอนเยาวชน ช่วยให้เยาวชนรับใช้อย่างซื่อสัตย์ ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ และเตรียมรับศาสนพิธีของพระวิหาร ช่วยเยาวชนชายเตรียมรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตและรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา หากเยาวชนหญิงปรารถนาจะรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา อธิการช่วยพวกเธอเตรียม โปรแกรมเด็กและเยาวชนจะช่วยในความพยายามเหล่านี้ (ดู ChildrenandYouth.ChurchofJesusChrist.org).

  • สอดส่องดูแลโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง อธิการเป็นประธานของโควรัมปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:87–88) ที่ปรึกษาที่หนึ่งของเขามีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโควรัมผู้สอน ที่ปรึกษาที่สองมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโควรัมมัคนายก ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็นผู้นำโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนใน 10.3, 10.4 และ 10.5

  • ปรึกษากับประธานเยาวชนหญิงวอร์ด อธิการไม่มอบหมายงานนี้ให้ที่ปรึกษาทำแทน เขาและที่ปรึกษาเข้าร่วมการประชุม การรับใช้ และกิจกรรมต่างๆ ของเยาวชนหญิงเป็นประจำ (ดู 11.3.1)

  • พบกับเยาวชนแต่ละคนเป็นประจำ ดูแนวทางเกี่ยวกับการพบกันเหล่านี้ใน 31.3.1

  • สนับสนุนครอบครัวตลอดจนผู้นำและครูปฐมวัยในการพยายามช่วยเด็กๆ ทำและรักษาพันธสัญญา (ดู บทที่ 12)

7.1.3

ผู้พิพากษาใหญ่

อธิการเป็นผู้พิพากษาใหญ่ในวอร์ด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:71–74) เขาพยายามทำตามแบบอย่างการเป็นผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 3 นีไฟ 27:27) เขามีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:

  • ช่วยให้เยาวชนและผู้ใหญ่มีคุณสมบัติและมีค่าควรถือใบรับรองพระวิหาร

  • ดำเนินการสัมภาษณ์ตามที่ระบุไว้ใน 31.2 เขาอาจมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาดำเนินการสัมภาษณ์บางอย่าง (ดู 31.2.2) ดูแนวทางใน 31.1

  • พบกับสมาชิกวอร์ดผู้แสวงหาการชี้นำทางวิญญาณ มีปัญหาหนักหน่วงส่วนตัว หรือทำบาปร้ายแรง โดยช่วยให้สมาชิกดึงเดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์มาใช้ อธิการอาจขอให้ที่ปรึกษาของเขา ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ ประธานสมาคมสงเคราะห์ และคนอื่นๆ พบกับสมาชิกวอร์ดเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่อง แต่เฉพาะอธิการพบกับสมาชิกวอร์ดเกี่ยวกับเรื่องของความมีค่าควร การกระทำทารุณกรรม และการอนุมัติให้ใช้เงินบริจาคอดอาหาร ดูแนวทางใน 31.1

  • จัดสภาสมาชิกภาพเมื่อจำเป็นภายใต้การกำกับดูแลของประธานสเตค ดูแนวทางใน บทที่ 32

7.1.4

การประสานงานแห่งความรอดและความสูงส่ง

อธิการประสานงานแห่งความรอดและความสูงส่งในวอร์ด (ดู บทที่ 1) ที่ปรึกษาของเขาและผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ ช่วยเหลือเขา

อธิการช่วยให้สมาชิกดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เขาช่วยสมาชิกเสริมสร้างศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:29) เขาสอนให้สมาชิกสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์ เขาเชื้อเชิญให้สมาชิกทำพันธสัญญาโดยรับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง เขากระตุ้นให้สมาชิกรักษาพันธสัญญาเหล่านั้น

อธิการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกศาสนจักร เขากระตุ้นให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการสวดอ้อนวอนกับครอบครัวและเรียนพระกิตติคุณด้วยกันเป็นประจำ รวมถึงกิจกรรมยามค่ำที่บ้านด้วย เขาสอนให้สมาชิกรักและรับใช้กัน เขาสอนโดยคำพูดและแบบอย่างว่าการเรียกในศาสนจักรเกิดสัมฤทธิผลได้โดยไม่ทำให้เขวจากหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว เขาต้องแน่ใจว่ากิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักรสนับสนุนความพยายามของบิดามารดาในการเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความชอบธรรม

นอกจากจะช่วยสมาชิกดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณแล้วอธิการยังมีหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆ ในงานแห่งความรอดและความสูงส่งด้วย ตัวอย่างเช่น เขา:

  • ช่วยสมาชิกชายเตรียมรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต

  • นำความพยายามในการดูแลคนขัดสนในวอร์ด (ดู 7.1.4.1 และ 22.2.1)

  • แนะแนวฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ขณะพวกเขานำความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจในวอร์ด (ดู 21.2.1)

  • ประสานงานของฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ขณะพวกเขานำความพยายามของวอร์ดในการแบ่งปันพระกิตติคุณและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา (ดู 23.1)

  • ประสานความพยายามของฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ขณะพวกเขาเป็นผู้นำในงานพระวิหารและประวัติครอบครัวในวอร์ด (ดู 25.2)

  • ช่วยสมาชิกเตรียมรับใบรับรองพระวิหารและศาสนพิธีพระวิหาร (ดู 27.1)

7.1.4.1

การเป็นผู้นำในความพยายามดูแลคนขัดสนทางโลก

อธิการได้รับบัญชาจากเบื้องบนให้ค้นหาและดูแลคนขัดสนทางโลก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:112) เขามอบหมายงานส่วนใหญ่นี้ให้ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์

หน้าที่บางอย่างทำโดยอธิการเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เขาพิจารณารูปแบบ จำนวน และระยะเวลาที่ศาสนจักรให้ความช่วยเหลือชั่วคราว ในการทำเช่นนั้นเขามักปรึกษากับประธานสมาคมสงเคราะห์และประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 22.4 และ 22.5

สมาชิกในฝ่ายอธิการสอนหลักธรรมเรื่องการดูแลคนขัดสนและสร้างการพึ่งพาตนเอง (ดู 22.1) พวกเขาสอนเรื่องกฎแห่งการอดอาหารด้วย (ดู 22.2.2) พวกเขาสอดส่องดูแลการรวบรวมเงินบริจาคอดอาหาร (ดู 34.3.2)

อธิการสอนผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบของตนในการดูแลคนขัดสน เขานำสภาวอร์ดในความพยายามเหล่านี้ด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่อธิการดูแลคนขัดสนใน 22.6.1

7.1.5

บันทึก การเงิน และอาคารประชุม

อธิการสอดส่องดูแลบันทึกวอร์ด การเงินวอร์ด และอาคารประชุม รวมถึงหน้าที่รับผิดชอบของเขาในการสอนเรื่องส่วนสิบและกฎแห่งการอดอาหาร และดำเนินการแถลงส่วนสิบ (ดู 34.3.1.2; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:68 ด้วย)

อธิการอาจมอบหมายงานส่วนใหญ่ด้านบันทึกและการเงินให้ที่ปรึกษาและพนักงาน เขาอาจมอบหมายให้ที่ปรึกษาคนหนึ่งรับใช้เป็นตัวแทนอาคารวอร์ด หรือเรียกสมาชิกคนหนึ่งให้ทำหน้าที่นี้

ดูข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกใน บทที่ 33 ดูข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน รวมทั้งส่วนสิบ ใน บทที่ 34 ดูข้อมูลเกี่ยวกับอาคารประชุมใน บทที่ 35

7.2

ความแตกต่างระหว่างฝ่ายประธานสาขากับฝ่ายอธิการ

ในสาขา ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่งได้รับการเรียกให้เป็นประธานสาขา เขาถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่จำเป็นต่อการเป็นประธาน (ดู 3.4.1.1) เขาและที่ปรึกษารับใช้เหมือนฝ่ายอธิการมากแต่มีข้อแตกต่างดังนี้:

  • ประธานสาขาจะเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตก็ได้ อธิการต้องเป็นมหาปุโรหิต

  • ประธานสาขาไม่ได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นมหาปุโรหิตควบคุม แต่เขาเป็นประธานดูแลสาขาและมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดที่อธิบายไว้ใน 7.1.1

  • ประธานสาขาไม่จำเป็นต้องแต่งงานแล้ว

  • ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสาขาจะไม่ออกใบรับรองพระวิหาร (ดู 26.3.1)

ภาพ
การประชุมฝ่ายอธิการ

7.3

เลขาธิการวอร์ดและผู้ช่วยเลขาธิการวอร์ด

ฝ่ายอธิการเสนอชื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่งให้รับใช้เป็นเลขาธิการวอร์ด พวกเขาทำการเสนอนี้ต่อฝ่ายประธานสเตค เลขาธิการควรมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน เขาได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่โดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือสมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมาย

เลขาธิการทำงานใกล้ชิดกับอธิการและที่ปรึกษาของอธิการ แต่เขาไม่ใช่สมาชิกในฝ่ายอธิการ เขามีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:

  • ประชุมกับฝ่ายอธิการและเตรียมวาระการประชุมตามที่มอบหมาย

  • รับใช้เป็นสมาชิกในสภาวอร์ดและเข้าร่วมการประชุมสภาวอร์ด ติดตามงานมอบหมายที่ให้ไว้ในการประชุมเหล่านี้ตามคำสั่งของฝ่ายอธิการ

  • จัดตารางนัดหมายให้ฝ่ายอธิการ

  • จัดตารางการสัมภาษณ์ให้เยาวชนและผู้ใหญ่ที่ต้องต่ออายุใบรับรองพระวิหารของพวกเขา

  • ประสานความพยายามของวอร์ดในการช่วยให้สมาชิกได้รับนิตยสารศาสนจักร หากได้รับมอบหมายจากฝ่ายอธิการ (ดู 38.8.7)

  • ช่วยฝ่ายอธิการเรื่องเซมินารีและสถาบัน เช่น ช่วยสมาชิกวอร์ดลงทะเบียนเรียน (ดู บทที่ 15)

  • เก็บบันทึกรายชื่อและที่อยู่ปัจจุบันของสมาชิกวอร์ดที่อยู่ในกองทัพ ทำให้แน่ใจว่าผู้นำวอร์ดรู้จักสมาชิกเหล่านี้ (ดู 38.9.2) แจ้งเลขาธิการสเตคเมื่อสมาชิกมีแผนจะเป็นทหาร

  • ส่งต่อข้อความที่ได้รับจากลูกจ้างศาสนจักรและอาสาสมัครไปให้ผู้นำวอร์ดที่เหมาะสม ตามที่อธิการแนะนำ (ดู 38.8.9)

อาจเรียกผู้ช่วยเลขาธิการวอร์ดหนึ่งคนหรือสองคนตามความจำเป็น ฝ่ายอธิการเป็นผู้เสนอชื่อ และสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือสมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้เรียกและวางมือมอบหน้าที่ พี่น้องชายเหล่านี้ควรมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน

7.4

พนักงานวอร์ดและผู้ช่วยพนักงานวอร์ด

อธิการเสนอชื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่งให้รับใช้เป็นพนักงานวอร์ด เขาทำการเสนอนี้ต่อฝ่ายประธานสเตค พนักงานควรมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน เขาได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่โดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือสมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมาย เขาเป็นสมาชิกของสภาวอร์ด

ผู้ช่วยพนักงานวอร์ดอาจได้รับการเรียกด้วย (ดู 33.4.3) สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือสมาชิกสภาสูงที่เขามอบหมายเป็นผู้เรียกและวางมือมอบหน้าที่ให้ผู้ช่วยพนักงานวอร์ด

พนักงานทำงานใกล้ชิดกับอธิการและที่ปรึกษา แต่พวกเขาไม่ใช่สมาชิกในฝ่ายอธิการ หน้าที่รับผิดชอบของพนักงานวอร์ดและผู้ช่วยพนักงานวอร์ดระบุไว้ใน 33.4.2 และ 33.4.3