คลังค้นคว้า
บทที่ 22: มรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ


บทที่ 22

มรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

คำนำ

ผู้คัดค้านภายในศาสนจักรและผู้ต่อต้านนอกศาสนจักรก่อให้เกิดมรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและไฮรัม สมิธพี่ชายของท่าน มรณกรรมของท่านทั้งสองเพิ่มตราประทับอันทรงพลังให้ประจักษ์พยานของพวกท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ การศึกษาชีวิตและมรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจะช่วยให้นักเรียนพิจารณาพรมากมายที่พระเจ้าประทานแก่พวกเขาผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ผู้ที่พระองค์ทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์ในยุคสุดท้ายผ่านท่าน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • โธมัส เอส. มอนสัน, “ศาสดาโจเซฟ สมิธ: ผู้สอนด้วยการเป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 75–82

  • “มรณสักขี” บทที่ 22 ใน ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 277–289

  • “มรณสักขี: ศาสดาผนึกประจักษ์พยานด้วยเลือดของท่าน,” บทที่ 46 ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 569–579

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:4–5; 136:36–39

ศัตรูหมายมั่นสังหารโจเซฟ สมิธ

ภาพ
คุกคาร์เทจ

ให้ดู ภาพ คุกคาร์เทจ อธิบายให้นักเรียนฟังว่าวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและไฮรัมพี่ชายท่านซึ่งเป็นผู้ประสาทพรของศาสนจักร สิ้นชีวิตเป็นมรณสักขีในคุกนี้ที่เมืองคาร์เทจ รัฐอิลลินอยส์ โจเซฟ สมิธอายุ 38 ปีเมื่อท่านสิ้นชีวิต และไฮรัมอายุ 44 ปี

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:36–39 ขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม ขณะอ่านขอให้นักเรียนระบุว่าพระเจ้าทรงสรุปชีวิตของโจเซฟ สมิธและงานที่ท่านทำว่าอย่างไร จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • พระเจ้าตรัสถึงชีวิตและงานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่าอย่างไร (คำตอบของนักเรียนอาจรวมถึงความจริงต่อไปนี้ โจเซฟ สมิธวางรากฐานให้งานของพระผู้เป็นเจ้าในสมัยการประทานพระกิตติคุณสมัยนี้ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นผู้บริสุทธิ์ ณ เวลาที่ท่านสิ้นชีวิต และท่านทำพันธกิจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานอย่างซื่อสัตย์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจอิทธิพลบางประการอันก่อให้เกิดมรณกรรมของท่านศาสดาพยากรณ์ บอกพวกเขาว่าวิสุทธิชนอยู่ในรัฐอิลลินอยส์อย่างค่อนข้างสงบราวสามปี แต่ราวปี 1842 พวกเขาประสบการต่อต้านอีกครั้ง ผู้ต่อต้านศาสนจักรนับรวมถึงพลเมืองของรัฐอิลลินอยส์ที่กลัวอิทธิพลทางการเมืองของวิสุทธิชน คนอื่นๆ อิจฉาความเจริญด้านเศรษฐกิจของเมืองนอวู วิพากษ์วิจารณ์อำนาจการปกครองและกองทหารอาสาของเมืองนอวู บางคนเข้าใจผิดเรื่องหลักคำสอนและการปฏิบัติที่เป็นของมอรมอน ผู้คัดค้านภายในศาสนจักรและผู้ต่อต้านนอกศาสนจักรร่วมมือกันต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักร

แจกสำเนา เอกสารแจก ที่อยู่ท้ายบทให้นักเรียนแต่ละคน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหัวข้อเรื่อง “การต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักร”

ภาพ
เอกสารแจก มรณสักขี

อธิบายว่าตามกฎหมายที่บังคับใช้ ณ เวลาที่ท่านศาสดาพยากรณ์สิ้นชีวิต การทำลายแท่นพิมพ์ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐที่ให้การรับรองว่าหนังสือพิมพ์มีอิสรภาพในการป้องกันการกระทำของฝ่ายปกครองในรัฐและในเมืองไม่ได้นำมาใช้จนถึงปี 1868 และไม่มีผลบังคับใช้เป็นข้อกฎหมายสหพันธรัฐจนถึงปี 1931 … เราควรตัดสินการกระทำของผู้มาก่อนเราบนพื้นฐานของกฎหมาย พระบัญญัติ และสภาวการณ์ในสมัยของพวกเขา ไม่ใช่ของเรา” (ดู “โจเซฟ ชายผู้เป็นศาสดา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 89)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจดจำประโยคสุดท้ายในคำกล่าวของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ขณะที่เราพิจารณาการกระทำของผู้นำศาสนาจักรสมัยเริ่มแรก (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาเมืองนอวูเป็นสมาชิกศาสนจักร แต่พวกเขากำลังทำตามขอบเขตการเป็นข้าราชการพลเรือนที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อพวกเขาสั่งให้ทำลายแท่นพิมพ์ ศาสนจักรเป็นองค์กรที่ไม่ดำเนินการต่อต้านหนังสือพิมพ์ แต่สภาเมืองดำเนินการ “ขจัด … เหตุรำคาญ” [ใน History of the Church, 6:432])

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหัวข้อในเอกสารแจกเรื่อง “โจเซฟและไฮรัมถูกใส่ความ” ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:4 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาคำพยากรณ์ที่โจเซฟสมิธให้ไว้เมื่อท่านเดินทางไปคาร์เทจ

  • ถึงแม้มนุษย์ทุกคนไม่ดีพร้อม แต่ท่านคิดว่าอะไรจะทำให้คนบางคนมี “มโนธรรมอันปราศจากความผิดต่อพระผู้เป็นเจ้า, และต่อมนุษย์ทั้งปวง” (คพ. 135:4)

อธิบายว่าขณะไฮรัม สมิธเตรียมไปคุกคาร์เทจ เขาอ่าน อีเธอร์ 12:36-38 แล้วพับหน้านั้นไว้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:5ซึ่งเป็นข้อความอ้างอิงจากอีเธอร์โดยตรง ขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าเหตุใดพระคัมภีร์ข้อนี้จึงมีความหมายต่อไฮรัม ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่เด่นชัดสำหรับพวกเขา

  • ท่านคิดว่าคำหรือวลีใดในข้อเหล่านี้จากหนังสืออีเธอร์จะมีความหมายต่อไฮรัมขณะที่เขาเผชิญการจับกุมคุมขังและความตายที่จะเกิดขึ้น

  • ท่านคิดว่าข้อความต่อไปนี้หมายความว่าอย่างไร “คนทั้งปวงจะรู้ว่าอาภรณ์ของข้าพเจ้าไม่มีมลทินด้วยเลือดของท่าน” (ท่านอาจให้นักเรียนทำอ้างโยง ข้อ 5 กับ เจคอบ 1:19 และ โมไซยาห์ 2:27 เพื่อค้นพบความหมายของข้อความนี้ การฝึกอ้างโยงพระคัมภีร์ข้อหนึ่งกับข้ออื่นที่ให้ข้อคิดเพิ่มเติมเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่สำคัญ)

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าโจเซฟกับไฮรัมน่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าพวกท่านทำการเรียกและหน้าที่จากพระผู้เป็นเจ้าจนสุดความสามารถ

  • เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของโจเซฟและไฮรัม สมิธซึ่งจะช่วยเราทำหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าให้เกิดสัมฤทธิผล

หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:1–3; 6–7

มรณสักขีที่คุกคาร์เทจและคำสรรเสริญโจเซฟ สมิธ

ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาคที่ 135 (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างหัวข้อนี้ในพระคัมภีร์ฉบับพิมพ์ปี 1981 กับปี 2013 แสดงให้เห็นความรู้ใหม่) เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:1–2 และเอกสารแจกเรื่อง “มรณสักขีที่คุกคาร์เทจ” ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามขณะนักเรียนเหล่านี้อ่าน

  • ท่านคิดว่าวลี “ผนึกประจักษ์พยานของหนังสือเล่มนี้และพระคัมภีร์มอรมอน” หมายความว่าอย่างไร

ขณะที่นักเรียนแบ่งปันความคิด ท่านอาจจะเขียนนิยามต่อไปนี้บนกระดาน: “ผนึก” คือทำให้สิ่งหนึ่งติดแน่นถาวร เช่น ประจักษ์พยาน ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนเขียนนิยามนี้ในพระคัมภีร์ใกล้กับ ข้อ 1)

ขอให้นักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:3, 6–7ในใจโดยมองหาความจริงบางประการที่เราเรียนรู้จากการประกาศมรณสักขีของโจเซฟและไฮรัม สมิธ

  • ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากคำประกาศนี้เกี่ยวกับมรณสักขีของโจเซฟและไฮรัม สมิธ (นักเรียนอาจระบุความจริงมากมาย รวมถึงความจริงต่อไปนี้ โจเซฟ สมิธได้ทำเพื่อความรอดของคนในโลกนี้มากกว่าคนอื่นใดยกเว้นพระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์มอรมอนกับหลักคำสอนและพันธสัญญาได้รับการนำออกมาเพื่อความรอดของโลก)

  • ท่านคิดว่าชีวิตท่านจะแตกต่างในด้านใดเป็นพิเศษหากปราศจากการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “คำสรรเสริญศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ”

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องตระหนักว่าคนสนิทของโจเซฟ สมิธถือว่าท่านเป็นศาสดาพยากรณ์และเป็น “ชายที่น่ายกย่องและทรงคุณธรรม”

สรุปโดยถามนักเรียนว่ามีใครต้องการแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธบ้าง กระตุ้นให้นักเรียนหาโอกาสในสองสามวันถัดไปแบ่งปันประจักษ์พยานกับผู้อื่นเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและบทบาทของท่านในการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

มรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

รากฐานของการฟื้นฟู—บทที่ 22

การต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักร

ราวเดือนมิถุนายน ปี 1844 ความเกลียดชังศาสนจักรรุนแรงขึ้นมาก พลเมืองบางส่วนของรัฐอิลลินอยส์สนทนากันเรื่องการขับวิสุทธิชนออกจากรัฐ ส่วนอีกหลายคนกำลังวางแผนฆ่าท่านศาสดาพยากรณ์ บางคนที่สมคบกันต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักรเป็นอดีตสมาชิกศาสนจักรที่ละทิ้งความเชื่อ วันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1844 วิลเลียม ลอว์ผู้เคยรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด กับผู้ละทิ้งความเชื่อคนอื่นๆ พิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับแรกเรียกว่า Nauvoo Expositor ในการพยายามปลุกปั่นสาธารณชนให้ต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์และศาสนจักร ชายเหล่านี้ใช้หนังสือพิมพ์ดังกล่าวใส่ร้ายป้ายสีโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ โจเซฟ สมิธซึ่งกำลังรักษาการนายกเทศมนตรีเมืองนอวู และเสียงข้างมากของสภาเมืองนอวูยอมรับว่าหนังสือพิมพ์เชิงปลุกปั่นจะชักนำกลุ่มคนร้ายให้ก่อความรุนแรงในเมือง พวกเขาจึงประกาศว่าหนังสือพิมพ์เป็นภัยสาธารณะและสั่งให้ทำลายแท่นพิมพ์ Nauvoo Expositor

โจเซฟกับไฮรัมถูกจับกุมโดยข้อหาเท็จ

“เนื่องด้วยนายกเทศมนตรีและสภาเมืองสั่ง [ทำลาย Nauvoo Expositor] ผู้มีอำนาจในอิลลินอยส์จึงกล่าวข้อหาที่ไม่มีมูลว่าท่านศาสดาพยากรณ์ ไฮรัมพี่ชาย และข้าราชการเมืองนอวูคนอื่นๆ ก่อการจลาจล โธมัส ฟอร์ด ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์สั่งคนมาสอบสวน ณ ที่ว่าการเทศมณฑลในเมืองคาร์เทจ รัฐอิลลินอยส์ และสัญญาจะคุ้มครองพวกท่าน โจเซฟรู้ว่าถ้าท่านไปคาร์เทจ ชีวิตท่านจะต้องประสบอันตรายใหญ่หลวงจากกลุ่มคนร้ายที่กำลังข่มขู่ท่าน

“โดยเชื่อว่ากลุ่มคนร้ายต้องการเฉพาะโจเซฟกับไฮรัม พวกท่านจึงตัดสินใจไปตะวันตกเพื่อรักษาชีวิตไว้ วันที่ 23 มิถุนายน พวกท่านข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปี แต่ตอนสายของวันนั้น พี่น้องชายจากนอวูพบท่านศาสดาพยากรณ์และบอกท่านว่ากองทหารจะบุกเข้าเมืองถ้าท่านไม่ยอมมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ในคาร์เทจ ท่านศาสดาพยากรณ์ยอมมอบตัวโดยหวังว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและกลุ่มคนร้ายจะยอมผ่อนปรนให้ วันที่ 24 มิถุนายน โจเซฟกับไฮรัม สมิธกล่าวลาครอบครัวและขี่ม้าไปคาร์เทจกับข้าราชการเมืองนอวูคนอื่นๆ โดยสมัครใจยอมมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่เทศมณฑลในคาร์เทจวันถัดมา หลังจากประกันตัวพี่น้องชายออกมาสำหรับข้อกล่าวหาขั้นต้นแล้ว พวกท่านก็ถูกใส่ความว่าทรยศต่อรัฐอิลลินอยส์ ถูกจับกุมคุมขังในคุกคาร์เทจเพื่อรอการไต่สวน เอ็ลเดอร์จอห์น เทย์เลอร์ กับเอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริชาร์ดส์ สมาชิกเพียงสองคนในโควรัมอัครสาวกสิบสองที่ไม่ได้รับใช้งานเผยแผ่เวลานั้นอาสาอยู่เป็นเพื่อนพวกท่าน” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 570)

มรณสักขีที่คุกคาร์เทจ

ในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ผู้มาเยี่ยมคนหนึ่งนำปืนลูกโม่มาให้โจเซฟ ขณะกลุ่มคนร้ายพยายามเข้ามาในห้องที่ท่านศาสดาพยากรณ์และคนอื่นๆ ถูกคุมขัง ไฮรัมถูกยิงเสียชีวิตขณะทำหน้าที่คุ้มกันทุกคนในห้อง โจเซฟกระโจนไปจนถึงขอบประตูเพื่อยิงปืนพกไปในโถงทางเดิน ท่านยิงออกไปเพียงสามในหกนัด ทำให้หลายคนในกลุ่มคนร้ายได้รับบาดเจ็บ จากนั้นกลุ่มคนร้ายเอาปืนจ่อเข้ามาทางประตูที่ปิดเพียงครึ่งเดียว และจอห์น เทย์เลอร์พยายามใช้ไม้เท้าตีกระบอกปืนกลับไป

ขณะการปะทะตรงประตูเพิ่มขึ้น จอห์น เทย์เลอร์พยายามหนีออกจากห้องทางหน้าต่าง ขณะพยายามกระโดดลงจากหน้าต่าง เขาถูกยิงจากประตูมาโดนต้นขาและถูกคนข้างนอกยิงด้วย เขาล้มลงไปที่พื้น และขณะพยายามเข้าไปอยู่ใต้เตียงติดกับหน้าต่าง เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงอีกสามนัด ระหว่างนั้น ขณะที่ปืนหลายกระบอกโผล่มาทางประตู วิลลาร์ด ริชาร์ดเริ่มใช้ไม้เท้าตี

ต่อจากนั้นโจเซฟ สมิธตัดสินใจหนีทางหน้าต่างบานเดียวกัน ขณะที่วิลลาร์ด ริชาร์ดส์ยังคงเบนความสนใจของกลุ่มคนร้ายที่ประตู ท่านศาสดาพยากรณ์ก็กระโจนไปถึงหน้าต่างที่เปิดอยู่ ขณะทำเช่นนั้น ท่านถูกยิงกระหน่ำจากทั้งด้านในและด้านนอกเรือนจำ ท่านตกจากหน้าต่างพลางร้องว่า “โอ้พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์!” และลงไปนอนอยู่บนพื้นด้านล่าง สมาชิกในกลุ่มคนร้ายที่อยู่ด้านในเรือนจำรีบออกมาด้านนอกเพื่อดูให้เแน่ใจว่าโจเซฟตายแล้ว แม้ไม่มีสมาชิกคนใดของศาสนจักรอยู่ระหว่างทางมาคาร์เทจ แต่มีคนตะโกนว่า “พวกมอรมอนมาแล้ว!” และนั่นทำให้คนร้ายทั้งหมดหนีไป

คำสรรเสริญท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“คนที่รู้จักโจเซฟดีที่สุดและอยู่ใกล้ชิดท่านมากที่สุดในตำแหน่งผู้นำศาสนจักรต่างรักและสนับสนุนท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ ไฮรัมพี่ชายท่านเลือกสิ้นชีวิตเคียงข้างท่าน จอห์น เทย์เลอร์อยู่กับท่านด้วยเมื่อท่านถูกฆาตกรรม เขากล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เหล่าเทพ และมนุษย์ว่าท่านเป็นคนดี น่ายกย่อง และทรงคุณธรรม … —ท่านมีชีวิตและสิ้นชีวิตดังคนของพระผู้เป็นเจ้า] (The Gospel Kingdom [1987], 355; ดู คพ. 135:3 ด้วย) บริคัม ยังก์ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีใครบนแผ่นดินโลกรู้จัก [โจเซฟ สมิธ] ดีกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่า นอกจากพระเยซูคริสต์แล้ว ไม่มีใครที่เคยอยู่หรืออยู่บนโลกนี้ดีไปกว่าท่าน’ [Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe (1954), 459]” (ดู “โจเซฟ ชายผู้เป็นศาสดา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 90)