สถาบัน
บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: หลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว


“บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: หลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)

“บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

หลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว

ภาพ
คู่สามีภรรยานอกพระวิหาร

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า “จุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยและพันธกิจของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือเตรียมบุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้พร้อมรับจุดหมายของพวกเขา นั่นคือ การเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา” (“Same-Gender Attraction,” Ensign, Oct. 1995, 7) ขณะที่ท่านศึกษาหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว ให้ระบุหลักธรรมที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าการแต่งงานและครอบครัวเตรียมเราให้เป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเราอย่างไร

หัวข้อ 1

อะไรคือจุดประสงค์ของการแต่งงานในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า?

ในปี 1831 สมาชิกศาสนจักรที่เพิ่งบัพติศมาคนหนึ่งชื่อลีมัน คอพลีย์ไปเยี่ยมศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ลีมันเคยเป็นสมาชิกของนิกายเชเคอร์ส ศาสนานิกายหนึ่งที่ปฏิเสธการแต่งงานและเชื่อว่าการดำเนินชีวิตที่ประพฤติพรหมจรรย์ (ละเว้นความสัมพันธ์ทางเพศ) เป็นรูปแบบสูงสุดในการอุทิศตนของชาวคริสต์ หลังจากการมาเยี่ยมของลีมัน ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธทูลถามพระเจ้าเกี่ยวกับคำสอนของนิกายเชเคอร์สและได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกอยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 49 (ท่านอาจจะพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะอ่านบทนำของภาคนั้น) ท่านอาจทำเครื่องหมายคำและวลีในข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ที่สอนหลักคำสอนของพระเจ้าเรื่องการแต่งงาน

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:15–17 (ดู เจคอบ 2:27–30 ด้วย)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายสาเหตุที่การแต่งงานได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจทำเครื่องหมายสิ่งที่ท่านประทับใจจากคำกล่าวของท่าน

เหตุผลด้านหลักคำสอนที่ไม่อาจหักล้างได้สองข้อนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุใดการแต่งงานนิรันดร์จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อแผนของพระบิดา

เหตุผลข้อ 1: ธรรมชาติทางวิญญาณของชายและหญิงทำให้แต่ละฝ่ายสมบูรณ์และดีพร้อม ดังนั้นจึงมีเจตจำนงให้ชายและหญิงเจริญก้าวหน้าไปสู่ความสูงส่งด้วยกัน …

… ความผสมผสานแบบเฉพาะตัวของความสามารถทางวิญญาณ ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของทั้งชายและหญิงจำเป็นต่อการกำหนดแผนแห่งความสุข ลำพังชายหญิงฝ่ายเดียวไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์การสร้างของตนเองได้ …

เหตุผลข้อ 2: ตามแผนของพระเจ้า ทั้งชายและหญิงจำเป็นต้องนำลูกๆ มาสู่ความเป็นมรรตัยและจัดหาสภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงดูลูก

พระบัญญัติที่ประทานไว้แต่ครั้งโบราณให้อาดัมและเอวาขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกยังมีผลในปัจจุบัน … ดังนั้นการแต่งงานระหว่างชายหญิงจึงเป็นช่องทางที่ได้รับอำนาจในการนำวิญญาณก่อนเกิดมาสู่ความเป็นมรรตัย …

บ้านที่บิดามารดารักกันและซื่อสัตย์ต่อกันเป็นสภาวะแวดล้อมประเสริฐสุดซึ่งสามารถเลี้ยงดูลูกๆ ในความรักและความชอบธรรมได้ สามารถสนองความต้องการทางโลกและทางวิญญาณของบุตรธิดาได้ คุณลักษณะเฉพาะตัวของทั้งชายและหญิงช่วยให้สัมพันธภาพการแต่งงานมีความสมบูรณ์พร้อมฉันใด คุณลักษณะเดียวกันนี้ก็สำคัญยิ่งต่อการเลี้ยงดู อบรม และสั่งสอนบุตรธิดาฉันนั้น (เดวิด เอ. เบดนาร์, “การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 83–84)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านจะอธิบายเหตุผลที่การแต่งงานระหว่างชายและหญิงจำเป็นต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์ว่าอย่างไร?

หัวข้อ 2

มีพรอะไรบ้างของการแต่งงานนิรันดร์?

ในนอวู โจเซฟ สมิธเริ่มสอนเกี่ยวกับหลักธรรมของการแต่งงานนิรันดร์อย่างกว้างขวางมากขึ้น นี่เป็นหลักธรรมใหม่และน่าพิศวงสำหรับวิสุทธิชน พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อว่าการแต่งงานสิ้นสุดที่ความตาย

ภาพ
โจเซฟและเอ็มมา สมิธ

ภาพโจเซฟและเอ็มมา สมิธที่ได้รับการผนึกกันเพื่อนิรันดรเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1843

เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบรรยายว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อศาสดาพยากรณ์สอนเขาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการแต่งงานนิรันดร์

ข้าพเจ้าเรียนรู้จาก [โจเซฟ สมิธ] ว่าภรรยาในอ้อมอกข้าพเจ้าจะอยู่กับข้าพเจ้าเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดร … ข้าพเจ้าเรียนรู้จากท่านว่าเราน่าจะบ่มเพาะความรักเหล่านี้ พัฒนา และเพิ่มพูนความรักนั้นชั่วนิรันดร ขณะที่ผลของเอกภาพอันไม่สิ้นสุดของเราคือลูกหลานมากเท่าดวงดาวบนท้องฟ้าหรือเม็ดทรายบนฝั่งทะเล …

ข้าพเจ้าเคยรักมาก่อน แต่ไม่ทราบสาเหตุ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ารัก—ด้วยความบริสุทธิ์ใจ—ความรู้สึกสูงส่งและทรงเกียรติอย่างยิ่ง (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [2007], 260)

ในปี 1843 ศาสดาพยากรณ์บอกการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132 ซึ่งรวมถึงหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–20

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า

เพื่อให้คู่ควรแก่ชีวิตนิรันดร์ เราต้องทำพันธสัญญาอันเป็นนิจและนิรันดร์กับพระบิดาบนสวรรค์ของเรา [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19] นี่หมายความว่า การแต่งงานในพระวิหารไม่ใช่เรื่องระหว่างสามีกับภรรยาเท่านั้น แต่น้อมรับความเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้าด้วย [ดู มัทธิว 19:6] …

 … เมื่อครอบครัวหนึ่งได้รับการผนึกในพระวิหาร ครอบครัวนั้นเป็นนิรันดร์เฉกเช่นอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นนิรันดร์ [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–20] (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 114–118)

พรของการแต่งงานนิรันดร์ไม่ใช่เพื่อชีวิตหน้าเท่านั้น คนที่พยายามรักษาพันธสัญญาของพวกเขาอย่างซื่อสัตย์จะประสบกับพรของการแต่งงานนิรันดร์ในชีวิตนี้เช่นกัน ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า

หากท่านเลือกอย่างฉลาดและมุ่งมั่นที่จะทำให้ชีวิตแต่งงานประสบความสำเร็จ ย่อมไม่มีสิ่งใดในชีวิตนี้ที่จะนำความสุขมาให้ท่านได้มากกว่า (“อำนาจฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 83)

สมาชิกศาสนจักรบางคนมีคำถามเกี่ยวกับสภาวการณ์ที่ทำให้คนไม่ได้รับพรจากการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัวในเวลานี้ เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตอบเรื่องนี้ว่า

เพื่อจะประกาศความจริงพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานและครอบครัว ต้องไม่มองข้ามหรือดูหมิ่นการเสียสละและความสำเร็จของผู้ที่ชีวิตจริงไม่เหมือนสถานการณ์ในอุดมคติ บางคนไม่ได้รับพรของการแต่งงานด้วยเหตุผลบางอย่าง อาทิ ไม่มีคนที่คู่ควร เสน่หาเพศเดียวกัน มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือเพียงแค่กลัวความล้มเหลวซึ่งอย่างน้อยก็บดบังศรัทธาไปชั่วขณะ หรือท่านอาจแต่งงาน แต่การแต่งงานสิ้นสุดลง และทิ้งท่านไว้คนเดียวให้จัดการทุกสิ่งแม้สองคนทำด้วยกันยังยากที่จะประคองไว้ พวกท่านบางคนที่แต่งงานแล้วไม่สามารถมีบุตรทั้งที่ใจปรารถนาเหลือล้นและสวดอ้อนวอนทูลขอแล้ว

… เราเป็นพยานด้วยความมั่นใจว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และในบั้นปลายจะชดเชยการลิดรอนสิทธิ์และการสูญเสียทุกอย่างสำหรับผู้ที่หันมาหาพระองค์ ไม่มีใครถูกกำหนดให้ได้รับน้อยกว่าทุกสิ่งที่พระบิดาทรงให้บุตรธิดาของพระองค์ (ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เหตุผลที่แต่งงาน เหตุผลที่มีครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 52)

ภาพ
ไอคอน สนทนา

สนทนาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ทุกการแต่งงานโดยเฉพาะการแต่งงานนิรันดร์เรียกร้องความพยายามและคำมั่นสัญญาจากคู่สมรสแต่ละคน ให้พูดกับคู่แต่งงานที่ท่านรู้จักที่มีชีวิตแต่งงานแน่นแฟ้นและเปี่ยมด้วยความรักและถามพวกเขาว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อหล่อหลอมให้เป็นเช่นนั้น ถามพวกเขาด้วยว่าการแต่งงานของพวกเขาทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างไร พร้อมแบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้ในชั้นเรียน

หัวข้อ 3

เหตุใดฉันจึงควรปกป้องหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานและครอบครัวของพระเจ้า?

ขณะที่การฟื้นฟูกำลังเปิดเผยต่อไป พระเจ้าดลใจศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ให้เน้นย้ำหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานและครอบครัว เดือนกันยายนปี 1995 ในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญ ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อ่าน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” สรุปทิ้งท้ายของถ้อยแถลงสอนถึงสาเหตุที่เราต้องปกป้องหลักคำสอนของการแต่งงานและครอบครัวของพระเจ้า

เราเตือนว่าการแตกสลายของครอบครัวจะนำภัยพิบัติมาสู่ตัวบุคคล ประชาคม และประชาชาติดังที่ศาสดาพยากรณ์ในสมัยโบราณและปัจจุบันพยากรณ์ไว้

เราเรียกร้องประชาชนพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบทุกหนแห่งให้ส่งเสริมการวางมาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,”ChurchofJesusChrist.org)

ซิสเตอร์จูลี บี .เบค อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญอธิบายความจำเป็นที่ต้องศึกษาหลักคำสอนเรื่องครอบครัวที่มีอยู่ใน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”

คนรุ่นนี้จะได้รับการร้องขอให้ปกป้องหลักคำสอนเรื่องครอบครัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าพวกเขาไม่รู้หลักคำสอน พวกเขาจะปกป้องไม่ได้ …

ประธาน [สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู.] คิมบัลล์กล่าวว่า:

“ข้อจำกัดทางสังคมหลายอย่างซึ่งในอดีตได้ช่วยสนับสนุนและปกป้องครอบครัวกำลังมลายหายไป เวลาจะมาถึงเมื่อคนที่เชื่ออย่างลึกซึ้งและแข็งขันในครอบครัวเท่านั้นที่จะสามารถรักษาครอบครัวของพวกเขาท่ามกลางความชั่วร้ายที่รายล้อมเรา” [สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “Families Can Be Eternal,” Ensign, Nov. 1980, 4] (จูลี บี. เบค, “การสอนหลักคำสอนเรื่องครอบครัว,” เลียโฮนา, มี.ค. 2011, 17)

ซิสเตอร์ บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า

เราต้องปกป้องอย่างอาจหาญต่อหลักคำสอนที่ได้รับการเปิดเผยของพระเจ้าที่อธิบายเรื่องการแต่งงาน ครอบครัว บทบาทแห่งสวรรค์ของชายหญิง และความสำคัญของบ้านในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์—แม้เมื่อโลกกำลังตะโกนใส่หูเราว่าหลักธรรมเหล่านี้ล้าสมัย มีข้อจำกัด หรือไม่เข้ากับเหตุการณ์อีกต่อไป ทุกคนไม่ว่าสถานภาพการแต่งงานจะเป็นอย่างไรหรือมีลูกกี่คนสามารถเป็นผู้ปกป้องแผนของพระเจ้าที่อธิบายไว้ในถ้อยแถลงเกี่ยวกับครอบครัวได้ ถ้านี่คือแผนของพระเจ้า ก็ควรเป็นแผนของเราด้วย! …

… ให้เราเป็นผู้ปกป้องการแต่งงานเพราะนี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งขณะเดียวกันให้เราแสดงความรักและเมตตาต่อผู้ที่เห็นต่างด้วย (บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “ผู้ปกป้องถ้อยแถลงครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 15)

ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกสิ่งที่ท่านคิด

ในสมุดบันทึกของท่านหรือในที่ว่างที่ให้ไว้ ให้เขียนความคิดของท่านว่าคนหนุ่มสาวจะเป็นผู้ปกป้องการแต่งงานและครอบครัวได้อย่างไร ท่านเคยปกป้องหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานหรือไม่? ประสบการณ์ของท่านเป็นอย่างไร?