บทที่ 2
นิมิตแรก
คำนำ
เรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าเขียนไว้เพื่อแก้ไขรายงานเท็จเกี่ยวกับศาสนจักร ตลอดชีวิตท่าน ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้เรื่องราวหลายครั้งเกี่ยวกับนิมิตแรก เรื่องราวเหล่านี้สามารถเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับประสบการณ์นั้นและเสริมสร้างศรัทธาของเราในการฟื้นฟู บทนี้ตั้งใจจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการมีประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญอันหาใดเทียบได้นี้
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “รากฐานอันอัศจรรย์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 97-101
-
“First Vision Accounts,” Gospel Topics, lds.org/topics.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
โจเซฟ สมิธ-ประวัติ 1:1-2
ศาสดาพยากรณ์เขียนเกี่ยวกับนิมิตแรกเพื่อแก้ไขรายงานเท็จ
อธิบายว่าในปี 1838 โจเซฟ สมิธเริ่มทำประวัติอย่างเป็นทางการของท่าน หมวดในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าที่เรียกว่า โจเซฟ สมิธ—ประวัติ คัดลอกมาจากประวัติดังกล่าวที่ยาวกว่ามาก
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1-2 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาเหตุผลที่โจเซฟ สมิธเตรียมประวัติของท่าน
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1อะไรกำลังแพร่สะพัดในหมู่คนในช่วงยุคแรกๆ ของศาสนจักร
-
อะไรคือเจตนาของคนที่สนับสนุนรายงานต่อต้านศาสนจักร
-
ในสมัยของเรามีความคล้ายคลึงอะไรกับสถานการณ์นี้
อธิบายว่าปัจจุบันยังคงมีบุคคลและกลุ่มคนผู้แพร่กระจายข้อมูลเท็จหรือชักนำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนจักรด้วยเจตนาจะทำลายศรัทธา
-
โจเซฟให้เหตุผลอะไรบ้างสำหรับการเขียนประวัติของท่าน (เพื่อ “กำจัดอคติในความคิดของสาธารณชน, และให้ข้อเท็จจริงแก่คนทั้งปวงที่ค้นหาความจริง, ตามที่เกิดขึ้น” [โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1])
-
เหตุใดจึงสำคัญที่การ “ค้นหาความจริง” เกี่ยวกับการฟื้นฟูต้องอาศัยเรื่องราวจากปากของโจเซฟ สมิธ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พึงเข้าใจชัดเจนว่า การอาศัยเรื่องราวของท่านศาสดาพยากรณ์จะช่วยให้แต่ละคนไม่ถูกข้อมูลเท็จหลอกหรือชักนำให้เข้าใจผิด
ให้ดูคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านในใจ
“มีบางคนต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของศาสนจักรและทำลายศรัทธาเสมอ ทุกวันนี้พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ต
“ข้อมูลบางอย่างเหล่านั้นเกี่ยวกับศาสนจักร ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตามเป็นเรื่องไม่จริง” (“การทดลองศรัทธาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 41)
-
เราควรแสวงหาและวางใจแหล่งใดในการค้นหาของเราเพื่อให้รู้ความจริงเกี่ยวกับนิมิตแรก การฟื้นฟูพระกิตติคุณ และเหตุการณ์อื่นในประวัติศาสนจักร เพราะเหตุใด (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อไม่ให้ถูกข้อมูลเท็จหลอกหรือชักนำให้เข้าใจผิด คนที่แสวงหาความจริงควรค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนจักรและประวัติศาสนจักรจากแหล่งที่เชื่อถือได้แทนที่จะยอมรับข้อมูลที่ได้ยินหรืออ่าน รวมถึงข้อมูลที่มาจากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต)
อธิบายว่านักวิจารณ์ศาสนจักรโต้แย้งความเป็นจริงของนิมิตแรกโดยกล่าวว่าโจเซฟ สมิธไม่ได้บันทึกประสบการณ์กับนิมิตของท่านจนล่วงเลยมาหลายปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อธิบายว่าโจเซฟ สมิธวัย 14 ปีไม่ยอมพูดเรื่องนิมิตของท่านเพราะปฏิกิริยาของคนที่ท่านเล่าให้ฟังแต่แรก (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21-26) ท่านบันทึกประสบการณ์เมื่อท่านรู้สึกว่าถึงเวลาต้องบันทึก พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำเปโตร ยากอบ และยอห์นไม่ให้พูดถึงประสบการณ์ของพวกท่านบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพจนหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู มัทธิว 17:9) ทำให้เห็นชัดเจนว่าประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างควรแบ่งปันเมื่อพระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนเท่านั้น
เรื่องราวนิมิตแรก
หมายเหตุ: ขณะที่ท่านสอนบทเรียนส่วนนี้ ให้เหลือเวลามากพอจะสอนหัวข้อสุดท้ายของบทซึ่งครอบคลุม โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8-20
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าโจเซฟ สมิธเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตแรก ทั้งเขียนเองหรือด้วยความช่วยเหลือของผู้จด อย่างน้อยต่างกันสี่ครั้ง นอกจากนี้ คนที่อยู่สมัยเดียวกับโจเซฟ สมิธยังได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตนี้หลายครั้งด้วย แต่ละครั้งเน้นประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของโจเซฟ แต่ทุกครั้งล้วนมีองค์ประกอบที่จำเป็นเหมือนกันเกี่ยวกับสิ่งที่โจเซฟเห็นและได้ยิน เพื่อช่วยอธิบายว่าเหตุใดจึงมีความแตกต่างในเรื่องราวแต่ละครั้ง ขอให้นักเรียนพิจารณาดังนี้
-
นึกถึงประสบการณ์สำคัญหรือมีความหมายที่ท่านเคยมีในชีวิตท่าน เรื่องราวของท่านเกี่ยวกับประสบการณ์นั้นอาจต่างกันอย่างไรสุดแล้วแต่ว่าใครที่เป็นผู้อ่านหรือผู้ฟังของท่าน เรื่องราวนั้นอาจเปลี่ยนแปลงอย่างไรสุดแล้วแต่ว่าท่านกำลังบอกเล่าประสบการณ์นั้นเมื่อใดหรือด้วยเหตุใด
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนที่เหลือฟังว่านักประวัติศาสตร์คาดหวังอะไรเมื่อเล่าประสบการณ์หลายครั้ง
“เรื่องราวหลากหลายของนิมิตแรกเล่าเรื่องสอดคล้องกัน แม้จะต่างกันในเรื่องที่เน้นและรายละเอียด นักประวัติศาสตร์คาดหวังว่าเมื่อคนหนึ่งเล่าประสบการณ์หนึ่งในสภาวะแวดล้อมหลายอย่างให้แก่ผู้ฟังที่ต่างกันตลอดหลายปี แต่ละเรื่องราวจะเน้นแง่มุมต่างๆ ของประสบการณ์นั้นและมีรายละเอียดพิเศษบางอย่าง แน่นอนว่า ความแตกต่างที่คล้ายกับในเรื่องราวนิมิตแรกมีอยู่ในเรื่องราวพระคัมภีร์หลายตอนเกี่ยวกับนิมิตของเปาโลบนถนนสู่ดามัสกัสและประสบการณ์ของเหล่าอัครสาวกบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพ [กิจการ 9:3–9; 22:6–21; 26:12–18; มัทธิว 17:1–13; มาระโก 9:2–13; ลูกา 9:28–36] แม้จะมีความแตกต่าง แต่ยังคงมีความสอดคล้องกันตลอดเรื่องราวทั้งหมดของนิมิตแรก บางคนเถียงโดยไม่มีเหตุผลว่าความต่างในการเล่าเรื่องซ้ำเป็นหลักฐานยืนยันว่านั่นเป็นเรื่องแต่ง ในทางตรงกันข้าม บันทึกประวัติศาสตร์จำนวนมากเปิดทางให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์อันน่าทึ่งนี้มากกว่าที่เราจะเรียนรู้ได้หากมีเอกสารยืนยันน้อยกว่านั้น” (“First Vision Accounts,” Gospel Topics, lds.org/topics)
ดังตัวอย่างของความแตกต่างในเรื่องราว ท่านอาจจะบอกนักเรียนว่า “ขณะที่เรื่องราวปี 1832 เน้นเรื่องส่วนตัวของโจเซฟ สมิธสมัยเป็นเด็กหนุ่มแสวงหาการให้อภัย แต่เรื่องราวปี 1838 มุ่งเน้นนิมิตอันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การเริ่มต้นและความเจริญก้าวหน้าของศาสนจักร” (“First Vision Accounts,” Gospel Topics, lds.org/topics) เตือนนักเรียนว่างานมอบหมายให้อ่านจะมีบทความใน Gospel Topies “First Vision Accounts” รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะให้ผลการวิเคราะห์ละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องราวของนิมิตแรกแต่ละตอน เชื้อเชิญนักเรียนให้ศึกษาบทความนอกห้องเรียนเพื่อเข้าใจมากขึ้นว่าเรื่องราวแต่ละตอนช่วยเสริมความรู้ของเราเกี่ยวกับนิมิตแรกอย่างไร (หมายเหตุ: เตือนนักเรียนให้ระลึกถึงความสำคัญของการอ่านงานมอบหมายใต้หัวข้อ “สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน” ก่อนมาเรียน การทำเช่นนั้นจะช่วยให้พวกเขามีส่วนช่วยการสนทนาในชั้นเรียน)
-
เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับนิมิตแรกจะสนับสนุนความถูกต้องและเสริมความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์นี้ได้อย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธเปิดทางให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์นี้มากกว่าที่เราจะเรียนรู้ได้หากมีเอกสารยืนยันน้อยกว่านั้น)
ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910-2008) และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ข้าพเจ้าไม่กังวลที่ศาสดาพยากรณ์ให้นิมิตแรกหลายรูปแบบเท่าๆ กับไม่กังวลที่มีผู้เขียนหนังสือกิตติคุณในพันธสัญญาใหม่สี่คน ต่างคนต่างมีแนวความคิดของตน ต่างคนต่างเล่าเหตุการณ์เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของตนสำหรับการเขียนเวลานั้น” (“God Hath Not Given Us the Spirit of Fear,”Ensign, Oct. 1984, 5)
แสดงประจักษ์พยานของท่านถึงความเป็นจริงของนิมิตแรก และการฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
โจเซฟ สมิธ-ประวัติ 1:8-20
ความถูกต้องของศาสนจักรขึ้นอยู่กับความจริงของนิมิตแรก
เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8-15
-
โจเซฟ สมิธทำอะไรบ้างเพื่อหาคำตอบให้คำถามของท่าน
-
ท่านคิดว่าเหตุใดซาตานจึงพยายามยับยั้งโจเซฟ สมิธไม่ให้สวดอ้อนวอน
เชิญนักเรียนสามสี่คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:16-19
-
เราเรียนรู้ความจริงสำคัญๆ อะไรบ้างจาก ข้อ 16-17 (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นว่า ความจริงนิรันดร์ได้รับการฟื้นฟูบนแผ่นดินโลกเมื่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ)
ให้ดูและอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ผู้รับใช้ในฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ ขณะที่ท่านอ่านข้อความนี้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงที่บราเดอร์คอลลิสเตอร์เน้นในพระคัมภีร์ของพวกเขา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียน ความจริงที่โจเซฟเรียนรู้ ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าใกล้กับ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:16-19 (หมายเหตุ: การฝึกทำเครื่องหมายและเขียนหมายเหตุพระคัมภีร์เป็นทักษะสำคัญในการศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านสามารถช่วยนักเรียนพัฒนาได้ [ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา (2012), 21])
“โจเซฟ สมิธคือผู้ได้รับการเจิมจากพระเจ้าให้ฟื้นฟูศาสนจักรของพระคริสต์บนแผ่นดินโลก เมื่อท่านออกมาจากป่า ท่านได้เรียนรู้ความจริงพื้นฐานสี่ประการที่เวลานั้นชนส่วนใหญ่ของโลกชาวคริสต์ในสมัยนั้นไม่ได้สอน
“ประการแรก ท่านเรียนรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ทรงเป็นสองพระองค์ที่แยกจากกันอย่างชัดเจน …
“ความจริงอันสำคัญยิ่งประการที่สองที่โจเซฟ สมิธค้นพบคือ พระบิดาและพระบุตรทรงมีพระวรกายทรงรัศมีภาพเป็นเนื้อหนังและกระดูก …
“ความจริงประการที่สามที่โจเซฟ สมิธเรียนรู้คือพระผู้เป็นเจ้ายังคงตรัสกับมนุษย์ในทุกวันนี้—สวรรค์ไม่ได้ปิด …
“ความจริงประการที่สี่ที่โจเซฟส มิธเรียนรู้คือศาสนจักรที่สมบูรณ์และบริบูรณ์ของพระเยซูคริสต์มิได้มีอยู่บนแผ่นดินโลกในเวลานั้น” (ดู “โจเซฟ สมิธ—ศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 42-44)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องรู้และเข้าใจความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
-
การที่ต้องมีความจริงเหล่านี้จะช่วยอธิบายได้อย่างไรว่าเหตุใดซาตานจึงพยายามขัดขวางไม่ให้โจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอน
เพื่อเน้นความสำคัญของนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ความเข้มแข็งทั้งหมดของเราขึ้นอยู่กับความถูกต้องของ [นิมิตแรก] เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้น แสดงว่างานนี้เป็นเรื่องหลอกลวง ถ้าเกิดขึ้น แสดงว่างานนี้สำคัญและน่าพิศวงที่สุดภายใต้ฟ้าสวรรค์ …
“ … ในปี 1820 เกิดปรากฏการณ์อันทรงรัศมีภาพในการตอบคำสวดอ้อนวอนของเด็กหนุ่มคนหนึ่งผู้ที่อ่านพระคัมภีร์ไบเบิลของครอบครัวและพบถ้อยคำของยากอบที่ว่า ‘ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ทูลขอ’ (ยากอบ 1:5
“ประสบการณ์อันอัศจรรย์และมีลักษณะเฉพาะดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องของศาสนจักรนี้” (“รากฐานอันอัศจรรย์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 99)
-
ความถูกต้องของศาสนจักรเชื่อมโยงอย่างไรกับนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย แต่พึงแน่ใจว่าหลักธรรมต่อไปนี้ชัดเจน เมื่อเราได้รับประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ เราจะรู้ความจริงของการฟื้นฟูพระกิตติคุณได้เช่นกัน)
ขณะที่ท่านสรุปบทเรียนนี้ ให้เน้นความสำคัญของการมีพยานส่วนตัวถึงความจริงของนิมิตแรก ประจักษ์พยานส่วนตัวในเรื่องนี้ที่สร้างบนศิลาแห่งการเปิดเผยจะช่วยให้เราเข้มแข็งในศรัทธาเมื่อเราพบกับข้อมูลเท็จเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและศาสนจักร เป็นพยานว่าวิธีเรียนรู้ความจริงของโจเซฟ สมิธจะใช้ได้ผลสำหรับเราด้วย เราสามารถแสวงหาความจริง อ่านพระคัมภีร์ ไตร่ตรอง และสุดท้ายทูลถามพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์จะทรงตอบ (ดู ยากอบ 1:5) เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาได้รับประจักษ์พยานอย่างไรว่าพระบิดาและพระบุตรทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ ให้เวลานักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับนิมิตแรกอย่างไร
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “รากฐานอันอัศจรรย์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 97-101