คู่มือและการเรียก
32. การกลับใจและสภาสมาชิกภาพศาสนจักร


“32. การกลับใจและสภาสมาชิกภาพศาสนจักร” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“32. การกลับใจและสภาสมาชิกภาพศาสนจักร” คู่มือทั่วไป

ภาพ
คนพูดคุยกัน

32.

การกลับใจและสภาสมาชิกภาพศาสนจักร

32.0

บทนำ

การกลับใจส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล พระผู้เป็นเจ้า และผู้ได้รับผลกระทบจากบาปของบุคคลนั้น อย่างไรก็ดี บางครั้งอธิการหรือประธานสเตคจำเป็นต้องช่วยเหลือสมาชิกขณะพวกเขาพยายามกลับใจ

เมื่อช่วยเหลือสมาชิกเรื่องการกลับใจ อธิการและประธานสเตคจะแสดงความรักและความห่วงใย พวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงพยุงแต่ละคนและช่วยพวกเขาหันหลังให้บาปและหันหน้ามาหาพระผู้เป็นเจ้า (ดู มัทธิว 9:10–13; ยอห์น 8:3–11)

ตามที่ระบุไว้ด้านล่าง บทนี้จัดทำขึ้นเพื่อแนะแนวผู้นำผ่านการตัดสินใจและการดำเนินการสำคัญๆ อันจำเป็นต่อการช่วยให้บางคนกลับใจจากบาปร้ายแรงและช่วยคุ้มครองผู้อื่น

  • บทบาทของศาสนจักรในการช่วยให้บุคคลกลับใจ หมวด 32.1–32.4 อธิบายหลักคำสอนของพระเจ้าเรื่องการกลับใจและการให้อภัย หมวดเหล่านี้อธิบายจุดประสงค์สามประการของการจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพศาสนจักรเช่นกัน นอกจากนี้ยังอธิบายบทบาทของอธิการและประธานสเตคในการช่วยเรื่องการกลับใจด้วย

  • การกำหนดลักษณะการดำเนินการเพื่อช่วยให้บุคคลกลับใจ หมวด 32.5–32.7 ให้แนวทางการตัดสินใจว่าสภาสมาชิกภาพหรือการให้คำปรึกษาส่วนตัวเป็นลักษณะการดำเนินการที่เหมาะจะช่วยให้คนบางคนกลับใจหรือไม่

  • การดำเนินการให้คำปรึกษาส่วนตัว หมวด 32.8 ให้แนวทางสำหรับการให้คำปรึกษาส่วนตัวโดยอธิการหรือประธานสเตค นอกจากนี้ยังอธิบายการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างไม่เป็นทางการด้วย

  • การบริหารสภาสมาชิกภาพศาสนจักร หมวด 32.9–32.14 อธิบายว่าใครรับผิดชอบสภาสมาชิกภาพ วิธีดำเนินสภา และคำตัดสินที่เป็นไปได้ อีกทั้งอธิบายผลของคำตัดสินเหล่านั้นด้วย

  • การคืนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักร หมวด 32.15–32.17 อธิบายวิธีได้เอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรคืนผ่านการกลับใจ

เว้นแต่ระบุเป็นอื่น การอ้างถึงประธานสเตคใช้กับประธานคณะเผยแผ่ด้วย การอ้างถึงอธิการใช้กับประธานสาขาด้วย

ฝ่ายประธานสูงสุดกำหนดนโยบายและกระบวนการกลับใจจากบาปร้ายแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานบันทึกที่เป็นความลับของศาสนจักร ประธานสเตคหรืออธิการจะติดต่อสำนักงานดังกล่าวหากมีคำถามด้านการบริหารหรือนโยบาย ทางสำนักงานจะให้คำแนะนำเช่นกันเกี่ยวกับวิธีส่งคำร้องไปสำนักงานฝ่ายประธานสูงสุด ข้อมูลติดต่อคือ:

โทรศัพท์: 1-801-240-2053 หรือ 1-800-453-3860 ต่อ 2-2053

โทรฟรี (โทรศัพท์ GSD): 855-537-4357

อีเมล: ConfidentialRecords@ChurchofJesusChrist.org


บทบาทของศาสนจักรในการช่วยให้บุคคลกลับใจ


32.1

การกลับใจและการให้อภัย

พระเจ้าตรัสว่า “ไม่มีสิ่งที่ไม่สะอาดจะสืบทอดอาณาจักรแห่งสวรรค์เป็นมรดกเลย” (แอลมา 11:37; ดู 3 นีไฟ 27:19 ด้วย) บาปของเราทำให้เราไม่สะอาด—ไม่มีค่าควรจะอยู่ในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา อีกทั้งทำให้เราเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตนี้ด้วย

กฎแห่งความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าเรียกร้องให้เรารับผลเมื่อเราทำบาป (ดู แอลมา 42:14, 17–18) อย่างไรก็ดี แผนแห่งความเมตตาอันสำคัญยิ่งของพระองค์ “จะสนองข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรมได้, และล้อม [เรา] ไว้ในพระพาหุแห่งความปลอดภัย” (แอลมา 34:16; ดู โมไซยาห์ 15:9 ด้วย)

เพื่อทำให้เกิดแผนแห่งความเมตตา พระบิดาบนสวรรค์จึงทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์พระเยซูคริสต์มาชดใช้บาปของเรา (ดู แอลมา 42:15) พระเยซูทรงทนรับโทษที่กฎแห่งความยุติธรรมใช้กับบาปของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15–19; ดู แอลมา 42:24–25 ด้วย) โดยผ่านการเสียสละดังกล่าว ทั้งพระบิดาและพระบุตรทรงแสดงความรักอันไม่มีขอบเขตของพระองค์ต่อเรา (ดู ยอห์น 3:16)

เมื่อเราใช้ “ศรัทธาสู่การกลับใจ” พระบิดาบนสวรรค์ทรงให้อภัยเรา โดยประทานพระเมตตาผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (แอลมา 34:15; ดู แอลมา 42:13 ด้วย) เมื่อเราสะอาดและได้รับการให้อภัยแล้ว เราจะได้อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดกในท้ายที่สุด (ดู อิสยาห์ 1:18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:42)

การกลับใจเป็นมากกว่าการเปลี่ยนพฤติกรรม คือการหันหลังให้บาปและหันหน้ามาหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ การกลับใจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของใจและความคิด (ดู โมไซยาห์ 5:2; แอลมา 5:12–14; ฮีลามัน 15:7) การกลับใจทำให้เราเป็นคนใหม่ คืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า (ดู 2 โครินธ์ 5:17–18; โมไซยาห์ 27:25–26)

โอกาสในการกลับใจเป็นพรประเสริฐสุดประการหนึ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่เราผ่านของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์

32.2

จุดประสงค์ของการจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพศาสนจักร

เมื่อบุคคลรับบัพติศมา เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัวของพระเจ้า” (เอเฟซัส 2:19) พันธสัญญาบัพติศมารวมถึงสัญญาว่าจะพยายามดำเนินชีวิตตามคำสอนและพระบัญญัติของพระคริสต์ เมื่อบุคคลไม่รักษาพันธสัญญาดังกล่าว เขาใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจ โดยหวังให้พระเมตตาของพระองค์เพิ่มพลังและให้อภัย

หากสมาชิกทำบาปร้ายแรง อธิการหรือประธานสเตคช่วยให้บุคคลนั้นกลับใจ ส่วนหนึ่งของขั้นตอนนี้คือเขาอาจต้องจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรบางอย่างชั่วคราว ในบางสถานการณ์ เขาอาจต้องถอนสมาชิกภาพของบุคคลนั้นชั่วคราว

การจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพของบุคคลไม่ได้มุ่งหมายจะลงโทษ แต่การดำเนินการเหล่านี้บางครั้งจำเป็นต่อการช่วยให้บุคคลกลับใจและประสบการเปลี่ยนแปลงของใจ พวกเขาให้เวลาบุคคลเตรียมทางวิญญาณเพื่อต่อและรักษาพันธสัญญาของตนอีกครั้ง

อธิการหรือประธานสเตคสอดส่องดูแลการจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพตามที่ระบุไว้ใน 32.5–32.14 การดำเนินการเหล่านี้ตามมาด้วยเงื่อนไขของการกลับใจ เมื่อบุคคลกลับใจอย่างจริงใจ เขาจะได้เอกสิทธิ์ของสมาชิกภาพศาสนจักรคืน

เมื่อจำเป็นต้องจำกัดหรือถอนสมาชิกภาพ อธิการหรือประธานสเตคทำตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์และคำแนะนำในบทนี้ เขาดำเนินการด้วยวิญญาณของความรัก (ดู 32.3)

การจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรเป็นเรื่องศาสนา ไม่ใช่เรื่องทางแพ่งหรือทางอาญา และส่งผลต่อสถานะของบุคคลในศาสนจักรเท่านั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:10)

จุดประสงค์สามประการของการจำกัดหรือการถอนสมาชิภาพมีดังนี้

32.2.1

ช่วยคุ้มครองผู้อื่น

จุดประสงค์แรกคือช่วยคุ้มครองผู้อื่น บางครั้งบุคคลเป็นภัยคุกคามทางร่างกายหรือทางวิญญาณ พฤติกรรมล่าเหยื่อ การทำร้ายร่างกาย การทารุณกรรมทางเพศ การใช้สารเสพติด การฉ้อโกง และการละทิ้งความเชื่อเป็นบางด้านที่ทำให้เกิดภัยคุกคาม อธิการหรือประธานสเตคดำเนินการคุ้มครองผู้อื่นด้วยการดลใจเมื่อมีคนเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงในลักษณะนี้และในลักษณะอื่น (ดู แอลมา 5:59–60)

32.2.2

ช่วยให้บุคคลเข้าถึงเดชานุภาพการไถ่ของพระเยซูคริสต์ผ่านการกลับใจ

จุดประสงค์ที่สองคือช่วยให้บุคคลเข้าถึงเดชานุภาพการไถ่ของพระเยซูคริสต์ผ่านการกลับใจ โดยผ่านขั้นตอนนี้ เขาจะสะอาดอีกครั้งและมีค่าควรได้รับพรทุกประการของพระผู้เป็นเจ้า

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” เป็นเครื่องพลีบูชาที่พระองค์ทรงเรียกร้องสำหรับการอภัยบาป (3 นีไฟ 9:20) นี่รวมถึงการสำนึกผิดอย่างจริงใจและผลของบาป (ดู 2 โครินธ์ 7:9–10)

เมื่อบุคคลทำบาปร้ายแรง การจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพสามารถช่วยส่งเสริมใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดซึ่งจำเป็นต่อการกลับใจ ละทิ้งบาปจริงๆ และเข้าใจผลของบาป ความเข้าใจนี้สามารถช่วยให้บุคคลเห็นคุณค่าพันธสัญญาของพวกเขากับพระผู้เป็นเจ้าลึกซึ้งขึ้นและปรารถนาจะรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นในอนาคต

32.2.3

พิทักษ์หลักคุณธรรมของศาสนจักร

จุดประสงค์ที่สามคือพิทักษ์หลักคุณธรรมของศาสนจักร การจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคลอาจจำเป็นหากความประพฤติของเขาเป็นภัยอย่างยิ่งต่อศาสนจักร (ดู แอลมา 39:11) การปกปิดหรือกลบเกลื่อนบาปร้ายแรงไม่ได้พิทักษ์หลักคุณธรรมของศาสนจักร—แต่การแก้ไขจะพิทักษ์

32.3

บทบาทของผู้พิพากษาในอิสราเอล

ภาพ
อธิการพูดคุยกับชายคนหนึ่ง

อธิการและประธานสเตคได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นผู้พิพากษาในอิสราเอล (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:72–74) ท่านเหล่านั้นถือกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อเป็นตัวแทนของพระเจ้าในการช่วยให้สมาชิกศาสนจักรกลับใจ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1; 107:16–18)

บ่อยครั้งอธิการและประธานสเตคช่วยเรื่องการกลับใจผ่านการให้คำปรึกษาส่วนตัว ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจรวมถึงการจำกัดเอกสิทธิ์บางอย่างของสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างไม่เป็นทางการชั่วคราว (ดู 32.8)

สำหรับบาปร้ายแรงบางอย่าง ผู้นำช่วยเรื่องการกลับใจโดยจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6 และ 32.9–32.14) ความช่วยเหลือนี้อาจรวมถึงการจำกัดเอกสิทธิ์บางอย่างของสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการหรือการถอนสมาชิกภาพของบุคคลชั่วคราว (ดู 32.11.3 และ 32.11.4)

อธิการและประธานสเตคช่วยให้สมาชิกศาสนจักรเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงต้องการให้พวกเขามีความสุขและได้รับพร พระองค์จึงทรงห่วงใยมากเรื่องการเชื่อฟังและการกลับใจของพวกเขา

อธิการและประธานสเตคจะรักและเอาใจใส่ขณะพวกเขาช่วยให้สมาชิกกลับใจ การปฏิบัติของพระผู้ช่วยให้รอดต่อหญิงที่ล่วงประเวณีเป็นแนวทางหนึ่ง (ดู ยอห์น 8:3–11) ถึงแม้พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าบาปของเธอได้รับการให้อภัย แต่พระองค์ไม่ทรงประณามเธอ พระองค์รับสั่งกับเธอว่า “จาก​นี้​ไป​อย่าทำบาปอีก”—กลับใจและเปลี่ยนชีวิตเธอ

ผู้นำเหล่านี้สอนว่ามี “ความชื่นชมยินดีในสวรรค์เรื่องคนบาปคนเดียวที่กลับใจใหม่” (ลูกา 15:7) พวกเขาอดทน สนับสนุน และคิดบวก สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความหวัง พวกเขาสอนและเป็นพยานว่าเพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ทุกคนสามารถกลับใจและสะอาดได้

อธิการและประธานสเตคแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณเพื่อรู้วิธีช่วยให้แต่ละบุคคลกลับใจ เฉพาะบาปร้ายแรงที่สุดเท่านั้นที่ศาสนจักรมีมาตรฐานกำหนดให้ผู้นำดำเนินการตาม (ดู 32.6 และ 32.11) ไม่มีสถานการณ์ใดเหมือนกัน การให้คำปรึกษาจากผู้นำและขั้นตอนการกลับใจที่พวกเขาใช้ต้องได้รับการดลใจและอาจต่างกันสำหรับแต่ละบุคคล

พระเจ้าทรงทราบสภาวการณ์ สมรรถภาพ และวุฒิภาวะทางวิญญาณของแต่ละบุคคล พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้ผู้นำเล็งเห็นวิธีช่วยสมาชิกทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อพวกเขาจะสามารถเยียวยาและต่อต้านการล่อลวงให้ทำบาปซ้ำ

การช่วยให้บางคนกลับใจ หันกลับมาหาพระผู้เป็นเจ้า และรับการเยียวยาผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นประสบการณ์อันน่ายินดีที่สุดประสบการณ์หนึ่งที่บุคคลจะมีได้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13 อธิบายว่า

“จำไว้ว่าค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า;

“เพราะ, ดูเถิด, พระเจ้าพระผู้ไถ่ของเจ้าทรงทนรับความตายในเนื้อหนัง; ดังนั้นพระองค์ทรงทนรับความเจ็บปวดของคนทั้งปวง, เพื่อคนทั้งปวงจะได้กลับใจและมาหาพระองค์.

“และพระองค์ทรงลุกขึ้นอีกครั้งจากบรรดาคนตาย, เพื่อพระองค์จะทรงนำคนทั้งปวงมาหาพระองค์, โดยเงื่อนไขแห่งการกลับใจ.

“และปีติของพระองค์ในจิตวิญญาณที่กลับใจใหญ่หลวงเพียงใดเล่า!”

32.4

การสารภาพ การรักษาความลับ และการรายงานต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

32.4.1

การสารภาพ

การกลับใจเรียกร้องให้สารภาพบาปต่อพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “โดยสิ่งนี้เจ้าจะรู้ว่าถ้าคนกลับใจจากบาปของเขา—ดูเถิด, เขาจะสารภาพและละทิ้งมัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43; ดู โมไซยาห์ 26:29 ด้วย)

เมื่อสมาชิกศาสนจักรทำบาปร้ายแรง การกลับใจของพวกเขารวมถึงการสารภาพต่ออธิการหรือประธานสเตคด้วย จากนั้นอธิการหรือประธานสเตคสามารถใช้กุญแจของพระกิตติคุณแห่งการกลับใจเพื่อประโยชน์ของสมาชิก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1; 84:26–27; 107:18, 20) อันเป็นการช่วยสมาชิกเยียวยาและกลับสู่เส้นทางพระกิตติคุณผ่านพลังแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

จุดประสงค์ของการสารภาพคือเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกปลดภาระตนเองทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะสามารถขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้อย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลงและการเยียวยา การสารภาพช่วยพัฒนา “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” (2 นีไฟ 2:7) การสารภาพโดยสมัครใจแสดงให้เห็นว่าบุคคลปรารถนาจะกลับใจ

เมื่อสมาชิกคนหนึ่งสารภาพ อธิการหรือประธานสเตคทำตามแนวทางการให้คำปรึกษาใน 32.8 เขาสวดอ้อนวอนทูลขอการนำทางเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินการที่เหมาะจะช่วยให้สมาชิกกลับใจ (ดู 32.5) เขาพิจารณาว่าสภาสมาชิกภาพจะเป็นประโยชน์หรือไม่ หากนโยบายศาสนจักรเรียกร้องให้จัดสภาสมาชิกภาพ เขาอธิบายเรื่องนี้ (ดู 32.6 และ 32.10)

บางครั้งสมาชิกทำผิดต่อคู่สมรสหรือผู้ใหญ่คนอื่น ส่วนหนึ่งของการกลับใจคือโดยปกติเขาจะสารภาพต่อบุคคลนั้นและขออภัย เยาวชนที่ทำบาปร้ายแรงโดยปกติจะขอให้เยาวชนปรึกษากับบิดามารดา

32.4.2

บาปร้ายแรงที่ไม่ได้สารภาพหรือปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ

ปกติอธิการหรือประธานสเตคทราบเรื่องบาปร้ายแรงผ่านการสารภาพหรือจากบุคคลอื่น เขาอาจได้รับการกระตุ้นเตือนผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกันเกี่ยวกับบาปร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น หากเขารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณว่าใครบางคนอาจกำลังทำบาป เขาอาจทำนัดสัมภาษณ์ ระหว่างการสัมภาษณ์ เขาบอกข้อกังวลของตนอย่างอ่อนโยนและด้วยความเคารพ หลีกเลี่ยงน้ำเสียงเชิงกล่าวหา

หากสมาชิกปฏิเสธการทำบาปร้ายแรงที่อธิการหรือประธานสเตคมีข้อมูลสนับสนุน อาจจะยังจัดสภาสมาชิกภาพ อย่างไรก็ดี ความรู้สึกทางวิญญาณเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะจัดสภา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 10:37) ผู้นำจะรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมหากจำเป็น เขาทำตามแนวทางใน 32.4.3 และ 32.10.2

32.4.3

การรวบรวมข้อมูล

ก่อนจัดสภาสมาชิกภาพ อธิการหรือประธานสเตครวบรวมข้อมูลให้มากเท่าที่เขาต้องการ ข้อมูลจากการสารภาพของสมาชิกมักจะเพียงพอ ข้อมูลดังกล่าวอาจมาจากสมาชิกครอบครัว ผู้นำศาสนจักรอีกคนหนึ่ง ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนในบาปด้วย

เมื่อรวบรวมข้อมูล อธิการหรือประธานสเตคควรใช้วิธีที่เหมาะกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเท่านั้น เขาไม่ควรจับตาดูบ้านของบุคคลนั้น หรือบันทึกภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม ทั้งไม่ควรใช้วิธีปฏิบัติใดที่ขัดต่อกฎหมาย

การกล่าวหาเท็จเกิดขึ้นน้อยมากแต่เกิดขึ้นได้ ผู้นำฐานะปุโรหิตควรระมัดระวังเมื่อมีข้อมูลจำกัดนอกเหนือจากคำพูดของบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างเช่น สมาชิกที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงประเวณีอาจปฏิเสธข้อกล่าวหา พระคัมภีร์อธิบายว่า “คำทุกคำจะตราไว้กล่าวหาเขาหรือเธอโดยพยานสองคนของศาสนจักร” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:80) “พยานสองคน” หมายถึงแหล่งข้อมูลสองแหล่งแยกกัน อาจรวมถึงความรู้ของผู้มีส่วนร่วมและแหล่งอื่นที่เชื่อถือได้ บางครั้งผู้นำฐานะปุโรหิตอาจต้องรอดำเนินการจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อผู้นำศาสนจักรกำลังรวบรวมข้อมูลสำหรับสภาสมาชิกภาพ เขาควรยุติทันทีหากทราบว่าผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังสอบสวนสมาชิก เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้มีใครอ้างได้ว่าผู้นำขัดขวางความยุติธรรม สำหรับคำแนะนำด้านกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์เหล่านี้ในสหรัฐและแคนาดา ให้ประธานสเตคติดต่อ Office of General Counsel ของศาสนจักร:

1-800-453-3860 ต่อ 2-6301

1-801-240-6301

นอกสหรัฐและแคนาดาให้ประธานสเตคติดต่อที่ปรึกษากฎหมายระดับภาคที่สำนักงานภาค

โดยปกติจะไม่จัดสภาสมาชิกภาพเพื่อพิจารณาความประพฤติที่ศาลพิจารณาคดีแพ่งหรือคดีอาญากำลังตรวจสอบจนกว่าศาลได้คำพิพากษาสุดท้ายแล้ว ในบางกรณีอาจเห็นควรให้เลื่อนสภาสมาชิกภาพออกไปก่อนจนกว่าระยะเวลาของการอุทธรณ์ทางกฎหมายหมดอายุหรือคำอุทธรณ์ถูกปฏิเสธ

32.4.4

การรักษาความลับ

อธิการ ประธานสเตค และที่ปรึกษาของพวกเขามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับทั้งหมดที่พวกเขาได้รับ ข้อมูลดังกล่าวอาจมาจากการสัมภาษณ์ การให้คำปรึกษา และการสารภาพ หน้าที่รักษาความลับแบบเดียวกันนี้นำมาใช้กับผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในสภาสมาชิกภาพทุกคน การรักษาความลับจำเป็นเพราะสมาชิกจะไม่สารภาพบาปหรือขอการนำทางหากไม่รักษาความลับที่พวกเขาบอก การเปิดเผยความลับเท่ากับทรยศต่อความไว้วางใจของสมาชิกและเป็นเหตุให้พวกเขาสูญเสียความเชื่อมั่นในผู้นำของตน

ตามหน้าที่รักษาความลับของอธิการ ประธานสเตค หรือที่ปรึกษาของพวกเขา พวกเขาจะแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวได้เฉพาะกรณีต่อไปนี้:

  • พวกเขาจำเป็นต้องปรึกษากับประธานสเตค ประธานคณะเผยแผ่ หรืออธิการของสมาชิกคนนั้นเกี่ยวกับการจัดสภาสมาชิกภาพและเรื่องที่เกี่ยวข้อง ประธานสเตคอาจปรึกษากับสาวกเจ็ดสิบภาคที่ดูแลเขาด้วย หากจำเป็น สาวกเจ็ดสิบภาคแนะนำให้ประธานสเตคปรึกษาฝ่ายประธานภาค เฉพาะประธานสเตคเท่านั้นที่ตัดสินใจว่าจะจัดสภาหรือไม่หรือตัดสินผลของสภา

  • บุคคลย้ายไปวอร์ดใหม่ (หรือผู้นำฐานะปุโรหิตพ้นจากหน้าที่) ขณะการดำเนินการเรื่องสมาชิกภาพหรือข้อกังวลร้ายแรงอื่นยังอยู่ระหว่างพิจารณา ในกรณีเหล่านี้ ผู้นำแจ้งอธิการหรือประธานสเตคคนใหม่เกี่ยวกับข้อกังวลหรือการดำเนินการที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา (ดู 32.14.7) เขาแจ้งผู้นำคนใหม่ด้วยว่าสมาชิกจะเป็นภัยคุกคามผู้อื่นหรือไม่

  • อธิการหรือประธานสเตคทราบว่าสมาชิกศาสนจักรที่อยู่นอกวอร์ดหรือสเตคอาจพัวพันกับบาปร้ายแรง ในกรณีดังกล่าว เขาติดต่ออธิการของสมาชิกคนนั้นอย่างลับๆ

  • แต่จำเป็นต้องเผยข้อมูลระหว่างสภาสมาชิกภาพ ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้หรือบอกกล่าวในสภาสมาชิกภาพถือเป็นความลับ

  • สมาชิกเลือกอนุญาตให้ผู้นำบอกข้อมูลกับบุคคลที่กำหนด อาจรวมถึงบิดามารดา ผู้นำศาสนจักร หรือบุคคลอื่นผู้จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ผู้นำไม่บอกข้อมูลเกินกว่าที่สมาชิกอนุญาต

  • แต่อาจจำเป็นต้องบอกข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับคำตัดสินของสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.12.2)

ในสถานการณ์อื่นทั้งหมด ผู้นำควรอ้างอิง 32.4.5 กรณีเหล่านี้รวมถึงเมื่อกฎหมายอาจเรียกร้องให้รายงานความผิดทางอาญาเช่นการทารุณกรรมเด็กต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

เพื่อช่วยเหลือผู้นำในการคุ้มครองคนอื่นๆ และปฏิบัติตามกฎหมาย ศาสนจักรจึงจัดเตรียมความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมมาแล้ว เพื่อรับคำแนะนำในเรื่องนี้ ผู้นำโทรสายด่วนรับเรื่องการทารุณกรรมของศาสนจักรทันทีหากที่นั่นมี (ดู 32.4.5 และ 38.6.2.1) หากที่นั่นไม่มี ประธานสเตคติดต่อที่ปรึกษากฎหมายระดับภาคที่สำนักงานภาค

สถานการณ์เดียวที่อธิการหรือประธานสเตคจะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับโดยไม่ต้องขอคำแนะนำก่อน คือเมื่อจำเป็นต้องเปิดเผยเพื่อป้องกันภัยคุกคามชีวิตหรือการบาดเจ็บร้ายแรง และไม่มีเวลาให้ขอคำแนะนำ ในกรณีเช่นนั้น หน้าที่คุ้มครองผู้อื่นสำคัญกว่าหน้าที่รักษาความลับ ผู้นำควรติดต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทันที

หากผู้นำจดบันทึกหรือสื่อสารกันทางอิเล็กทรอนิกส์ พวกเขาต้องป้องกันการเข้าถึงข้อมูลนี้ อีกทั้งลบหรือทำลายข้อมูลด้วยเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว พวกเขาไม่บอกข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น

เจ้าหน้าที่บ้านเมืองอาจขอทราบความลับที่ผู้นำฐานะปุโรหิตต้องรักษา หากเกิดกรณีนี้ในสหรัฐและแคนาดา ประธานสเตคจะขอคำแนะนำด้านกฎหมายจาก Office of General Counsel ของศาสนจักร:

1-800-453-3860 ต่อ 2-6301

1-801-240-6301

นอกสหรัฐและแคนาดาให้ประธานสเตคติดต่อที่ปรึกษากฎหมายระดับภาคที่สำนักงานภาค

32.4.5

การรายงานต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

บางคนที่กำลังกลับใจได้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือกฎหมายอาญา ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ทราบเรื่องนี้ อธิการและประธานสเตคส่งเสริมให้สมาชิกทำตามกฎหมายและรายงานเรื่องดังกล่าวเมื่อต้องรายงาน ผู้นำแนะนำให้สมาชิกขอคำแนะนำด้านกฎหมายจากผู้สันทัดเมื่อรายงานด้วย นโยบายของศาสนจักรคือเชื่อฟังกฎหมาย

ในหลายพื้นที่ กฎหมายเรียกร้องให้ผู้นำฐานะปุโรหิตรายงานพฤติกรรมผิดกฎหมายที่พวกเขารับรู้ ตัวอย่างเช่น บางรัฐและบางประเทศเรียกร้องให้รายงานการทารุณกรรมเด็กต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

ในบางประเทศ ศาสนจักรมีโทรศัพท์สายด่วนช่วยเรื่องการทารุณกรรมที่เป็นความลับเพื่อช่วยเหลืออธิการและประธานสเตค ผู้นำเหล่านี้จะโทรสายด่วนทันทีเกี่ยวกับทุกสถานการณ์ซึ่งอาจมีคนถูกกระทำทารุณกรรม—หรือเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรม (ดู 38.6.2.1) สายด่วนดังกล่าวรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 7 วัน

ในประเทศที่ไม่มีสายด่วน อธิการที่ทราบเรื่องการกระทำทารุณกรรมจะติดต่อประธานสเตคผู้จะขอคำแนะนำจากที่ปรึกษากฎหมายระดับภาคที่สำนักงานภาค

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรายงานการกระทำทารุณกรรมใน 38.6.2.1 และ 38.6.2.7


การกำหนดลักษณะการดำเนินการเพื่อช่วยให้บุคคลกลับใจ


32.5

ลักษณะการดำเนินการเพื่อช่วยให้บุคคลกลับใจ

หลังจากทราบว่าสมาชิกทำบาปร้ายแรง อธิการหรือประธานสเตคดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้อื่น เขาทูลขอการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกันในการกำหนดลักษณะการดำเนินการเพื่อช่วยให้บุคคลนั้นกลับใจและเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

32.5.1

ภาพรวมของลักษณะการดำเนินการ

ตารางต่อไปนี้ระบุลักษณะการดำเนินการสามด้านเพื่อช่วยให้บุคคลกลับใจ ทั้งยังสรุปข้อควรพิจารณาบางประการเมื่อผู้นำตัดสินใจว่าจะใช้ลักษณะการดำเนินการใด

ลักษณะการดำเนินการเพื่อช่วยให้บุคคลกลับใจ

ลักษณะการดำเนินการ

ข้อควรพิจารณาบางประการ (ดู 32.7 ด้วย)

ลักษณะการดำเนินการ

สภาสมาชิกภาพสเตค

ข้อควรพิจารณาบางประการ (ดู 32.7 ด้วย)

  • สำหรับสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารแล้ว

  • ต้องจัดสภาหากชายหรือหญิงที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรเพราะบาปร้ายแรงหรือการกระทำร้ายแรงใดก็ตามที่กล่าวไว้ใน 32.6.1, 32.6.2 หรือ 32.6.3

ลักษณะการดำเนินการ

สภาสมาชิกภาพวอร์ด

ข้อควรพิจารณาบางประการ (ดู 32.7 ด้วย)

  • สำหรับสมาชิกคนใดก็ตาม

  • ต้องจัดสภาสำหรับบาปร้ายแรงที่กล่าวไว้ใน 32.6.1

  • อาจจำเป็นสำหรับบาปร้ายแรงและการกระทำร้ายแรงที่กล่าวไว้ใน 32.6.2 และ 32.6.3

  • ไม่เพียงพอหากชายหรือหญิงที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรเพราะบาปร้ายแรงหรือการกระทำร้ายแรงใดก็ตามที่กล่าวไว้ใน 32.6.1, 32.6.2 หรือ 32.6.3

ลักษณะการดำเนินการ

การให้คำปรึกษาส่วนตัว (ดู 32.8)

ข้อควรพิจารณาบางประการ (ดู 32.7 ด้วย)

  • สำหรับสมาชิกคนใดก็ตาม

  • อาจรวมถึงการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างไม่เป็นทางการ

  • อาจไม่เพียงพอสำหรับบาปร้ายแรงหรือการกระทำร้ายแรงซึ่งสภาสมาชิกภาพจะช่วยในขั้นตอนการกลับใจ (ดู 32.6.2 และ 32.6.3)

  • ไม่เพียงพอสำหรับบาปร้ายแรงที่ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • ไม่เพียงพอหากชายหรือหญิงที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรเพราะบาปร้ายแรงหรือการกระทำร้ายแรงใดก็ตามที่กล่าวไว้ใน 32.6.1, 32.6.2 หรือ 32.6.3

การให้คำปรึกษาส่วนตัวและการจำกัดอย่างไม่เป็นทางการโดยอธิการหรือประธานสเตคบางครั้งไม่เพียงพอจะช่วยให้บุคคลกลับใจจากบาปร้ายแรง พระเจ้าทรงจัดเตรียมสภาสมาชิกภาพไว้ช่วยเหลือผู้พิพากษาในอิสราเอลในสถานการณ์เหล่านี้ (ดู อพยพ 18:12–27; โมไซยาห์ 26:29–36; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:80–83102) สำหรับบาปร้ายแรงบางอย่าง จะต้องจัดสภาตามนโยบายศาสนจักร (ดู 32.6.1) การละเมิดพันธสัญญาพระวิหารทำให้สภาสมาชิกภาพจำเป็นมากขึ้น (ดู 32.7.4)

ในวอร์ด ที่ปรึกษาของอธิการช่วยเหลือในสภาสมาชิกภาพ ในสเตค ที่ปรึกษาของประธานสเตคช่วยเหลือ ในสภาสมาชิกภาพสเตคบางสภา สภาสูงเข้าร่วมด้วย (ดู 32.9.2) ในสภาสมาชิกภาพ ฝ่ายอธิการหรือฝ่ายประธานสเตคประชุมกับบุคคลด้วยวิญญาณแห่งความรัก

32.5.2

การกำหนดลักษณะการดำเนินการและการเลือกเวลาที่เหมาะสม

เมื่อตัดสินใจว่าลักษณะการดำเนินการใดเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลกลับใจได้ดีที่สุด ผู้นำทูลขอการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้นำควรพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้เช่นกัน:

  • ความรุนแรงของบาปและนโยบายศาสนจักรว่าจะต้องจัดสภาหรือไม่ (ดู 32.6)

  • สภาวการณ์ของบุคคล (ดู 32.7)

อธิการปรึกษากับประธานสเตคเกี่ยวกับสถานการณ์เฉพาะเจาะจง เขาต้องได้รับอนุมัติจากประธานสเตคก่อนจัดสภาสมาชิกภาพ

หากเป็นเรื่องยากๆ ประธานสเตคอาจขอคำแนะนำจากสาวกเจ็ดสิบภาคที่ดูแลเขา ประธานสเตคต้องปรึกษากับฝ่ายประธานภาคเกี่ยวกับเรื่องที่ระบุไว้ใน 32.6.3 อย่างไรก็ดี เฉพาะประธานสเตคเท่านั้นตัดสินใจว่าควรจัดสภาเพื่อแก้ไขความประพฤติหรือไม่ หากจัดสภา ประธานสเตคหรืออธิการตัดสินผลของสภา

หากอธิการหรือประธานสเตคลงความเห็นว่าให้คำปรึกษาส่วนตัวก็พอ เขาทำตามแนวทางใน 32.8 หากเขาลงความเห็นว่าต้องจัดสภาสมาชิกภาพ หรือหากนโยบายศาสนจักรกำหนดให้จัดสภา ผู้ดำเนินสภาทำตามระเบียบปฏิบัติใน 32.9–32.14

ก่อนจัดสภา อธิการหรือประธานสเตคอาจลงความเห็นว่าการจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการชั่วคราวสักระยะจะดีที่สุด เขาจัดสภาเมื่อเห็นว่าจะส่งเสริมการกลับใจอย่างจริงใจของสมาชิกได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดี เขาไม่ควรเลื่อนสภาออกไปหากจำเป็นต้องคุ้มครองผู้อื่น

32.6

ความรุนแรงของบาปและนโยบายศาสนจักร

ความรุนแรงของบาปเป็นข้อควรพิจารณาประการสำคัญในการกำหนดลักษณะการดำเนินการที่จะ (1) ช่วยคุ้มครองผู้อื่นและ (2) ช่วยให้บุคคลกลับใจ พระเจ้าตรัสว่าพระองค์ “ไม่อาจมองดูบาปด้วยระดับความยินยอมแม้เล็กน้อยที่สุด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:31; ดู โมไซยาห์ 26:29 ด้วย) ผู้รับใช้ของพระองค์ต้องไม่เมินเฉยหลักฐานของบาปร้ายแรง

บาปร้ายแรงคือการจงใจทำผิดกฎของพระผู้เป็นเจ้าครั้งใหญ่ ประเภทของบาปร้ายแรงระบุไว้ด้านล่าง

  • การกระทำที่รุนแรงและการกระทำทารุณกรรม (ดู 32.6.1.1 และ 32.6.2.1)

  • การผิดศีลธรรมทางเพศ (ดู 32.6.1.2 และ 32.6.2.2)

  • การกระทำที่ฉ้อโกง (ดู 32.6.1.3 และ 32.6.2.3)

  • การละเมิดความไว้วางใจ (ดู 32.6.1.4 และ 32.6.2.4)

  • การกระทำอื่นๆ บางอย่าง (ดู 32.6.1.5 และ 32.6.2.5)

หมวดต่อไปนี้พูดถึงกรณีที่ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ กรณีที่อาจจำเป็น และกรณีที่ไม่จำเป็น

32.6.1

กรณีที่ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ

อธิการหรือประธานสเตคต้องจัดสภาสมาชิกภาพเมื่อข้อมูลบ่งบอกว่าสมาชิกอาจทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งดังอธิบายไว้ในหมวดนี้ สำหรับบาปเหล่านี้ ต้องจัดสภาไม่ว่าสมาชิกจะมีระดับวุฒิภาวะทางวิญญาณและความเข้าใจพระกิตติคุณเท่าใดก็ตาม

ดู 32.11 สำหรับผลที่เป็นไปได้ของสภาที่เรียกประชุมสำหรับบาปในหมวดนี้ การจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับสภาเหล่านี้

32.6.1.1

การกระทำที่รุนแรงและการกระทำทารุณกรรม

ฆาตกรรม ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากสมาชิกกระทำฆาตกรรมผู้อื่น ตามที่ใช้ ณ ที่นี้ ฆาตกรรม คือการปลิดชีวิตมนุษย์โดยจงใจและไม่สมควร ต้องถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคล

ฆาตกรรมไม่รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหรือทหาร การทำแท้งไม่เข้าข่ายฆาตกรรมในบริบทนี้ หากการเสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุหรือการป้องกันตนเองหรือผู้อื่น การปลิดชีวิตมนุษย์อาจไม่เข้าข่ายฆาตกรรม กรณีนี้อาจอยู่ในสถานการณ์อื่นได้ เช่นเมื่อบุคคลมีสมรรถภาพทางสมองจำกัด

การข่มขืน ต้องจัดสภาสมาชิกภาพสำหรับการข่มขืน ตามที่ใช้ ณ ที่นี้ การข่มขืน คือการบังคับให้ร่วมประเวณีหรือการร่วมประเวณีกับคนที่ไม่สามารถให้ความยินยอมตามกฎหมายเนื่องด้วยสมรรถภาพทางกายหรือทางสมองลดลง ตามที่ใช้ ณ ที่นี้ การข่มขืน ไม่รวมถึงการยินยอมร่วมประเวณีระหว่างผู้เยาว์สองคนที่อายุไล่เลี่ยกัน

การทำผิดฐานคุกคามทางเพศ ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากสมาชิกทำผิดฐานคุกคามทางเพศ

การกระทำทารุณกรรมเด็กหรือเยาวชน ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากบุคคลทารุณกรรมเด็กหรือเยาวชนดังที่อธิบายไว้ใน 38.6.2.3

การกระทำทารุณกรรมคู่สมรสหรือผู้ใหญ่คนอื่น มีความรุนแรงหลากหลายในพฤติกรรมทารุณกรรม ดู 38.6.2.4 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภาสมาชิกภาพสำหรับการกระทำทารุณกรรมคู่สมรสหรือผู้ใหญ่คนอื่น

พฤติกรรมล่าเหยื่อที่รุนแรง ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นภัยทางกายซ้ำๆ ผ่านพฤติกรรมที่รุนแรงและเป็นภัยคุกคามผู้อื่น

32.6.1.2

การผิดศีลธรรมทางเพศ

การร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกัน ต้องจัดสภาสมาชิกภาพสำหรับการร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกันดังนิยามไว้ใน 38.6.10 เกือบทุกกรณีต้องถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคล

สื่อลามกเด็ก ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากบุคคลพัวพันกับสื่อลามกเด็กตามที่ระบุไว้ใน 38.6.6

สมรสซ้อน ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากบุคคลมีเจตนาสมรสซ้อน การสมรสซ้อนบางกรณีอาจทำเป็นการลับโดยที่คู่สมรสไม่รู้จักคู่สมรสอีกคนหนึ่งหรืออีกหลายคน ต้องถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคลหากบุคคลเจตนาสมรสซ้อน

พฤติกรรมล่าเหยื่อทางเพศ ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นภัยทางเพศซ้ำๆ และเป็นภัยคุกคามผู้อื่น

32.6.1.3

การกระทำที่ฉ้อโกง

พฤติกรรมล่าเหยื่อทางการเงิน ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากผู้ใหญ่คนหนึ่งมีประวัติว่าจงใจทำให้ผู้อื่นเสียหายทางการเงินซ้ำๆ และเป็นภัยคุกคามผู้อื่น (ดู 38.6.2.4) ทั้งนี้รวมถึงการฉ้อโกงด้านการลงทุนและกิจกรรมคล้ายกัน การสูญเงินโดยไม่ตั้งใจเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจไม่ถือว่าฉ้อโกง หากเกี่ยวพันกับคดีความ ผู้นำฐานะปุโรหิตจะตัดสินใจรอจนกว่าผลคดีสิ้นสุด ดู 32.6.3.3 หากสมาชิกพัวพันกับการยักยอกเงินทุนหรือทรัพย์สินศาสนจักร

32.6.1.4

การละเมิดความไว้วางใจ

บาปร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร ต้องจัดสภาสมาชิกภาพหากสมาชิกทำบาปร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร ทั้งนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่ระดับสามัญของศาสนจักร สาวกเจ็ดสิบภาค ประธานพระวิหารหรือภรรยา ประธานคณะเผยแผ่หรือภรรยา ประธานสเตค ผู้ประสาทพร หรืออธิการ ไม่ใช้กับประธานสาขา แต่สามารถจำกัดหรือถอนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรของประธานสาขาเหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ

32.6.1.5

การกระทำอื่นๆ บางอย่าง

การทำผิดอาญาอุกฉกรรจ์ ต้องจัดสภาสมาชิกภาพในกรณีส่วนใหญ่เมื่อบุคคลทำผิดอาญาอุกฉกรรจ์

32.6.2

กรณีที่สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็น

สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นในกรณีต่อไปนี้

32.6.2.1

การกระทำที่รุนแรงและการกระทำทารุณกรรม

พระเจ้าทรงบัญชาว่า “เจ้าจะไม่ … ฆ่า, หรือทำอะไรที่เหมือนกันนี้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:6; เน้นตัวเอน) การกระทำที่รุนแรงและการกระทำทารุณกรรมซึ่งอาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพรวมถึง (แต่ไม่จำกัดเฉพาะ) กรณีที่ระบุไว้ด้านล่าง

การพยายามกระทำฆาตกรรม การพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

การกระทำทารุณกรรมทางเพศ รวมถึงการคุกคามทางเพศ การกระทำทารุณกรรมทางเพศครอบคลุมการกระทำที่หลากหลาย (ดู 38.6.18) สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นสำหรับบุคคลที่เคยคุกคามหรือกระทำทารุณกรรมผู้อื่นทางเพศ สภาน่าจะจำเป็นมากขึ้นในการช่วยให้สมาชิกกลับใจหากเขาหรือเธอละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือหากทำบาปซ้ำ ดู 38.6.18.3 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภา

การกระทำทารุณกรรมคู่สมรสหรือผู้ใหญ่คนอื่น มีความรุนแรงหลากหลายในพฤติกรรมทารุณกรรม (ดู 38.6.2.4) สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นสำหรับบุคคลที่เคยกระทำทารุณกรรมคู่สมรสหรือผู้ใหญ่คนอื่น สภาน่าจะจำเป็นมากขึ้นในการช่วยให้สมาชิกกลับใจหากเขาละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือหากทำบาปซ้ำ ดู 38.6.2.4 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภา

32.6.2.2

การผิดศีลธรรมทางเพศ

กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศของพระเจ้าคือการละเว้นความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรสตามกฎหมายระหว่างชายหญิง (ดู อพยพ 20:14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:16) สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นสำหรับการทำผิดศีลธรรมทางเพศดังอธิบายไว้ใน 38.6.5 ในสถานการณ์เหล่านี้ สภาน่าจะจำเป็นมากขึ้นในการช่วยให้สมาชิกกลับใจหากเขาหรือเธอละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือหากทำบาปซ้ำ ดู 32.6.1.2 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภา

32.6.2.3

การกระทำที่ฉ้อโกง

พระบัญญัติสิบประการสอนว่า “ห้ามลักขโมย” หรือ “เป็นพยานเท็จ” (อพยพ 20:15–16) สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นสำหรับการกระทำเช่น โจรกรรม การย่องเบา การลักทรัพย์ การยักยอก การให้การเท็จ และการฉ้อโกง ดูข้อมูลการฉ้อโกงโดยอาศัยความสัมพันธ์ใน 38.8.2 ในสถานการณ์เหล่านี้ สภาน่าจะจำเป็นมากขึ้นในการช่วยให้สมาชิกกลับใจหากเขาละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือหากทำบาปซ้ำ

ดูข้อมูลการฉ้อโกงโดยอาศัยความสัมพันธ์ใน 38.8.2 ดู 32.6.1.3 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภาสำหรับการกระทำที่ฉ้อโกง ดู 32.6.3.3 หากสมาชิกพัวพันกับการยักยอกเงินทุนหรือทรัพย์สินศาสนจักร

32.6.2.4

การละเมิดความไว้วางใจ

สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นหากสมาชิก:

  • ทำบาปร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหรือความไว้วางใจในศาสนจักรหรือชุมชน

  • ทำบาปร้ายแรงที่รู้กันอย่างกว้างขวาง

ในสถานการณ์เหล่านี้ สภาน่าจะจำเป็นมากขึ้นในการช่วยให้สมาชิกกลับใจหากเขาละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือหากทำบาปซ้ำ

ดู 32.6.1.4 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภา ดู 32.6.3.3 หากสมาชิกพัวพันกับการยักยอกเงินทุนหรือทรัพย์สินศาสนจักร

32.6.2.5

การกระทำอื่นๆ บางอย่าง

กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่า “ข้าพเจ้าบอกท่านไม่ได้ทุกเรื่องที่ท่านจะกระทำบาป; เพราะมีหนทางและวิธีต่างๆ, แม้มากจนข้าพเจ้านับไม่ได้” (โมไซยาห์ 4:29) สภาอาจจำเป็นหากบุคคล:

  • แสดงให้เห็นการทำบาปร้ายแรงรูปแบบหนึ่ง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:7)

  • จงใจทิ้งหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว รวมถึงการไม่จ่ายค่าอุปการะค่าเลี้ยงดูบุตร

  • ขู่จะทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะแบบเจอตัวหรือทางออนไลน์ (ดู 32.2.1)

  • ขายยาผิดกฎหมาย

  • ทำผิดอาญาร้ายแรงอื่นๆ

ในสถานการณ์เหล่านี้ สภาน่าจะจำเป็นมากขึ้นในการช่วยให้สมาชิกกลับใจหากเขาละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือหากทำบาปซ้ำ

สภาสมาชิกภาพอาจจำเป็นหากสมาชิกยอมทำ ลงมือทำ เตรียมการ จ่ายเงิน หรือส่งเสริมการทำแท้ง ดูแนวทางใน 38.6.1

กรณีที่ต้องจัดหรืออาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ

ประเภทของบาป

ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

อาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.2)

ประเภทของบาป

การกระทำที่รุนแรงและการทารุณกรรม

ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • ฆาตกรรม

  • การข่มขืน

  • การทำผิดฐานคุกคามทางเพศ

  • การทารุณกรรมเด็กหรือเยาวชน

  • พฤติกรรมล่าเหยื่อที่รุนแรง

อาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.2)

  • การพยายามกระทำฆาตกรรม

  • การทารุณกรรมทางเพศ รวมถึงการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ (ดู 38.6.18 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภา)

  • การทารุณกรรมคู่สมรสหรือผู้ใหญ่คนอื่น (ดู 38.6.2.4 สำหรับกรณีที่ต้องจัดสภา)

ประเภทของบาป

การผิดศีลธรรมทางเพศ

ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • การร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกัน

  • สื่อลามกเด็ก

  • สมรสซ้อน

  • พฤติกรรมล่าเหยื่อทางเพศ

อาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.2)

  • การล่วงประเวณี การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และความสัมพันธ์ทางเพศอื่นๆ ทั้งหมดนอกการสมรสตามกฎหมายระหว่างชายหญิง รวมถึงปฏิสัมพันธ์ทางเพศทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์

  • การอยู่กินด้วยกัน การใช้ชีวิตด้วยกันของคนเพศเดียวกันโดยมีสิทธิ์ตามกฎหมาย การใช้ชีวิตคู่โดยไม่แต่งงาน การแต่งงานกับเพศเดียวกัน

  • การใช้สื่อลามกอย่างหมกมุ่นหรือขาดความยับยั้งชั่งใจอันเป็นเหตุให้เกิดภัยใหญ่หลวงต่อชีวิตสมรสหรือครอบครัวของสมาชิก

ประเภทของบาป

การกระทำที่ฉ้อโกง

ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • พฤติกรรมล่าเหยื่อทางการเงิน เช่น การฉ้อโกงและกิจกรรมคล้ายกัน (ดู 32.6.3.3 หากสมาชิกพัวพันกับการยักยอกเงินหรือทรัพย์สินศาสนจักร)

อาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.2)

  • โจรกรรม การย่องเบา การลักทรัพย์ หรือการยักยอก (ดู 32.6.3.3 หากสมาชิกพัวพันกับการยักยอกเงินหรือทรัพย์สินศาสนจักร)

  • การให้การเท็จ

ประเภทของบาป

การละเมิดความไว้วางใจ

ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • บาปร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร

อาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.2)

  • บาปร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหรือความไว้วางใจในศาสนจักรหรือชุมชน (ดู 32.6.3.3 หากสมาชิกพัวพันกับการยักยอกเงินหรือทรัพย์สินศาสนจักร)

  • บาปร้ายแรงที่รู้กันอย่างกว้างขวาง

ประเภทของบาป

การกระทำอื่นบางอย่าง

ต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • การทำผิดอาญาอุกฉกรรจ์เกือบทุกกรณี

อาจจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.2)

  • การทำแท้ง (เว้นแต่มีข้อยกเว้นใน 38.6.1)

  • รูปแบบของบาปร้ายแรง

  • การจงใจทิ้งความรับผิดชอบในครอบครัว รวมถึงการไม่จ่ายค่าอุปการะและค่าเลี้ยงดูบุตร

  • การขายยาผิดกฎหมาย

  • การทำผิดอาญาร้ายแรงอื่นๆ

32.6.3

กรณีที่ประธานสเตคปรึกษากับฝ่ายประธานภาคว่าสภาสมาชิกภาพหรือการดำเนินการอื่นจำเป็นหรือไม่

บางเรื่องต้องใช้ความละเอียดอ่อนและแนวทางพิเศษ เพื่อรู้วิธีช่วยเหลือได้ดีที่สุด ประธานสเตคต้องปรึกษากับฝ่ายประธานภาคเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในหมวดนี้ อย่างไรก็ดี เฉพาะประธานสเตคเท่านั้นที่ตัดสินใจว่าควรจัดสภาเพื่อแก้ไขความประพฤติหรือไม่ หากจัดสภา ประธานสเตคหรืออธิการตัดสินผลของสภา

ถ้าจัดสภาสมาชิกภาพสำหรับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ระบุไว้ในหมวดนี้ คำตัดสินของสภาต้องเป็น “อยู่ในสถานะน่าเชื่อถือ” “การจำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ” หรือ “การถอนสมาชิกภาพ” ต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดเพื่อถอนการจำกัดอย่างเป็นทางการหรือกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้ง (ดู 32.16.1, ข้อ 9)

32.6.3.1

การดำเนินการอื่น

หากไม่จัดสภาสมาชิกภาพ การดำเนินการอื่นอาจได้แก่:

  • การจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการ (ดู 32.8.3)

  • การเขียนคำอธิบายประกอบบันทึกสมาชิกภาพ (ดู 32.14.5)

  • การจำกัดศาสนพิธีซึ่งจำกัดบุคคลจากการได้รับหรือใช้ฐานะปุโรหิตหรือการได้รับหรือใช้ใบรับรองพระวิหาร

ประธานสเตคปรึกษากับฝ่ายประธานภาคก่อนดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้

32.6.3.2

การละทิ้งความเชื่อ

ประเด็นของการละทิ้งความเชื่อมักมีผลกระทบเลยออกไปนอกเขตวอร์ดหรือสเตค จึงต้องแก้ไขเรื่องนี้ทันทีเพื่อคุ้มครองผู้อื่น

อธิการปรึกษากับประธานสเตคหากรู้สึกว่าการกระทำของสมาชิกอาจก่อให้เกิดการละทิ้งความเชื่อ อธิการหรือประธานสเตคอาจจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิก (ดู 32.8.3) ประธานสเตคปรึกษากับฝ่ายประธานภาคทันที อย่างไรก็ดี เฉพาะประธานสเตคเท่านั้นที่ตัดสินใจว่าสภาสมาชิกภาพหรือการดำเนินการอื่นจำเป็นหรือไม่

ตามที่ใช้ ณ ที่นี้ การละทิ้งความเชื่อ หมายถึงสมาชิกพัวพันกับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้:

  • ทำการต่อต้านศาสนจักร หลักคำสอน นโยบาย หรือผู้นำของศาสนจักรซ้ำๆ อย่างแจ้งชัด จงใจ และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป

  • ยืนกรานจะสอนสิ่งที่ไม่ใช่หลักคำสอนของศาสนจักรว่าเป็นหลักคำสอนของศาสนจักรหลังจากอธิการหรือประธานสเตคท้วงติงแล้ว

  • แสดงให้เห็นรูปแบบของการจงใจบั่นทอนศรัทธาและความแข็งขันของสมาชิกศาสนจักร

  • ยังคงทำตามคำสอนของกลุ่มละทิ้งความเชื่อหลังจากอธิการหรือประธานสเตคท้วงติงแล้ว

  • เข้าร่วมนิกายอื่นอย่างเป็นกิจลักษณะและส่งเสริมคำสอนของพวกเขา (การไม่แข็งขันในศาสนจักรหรือการเข้าร่วมประชุมกับนิกายอื่นไม่ถือเป็นการละทิ้งความเชื่อ อย่างไรก็ดี หากสมาชิกเข้าร่วมอีกนิกายหนึ่งอย่างเป็นกิจลักษณะและสนับสนุนคำสอนของนิกายนั้น การถอนสมาชิกภาพของเขาอาจจำเป็น)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟว่าพวกเขาควรปฏิบัติศาสนกิจต่อคนบาปต่อไป “แต่หากเขาไม่กลับใจเราจะไม่นับเขาอยู่ในบรรดาผู้คนของเรา, เพื่อเขาจะไม่ทำลายผู้คนของเรา” (3 นีไฟ 18:31)

32.6.3.3

การยักยอกเงินศาสนจักร

หากบุคคลยักยอกเงินศาสนจักรหรือขโมยทรัพย์สินมีค่าของศาสนจักร ประธานสเตคปรึกษากับฝ่ายประธานภาคว่าสภาสมาชิกภาพหรือการดำเนินการอื่นจำเป็นหรือไม่ ผู้นำพิจารณา:

  • จำนวนที่ถูกยักยอกหรือขโมย

  • การยักยอกเกิดขึ้นครั้งเดียวหรือซ้ำหลายครั้ง

  • จ่ายคืนได้หรือไม่

  • ระดับความสำนึกผิดของบุคคล

  • ตำแหน่งการเรียกของสมาชิก (ดู 32.6.1.4 สำหรับสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร)

ประธานสเตครายงานต่อไปนี้หนึ่งรายการลงใน แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน:

  • ผลของสภาสมาชิกภาพ

  • รายงานว่าเขาปรึกษากับฝ่ายประธานภาคแล้วและลงความเห็นว่าสภาสมาชิกภาพไม่จำเป็น

หากแผนกตรวจสอบบัญชีศาสนจักรลงความเห็นว่าผู้นำหรือลูกจ้างศาสนจักรยักยอกเงินหรือทรัพย์สินศาสนจักร โดยทั่วไปฝ่ายประธานสูงสุดจะสั่งให้เขียนคำอธิบายประกอบในบันทึกสมาชิกภาพของบุคคลนั้น “ผู้นำ” หมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร รวมถึงที่ปรึกษา พนักงาน และฝ่ายประธานสาขา เมื่อการกลับใจสมบูรณ์แล้ว ประธานสเตคอาจขอให้ลบคำอธิบายประกอบ (ดู 32.14.5 และ 34.7.5) คำอธิบายประกอบไม่ได้หมายความว่าสภาสมาชิกภาพหรือการดำเนินการอื่นเกิดขึ้นแล้ว

32.6.3.4

คนข้ามเพศ

อธิการและประธานสเตคที่ทำงานกับบุคคลผู้ระบุว่าเป็นคนข้ามเพศควรทำตามแนวทางใน 38.6.23

32.6.4

กรณีที่โดยปกติสภาสมาชิกภาพไม่จำเป็น

โดยปกติสภาสมาชิกภาพไม่จำเป็นในกรณีต่อไปนี้

32.6.4.1

การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบางอย่างของศาสนจักร

ไม่จัดสภาสมาชิกภาพสำหรับการกระทำที่ระบุไว้ด้านล่าง แต่มียกเว้นในข้อสุดท้าย

  • การไม่แข็งขันในศาสนจักร

  • การไม่ทำหน้าที่ศาสนจักรให้เกิดสัมฤทธิผล

  • การไม่จ่ายส่วนสิบ

  • บาปของการละเลย

  • การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

  • การไม่ปฏิบัติตามพระคำแห่งปัญญา

  • การใช้สื่อลามก ยกเว้นสื่อลามกเด็ก (ตามที่ระบุไว้ใน 38.6.6) หรือการใช้สื่อลามกอย่างหมกมุ่นหรือขาดความยับยั้งชั่งใจอันเป็นเหตุให้เกิดภัยใหญ่หลวงต่อชีวิตสมรสหรือครอบครัวของสมาชิก (ตามที่ระบุไว้ใน 38.6.13)

32.6.4.2

ความล้มเหลวทางธุรกิจหรือการไม่ชำระหนี้

ผู้นำไม่ควรใช้สภาสมาชิกภาพแก้ไขข้อพิพาททางธุรกิจ ความล้มเหลวทางธุรกิจและการไม่ชำระหนี้ไม่ใช่เหตุผลให้จัดสภาสมาชิกภาพ แต่ต้องจัดสภาสำหรับกิจกรรมฉ้อโกงร้ายแรงหรือการประกอบกิจการทางการเงินที่หลอกลวงอย่างร้ายแรงอื่นๆ (ดู 32.6.1.3)

32.6.4.3

ข้อพิพาททางแพ่ง

ไม่จัดสภาสมาชิกภาพเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางแพ่ง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:11)

32.7

สภาวการณ์ของบุคคล

พระเจ้าตรัสว่า “แขนแห่งความเมตตาของเรายื่นมายังเจ้า, และผู้ใดก็ตามที่จะมา, ผู้นั้นเราจะรับ; และคนที่มาหาเราจะเป็นสุข” (3 นีไฟ 9:14) สภาวการณ์ของบุคคลเป็นข้อควรพิจารณาประการสำคัญในการกำหนด:

  • ลักษณะการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้เขากลับใจจากบาปร้ายแรง (ดู 32.5 และ 32.6)

  • คำตัดสินทำในการให้คำปรึกษาส่วนตัวหรือสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.8.1 และ 32.11)

อธิการและประธานสเตคแสวงหาพระดำริและพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับแต่ละสถานการณ์ พวกเขาพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ในการกำหนดว่าจะใช้ลักษณะการดำเนินการใดและผลจะเป็นอย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ไม่ชี้นำคำตัดสินที่เจาะจง แต่เป็นสิ่งช่วยตัดสินที่ผู้นำต้องทำร่วมกับการสวดอ้อนวอนและรับการนำทางจากพระวิญญาณ

32.7.1

ขนาดของบาป

ความร้ายแรงของบาปวัดได้จากขนาดของบาป อาจรวมถึงจำนวนและความถี่ของบาปที่ทำ ความรุนแรงของความเสียหายอันเนื่องจากบาป และจำนวนผู้เสียหาย

32.7.2

ผลกระทบต่อผู้เสียหาย

ผู้นำพิจารณาผลกระทบต่อผู้เสียหายและคนอื่นๆ อาจรวมถึงคู่สมรสและสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ผู้นำพิจารณาความรุนแรงของความเสียหายด้วย

32.7.3

หลักฐานยืนยันการกลับใจ

จำเป็นต้องได้รับการชี้นำทางวิญญาณเพื่อเล็งเห็นว่าบุคคลกลับใจอย่างจริงใจหรือไม่ ความประพฤติที่ชอบธรรมตลอดมาน่าเชื่อถือกว่าการแสดงความเสียใจอย่างมากระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งเดียว ปัจจัยที่พึงพิจารณาได้แก่:

  • พลังศรัทธาในพระเยซูคริสต์

  • ลักษณะของการสารภาพ

  • ความลึกซึ้งของความเสียใจเพราะบาป

  • การชดเชยให้ผู้ได้รับบาดเจ็บ

  • การทำตามข้อกำหนดทางกฎหมาย

  • ความสำเร็จในการละทิ้งบาป

  • ความซื่อสัตย์ในการเชื่อฟังพระบัญญัติตั้งแต่ทำบาป

  • ความจริงใจต่อผู้นำศาสนจักรและผู้อื่น

  • ความเต็มใจทำตามคำแนะนำของผู้นำศาสนจักร

ภาพ
ผู้หญิงกำลังสวดอ้อนวอน

32.7.4

การละเมิดพันธสัญญาพระวิหาร

พระเจ้าทรงประกาศว่า “เพราะจากเขาผู้ที่ประทานให้มาก ก็เรียกร้องจากเขามาก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:3) คนที่รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารแล้วได้ทำพันธสัญญาว่าจะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่สูงขึ้น การละเมิดพันธสัญญาเหล่านี้ขยายความร้ายแรงของบาป และทำให้สภาสมาชิกภาพจำเป็นมากขึ้น

32.7.5

ตำแหน่งที่มีความไว้วางใจหรืออำนาจ

ความร้ายแรงของบาปขยายใหญ่ขึ้นหากบุคคลทำบาปขณะอยู่ในตำแหน่งที่มีความไว้วางใจหรืออำนาจ เช่น บิดามารดา ผู้นำ หรือครู

32.7.6

การทำซ้ำ

รูปแบบของการทำบาปร้ายแรงซ้ำๆ อาจบ่งบอกพฤติกรรมที่ฝังรากลึกหรือการเสพติดที่กีดขวางความก้าวหน้าสู่การกลับใจอย่างแท้จริง นอกจากการจำกัดสมาชิกภาพที่อาจจำเป็นแล้ว โปรแกรมบำบัดการเสพติดและการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยได้ (ดู 32.8.2)

32.7.7

อายุ วุฒิภาวะ และประสบการณ์

ผู้นำพิจารณาอายุ วุฒิภาวะ และประสบการณ์เมื่อให้คำปรึกษาสมาชิกหรือตัดสินผลของสภาสมาชิกภาพ การลดหย่อนโทษมักจะเหมาะกับผู้ไม่มีวุฒิภาวะในพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น การลดหย่อนโทษอาจจะเหมาะกับสมาชิกอายุน้อยที่พัวพันกับการประพฤติผิดศีลธรรมหากพวกเขาละทิ้งบาปและแสดงการกลับใจอย่างจริงจัง แต่อาจจำเป็นต้องดำเนินการจริงจังกว่านั้นหากพวกเขายืนกรานจะประพฤติผิดเหมือนเดิม

32.7.8

สมรรถภาพทางสมอง

ความเจ็บป่วยทางจิต การเสพติด หรือสมรรถภาพทางสมองจำกัดไม่ละเว้นบุคคลที่ทำบาปร้ายแรง แต่เป็นปัจจัยที่พึงพิจารณา ส่วนหนึ่งของการช่วยให้บุคคลกลับใจคือผู้นำแสวงหาการนำทางจากพระเจ้าเกี่ยวกับความเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณและระดับความรับผิดชอบของบุคคล

32.7.9

การสารภาพด้วยความสมัครใจ

การสารภาพด้วยความสมัครใจและความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการกระทำของตนแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นปรารถนาจะกลับใจ

32.7.10

ช่วงเวลาระหว่างบาปกับการสารภาพ

การสารภาพเป็นส่วนหนึ่งของการกลับใจและไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง บางครั้งบาปตามด้วยช่วงเวลายาวนานของการชดเชยและการดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ หากสมาชิกสารภาพบาปและไม่ทำบาปซ้ำ นั่นแสดงว่าเขาละทิ้งบาปแล้ว ในกรณีนั้นถือว่าการสารภาพสมบูรณ์แล้วและไม่ต้องเริ่มขั้นตอนการกลับใจ

32.7.11

บาปที่พัวพันกับสมาชิกผู้อยู่คนละวอร์ดหรือคนละสเตค

บางครั้งสมาชิกที่ทำบาปร้ายแรงร่วมกันอยู่คนละวอร์ดหรือคนละสเตค ในสถานการณ์นี้ประธานสเตคปรึกษากันเกี่ยวกับความจำเป็นของการจำกัดสมาชิกภาพหรือสภาสมาชิกภาพ อีกทั้งหารือกันด้วยว่ามีเหตุอันควรให้จำกัดหรือคำตัดสินของสภาเหมือนกันหรือไม่ หรือมีเรื่องอื่นที่อาจบ่งบอกว่าต้องมีผลต่างจากนี้


การดำเนินการให้คำปรึกษาส่วนตัว


32.8

การให้คำปรึกษาส่วนตัวและการจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการ

การให้คำปรึกษาส่วนตัวมักเพียงพอที่จะช่วยคุ้มครองผู้อื่นและช่วยให้บุคคลเข้าถึงเดชานุภาพการไถ่แห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ผ่านการกลับใจ การให้คำปรึกษาดังกล่าวสามารถช่วยสมาชิกป้องกันบาปที่ร้ายแรงกว่าเดิมได้ด้วย ในการให้คำปรึกษาส่วนตัว ผู้นำสามารถให้การจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการได้เช่นกันเพื่อช่วยให้สมาชิกกลับใจจากบาปร้ายแรงบางอย่าง (ดู 32.8.3)

ไม่ควรปฏิบัติต่อบาปร้ายแรงอย่างไม่จริงจัง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:31) การละเมิดพันธสัญญาพระวิหารทำให้สภาสมาชิกภาพจำเป็นมากขึ้น (ดู 32.7.4)

แนวทางในการช่วยให้ผู้นำรู้ว่าเมื่อใดการให้คำปรึกษาและการจำกัดอย่างไม่เป็นทางการอาจเพียงพอมีระบุไว้ด้านล่าง (ดู 32.7 ด้วย)

  • บุคคลไม่ได้ทำบาปที่จะต้องจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.6.1)

  • บุคคลสารภาพด้วยความสมัครใจไปแล้วและกลับใจอย่างแท้จริง

  • บุคคลกำลังกลับใจจากบาปร้ายแรงที่เขาไม่เคยทำมาก่อน

  • บาปของบุคคลไม่ได้ละเมิดพันธสัญญาพระวิหาร

  • บุคคลมีเหตุบรรเทาโทษที่สำคัญ

32.8.1

การให้คำปรึกษาส่วนตัว

แนวทางต่อไปนี้นำมาใช้เมื่ออธิการหรือประธานสเตคกำลังให้คำปรึกษาสมาชิกเพื่อช่วยให้เขากลับใจ

  • ขอข้อมูลแค่พอให้พิจารณา (1) เจตคติของสมาชิกต่อพฤติกรรมที่เป็นบาป และ (2) ลักษณะ ความถี่ และระยะเวลาของพฤติกรรม อย่าขอรายละเอียดนอกเหนือจากที่จำเป็นต่อการเข้าใจสถานการณ์ อย่าถามคำถามอันเกิดจากความสนใจใคร่รู้ส่วนตัว

  • ถามว่าความประพฤติมีผลต่อผู้อื่นอย่างไร

  • มุ่งเน้นเงื่อนไขเชิงบวกที่ทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของสมาชิกและความมุ่งมั่นต่อพระเจ้าลึกซึ้งขึ้น กระตุ้นให้สมาชิกดำเนินการอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเปลี่ยนแปลงใจเพื่อกลับใจ เชื้อเชิญให้สมาชิกเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น โดยแสวงหาความเข้มแข็งของพระองค์และรู้สึกถึงความรักแห่งการไถ่ของพระองค์

  • ส่งเสริมกิจกรรมที่ยกระดับจิตใจ เช่น การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการเข้าร่วมการประชุมต่างๆ ของศาสนจักร สอนว่าประวัติครอบครัวและงานพระวิหารสามารถลดอิทธิพลของปฏิปักษ์ ส่งเสริมการรับใช้ผู้อื่นและการแบ่งปันพระกิตติคุณ

  • ส่งเสริมการชดเชยให้คนที่ได้รับความเสียหายจากบาปและขออภัย

  • ส่งเสริมการหันหลังให้อิทธิพลที่ไม่ดี ช่วยสมาชิกดำเนินการป้องกันเพื่อต่อต้านการล่อลวงนั้นๆ

  • ตระหนักว่าท่านเป็นผู้นำทางศาสนา ไม่ใช่ที่ปรึกษามืออาชีพ นอกจากคำปรึกษาที่ท่านให้ สมาชิกบางคนจะได้ประโยชน์จากการให้คำปรึกษาด้านพฤติกรรมด้วย บางคนทนทุกข์จากความเจ็บป่วยทางจิต เมื่อจำเป็นท่านจะแนะนำสมาชิกให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสุขภาพจิตที่มีคุณวุฒิ (ดู 31.3.6)

  • จงสวดอ้อนวอนและทูลขอการนำทางจากพระวิญญาณก่อนให้การจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกบางคนอาจได้ประโยชน์จากการใช้เอกสิทธิ์ของสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างแข็งขันมากขึ้นแทนที่จะจำกัดเอกสิทธิ์

  • ติดตามผลเพื่อให้กำลังใจ เสริมความเข้มแข็งทางวิญญาณ และสังเกตความก้าวหน้า

หลังจากสมาชิกสารภาพต่ออธิการหรือประธานสเตคแล้ว การให้คำปรึกษาเพื่อติดตามผลอาจเกิดขึ้นได้หลายวิธี ผู้นำเองก็สามารถให้คำปรึกษาดังกล่าวได้ หรือสมาชิกอาจอนุญาตให้เขามอบหมายให้ที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาเป็นผู้ให้คำปรึกษา

ด้วยความเห็นชอบของสมาชิก อธิการหรือประธานสเตคอาจมอบหมายให้สมาชิกในโควรัมเอ็ลเดอร์หรือสมาคมสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับเยาวชน ท่านอาจมอบหมายให้ฝ่ายประธานเยาวชนหญิงหรือผู้ให้คำปรึกษาโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนช่วยเหลือ ผู้ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือมีสิทธิ์ได้รับการดลใจเพื่อทำงานมอบหมายดังกล่าวให้เกิดสัมฤทธิผล (ดู 4.2.6)

เมื่อมอบหมายให้บางคนช่วยให้คำปรึกษาเพื่อติดตามผล ผู้นำให้ข้อมูลที่จำเป็นแค่พอช่วยสมาชิกเท่านั้น ผู้ได้รับมอบหมายต้องรักษาความลับไว้เหมือนเดิม เขาแจ้งอธิการให้ทราบความก้าวหน้าและความต้องการของสมาชิกคนนั้นด้วย

ภาพ
ผู้หญิงกำลังสวดอ้อนวอน

32.8.2

การช่วยคนที่เสพติด

การให้คำปรึกษาส่วนตัวบางครั้งเกี่ยวข้องกับการช่วยให้สมาชิกกลับใจจากบาปอันเกี่ยวข้องหรือเกิดจากการเสพติด การเสพติดเหล่านี้อาจได้แก่ สารเสพติดหรือพฤติกรรมต่างๆ การเสพติดเป็นภัยต่อบุคคล ชีวิตสมรส และครอบครัว อธิการอาจแนะนำให้สมาชิกขอความช่วยเหลือจากโปรแกรมบำบัดการเสพติดของศาสนจักรและจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และด้านสุขภาพจิตที่มีคุณวุฒิ

การใช้สื่อลามกกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ การใช้สื่อลามกอย่างหมกมุ่นจะกลายเป็นการใช้โดยขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือในกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากคือกลายเป็นการเสพติด ไม่ว่าจะใช้สื่อลามกอย่างหมกหมุ่นหรือชั่วครั้งชั่วคราวล้วนเป็นภัยทั้งสิ้น สิ่งนี้ขับพระวิญญาณออกไป บั่นทอนความสามารถในการใช้พลังที่มาจากการรักษาพันธสัญญา สิ่งนี้ทำลายความสัมพันธ์อันมีค่าด้วย

การให้คำปรึกษาส่วนตัวและการจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการมักเพียงพอสำหรับการช่วยให้บุคคลกลับใจจากการใช้สื่อลามก โดยปกติจะไม่จัดสภาสมาชิกภาพ ดูกรณียกเว้นใน 38.6.6 และ 38.6.13 การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยได้

ประธานสเตคและอธิการสนับสนุนสมาชิกครอบครัวตามความจำเป็น อาจให้บิดามารดาอยู่ด้วยเมื่อให้คำปรึกษาเยาวชนเกี่ยวกับการใช้สื่อลามก อาจให้คู่สมรสอยู่ด้วยเมื่อให้คำปรึกษาคนที่แต่งงานแล้ว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาสมาชิกที่พัวพันกับสื่อลามกใน 38.6.13

32.8.3

การจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการ

นอกจากส่งเสริมการดำเนินการเชิงบวกเมื่อให้คำปรึกษาแล้ว อธิการหรือประธานสเตคอาจจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรบางด้านอย่างไม่เป็นทางการชั่วคราวด้วย หากจัดการอย่างฉลาด การจำกัดเหล่านี้จะช่วยเรื่องการกลับใจและความก้าวหน้าทางวิญญาณ การจำกัดดังกล่าวถือว่า ไม่เป็นทางการ เพราะไม่ได้บันทึกไว้บนบันทึกสมาชิกภาพ

การจำกัดอย่างไม่เป็นทางการอาจใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ หลายเดือน หรือนานกว่านั้นหากจำเป็นเพื่อให้บุคคลกลับใจอย่างสมบูรณ์ ในสภาวการณ์ไม่ปกติ เวลาอาจจะนานกว่าหนึ่งปี

ผู้นำแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณว่าการจำกัดแบบใดจะช่วยให้บุคคลกลับใจได้ดีที่สุด การจำกัดเหล่านี้อาจได้แก่ (แต่ไม่จำกัดเฉพาะ) การระงับเอกสิทธิ์ของการรับใช้ในการเรียกของศาสนจักร การใช้ฐานะปุโรหิต หรือการเข้าพระวิหาร ผู้นำอาจจำกัดบุคคลไม่ให้เป็นผู้พูด สอนบทเรียน หรือสวดอ้อนวอนในสภาวะแวดล้อมของศาสนจักรได้เช่นกัน หากผู้นำระงับสิทธิ์ในการเข้าพระวิหาร เขายกเลิกใบรับรองพระวิหารใน แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน (LCR)

การรับส่วนศีลระลึกเป็นส่วนสำคัญของการกลับใจ จึงไม่ควรเป็นการจำกัดอย่างแรกให้กับบุคคลที่กลับใจผู้มีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด อย่างไรก็ดี หากบุคคลทำบาปร้ายแรง ผู้นำอาจระงับเอกสิทธิ์นี้ชั่วคราว

โดยปกติผู้นำไม่บอกใครเกี่ยวกับการจำกัดอย่างไม่เป็นทางการเว้นแต่มีความจำเป็นต้องรู้ (ดู 32.12.2)

อธิการหรือประธานสเตคอาจถอนการจำกัดอย่างไม่เป็นทางการตามที่พระวิญญาณทรงนำเมื่อบุคคลก้าวหน้าตามที่กำหนดในการกลับใจอย่างแท้จริง ถ้าสมาชิกยังทำบาปแบบเดิม อาจเป็นประโยชน์หรือจำเป็นต้องจัดสภาสมาชิกภาพ


การบริหารสภาสมาชิกภาพศาสนจักร


สภาสมาชิกภาพศาสนจักรจัดเมื่ออธิการหรือประธานสเตคลงความเห็นว่าจะเป็นประโยชน์หรือเมื่อนโยบายศาสนจักรกำหนด (ดู 32.6) สภาดังกล่าวจะจัดในระดับวอร์ด สเตค สาขา ท้องถิ่น หรือคณะเผยแผ่ หมวดนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีบริหารสภา

32.9

การเข้าร่วมและความรับผิดชอบ

ตารางต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่าโดยปกติใครเข้าร่วมสภาสมาชิกภาพ

ผู้เข้าร่วมสภาสมาชิกภาพ

สภาสมาชิกภาพวอร์ด

ผู้เข้าร่วมสภาสมาชิกภาพ

  • บุคคลที่จัดสภาให้

  • อธิการและที่ปรึกษา

  • พนักงานวอร์ด

  • ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์ (เลือกได้; ดู 32.10.1)

สภาสมาชิกภาพสเตค

ผู้เข้าร่วมสภาสมาชิกภาพ

  • บุคคลที่จัดสภาให้

  • ประธานสเตคและที่ปรึกษา

  • พนักงานสเตค

  • สมาชิกสภาสูง (ในสถานการณ์จำกัดดังอธิบายไว้ใน 32.9.2)

  • อธิการของบุคคลที่จัดสภาให้ (เลือกได้; ดู 32.9.3)

  • ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์ (เลือกได้; ดู 32.10.1)

32.9.1

ประธานสเตค

ประธานสเตค:

  • มีสิทธิอำนาจเหนือสภาสมาชิกภาพในสเตค อย่างไรก็ดี สภาเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดโดยอธิการ

  • ต้องให้อนุมัติก่อนอธิการจะจัดสภาสมาชิกภาพ

  • จัดสภาสมาชิกภาพสเตคหากชายหรือหญิงที่รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารแล้วมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักร

  • อาจจัดสภาหากสมาชิกอุทธรณ์คำตัดสินของสภาสมาชิกภาพวอร์ด

  • ต้องให้อนุมัติก่อนการเสนอของสภาสมาชิกภาพวอร์ดให้ถอนสมาชิกภาพของบุคคลที่ไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์จึงจะถือเป็นที่สิ้นสุด

32.9.2

สภาสูง

โดยปกติสมาชิกสภาสูงไม่เข้าร่วมสภาสมาชิกภาพสเตค อย่างไรก็ดี สภาสูงอาจเข้าร่วมในสถานการณ์ยากๆ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:2) ตัวอย่างเช่น ฝ่ายประธานสเตคอาจเชิญสภาสูงเข้าร่วมเมื่อ:

  • มีข้อเท็จจริงที่ถูกคัดค้าน

  • พวกเขาจะเพิ่มคุณค่าและดุลยภาพ

  • สมาชิกขอให้พวกเขาเข้าร่วม

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือครอบครัวของเขาเกี่ยวข้องด้วย (ดู 32.9.7)

32.9.3

อธิการ (หรือประธานสาขาในสเตค)

อธิการ:

  • มีสิทธิอำนาจเหนือสภาสมาชิกภาพวอร์ด

  • ปรึกษากับประธานสเตคและได้รับอนุมัติจากประธานสเตคก่อนจัดสภา

  • อาจไม่จัดสภาหากชายหรือหญิงที่รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารแล้วมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักร ต้องจัดสภาสมาชิกภาพสเตคในสถานการณ์เหล่านั้น

  • อาจได้รับเชิญให้เข้าร่วมสภาสมาชิกภาพสเตคสำหรับสมาชิกวอร์ดที่สภากำลังทบทวนสมาชิกภาพของเขา ประธานสเตคและบุคคลนั้นต้องเห็นชอบกับการเข้าร่วมของอธิการ

สภาสมาชิกภาพวอร์ดหรือสาขาอาจเสนอให้ถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคลหากเขาไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ อย่างไรก็ดี ต้องได้รับอนุมัติจากประธานสเตคก่อนคำตัดสินจึงจะถือเป็นที่สิ้นสุด

บางครั้งต้องจัดสภาสมาชิกภาพวอร์ดสำหรับสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและกระบวนการพิจารณาเปิดเผยว่าสมาชิกมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพ ในสถานการณ์เหล่านี้ อธิการส่งเรื่องให้ประธานสเตค

32.9.4

ประธานคณะเผยแผ่

ประธานคณะเผยแผ่:

  • มีสิทธิอำนาจเหนือสภาสมาชิกภาพในสาขาและท้องถิ่นในคณะเผยแผ่

  • ต้องให้อนุมัติก่อนประธานท้องถิ่นหรือประธานสาขาจะจัดสภาสมาชิกภาพ

  • จัดสภาสมาชิกภาพหากชายหรือหญิงที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมีแนวโน้มจะถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักร หากเวลาหรือระยะทางเป็นอุปสรรค เขาอาจมอบหมายให้ที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาเป็นประธานควบคุมสภา เขากำหนดให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอีกสองคนเข้าร่วม

  • หากที่ใดทำได้ ให้จัดสภาสมาชิกภาพสำหรับคนที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ หากเวลาหรือระยะทางเป็นอุปสรรค เขาอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสามคนจัดสภา ในกรณีนี้ โดยปกติประธานท้องถิ่นหรือประธานสาขาของสมาชิกดำเนินการในสภา

  • อาจจัดสภาหากสมาชิกอุทธรณ์คำตัดสินของสภาสมาชิกภาพท้องถิ่นหรือสาขา

  • จัดสภาสมาชิกภาพด้วยการอนุมัติของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จากแผนกผู้สอนศาสนาหากผู้สอนศาสนาทำบาปร้ายแรงในสนามเผยแผ่ (ดู 32.9.8) เขาทบทวนเรื่องกับสมาชิกท่านหนึ่งในฝ่ายประธานภาคและปรึกษากับประธานสเตคของสเตคบ้านผู้สอนศาสนาด้วย

  • ต้องให้อนุมัติก่อนการเสนอของสภาสมาชิกภาพสาขาหรือท้องถิ่นให้ถอนสมาชิกภาพของบุคคลที่ไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์จึงจะถือเป็นที่สิ้นสุด

หากผู้สอนศาสนาสารภาพบาปร้ายแรงที่เขาทำก่อนรับใช้งานเผยแผ่ ประธานคณะเผยแผ่ติดต่อขอคำแนะนำจากตัวแทนภาคสนามของเขาในแผนกผู้สอนศาสนา

เมื่อประธานคณะเผยแผ่จัดสภาสมาชิกภาพ เขากำหนดให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสองคนช่วยเหลือเขา เฉพาะในสภาวการณ์ผิดธรรมดาเท่านั้นที่เขาจะตั้งผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มให้ช่วยเหลือ เขาดำเนินกระบวนการพิจารณาเหมือนกับในสภาสมาชิกภาพสเตค (ดู 32.10) อย่างไรก็ดี สภาสูงหรือสภาท้องถิ่นไม่เข้าร่วม

32.9.5

ประธานท้องถิ่นหรือประธานสาขาในคณะเผยแผ่

ประธานท้องถิ่นหรือประธานสาขาในคณะเผยแผ่จะจัดสภาสมาชิกภาพเมื่อได้รับมอบอำนาจจากประธานคณะเผยแผ่ สภาท้องถิ่นไม่เข้าร่วม

สภาสมาชิกภาพท้องถิ่นหรือสาขาอาจเสนอให้ถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคลหากเขาไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร อย่างไรก็ดี ต้องได้รับอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ก่อนคำตัดสินจึงจะถือเป็นที่สิ้นสุด

32.9.6

พนักงานสเตคหรือพนักงานวอร์ด

พนักงานสเตคหรือพนักงานวอร์ด:

  • จดบันทึกของสภาเป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อส่งแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร

  • เตรียมแบบฟอร์มหากผู้นำที่ดำเนินสภาขอ

  • ไม่เข้าร่วมการสนทนาหรือการตัดสินในสภา

32.9.7

การเข้าร่วมในสภาวการณ์ที่ผิดธรรมดา

หากที่ปรึกษาคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคไม่สามารถเข้าร่วมสภาสมาชิกภาพ ประธานสเตคขอให้สมาชิกสภาสูงคนหนึ่งหรือมหาปุโรหิตอีกคนเข้าแทน หากประธานสเตคไม่สามารถเข้าร่วมได้ ฝ่ายประธานสูงสุดจะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานสเตคควบคุมแทน

หากที่ปรึกษาในฝ่ายอธิการไม่สามารถเข้าร่วม อธิการจะขอให้มหาปุโรหิตคนหนึ่งในวอร์ดเข้าแทนที่ปรึกษาคนนั้น หากอธิการไม่สามารถเข้าร่วม เขาโอนเรื่องให้ประธานสเตคเรียกประชุมสภาสมาชิกภาพสเตค อธิการจะไม่มอบหมายให้ที่ปรึกษาเรียกประชุมสภาสมาชิกภาพ

หากจะจัดสภาสมาชิกภาพสำหรับสมาชิกครอบครัวของอธิการหรือที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขา ให้จัดในระดับสเตค หากจะจัดสภาสำหรับสมาชิกครอบครัวของที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานสเตค ประธานสเตคมอบหมายให้มหาปุโรหิตอีกคนเข้าแทนที่ปรึกษาคนนั้น หากจะจัดสภาสำหรับสมาชิกครอบครัวของประธานสเตค เขาปรึกษากับสำนักงานฝ่ายประธานสูงสุด

หากสมาชิกคัดค้านการเข้าร่วมของอธิการหรือที่ปรึกษาของเขา สภาสมาชิกภาพจะจัดในระดับสเตค หากสมาชิกคัดค้านการเข้าร่วมของที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานสเตค ประธานสเตคมอบหมายให้มหาปุโรหิตอีกคนเข้าแทนที่ปรึกษาคนนั้น หากสมาชิกคัดค้านการเข้าร่วมของประธานสเตค หรือหากประธานสเตครู้สึกว่าตนไม่สามารถเป็นกลางได้ เขาปรึกษากับสำนักงานฝ่ายประธานสูงสุด

32.9.8

การกำหนดว่าผู้นำคนใดจัดสภาในสภาวการณ์พิเศษ

สภาสมาชิกภาพแทบทุกกรณีจัดในหน่วยศาสนจักรตามภูมิศาสตร์ที่มีบันทึกสมาชิกภาพของบุคคล

บางครั้งสภาสมาชิกภาพจำเป็นต่อคนที่ย้าย หากย้ายภายในสเตคเดียวกัน ประธานสเตคปรึกษากับอธิการของทั้งสองวอร์ดและตัดสินใจว่าควรจัดสภาที่ใด

หากสมาชิกย้ายออกนอกสเตค ประธานสเตคของทั้งสองสเตคปรึกษากันและตัดสินใจว่าควรจัดสภาที่ใด หากพวกเขาตัดสินใจจัดสภาในวอร์ดหรือสเตคเดิม ให้เก็บบันทึกสมาชิกภาพไว้ในวอร์ดนั้นจนกว่าสภาเสร็จสมบูรณ์ หากไม่เป็นเช่นนั้น ให้โอนบันทึกไปวอร์ดใหม่ อธิการหรือประธานสเตคแจ้งอธิการหรือประธานสเตคคนปัจจุบันของสมาชิกอย่างลับๆ ว่าเหตุใดต้องจัดสภา

บางครั้งสภาสมาชิกภาพจำเป็นสำหรับสมาชิกที่อยู่ไกลบ้านชั่วคราว ตัวอย่างเช่น อาจจำเป็นต้องจัดสภาสำหรับนักศึกษาหรือทหาร อธิการที่สมาชิกอาศัยอยู่ชั่วคราวสามารถให้คำแนะนำและการสนับสนุน อย่างไรก็ดี เขาจะไม่จัดสภาสมาชิกภาพเว้นแต่บันทึกสมาชิกภาพอยู่ในหน่วยของเขาและเขาได้ปรึกษากับอธิการของวอร์ดบ้านแล้ว

บางครั้งผู้สอนศาสนาทำบาปร้ายแรงในสนามเผยแผ่ที่ไม่เปิดเผยจนหลังจากเขาพ้นจากหน้าที่ อธิการและประธานสเตคปรึกษากันว่าพวกเขาคนใดควรจัดสภาสมาชิกภาพ หนึ่งในนั้นปรึกษากับอดีตประธานคณะเผยแผ่ก่อนจัดสภา

32.10

ระเบียบปฏิบัติของสภาสมาชิกภาพ

32.10.1

แจ้งล่วงหน้าและเตรียมจัดสภา

อธิการหรือประธานสเตคแจ้งสมาชิกล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะจัดสภาสมาชิกภาพเพื่อสมาชิก เขาเซ็นจดหมาย จดหมายจะมีข้อมูลต่อไปนี้:

“[ฝ่ายอธิการหรือฝ่ายประธานสเตค] จะจัดสภาสมาชิกภาพเพื่อท่าน ใน [วันเดือนปีและเวลา] ที่ [สถานที่]

“สภานี้จะพิจารณา [สรุปความผิดโดยทั่วไป แต่ไม่ลงรายละเอียดหรือให้หลักฐาน]

“ขอเชิญท่านเข้าร่วมสภาเพื่อให้คำตอบของท่าน ท่านอาจจัดเตรียมคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลผู้สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ ท่านอาจเชิญบุคคลดังกล่าวมาพูดต่อสภาเพื่อประโยชน์ของท่านหากประธานสเตคหรืออธิการอนุมัติล่วงหน้า ท่านอาจเชิญ [ประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดหรือประธานโควรัมเอ็ลเดอร์] ให้อยู่และสนับสนุนท่านได้เช่นกัน

“ใครก็ตามที่เข้าร่วมต้องเต็มใจร่วมมือให้ความเคารพสภาอีกทั้งทำตามระเบียบปฏิบัติและรักษาความลับของสภาด้วย ที่ปรึกษากฎหมายและผู้สนับสนุนทางกฎหมายนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้นจะไม่อยู่ในสภา”

ย่อหน้าสุดท้ายอาจเขียนแสดงความรัก ความหวัง และความห่วงใย

แนวทางเกี่ยวกับคนที่บุคคลอาจเชิญมาพูดต่อสภามีอยู่ใน 32.10.3 ข้อ 4

ถ้าไม่สามารถมอบจดหมายให้ถึงมือบุคคลนั้นด้วยตนเองได้ อาจส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์แบบตอบรับ

อธิการหรือประธานสเตคกำหนดจัดสภาสมาชิกภาพ ณ เวลาที่บุคคลนั้นสะดวก เขาพึงแน่ใจด้วยว่ามีเวลาขอคำให้การจากผู้เสียหายเนื่องจากการประพฤติผิดหากพวกเขาปรารถนาจะเตรียมคำให้การ (ดู 32.10.2)

อธิการหรือประธานสเตคเตรียมสมาชิกสำหรับสภาโดยอธิบายจุดประสงค์และระเบียบปฏิบัติของสภา เขาอธิบายคำตัดสินที่สภาอาจลงมติและผลของคำตัดสินด้วย หากสมาชิกสารภาพแล้ว ผู้นำอธิบายว่าจำเป็นจะต้องใช้คำสารภาพในสภาสมาชิกภาพ

32.10.2

รับคำให้การจากผู้เสียหาย

เมื่อสมาชิกศาสนจักรเป็นผู้เสียหาย (เช่นจากการร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกัน การทารุณกรรมเด็ก หรือการทารุณกรรมคู่สมรส หรือการฉ้อโกง) อธิการหรือประธานสเตคติดต่ออธิการหรือประธานสเตคคนปัจจุบันของบุคคลนั้น ผู้นำเหล่านี้พิจารณาว่าการเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายจัดเตรียมคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการประพฤติผิดและผลของการประพฤติผิดนั้นจะเป็นประโยชน์หรือไม่ อ่านคำให้การเหล่านี้ในสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.10.3 ข้อ 3) ผู้นำศาสนจักรไม่มีสิทธิอำนาจในการเริ่มติดต่อกับผู้เสียหายที่ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักร

การสื่อสารใดๆ กับผู้เสียหายเพื่อจุดประสงค์นี้ทำโดยอธิการหรือประธานสเตคคนปัจจุบันของเขา หากผู้เสียหายเตรียมคำให้การ ผู้นำท่านนี้มอบคำให้การแก่อธิการหรือประธานสเตคผู้จัดสภาสมาชิกภาพ ผู้นำต้องระวังให้มากอย่าให้เกิดความบอบช้ำมากกว่าเดิม ดูข้อควรระวังอื่นๆ ใน 32.4.3

การสอบถามเกี่ยวกับผู้เสียหายที่อายุน้อยกว่า 18 ปีให้ทำผ่านบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายของเด็กถ้าการทำเช่นนั้นไม่ทำให้ผู้เสียหายตกอยู่ในอันตราย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอธิการและประธานสเตครับแนวทางในกรณีของการทารุณกรรมใน 32.4.5 และ 38.6.2.1

32.10.3

ดำเนินสภา

ทันทีก่อนสภาเริ่ม อธิการหรือประธานสเตคบอกผู้เข้าร่วมว่าจัดสภาให้ใครและการประพฤติผิดที่ได้รับรายงานคืออะไร เขาอธิบายระเบียบปฏิบัติของสภาหากจำเป็น

จากนั้นให้เชิญบุคคลเข้ามาในห้องหากอยู่ที่นั่น หากเชิญอธิการเข้าร่วมสภาสมาชิกภาพสเตค เชิญเขาเข้ามาในห้องตอนนี้ด้วย หากบุคคลเชิญประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดหรือประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ให้อยู่สนับสนุน เชิญเธอหรือเขาเข้ามาในห้องด้วย

อธิการหรือประธานสเตคดำเนินสภาด้วยวิญญาณของความรักตามที่ระบุไว้ด้านล่าง

  1. เขาเชิญคนหนึ่งสวดอ้อนวอนเปิด

  2. เขาแถลงเรื่องการประพฤติผิดที่ได้รับรายงาน เขาเปิดโอกาสให้บุคคล (ถ้าอยู่) ยืนยัน ปฏิเสธ หรือชี้แจงคำแถลงนี้

  3. ถ้าสมาชิกยืนยันการประพฤติผิด อธิการหรือประธานสเตคดำเนินกระบวนการพิจารณาถึงข้อ 5 ด้านล่าง ถ้าสมาชิกปฏิเสธ อธิการหรือประธานสเตคนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประพฤติผิด อาจรวมถึงการนำเสนอเอกสารที่เชื่อถือได้ และอ่านออกเสียงคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เสียหาย (ดู 32.10.2) หากอ่านคำให้การ เขาปกป้องตัวตนของผู้เสียหาย

  4. หากสมาชิกปฏิเสธการประพฤติผิด เขานำเสนอข้อมูลต่อสภา ทั้งนี้สามารถนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร หรือสมาชิกอาจขอให้บุคคลผู้สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาพูดต่อสภาทีละคน บุคคลเหล่านั้นควรเป็นสมาชิกศาสนจักรเว้นแต่อธิการหรือประธานสเตคพิจารณาล่วงหน้าให้ผู้ไม่เป็นสมาชิกเข้าร่วม พวกเขารออยู่อีกห้องหนึ่งจนกว่าจะขอให้พวกเขาพูด แต่ละบุคคลออกจากห้องสภาเมื่อพูดจบ พวกเขาต้องยินดีให้ความเคารพต่อสภา ตลอดจนทำตามระเบียบปฏิบัติและการรักษาความลับของสภาด้วย สมาชิกจะไม่ให้ที่ปรึกษากฎหมายนำเสนอ ทั้งพวกเขาจะไม่ให้ผู้สนับสนุนนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ในย่อหน้าแรกของหมวดนี้นำเสนอด้วย

  5. อธิการหรือประธานสเตคจะซักถามสมาชิกอย่างสุภาพและด้วยความเคารพ เขาอาจซักถามบุคคลอื่นที่สมาชิกขอมาให้ข้อมูลด้วย ที่ปรึกษาในฝ่ายอธิการหรือฝ่ายประธานสเตคอาจซักถามเช่นกัน คำถามควรกระชับและจำกัดเฉพาะข้อเท็จจริงที่จำเป็นเท่านั้น

  6. หลังจากมีการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว อธิการหรือประธานสเตคขอให้สมาชิกออกจากห้อง พนักงานออกจากห้องด้วยยกเว้นกรณีที่สภาสูงเข้าร่วมสภาสมาชิกภาพสเตค หากอธิการของสมาชิกอยู่ในสภาสมาชิกภาพสเตค เขาออกจากห้องเช่นกัน หากประธานสมาคมสงเคราะห์หรือประธานโควรัมเอ็ลเดอร์เข้าร่วมเพื่อให้การสนับสนุน เขาออกจากห้องเช่นกัน

  7. อธิการหรือประธานสเตคขอความเห็นหรือข้อมูลเชิงลึกจากที่ปรึกษาของเขา หากสภาสูงเข้าร่วมในสภาสมาชิกภาพสเตค เขาขอความเห็นและข้อมูลเชิงลึกจากสภาสูง

  8. อธิการหรือประธานสเตคกับที่ปรึกษาของพวกเขาแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าร่วมกับการสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เฉพาะประธานสเตคและที่ปรึกษาของเขาหรืออธิการและที่ปรึกษาของเขาเท่านั้นจะอยู่ในห้องระหว่างนี้ หากสภาสมาชิกภาพสเตคมีสภาสูงอยู่ด้วย โดยปกติฝ่ายประธานสเตคจะไปที่ห้องทำงานของประธานสเตค

  9. อธิการหรือประธานสเตคบอกที่ปรึกษาของเขาให้ทราบคำตัดสินของตนและขอให้คนเหล่านั้นสนับสนุน หากสภาสมาชิกภาพสเตคมีสภาสูงอยู่ด้วย ฝ่ายประธานสเตคกลับมาห้องเดิมและขอให้สภาสูงสนับสนุนคำตัดสิน หากที่ปรึกษาหรือสมาชิกสภาสูงคนหนึ่งมีความเห็นต่าง อธิการหรือประธานสเตคฟังและพยายามแก้ไขความเห็นต่าง ความรับผิดชอบในการตัดสินตกอยู่กับเจ้าหน้าที่ควบคุม

  10. เขาเชิญบุคคลกลับเข้ามาในห้อง หากพนักงานออกจากห้อง ให้เชิญเข้ามาในห้องด้วย หากอธิการของสมาชิกอยู่ในสภาสมาชิกภาพสเตค ให้เชิญเขาเข้ามาในห้องด้วย หากประธานสมาคมสงเคราะห์หรือประธานโควรัมเอ็ลเดอร์เข้าร่วมเพื่อให้การสนับสนุน ให้เชิญเธอหรือเขากลับเข้ามาด้วย

  11. อธิการหรือประธานสเตคบอกคำตัดสินของสภาด้วยวิญญาณของความรัก หากคำตัดสินคือให้จำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการหรือถอนสมาชิกภาพ เขาอธิบายเงื่อนไข (ดู 32.11.3 และ 32.11.4) เขาอธิบายวิธีพ้นจากการจำกัดและให้คำแนะนำตลอดจนคำปรึกษาอื่นๆ ด้วย อธิการหรือประธานสเตคอาจเลื่อนสภาไปชั่วคราวเพื่อขอแนวทางหรือข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสิน ในกรณีดังกล่าว เขาอธิบายสถานการณ์นี้

  12. เขาอธิบายสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ของบุคคล (ดู 32.13)

  13. เขาเชิญคนหนึ่งสวดอ้อนวอนปิด

ไม่ว่าบุคคลอยู่หรือไม่อยู่ อธิการหรือประธานสเตคแจ้งคำตัดสินให้เขาทราบดังอธิบายไว้ใน 32.12.1

ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมคนใดในสภาสมาชิกภาพทำการบันทึกเสียง ภาพ หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร พนักงานอาจจดบันทึกเพื่อจุดประสงค์ของการเตรียมรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร แต่บันทึกดังกล่าวต้องไม่เป็นบันทึกคำต่อคำหรือถอดความ หลังจากเตรียมรายงานแล้ว เขาทำลายบันทึกทันที

32.11

คำตัดสินจากสภาสมาชิกภาพ

คำตัดสินจากสภาสมาชิกภาพควรเป็นไปตามการทรงนำของพระวิญญาณ ทั้งควรสะท้อนความรักและความหวังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบให้คนที่กลับใจ คำตัดสินที่เป็นไปได้มีอธิบายไว้ด้านล่าง เมื่อทำการตัดสินเหล่านี้ ผู้นำพิจารณาสภาวการณ์ที่ระบุไว้ใน 32.7

หลังจากจัดสภาสมาชิกภาพ อธิการหรือประธานสเตคส่งแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักรผ่าน LCR ทันที (ดู 32.14.1)

คำตัดสินที่เป็นไปได้จากสภาสมาชิกภาพระบุไว้ในหมวดต่อไปนี้

32.11.1

อยู่ในสถานะน่าเชื่อถือ

ในบางกรณี บุคคลอาจเป็นผู้บริสุทธิ์และอยู่ในสถานะน่าเชื่อถือ ในบางกรณี บุคคลอาจทำบาป กลับใจอย่างจริงใจ และอยู่ในสถานะน่าเชื่อถือ อธิการหรือประธานสเตคจะให้คำปรึกษาและให้ระวังการกระทำในอนาคต หลังจากสภา เขาให้การสนับสนุนต่อไปตามความต้องการ

ภาพ
คู่ชายหญิงนั่งด้วยกัน

32.11.2

การให้คำปรึกษาส่วนตัวจากอธิการหรือประธานสเตค

ในสภาสมาชิกภาพบางสภา ผู้นำอาจลงความเห็นว่าสมาชิกไม่อยู่ในสถานะน่าเชื่อถือ—แต่ไม่มีเหตุให้จำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ ในกรณีเหล่านี้ สภาอาจตัดสินว่าบุคคลควรได้รับการให้คำปรึกษาส่วนตัวและการแก้ไขจากอธิการหรือประธานสเตค การให้คำปรึกษาดังกล่าวอาจรวมถึงการจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการตามที่ระบุไว้ใน 32.8.3

การให้คำปรึกษาส่วนตัวและการจำกัดสมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการไม่ใช่ตัวเลือกเมื่อจัดสภาสำหรับบาปที่ระบุไว้ใน 32.6.1

32.11.3

การจำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ

ในสภาสมาชิกภาพบางสภา ผู้นำอาจลงความเห็นว่าการจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการชั่วคราวจะดีที่สุด การจำกัดอย่างเป็นทางการอาจเพียงพอสำหรับบาปร้ายแรงหรือสถานการณ์ร้ายแรงทั้งหมด แต่สำหรับบาปหรือสถานการณ์ร้ายแรงที่สุดจะถูกถอนสมาชิกภาพ (ดู 32.11.4)

คนที่ถูกจำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการยังคงเป็นสมาชิกของศาสนจักร อย่างไรก็ดี การจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรมีดังนี้:

  • พวกเขาจะเข้าพระวิหารไม่ได้ แต่พวกเขาจะสวมการ์เมนท์ต่อไปได้หากรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว หากสมาชิกมีใบรับรองพระวิหาร ผู้นำยกเลิกใน LCR

  • พวกเขาจะใช้ฐานะปุโรหิตไม่ได้

  • พวกเขาจะรับศีลระลึกหรือเข้าร่วมการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ศาสนจักรไม่ได้

  • พวกเขาจะเป็นผู้พูด สอนบทเรียน หรือสวดอ้อนวอนในสภาวะแวดล้อมของศาสนจักรไม่ได้ พวกเขาจะรับใช้ในการเรียกของศาสนจักรไม่ได้

ศาสนจักรสนับสนุนให้พวกเขาเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่างๆ หากพวกเขามีความประพฤติเรียบร้อย ทั้งยังส่งเสริมให้พวกเขาจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคด้วย

อธิการหรือประธานสเตคอาจเพิ่มเงื่อนไขอื่น เช่น อยู่ห่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ลามกหรืออิทธิพลชั่วร้ายอื่นๆ โดยปกติเขาจะเพิ่มเงื่อนไขเชิงบวก อาจรวมถึงการเข้าร่วมประชุมของศาสนจักรเป็นประจำ การสวดอ้อนวอนเป็นประจำ การอ่านพระคัมภีร์หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่นของศาสนจักร

หากบุคคลถูกจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการ ให้เขียนหมายเหตุในบันทึกสมาชิกภาพด้วย

โดยปกติเวลาของการจำกัดอย่างเป็นทางการคือหนึ่งปีเป็นอย่างน้อยหรืออาจจะนานกว่านั้น เมื่อสมาชิกก้าวหน้าตามที่กำหนดในการกลับใจอย่างแท้จริง อธิการหรือประธานสเตคจัดสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาถอนการจำกัด (ดู 32.16.1) หากสมาชิกยังทำบาปแบบเดิม ผู้นำจะจัดสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณามาตรการอื่น

32.11.4

การถอนสมาชิกภาพ

ในสภาสมาชิกภาพบางสภา ผู้นำอาจลงความเห็นว่าการถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคลชั่วคราวจะดีที่สุด (ดู โมไซยาห์ 26:36; แอลมา 6:3; โมโรไน 6:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:83)

จะต้องถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคลที่กระทำฆาตกรรม (ดังนิยามไว้ใน 32.6.1.1) และสมรสซ้อน (ดังอธิบายไว้ใน 32.6.1.2) จะต้องถอนสมาชิกภาพของบุคคลที่ร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกันแทบทุกกรณีดังอธิบายไว้ใน 32.6.1.2 และ 38.6.10

เมื่อพระวิญญาณทรงนำ อาจจำเป็นต้องถอนสมาชิกภาพของบุคคลต่อไปนี้:

  • ผู้มีความประพฤติเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อผู้อื่น

  • ผู้ทำบาปรุนแรงอย่างยิ่ง

  • ผู้ไม่แสดงให้เห็นว่ากลับใจจากบาปร้ายแรง (ดูข้อควรพิจารณาใน 32.7)

  • ผู้ทำบาปร้ายแรงที่เป็นภัยต่อศาสนจักร

สภาสมาชิกภาพวอร์ด สาขา หรือท้องถิ่นอาจเสนอให้ถอนสมาชิกภาพศาสนจักรจากบุคคลที่ไม่เคยได้รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร แต่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากประธานสเตคหรือประธานคณะเผยแผ่ก่อนคำตัดสินจึงจะถือเป็นที่สิ้นสุด

ผู้ถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรจะไม่ได้รับเอกสิทธิ์ใดๆ ของการเป็นสมาชิก

  • พวกเขาจะเข้าพระวิหารหรือสวมการ์เมนท์พระวิหารไม่ได้ หากบุคคลมีใบรับรองพระวิหาร ผู้นำยกเลิกใบรับรองใน LCR

  • พวกเขาจะใช้ฐานะปุโรหิตไม่ได้

  • พวกเขาจะรับศีลระลึกหรือเข้าร่วมการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ศาสนจักรไม่ได้

  • พวกเขาจะเป็นผู้พูด สอนบทเรียน หรือสวดอ้อนวอนในสภาวะแวดล้อมของศาสนจักร หรือนำกิจกรรมในศาสนจักรไม่ได้ พวกเขาจะรับใช้ในการเรียกของศาสนจักรไม่ได้

  • พวกเขาจะจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคไม่ได้

ศาสนจักรสนับสนุนให้พวกเขาเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่างๆ หากพวกเขามีความประพฤติเรียบร้อย

ผู้ถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรจะได้รับการพิจารณาให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน โดยปกติพวกเขาต้องแสดงการกลับใจจริงก่อนอย่างน้อยหนึ่งปี อธิการหรือประธานสเตคจัดสภาสมาชิกภาพอีกครั้งเพื่อพิจารณาการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง (ดู 32.16.1)

คำตัดสินของสภาสมาชิกภาพและผลคำตัดสิน

คำตัดสิน

ผลคำตัดสิน

คำตัดสิน

อยู่ในสถานะน่าเชื่อถือ (ดู 32.11.1)

ผลคำตัดสิน

  • ไม่มี

คำตัดสิน

การให้คำปรึกษาส่วนตัวจากอธิการหรือประธานสเตค (ดู 32.11.2)

ผลคำตัดสิน

  • อาจถูกจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพอย่างไม่เป็นทางการบางอย่าง

  • โดยปกติจะจำกัดไม่ถึงหนึ่งปี ในสภาวการณ์ผิดธรรมดาอาจนานกว่านั้น

  • ถอนการจำกัดอย่างไม่เป็นทางการหลังจากกลับใจอย่างแท้จริง

  • ไม่บันทึกการดำเนินการไว้ในบันทึกสมาชิกภาพ

คำตัดสิน

การจำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ (ดู 32.11.3)

ผลคำตัดสิน

  • เอกสิทธิ์สมาชิกภาพถูกจำกัดอย่างเป็นทางการ

  • โดยปกติจะจำกัดอย่างน้อยหนึ่งปีและอาจนานกว่านั้น

  • บันทึกการดำเนินการไว้ในบันทึกสมาชิกภาพ

  • ถอนการจำกัดอย่างเป็นทางการหลังจากมีการกลับใจอย่างแท้จริง มีการจัดสภาสมาชิกภาพ และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องมีการอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด

  • ถอนตัวบ่งชี้ในบันทึกสมาชิกภาพหากถอนการจำกัดหลังจากจัดสภาสมาชิกภาพ (ยกเว้นต้องมีคำอธิบายประกอบ; ดู 32.14.5)

คำตัดสิน

การถอนสมาชิกภาพ (ดู 32.11.4)

ผลคำตัดสิน

  • ถูกเพิกถอนศาสนพิธีทั้งหมด

  • ถูกถอนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพทั้งหมด โดยปกติอย่างน้อยหนึ่งปี

  • บุคคลมีสิทธิ์กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยันหลังจากการกลับใจอย่างแท้จริง มีการจัดสภาสมาชิกภาพ และหากจำเป็นต้องมีการอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด (ดู 32.16)

  • คนที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมีสิทธิ์ได้รับการฟื้นฟูพรด้วยการอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดเท่านั้นและหลังจากกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งครบหนึ่งปีเต็มเป็นอย่างน้อย (ดู 32.17.2)

  • สำหรับคนที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว ตัวบ่งชี้ “จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูพร” ถูกถอนออกจากบันทึกสมาชิกภาพหลังจากประกอบศาสนพิธีแล้วเท่านั้น (คำอธิบายประกอบต้องอยู่เหมือนเดิม; ดู 32.14.5)

32.11.5

คำถามเกี่ยวกับการตัดสินเรื่องยากๆ

อธิการส่งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการจัดสภาสมาชิกภาพในคู่มือถึงประธานสเตคโดยตรง

ประธานสเตคอาจขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องยากๆ จากสาวกเจ็ดสิบภาคที่ดูแลเขา ประธานสเตคต้องปรึกษากับฝ่ายประธานภาคเกี่ยวกับเรื่องที่ระบุไว้ใน 32.6.3 อย่างไรก็ดี ประธานสเตคไม่ควรถามสาวกเจ็ดสิบภาคหรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ว่าจะตัดสินเรื่องยากๆ อย่างไร ประธานสเตคตัดสินใจว่าควรจัดสภาเพื่อแก้ไขความประพฤติหรือไม่ หากจัดสภา ประธานสเตคหรืออธิการตัดสินผลของสภา

32.11.6

สิทธิอำนาจของฝ่ายประธานสูงสุด

ฝ่ายประธานสูงสุดมีสิทธิอำนาจขั้นสุดท้ายในเรื่องการจำกัดและการถอนสมาชิกภาพศาสนจักร

32.12

การแจ้งและการประกาศ

บอกคำตัดสินของสภาสมาชิกภาพให้บุคคลทราบ—และผู้อื่นเมื่อจำเป็น—ดังอธิบายไว้ด้านล่าง

32.12.1

การแจ้งบุคคลเรื่องคำตัดสิน

โดยปกติอธิการหรือประธานสเตคบอกผลของสภาให้บุคคลทราบเมื่อสภาสิ้นสุด แต่เขาอาจเลื่อนสภาออกไปชั่วคราวเพื่อขอคำแนะนำหรือข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสิน

สภาสมาชิกภาพวอร์ด สาขา หรือท้องถิ่นอาจเสนอให้ถอนสมาชิกภาพศาสนจักรจากบุคคลที่ไม่เคยได้รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร แต่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากประธานสเตคหรือประธานคณะเผยแผ่ก่อนคำตัดสินจึงจะถือเป็นที่สิ้นสุด

อธิการหรือประธานสเตคอธิบายผลของคำตัดสินตามที่ระบุไว้ใน 32.11 โดยปกติเขาให้คำปรึกษาเรื่องเงื่อนไขของการกลับใจด้วยเพื่อจะสามารถถอนการจำกัดได้หรือเพื่อบุคคลจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกในศาสนจักรได้อีกครั้ง

อธิการหรือประธานสเตคให้ใบแจ้งคำตัดสินและผลคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรแก่บุคคลนั้นทันที ใบแจ้งดังกล่าวประกอบด้วยคำแถลงทั่วไปว่าได้ดำเนินการกับความประพฤติที่ขัดกับกฎและระเบียบของศาสนจักรแล้ว ทั้งยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับการถอนการจำกัดสมาชิกภาพหรือการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกในศาสนจักรอีกครั้งด้วย ใบแจ้งควรให้บุคคลทราบว่าเขาจะอุทธรณ์คำตัดสินได้ (ดู 32.13)

หากบุคคลไม่เข้าร่วมสภา ใบแจ้งคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรอาจเพียงพอ อธิการหรือประธานสเตคอาจพบกับบุคคลนั้นด้วย

อธิการหรือประธานสเตคไม่ให้สำเนาแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักรแก่บุคคลนั้น

32.12.2

การแจ้งผู้อื่นเรื่องคำตัดสิน

หากอธิการหรือประธานสเตคจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพของบุคคลอย่างไม่เป็นทางการในการให้คำปรึกษาส่วนตัว โดยปกติเขาไม่แจ้งให้ผู้ใดทราบ (ดู 32.8.3) แต่ผู้นำเหล่านี้สื่อสารกันเกี่ยวกับการจำกัดอย่างไม่เป็นทางการเมื่อพวกเขาช่วยเหลือสมาชิก

หากบุคคลถูกจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพอย่างเป็นทางการหรือถูกถอนสมาชิกภาพในสภาสมาชิกภาพ อธิการหรือประธานสเตคบอกคำตัดสินต่อผู้จำเป็นต้องรู้เท่านั้น โดยใช้แนวทางต่อไปนี้

  • เขาพิจารณาความต้องการของผู้เสียหายและผู้มีแนวโน้มเป็นผู้เสียหายและความรู้สึกของครอบครัวบุคคลนั้น

  • เขาไม่บอกคำตัดสินหากบุคคลกำลังอุทธรณ์คำตัดสิน แต่เขาอาจบอกว่ามีการยื่นอุทธรณ์หากเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องคุ้มครองผู้มีแนวโน้มจะเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้เขาอาจบอกคำตัดสินเพื่อสนับสนุนการเยียวยาผู้เสียหาย (แม้ไม่ระบุชื่อผู้เสียหายก็ตาม) หรือพิทักษ์หลักคุณธรรมของศาสนจักร

  • เมื่อจำเป็น อธิการบอกคำตัดสินเป็นการลับกับสมาชิกสภาวอร์ด ทั้งนี้เพื่อแจ้งให้ผู้นำที่อาจจะพิจารณาให้บุคคลมีการเรียก สอนบทเรียน หรือสวดอ้อนวอน หรือเป็นผู้พูดทราบ อีกทั้งกระตุ้นให้ผู้นำดูแลและสนับสนุนสมาชิกตลอดจนครอบครัวของเขาด้วย

  • ด้วยการอนุมัติจากประธานสเตค อธิการอาจบอกคำตัดสินในการประชุมโควรัมเอ็ลเดอร์และการประชุมสมาคมสงเคราะห์ของวอร์ดหากสถานการณ์เกี่ยวข้องกับ:

    • พฤติกรรมล่าเหยื่อที่อาจเป็นภัยคุกคามผู้อื่น

    • การสอนหลักคำสอนเท็จหรือการละทิ้งความเชื่อรูปแบบอื่น

    • บาปที่โจ่งแจ้งเช่นการสมรสซ้อนหรือการใช้คำสอนของลัทธิคลั่งศาสนาดึงดูดผู้ติดตาม

    • การกล่าวแย้งการกระทำหรือคำสอนของผู้นำศาสนจักรระดับสามัญหรือระดับท้องที่ต่อหน้าสาธารณชน

  • ในกรณีดังกล่าวประธานสเตคอาจต้องอนุญาตให้บอกสมาชิกของวอร์ดอื่นในสเตคด้วย

  • ในบางกรณี อธิการหรือประธานสเตคอาจรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ที่จะแจ้งผู้เสียหายบางคนหรือทุกคนและครอบครัวของพวกเขาว่าได้จัดสภาสมาชิกภาพสำหรับบุคคลนั้นแล้ว เขาทำเช่นนี้ผ่านอธิการหรือประธานสเตคของคนเหล่านั้น

  • หากแนวโน้มการล่าเหยื่อของบุคคลทำให้ผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย อธิการหรือประธานสเตคอาจให้คำเตือนเพื่อคุ้มครองผู้อื่น เขาไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับและไม่คาดเดา

  • ในกรณีอื่นทั้งหมด อธิการหรือประธานสเตคบอกเฉพาะคำแถลงทั่วไปเท่านั้น เขาแถลงเพียงว่าบุคคลถูกจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักรหรือถูกถอนสมาชิกภาพสำหรับความประพฤติที่ขัดกับกฎและระเบียบของศาสนจักร เขาขอให้คนที่อยู่ไม่พูดเรื่องนี้ และไม่ขอให้สนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินการ

  • หากสมาชิกอยู่ในสถานะน่าเชื่อถือหลังจากจัดสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.11.1) อธิการหรือประธานสเตคจะสื่อสารให้ทราบเพื่อขจัดข่าวลือ

32.12.3

บอกเรื่องการลาออกจากสมาชิกภาพ

ในบางกรณี อธิการอาจต้องบอกให้รู้ว่าบุคคลได้ลาออกจากสมาชิกภาพในศาสนจักรแล้ว (ดู 32.14.9) อธิการไม่ให้รายละเอียดอื่น

32.13

การอุทธรณ์คำตัดสิน

สมาชิกอาจอุทธรณ์คำตัดสินของสภาสมาชิกภาพวอร์ดต่อประธานสเตคภายใน 30 วัน ประธานสเตคจัดสภาสมาชิกภาพสเตคเพื่อพิจารณาคำอุทธรณ์ เขาอาจขอให้อธิการเรียกประชุมสภาอีกครั้งและพิจารณาคำตัดสินอีกรอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อมูลใหม่

สมาชิกอาจอุทธรณ์คำตัดสินของสภาสมาชิกภาพสเตคโดยเขียนจดหมายถึงฝ่ายประธานสูงสุดภายใน 30 วัน สมาชิกมอบจดหมายให้ประธานสเตคส่งต่อฝ่ายประธานสูงสุด

ในคณะเผยแผ่ สมาชิกอาจอุทธรณ์คำตัดสินของสภาสมาชิกภาพสาขาหรือท้องถิ่นต่อประธานคณะเผยแผ่ภายใน 30 วัน ประธานคณะเผยแผ่จัดสภาสมาชิกภาพเพื่อพิจารณาคำอุทธรณ์ ถ้าเวลาหรือระยะทางทำให้เขาจัดไม่ได้ เขาทำตามคำแนะนำใน 32.9.4

ถ้าประธานคณะเผยแผ่ดำเนินการในสภา สมาชิกอาจอุทธรณ์คำตัดสินโดยเขียนจดหมายถึงฝ่ายประธานสูงสุดภายใน 30 วัน สมาชิกมอบจดหมายให้ประธานคณะเผยแผ่ส่งต่อฝ่ายประธานสูงสุด

บุคคลที่อุทธรณ์คำตัดสินระบุความผิดที่ถูกกล่าวหาหรือความไม่เป็นธรรมในระเบียบปฏิบัติหรือคำตัดสินไว้ในจดหมาย

หากจัดสภาสมาชิกภาพเพื่อพิจารณาคำอุทธรณ์ คำตัดสินหนึ่งในสองประการต่อไปนี้อาจเกิดขึ้น:

  • ให้คงคำตัดสินเดิม

  • ปรับเปลี่ยนคำตัดสินเดิม

คำตัดสินจากฝ่ายประธานสูงสุดถือเป็นที่สิ้นสุดและจะอุทธรณ์อีกไม่ได้

32.14

รายงานและบันทึกสมาชิกภาพ

32.14.1

รายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร

หลังจากจัดสภาสมาชิกภาพ อธิการหรือประธานสเตคส่งแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักรผ่าน LCR ทันที เขาอาจขอให้พนักงานเตรียมรายงาน เขาพึงแน่ใจว่าไม่มีสำเนากระดาษหรือสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ของแบบฟอร์มเก็บไว้ในท้องที่ อีกทั้งพึงแน่ใจด้วยว่าบันทึกใดก็ตามที่ใช้เตรียมรายงานถูกทำลายทันที

32.14.2

การจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการ

การจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการจะเขียนเป็นหมายเหตุไว้ในบันทึกสมาชิกภาพ สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรทำหมายเหตุนี้หลังจากได้รับรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร เมื่อสมาชิกกลับใจแล้ว ผู้นำต้องจัดสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาถอนการจำกัดเหล่านี้ (ดู 32.16.1)

32.14.3

บันทึกหลังจากถอนสมาชิกภาพศาสนจักรของบุคคล

หากบุคคลถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักร สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรถอนบันทึกสมาชิกภาพหลังจากได้รับรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร หากบุคคลปรารถนา ผู้นำช่วยเขาเตรียมกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน (ดู 32.16.1)

32.14.4

บันทึกหลังกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้ง

หลังจากบุคคลกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้ง อธิการส่งแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร ไม่ต้องสร้างใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน แต่ให้ลงบันทึกบัพติศมาและการยืนยันในแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร

หากสมาชิกไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรจัดบันทึกสมาชิกภาพที่แสดงวันเดือนปีของบัพติศมาครั้งแรกและศาสนพิธีอื่นของเขา บันทึกไม่มีการอ้างถึงการสูญเสียสมาชิกภาพศาสนจักร

หากสมาชิกรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรอัปเดตบันทึกสมาชิกภาพเพื่อแสดงวันบัพติศมาใหม่และการยืนยันใหม่ บันทึกนี้มีข้อความ “ต้องได้รับการฟื้นฟูพร” รวมอยู่ด้วย หลังจากฟื้นฟูพรของสมาชิก (ดู 32.17.2) บันทึกสมาชิกภาพจะอัปเดตเพื่อแสดงวันเดือนปีของบัพติศมาครั้งแรกและศาสนพิธีอื่น ไม่มีการอ้างถึงการสูญเสียสมาชิกภาพศาสนจักร

32.14.5

บันทึกสมาชิกภาพที่มีคำอธิบายประกอบ

เมื่อได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายประธานสูงสุด สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรเขียนคำอธิบายประกอบบันทึกสมาชิกภาพของบุคคลในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้านล่าง

  1. อธิการหรือประธานสเตคส่งแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักรโดยระบุว่าบุคคลถูกจำกัดอย่างเป็นทางการหรือถูกถอนสมาชิกภาพเพราะความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้:

    1. การร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกัน

    2. การกระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กหรือเยาวชน การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กหรือเยาวชน หรือการกระทำทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางอารมรณ์อย่างรุนแรงต่อเด็กหรือเยาวชน

    3. การพัวพันกับสื่อลามกเด็กตามที่ระบุไว้ใน 38.6.6

    4. สมรสซ้อน

    5. พฤติกรรมล่าเหยื่อทางเพศต่อผู้ใหญ่

    6. คนข้ามเพศ—การดำเนินการเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้ามกับเพศสรีระแต่กำเนิดของตน (ดู 38.6.23)

    7. การยักยอกเงินศาสนจักรหรือการขโมยทรัพย์สินศาสนจักร (ดู 32.6.3.3)

    8. การใช้สวัสดิการศาสนจักรโดยมิชอบ

    9. พฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคาม (เช่น ทางเพศ ที่รุนแรง หรือทางการเงิน) หรือความประพฤติที่เป็นภัยต่อศาสนจักร

  2. อธิการและประธานสเตคส่งใบแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบุคคล:

    1. เคยทำหรือเคยต้องโทษอาญาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ข้างต้น

    2. เคยถูกฟ้องคดีแพ่งฐานฉ้อโกงหรือทำผิดกฎหมายข้ออื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ข้างต้น

เมื่ออธิการได้รับบันทึกสมาชิกภาพที่มีคำอธิบายประกอบ เขาทำตามคำแนะนำในคำอธิบายประกอบ

เฉพาะฝ่ายประธานสูงสุดเท่านั้นจึงจะมอบอำนาจให้ลบคำอธิบายประกอบออกจากบันทึกสมาชิกภาพ หากประธานสเตคเสนอให้ลบคำอธิบายประกอบ เขาใช้ LCR (ดู 6.2.3) สำนักงานฝ่ายประธานสูงสุดแจ้งว่าการเสนอได้รับอนุมัติหรือไม่

32.14.6

การรายงานการขโมยเงินทุนศาสนจักร

หากบุคคลถูกจำกัดหรือถูกถอนสมาชิกภาพเพราะยักยอกเงินศาสนจักร อธิการหรือประธานสเตครายงานเรื่องนี้ตามที่ระบุไว้ใน 34.7.5

32.14.7

ข้อจำกัดการย้ายในบันทึกสมาชิกภาพ

บางครั้งสมาชิกศาสนจักรย้ายขณะที่การดำเนินการเรื่องสมาชิกภาพหรือปัญหาร้ายแรงอื่นยังค้างคาอยู่ บางครั้งอธิการต้องบอกข้อมูลกับอธิการคนใหม่ก่อนโอนบันทึกสมาชิกภาพไปวอร์ดใหม่ ในกรณีเหล่านี้ อธิการ (หรือพนักงานหากได้รับมอบอำนาจ) จะใส่ข้อจำกัดการย้ายไว้ในบันทึกสมาชิกภาพ บันทึกยังอยู่ในหน่วยจนกว่าอธิการ (หรือพนักงานหากได้รับมอบอำนาจ) ลบข้อจำกัดออก นี่เปิดโอกาสให้อธิการบอกข้อกังวลและข้อมูล

32.14.8

บันทึกของผู้ถูกจำคุก

สมาชิกบางคนถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาและถูกจำคุก อธิการหรือประธานสเตคของหน่วยที่บุคคลอยู่เมื่อทำความผิดทางอาญาจะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อการจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการ หากถูกจำกัดเอกสิทธิ์สมาชิกภาพ ผู้นำ (หรือพนักงานหากได้รับมอบอำนาจ) ส่งต่อบันทึกสมาชิกภาพให้หน่วยที่รับผิดชอบดูแลสถานที่ซึ่งบุคคลถูกจำคุก หากถอนสมาชิกภาพ อธิการหรือประธานสเตคติดต่อผู้นำของหน่วยนั้น (ดู 32.15)

32.14.9

การขอลาออกจากสมาชิกภาพ

หากสมาชิกขอลาออกจากสมาชิกภาพในศาสนจักร อธิการติดต่อเพื่อดูว่าเขายินดีสนทนาข้อกังวลและพยายามแก้ไขข้อกังวลหรือไม่ อธิการและสมาชิกอาจปรึกษากับประธานสเตคด้วย ผู้นำพึงแน่ใจว่าสมาชิกเข้าใจผลต่อไปนี้ของการลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักร:

  • เพิกถอนศาสนพิธีทั้งหมด

  • ถอนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพทั้งหมด

  • การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยันเกิดขึ้นได้หลังการสัมภาษณ์อย่างถี่ถ้วนเท่านั้นและในหลายกรณีต้องผ่านสภาสมาชิกภาพ (ดู 32.16.2)

  • บุคคลที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วมีสิทธิ์ได้รับการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตและพรพระวิหารด้วยการอนุมัติของฝ่ายประธานสูงสุดเท่านั้นและหลังจากกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งครบหนึ่งปีเต็มเป็นอย่างน้อย (ดู 32.17.2)

หากสมาชิกยังต้องการลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักร สมาชิกส่งคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลายเซ็นให้อธิการ อธิการส่งคำขอให้ประธานสเตคผ่าน LCR จากนั้นประธานสเตคทบทวนและส่งคำขอผ่านระบบดังกล่าว ผู้นำควรทำตามคำขอทันที

บุคคลสามารถลาออกจากสมาชิกภาพโดยส่งคำขอที่บุคคลเซ็นรับรองไปสำนักงานใหญ่ของศาสนจักรได้เช่นกัน

ผู้เยาว์ที่ประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักรพึงทำตามระเบียบปฏิบัติเดียวกันกับผู้ใหญ่โดยมีข้อยกเว้นหนึ่งประการคือคำขอต้องมีลายเซ็นของผู้เยาว์ (ถ้าอายุเกิน 8 ขวบ) และของบิดามารดาหรือผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ดูแลผู้เยาว์ตามกฎหมาย

หากสมาชิกที่ลาออกจากสมาชิกภาพขู่จะดำเนินการทางกฎหมายกับศาสนจักรหรือผู้นำศาสนจักร ประธานสเตคทำตามคำแนะนำใน 38.8.23

ควรดำเนินการตามคำขอลาออกจากสมาชิกภาพแม้ผู้นำฐานะปุโรหิตมีข้อมูลเกี่ยวกับบาปร้ายแรงก็ตาม ให้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบาปที่ไม่ได้แก้ไขเมื่อส่งคำขอผ่าน LCR ทั้งนี้เพื่อผู้นำฐานะปุโรหิตจะได้แก้ไขเรื่องดังกล่าวในอนาคตหากบุคคลแจ้งความจำนงเพื่อขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกในศาสนจักรอีกครั้ง (ดู 32.16.2)

ผู้นำฐานะปุโรหิตไม่ควรเสนอให้ลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักรเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดสภาสมาชิกภาพ

ผู้นำยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ลาออกจากสมาชิกภาพเว้นแต่พวกเขาขอไม่ให้ติดต่อ


การคืนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักร


หากบุคคลถูกจำกัดหรือถูกถอนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพศาสนจักร ผู้นำผูกมิตร ให้คำปรึกษา และสนับสนุนบุคคลเมื่อบุคคลนั้นยินยอม หมวดนี้อธิบายวิธีคืนเอกสิทธิ์เหล่านั้น

32.15

ยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อไป

บทบาทของอธิการหรือประธานสเตคในฐานะผู้พิพากษาใหญ่ไม่สิ้นสุดเมื่อสมาชิกได้รับการจำกัดสมาชิกภาพหรือถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักร เขายังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อไปเมื่อบุคคลยินยอมทั้งนี้เพื่อเขาจะได้รับพรของสมาชิกภาพศาสนจักรอีกครั้ง อธิการพบปะพูดคุยกับบุคคลเป็นประจำและกับคู่สมรสของเขาเมื่อเป็นประโยชน์และเหมาะสม พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟว่า

“เจ้าจะไม่ขับเขาออกจาก … สถานนมัสการของเจ้า, เพราะแก่คนเช่นนั้นเจ้าจงปฏิบัติต่อไป; เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าเผื่อพวกเขาจะกลับมาและกลับใจ, และมาหาเราด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, และเราจะรักษาพวกเขา; และเจ้าจะเป็นวิถีทางแห่งการนำความรอดมาสู่พวกเขา” (3 นีไฟ 18:32)

ช่วงหลังจากบุคคลถูกจำกัดหรือถูกถอนสมาชิกภาพเป็นเวลาที่ยากและวิกฤติสำหรับครอบครัวของเขา ผู้นำควรรับรู้ความต้องการเหล่านี้ ให้กำลังใจ และช่วยเหลือสมาชิกครอบครัว

อธิการพึงแน่ใจว่ามีการมอบหมายสมาชิกที่ห่วงใยให้ไปปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลที่ถูกจำกัดหรือถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรเมื่อบุคคลยินยอม พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเช่นกัน บุคคลที่อยู่ภายใต้การจำกัดสมาชิกภาพจะได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในการทำดัชนี (ดู 25.4.3)

หากบุคคลย้ายออกจากวอร์ด อธิการแจ้งอธิการคนใหม่และอธิบายสิ่งที่ยังต้องเกิดขึ้นก่อนจะถอนการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักร หากบุคคลถูกถอนสมาชิกภาพจากศาสนจักรหรือลาออกจากสมาชิกภาพ อธิการทำการติดต่อแบบเดียวกันหากบุคคลยอมรับความช่วยเหลือจากผู้นำศาสนจักร

32.16

การถอนการจำกัดอย่างเป็นทางการหรือการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้ง

32.16.1

สภาสมาชิกภาพเพื่อถอนการจำกัดอย่างเป็นทางการหรือรับบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง

เมื่อถูกจำกัดหรือถูกถอนเอกสิทธิ์สมาชิกภาพในสภาสมาชิกภาพ ต้องจัดสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาการถอนการจำกัดหรือการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้งของบุคคลนั้น สภาดังกล่าวควรมีระดับสิทธิอำนาจเดียวกันกับ (หรือสูงกว่า ) สภาตั้งต้น ตัวอย่างเช่น หากประธานสเตคหรือประธานคณะเผยแผ่ควบคุมสภาตั้งต้น ประธานสเตคหรือประธานคณะเผยแผ่ควบคุมสภาครั้งใหม่เพื่อพิจารณาการถอนการจำกัดหรือการรับบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง

อธิการหรือประธานสเตคคนปัจจุบันจัดสภา เขาพึงแน่ใจก่อนว่าบุคคลกลับใจแล้ว พร้อม และมีค่าควรรับพรของสมาชิกภาพศาสนจักร

โดยปกติคนที่ถูกจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการต้องแสดงการกลับใจจริงอย่างน้อยหนึ่งปีก่อนจะให้พิจารณาถอนการจำกัด คนที่ถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรแทบทุกกรณีต้องแสดงการกลับใจจริงอย่างน้อยหนึ่งปีก่อนจะพิจารณารับพวกเขากลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งได้ สำหรับสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร ณ เวลาทำบาปร้ายแรง โดยทั่วไปช่วงเวลาจะนานกว่านั้น (ดู 32.6.1.4)

สภาที่จะพิจารณาการถอนการจำกัดหรือการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้งจะทำตามแนวทางเดียวกันกับสภาสมาชิกภาพสภาอื่น อธิการจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากประธานสเตคเพื่อจัดสภา ในคณะเผยแผ่ ประธานสาขาหรือประธานท้องถิ่นจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่

แนวทางต่อไปนี้นำมาใช้เมื่อจัดสภาสมาชิกภาพเพื่อพิจารณาการถอนการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักรหรือการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกศาสนจักรอีกครั้ง แต่ละกรณีอาจใช้แนวทางทั้งหมดนี้ไม่ได้

  1. ทบทวนสภาสมาชิกภาพตั้งต้น อธิการหรือประธานสเตคทบทวนแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักร เขาขอสำเนาผ่าน LCR หลังจากทบทวนแบบฟอร์ม เขาจะติดต่ออธิการหรือประธานสเตคที่จัดสภาตั้งต้นเพื่อขอความกระจ่าง

  2. สัมภาษณ์บุคคล อธิการหรือประธานสเตคสัมภาษณ์บุคคลอย่างถี่ถ้วนเพื่อสังเกตพลังศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์และขนาดของการกลับใจ เขาพิจารณาด้วยว่าบุคคลทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในการดำเนินการครั้งแรกหรือไม่

  3. พิจารณาสถานะเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลอาญาหรือศาลแพ่ง บางครั้งบุคคลรับสารภาพหรือเคยถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา บางครั้งบุคคลเคยถูกฟ้องคดีแพ่งฐานฉ้อโกงหรือทำผิดกฎหมายอื่นๆ ในกรณีเหล่านี้ โดยทั่วไปผู้นำไม่จัดสภาจนกว่าบุคคลทำตามเงื่อนไขของการตัดสินความ คำสั่ง หรือคำพิพากษาโดยเจ้าหน้าที่กฎหมายครบถ้วนแล้ว เงื่อนไขเหล่านี้อาจได้แก่ การจำคุก การภาคทัณฑ์ การคุมประพฤติ และการจ่ายค่าปรับหรือการชดเชยค่าเสียหาย ข้อยกเว้นต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดก่อนจัดสภาสมาชิกภาพ ข้อยกเว้นเหล่านี้อาจรวมถึงคนที่ทำตามข้อกำหนดทางกฎหมายครบถ้วนแล้วและแสดงให้เห็นว่ากลับใจจริงแต่ถูกภาคทัณฑ์ชั่วชีวิตหรือจ่ายค่าปรับจำนวนมาก

  4. ติดต่อผู้นำฐานะปุโรหิตของผู้เสียหาย อธิการหรือประธานสเตคติดต่ออธิการหรือประธานสเตคคนปัจจุบันของผู้เสียหาย (ดู 32.10.2)

  5. ส่งใบแจ้งเรื่องสภา เขาแจ้งบุคคลให้ทราบวันเดือนปี เวลา และสถานที่จัดสภา

  6. ดำเนินสภา เขาดำเนินสภาตามแนวทางใน 32.10.3 เขาถามบุคคลว่าได้ทำอะไรเพื่อกลับใจ ถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นต่อพระเยซูคริสต์และศาสนจักรด้วย เมื่อนำเสนอเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแล้ว เขาขอให้สมาชิกออกจากห้อง เขาสวดอ้อนวอนกับที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร คำตัดสินสามประการที่เป็นไปได้คือ:

    1. คงการจำกัดหรือการถอนสมาชิกภาพไว้ตามเดิม

    2. ถอนการจำกัดหรืออนุญาตให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง

    3. เสนอต่อฝ่ายประธานสูงสุดให้ถอนการจำกัดหรืออนุญาตให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง (หากจำเป็นตาม “แจ้งความจำนงเพื่อขออนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด” ด้านล่าง)

  7. บอกคำตัดสิน หลังจากสภาตัดสิน เจ้าหน้าที่ควบคุมบอกคำตัดสินให้บุคคลทราบ หากจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด เขาอธิบายว่าคำตัดสินคือการเสนอต่อฝ่ายประธานสูงสุด

  8. ส่งรายงาน อธิการหรือประธานสเตคส่งแบบฟอร์มรายงานของสภาสมาชิกภาพศาสนจักรผ่าน LCR เขาอาจขอให้พนักงานเตรียมรายงานนี้ เขาพึงแน่ใจว่าไม่มีการเก็บสำเนากระดาษหรือสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในท้องที่ เขาพึงแน่ใจด้วยว่าบันทึกใดก็ตามที่ใช้เตรียมรายงานถูกทำลายทันที

  9. แจ้งความจำนงเพื่อขออนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด (หากจำเป็น) ในสภาวการณ์ต่อไปนี้ การอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดจำเป็นต่อการถอนการจำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการหรือรับบุคคลกลับเข้ามาเป็นสมาชิกในศาสนจักรอีกครั้ง ต้องได้รับอนุมัติดังกล่าวแม้ความประพฤติเกิดขึ้น หลังจาก ถูกจำกัดหรือถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการ

    ประธานสเตคส่งจดหมายแสดงความจำนงถึงฝ่ายประธานสูงสุดก็ต่อเมื่อเขาเสนอให้อนุมัติเท่านั้น (ดู 6.2.3)

    1. ฆาตกรรม

    2. การร่วมประเวณีกับสายเลือดเดียวกัน

    3. การกระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กหรือเยาวชน การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กหรือเยาวชน การกระทำทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางอารมณ์ต่อเด็กหรือเยาวชนโดยผู้ใหญ่หรือเยาวชนที่อายุแก่กว่าหลายปี

    4. การพัวพันกับสื่อลามกเด็กเมื่อมีการตัดสินโทษตามกฎหมาย

    5. การละทิ้งความเชื่อ

    6. สมรสซ้อน

    7. การล่วงละเมิดร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่งสำคัญในศาสนจักร

    8. คนข้ามเพศ—การดำเนินการเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้ามกับเพศสรีระแต่กำเนิดของตน (ดู 38.6.23)

    9. การยักยอกเงินหรือทรัพย์สินของศาสนจักร

  10. ให้ใบแจ้งคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษร อธิการหรือประธานสเตคพึงแน่ใจว่าบุคคลได้รับใบแจ้งคำตัดสินและผลของคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรทันที

  11. บัพติศมาและการยืนยัน หากบุคคลถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรในสภาตั้งต้น เขาต้องรับบัพติศมาและการยืนยันอีกครั้ง หากจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด จะประกอบศาสนพิธีเหล่านี้หลังจากได้รับอนุมัติครั้งนี้เท่านั้น ไม่มีการสร้างใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน (ดู 32.14.4)

32.16.2

การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งหลังลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักร

หากบุคคลลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างเป็นทางการ เขาต้องรับบัพติศมาและการยืนยันเพื่อกลับเข้ามาเป็นสมาชิกในศาสนจักรอีกครั้ง สำหรับผู้ใหญ่ โดยปกติจะไม่พิจารณาให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งจนกว่าจะลาออกจากสมาชิกภาพไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี

เมื่อบุคคลขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง อธิการหรือประธานสเตคขอรับสำเนาแบบฟอร์มรายงานการดำเนินงานบริหารที่มากับคำขอลาออก ผ่าน LCR

จากนั้นอธิการหรือประธานสเตคสัมภาษณ์บุคคลอย่างถี่ถ้วน ถามเหตุผลสำหรับการขอครั้งแรกและความปรารถนาจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง เขาถามด้วยวิญญาณแห่งความรักเกี่ยวกับบาปร้ายแรงที่บุคคลอาจเคยทำก่อนหรือหลังลาออกจากสมาชิกภาพ ผู้นำไม่ดำเนินการเรื่องการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งจนกว่าเขาจะเชื่อว่าบุคคลกลับใจแล้ว พร้อม และมีค่าควรรับพรของสมาชิกภาพศาสนจักร

แนวทางสำหรับการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งหลังการลาออกมีดังนี้:

  • จัดสภาสมาชิกภาพหากบุคคลถูกจำกัดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ ณ เวลาของการลาออก

  • จัดสภาสมาชิกภาพหากบุคคลทำบาปร้ายแรง รวมถึงการละทิ้งความเชื่อก่อนลาออกจากสมาชิกภาพ

ในสภาวการณ์อื่น ไม่จัดสภาสมาชิกภาพเว้นแต่อธิการหรือประธานสเตคลงความเห็นว่าจำเป็นต้องจัด

เมื่อสภาสมาชิกภาพจำเป็นสำหรับคนที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารแล้ว ประธานสเตคเป็นคนจัด เมื่อสภาจำเป็นสำหรับคนที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ อธิการเป็นคนจัดโดยได้รับอนุมัติจากประธานสเตค

ถ้าบุคคลมีส่วนในความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 32.16.1 ข้อ 9 ไม่ว่าก่อนหรือหลังลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักร ต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดเพื่อกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง ถ้าบุคคลมีส่วนในความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 32.14.5 ข้อ 1 ไม่ว่าก่อนหรือหลังลาออกจากสมาชิกภาพ จะเขียนคำอธิบายประกอบไว้ในบันทึกสมาชิกภาพ

บุคคลที่ขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งต้องมีคุณสมบัติเดียวกันกับคนที่จะรับบัพติศมา เมื่ออธิการหรือประธานสเตคเชื่อว่าบุคคลมีค่าควรและต้องการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งจริงๆ บุคคลจะได้รับบัพติศมาและการยืนยัน ไม่มีการสร้างใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน (ดู 32.14.4)

ภาพ
ผู้ชายรับศีลระลึก

32.17

กิจกรรมศาสนจักร การแต่งตั้ง และการฟื้นฟูพรหลังจากกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง

32.17.1

กิจกรรมศาสนจักรและการแต่งตั้ง

แผนภูมิต่อไปนี้ระบุระดับกิจกรรมศาสนจักรที่เหมาะสมกับผู้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน

ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์

เคยรับเอ็นดาวเม้นท์

ผู้เคยดำรงฐานะปุโรหิต

ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์

  • ทันทีหลังจากบัพติศมาและการยืนยัน อาจประสาทฐานะปุโรหิตให้พวกเขาและแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่ดำรงอยู่เมื่อครั้งถูกถอนหรือลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักร ไม่เสนอชื่อเพื่อการสนับสนุน

  • จะออกใบรับรองพระวิหารสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตาย

เคยรับเอ็นดาวเม้นท์

  • จะไม่ได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตใดๆ เมื่อฟื้นฟูพรฐานะปุโรหิตและพรพระวิหาร ตำแหน่งฐานะปุโรหิตเดิมจะคืนมาตามที่ระบุไว้ใน 32.17.2 พวกเขาจะไม่ประกอบศาสนพิธีจนถึงเวลานั้น

  • จะเข้าร่วมกิจกรรมศาสนจักรที่อนุญาตให้สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ผู้ไม่ดำรงฐานะปุโรหิตเข้าร่วมได้

  • จะไม่สวมการ์เม้นท์พระวิหาร ไม่ได้ใบรับรองพระวิหารทุกแบบจนกว่าจะฟื้นฟูพร

สมาชิกคนอื่นๆ

ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์

  • จะเข้าร่วมกิจกรรมศาสนจักรเหมือนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่

  • จะออกใบรับรองพระวิหารสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตาย

เคยรับเอ็นดาวเม้นท์

  • จะเข้าร่วมกิจกรรมศาสนจักรที่อนุญาตให้สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ผู้ไม่ดำรงฐานะปุโรหิตเข้าร่วมได้

  • จะไม่สวมการ์เมนท์พระวิหารหรือไม่ได้ใบรับรองพระวิหารทุกแบบจนกว่าจะฟื้นฟูพร (ดู 32.17.2)

32.17.2

การฟื้นฟูพร

บุคคลที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยันสามารถรับพรฐานะปุโรหิตและพรพระวิหารผ่านศาสนพิธีแห่งการฟื้นฟูพรเท่านั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:21) พวกเขาไม่ได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือรับเอ็นดาวเม้นท์อีก พรเหล่านี้ฟื้นฟูผ่านศาสนพิธี พี่น้องชายคืนสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตเดิม ยกเว้นตำแหน่งสาวกเจ็ดสิบ อธิการ หรือผู้ประสาทพร

เฉพาะฝ่ายประธานสูงสุดเท่านั้นสามารถอนุมัติการประกอบศาสนพิธีแห่งการฟื้นฟูพร ฝ่ายประธานสูงสุดจะไม่พิจารณาการแจ้งความจำนงเพื่อขอศาสนพิธีนี้เร็วกว่าหนึ่งปีหลังจากบุคคลกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน

อธิการและประธานสเตคสัมภาษณ์บุคคลเพื่อพิจารณาความมีค่าควรและความพร้อมของเขา เมื่อประธานสเตครู้สึกว่าบุคคลพร้อม เขาแจ้งความจำนงเพื่อขอฟื้นฟูพรโดยใช้ LCR ดู 6.2.3 เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของประธานสเตคเมื่อส่งใบแจ้งความจำนงถึงฝ่ายประธานสูงสุด

หากฝ่ายประธานสูงสุดอนุมัติการฟื้นฟูพร ฝ่ายประธานสูงสุดมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งหรือประธานสเตคสัมภาษณ์บุคคล หากบุคคลมีค่าควร ผู้นำท่านนี้ประกอบศาสนพิธีเพื่อฟื้นฟูพรของบุคคลนั้น

ดูข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกสมาชิกภาพและการฟื้นฟูพรใน 32.14.4