จงตามเรามา
14–20 มกราคม ลูกา 2; มัทธิว 2: เรามานมัสการพระองค์


“14–20 มกราคม ลูกา 2; มัทธิว 2: เรามานมัสการพระองค์,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“14–20 มกราคม ลูกา 2; มัทธิว 2,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
นักปราชญ์เดินทางบนหลังอูฐ

เชิญมาสักการะพระองค์ โดย ดานา มาริโอ วูด

14–20 มกราคม

ลูกา 2; มัทธิว 2

เรามานมัสการพระองค์

ก่อนท่านอ่านแนวคิดในโครงร่างนี้ ให้ศึกษา ลูกา 2 และ มัทธิว 2 บันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน การทำเช่นนี้จะช่วยให้ท่านได้รับการเปิดเผยว่าจะตอบสนองความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนให้ดีที่สุดอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ท่านจะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีขณะศึกษาพระคัมภีร์เหล่านี้เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวได้อย่างไร ถึงแม้พวกเขาจะคุ้นเคยกับเรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด แต่พวกเขามักจะได้ข้อคิดใหม่ๆ ทางวิญญาณเสมอ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันข่าวสารที่พวกเขาพบใน ลูกา 2 หรือ มัทธิว 2 ที่ประทับใจพวกเขาในรูปแบบใหม่

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ลูกา 2:1–38; มัทธิว 2:1–12

มีพยานหลายคนยืนยันการประสูติของพระคริสต์

  • เรื่องราวจากปากของผู้นมัสการใน ลูกา 2 และ มัทธิว 2 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนได้ไตร่ตรองวิธีที่พวกเขาแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด ทบทวนแผนภูมิใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว บางคนในชั้นของท่านอาจมีข้อคิดให้แบ่งปันจากกิจกรรมนี้ หรือท่านอาจจะให้ชั้นเรียนทำกิจกรรมก็ได้ เหตุใดจึงสำคัญที่พยานเหล่านี้ของพระคริสต์ต้องมาจากทุกชนชั้นทางสังคม เราจะทำตามแบบอย่างของพวกเขาได้อย่างไร

  • ก่อนพยานเหล่านี้มานมัสการพระกุมารพระคริสต์ พวกเขาเสาะหาพระองค์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากตัวอย่างเหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: คนเลี้ยงแกะ อันนา สิเมโอน และ นักปราชญ์ จากนั้นให้สมาชิกค้นคว้า ลูกา 2 และ มัทธิว 2 เขียนสิ่งที่คนเหล่านี้ทำเพื่อแสวงหาพระผู้ช่วยให้รอดไว้บนกระดาน เรื่องราวเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะแสวงหาพระคริสต์

    ภาพ
    คนเลี้ยงแกะกับแกะ

    คนเลี้ยงแกะกลายเป็นพยานกลุ่มแรกที่เห็นการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด

  • บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงจะสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านถวายพื้นที่ในชีวิตพวกเขาแด่พระผู้ช่วยให้รอดหรือไม่ พิจารณาแนวคิดต่อไปนี้: นำขวดโหลมาชั้นเรียน และหลังจากทบทวน ลูกา 2:7 ด้วยกันแล้ว ขอให้สมาชิกชั้นเรียนนำสิ่งของที่หมายถึงวิธีที่เราใช้เวลาของเราใส่ขวดโหลให้เต็ม เมื่อขวดโหลเต็ม ให้บางคนพยายามสอดภาพพระผู้ช่วยให้รอดลงไปในขวดโหล การเปรียบเทียบนี้บอกอะไรเกี่ยวกับการถวายพื้นที่ว่างในชีวิตเราแด่พระคริสต์ เราจะทำอะไรต่างจากเดิมได้บ้างเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับพระองค์ คำกล่าวของประธานโธมัส เอส. มอนสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยตอบคำถามนี้

มัทธิว 2:13–23

บิดามารดาสามารถรับการเปิดเผยเพื่อคุ้มครองครอบครัวของพวกเขา

  • บทเรียนหนึ่งจากการที่โยเซฟกับมารีย์หนีไปอิยิปต์คือพระเจ้าสามารถประทานการเปิดเผยเพื่อช่วยบิดามารดาคุ้มครองครอบครัวไม่ให้ได้รับอันตราย เพื่อกระตุ้นการสนทนาประเด็นนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนอันตรายบางอย่างที่ครอบครัวพบเจอในปัจจุบันไว้บนกระดาน เราเรียนรู้อะไรจาก มัทธิว 2:13–23 เกี่ยวกับวิธีคุ้มครองครอบครัวและตัวเราไม่ให้ได้รับอันตรายเหล่านี้ การเปิดเผยส่วนตัวช่วยเราคุ้มครองครอบครัวเราหรือคนที่เรารักไม่ให้ได้รับอันตรายอย่างไร ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกให้คำแนะนำอะไรเพื่อช่วยเราคุ้มครองครอบครัวเรา

  • เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนร้องเพลง “บ้านเป็นสวรรค์บนโลกได้,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 146 หรืออีกเพลงหนึ่งเกี่ยวกับครอบครัว เพลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่บิดามารดาทำได้เพื่อดำเนินชีวิตให้คู่ควรรับการเปิดเผยเพื่อนำครอบครัวของพวกเขา

ลูกา 2:40–52

แม้ทรงพระเยาว์ แต่พระเยซูทรงมุ่งทำตามพระประสงค์ของพระบิดา

  • เรื่องราวที่พระเยซูทรงสอนในพระวิหารเมื่อพระชนมายุเพียง 12 พรรษาจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อเยาวชนผู้สงสัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ที่พวกเขาจะทำเพื่องานของพระผู้เป็นเจ้าได้ ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนเป็นคู่ๆ เพื่ออ่าน ลูกา 2:40–52 ด้วยกัน (ดูข้อคิดจากงานแปลของโจเซฟ สมิธใน Luke 2:46, footnote c) แต่ละคู่จะใช้เวลาสองสามนาทีแบ่งปันกันว่าอะไรดลใจพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรามีโอกาสอะไรให้แบ่งปันสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณ เราจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้าง

  • ถ้าท่านกำลังสอนผู้ใหญ่ เรื่องนี้อาจจะเป็นโอกาสให้สนทนาวิธีช่วยให้เยาวชนบรรลุศักยภาพของพวกเขา บางคนอาจจะสรุปเรื่องราวใน ลูกา 2:40–52 และชั้นเรียนอาจจะสนทนาว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อวิธีที่พวกเขามองเยาวชนของศาสนจักร เราจะให้โอกาสเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการทำ “งานของพระบิดา” ดังที่พระเยซูทรงทำอย่างไรบ้าง (ลูกา 2:49) เราเคยประหลาดใจกับข้อคิดทางวิญญาณที่เยาวชนหรือเด็กคนหนึ่งแบ่งปันเมื่อใด ถ้อยคำเหล่านี้จากประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์อาจจะเสริมการสนทนานี้: “เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนพูด … ข้าพเจ้าคาดหวังเสมอว่าจะได้ยินพระคำของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าแทบจะไม่เคยผิดหวังและประหลาดใจอยู่บ่อยครั้ง” (“เพื่อเขาจะกลายเป็นคนเข้มแข็งเช่นกัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 77)

  • ลูกา 2:40–52 สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเยซูเมื่อทรงพระเยาว์ รูปแบบสำหรับการเติบโตส่วนตัวที่แนะนำไว้ใน ลูกา 2:52 อาจสร้างแรงบันดาลใจให้สนทนาว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ท่านอาจจะเสนอแนะให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขากำลังเจริญขึ้นในด้านสติปัญญา ร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า (ทางวิญญาณ) และเป็นที่ชอบต่อผู้อื่น (ทางสังคม) อย่างไร พวกเขาอาจจะตั้งเป้าหมายในด้านเหล่านี้สักหนึ่งด้านหรือมากกว่านั้น

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเตรียมสนทนา ยอห์น 1 ในสัปดาห์ต่อไป ขอให้พวกเขาทำหมายเหตุทุกที่ในบทตรงที่มีคนแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ลูกา 2; มัทธิว 2

สูตรสำหรับแสวงหาพระคริสต์

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า

“สูตรค้นหาพระเยซูเหมือนเดิมเสมอและจะเหมือนเดิมตลอดไป สูตรนั้นคือ—การสวดอ้อนวอนอย่างตั้งใจและจริงใจของใจที่นอบน้อมและบริสุทธิ์ …

“ก่อนเราจะดำเนินการค้นหาพระเยซูได้สำเร็จ เราต้องเตรียมเวลาให้พระองค์ในชีวิตเราและเตรียมพื้นที่ให้พระองค์ในใจเราก่อน ในวันยุ่งๆ เหล่านี้หลายคนมีเวลาเล่นกอล์ฟ มีเวลาไปซื้อของ มีเวลาทำงาน มีเวลาเล่น—แต่ไม่มีเวลาให้พระคริสต์

“บ้านหลังงามมีอยู่ทุกที่ มีห้องรับประทานอาหาร ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องเย็บผ้า ห้องโทรทัศน์ แต่ไม่มีห้องให้พระคริสต์

“เรารู้สึกผิดหรือไม่เมื่อเรานึกถึงพระดำรัสของพระองค์ ‘หมา‍จิ้ง‌จอกยังมีโพรง และนกในอากาศก็ยังมีรัง แต่บุตร‍มนุษย์ไม่‍มีที่ที่จะวางศีรษะ’ (มัทธิว 8:20) หรือเรารู้สึกละอายใจหรือไม่เมื่อเราระลึกว่า ‘นางจึงคลอด‍บุตร‍ชายหัว‍ปี เอาผ้า‍อ้อมพัน และวางไว้ในราง‍หญ้าเพราะ‍ว่าไม่‍มีที่ว่างในโรง‍แรมสำหรับพวก‍เขา’ (ลูกา 2:7) ไม่มีที่ว่าง ไม่มีที่ว่าง ไม่มีที่ว่าง ไม่เคยมี

“เมื่อเราดำเนินการค้นหาพระเยซู โดยมีหลักธรรมแห่งการสวดอ้อนวอนเป็นสิ่งช่วยและชี้นำ สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องมีแนวความคิดชัดเจนเกี่ยวกับพระองค์ผู้ที่เราแสวงหา คนเลี้ยงแกะสมัยก่อนแสวงหาพระกุมารเยซู แต่เราแสวงหาพระเยซูพระคริสต์ พี่ชายองค์โตของเรา พระผู้เป็นสื่อกลางของเรากับพระบิดา พระผู้ไถ่ของเรา พระผู้ลิขิตความรอด พระองค์ผู้ทรงอยู่กับพระบิดาในกาลเริ่มต้น พระองค์ผู้ทรงรับเอาบาปของโลกไว้กับพระองค์และเต็มพระทัยสิ้นพระชนม์เพื่อเราจะมีชีวิตตลอดกาล นี่คือพระเยซูผู้ที่เราแสวงหา” (“The Search for Jesus,” Ensign, Dec. 1990, 4–5)

งานศิลปะการประสูติของพระคริสต์

พิจารณาว่างานศิลปะจะยกระดับการสนทนาเรื่่องการประสูติของพระคริสต์ได้อย่างไร (ดูตัวอย่างใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ หรือ history.lds.org/exhibit/birth-of-christ)

ปรับปรุงการสอนของเรา

รวมผู้เรียนที่ไม่ได้ศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้านไว้ด้วย ถึงแม้สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจไม่สามารถอ่าน ลูกา 2 และ มัทธิว 2 ก่อนชั้นเรียนได้แต่พวกเขาก็ยังสามารถแบ่งปันข้อคิดที่มีความหมายขณะที่ท่านศึกษาด้วยกันในชั้นเรียน พึงแน่ใจว่าสมาชิกชั้นเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมและเอื้อประโยชน์ต่อการสนทนา