จงตามเรามา
31 ธันวาคม–6 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง


“31 ธันวาคม–6 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“31 ธันวาคม–6 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
ครอบครัวกำลังดูอัลบั้มรูป

31 ธันวาคม–6 มกราคม

เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง

ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรองข้อพระคัมภีร์ในโครงร่างนี้ ให้บันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ การทำเช่นนี้จะอัญเชิญพระวิญญาณเข้าสู่การเตรียมของท่าน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และแนวคิดต่อไปนี้จะช่วยท่านสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชั้นเรียนศึกษาพันธสัญญาใหม่ปีนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของท่านในฐานะครูคือกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากพระคัมภีร์ด้วยตนเองและกับครอบครัวของพวกเขา การฟังประสบการณ์ของผู้อื่นจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาแสวงหาประสบการณ์ของตนเอง ฉะนั้นเมื่อเริ่มชั้นเรียนแต่ละชั้น ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันพระคัมภีร์จากการศึกษาของพวกเขาที่สร้างแรงบันดาลใจหรือทำให้พวกเขาประทับใจ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงจากพระผู้ช่วยให้รอด เราต้องยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญ “จงตามเรามา”

  • การศึกษาพันธสัญญาใหม่เป็นโอกาสให้ไม่เพียง เรียนรู้ เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและหลักคำสอนของพระองค์เท่านั้นแต่ค้นพบวิธี ติดตาม พระองค์อย่างครบถ้วนมากขึ้นด้วย เรื่องราวใน มัทธิว 19:16–22 เป็นวิธีเกริ่นนำหัวข้อนี้ได้ดี (ดูวีดิทัศน์ “Christ and the Rich Young Ruler” ที่ LDS.org ด้วย) ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าเรื่องนี้เพื่อหาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ดูแนวคิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมนี้อีกแนวคิดหนึ่งใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว

การเรียนรู้เรียกร้องให้ปฏิบัติด้วยศรัทธา

  • ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนมีบทบาทแข็งขันมากขึ้นในการเรียนรู้ของพวกเขา แทนที่จะโยนความรับผิดชอบให้ครูแต่ผู้เดียวได้อย่างไร แนวคิดมีดังนี้ เชิญสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งโยนของเบาๆ ให้ท่าน ขณะท่านไม่พยายามรับ ใช้กิจกรรมนี้เริ่มการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของผู้เรียนและครูในการเรียนพระกิตติคุณ คำกล่าวของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เกี่ยวกับการเรียนรู้โดยศรัทธาที่อยู่ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยในการสนทนานี้

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าการเรียนพระกิตติคุณเรียกร้องศรัทธาเพื่อปฏิบัติ ท่านอาจจะแบ่งพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ และเชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มอ่านเรื่องราวต่อไปนี้หนึ่งเรื่อง: มาระโก 5:25–34; ลูกา 5:17–26; และ ยอห์น 9:1–7 ผู้คนในแต่ละเรื่องทำอะไรเพื่อแสดงศรัทธาของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอด เราจะดำเนินการอะไรได้บ้างเพื่อเรียนพระกิตติคุณและแสดงศรัทธาของเราว่าพระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเรียนรู้ความจริง

  • สมาชิกชั้นเรียนทุกคนมีความรับผิดชอบต่อการอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชั้นเรียน เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจเรื่องนี้ ขอให้พวกเขาอ่าน แอลมา 1:26 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–22; 88:122–123 แบ่งปันสิ่งที่ครูและนักเรียนทำได้เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณ อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้หัวข้อเช่น สิ่งที่ครูทำได้ และ สิ่งที่ผู้เรียนทำได้ การทำโปสเตอร์ที่มีคำตอบของสมาชิกชั้นเรียนติดไว้สองสามสัปดาห์ติดต่อกันจะช่วยหรือไม่

เราจำเป็นต้องรู้ความจริงด้วยตัวเราเอง

  • หลายข้อในพันธสัญญาใหม่สอนหลักธรรมที่สามารถชี้นำการค้นหาความจริงของเรา ตัวอย่างได้แก่ ลูกา 11:9–13; ยอห์น 5:39; 7:14–17; และ 1 โครินธ์ 2:9–11 ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกในชั้นที่อ่านข้อเหล่านี้ในการศึกษาส่วนตัวแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ หรือท่านอาจจะให้ชั้นเรียนอ่านข้อเหล่านี้และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาได้ประจักษ์พยานอย่างไร

    ภาพ
    เยาวชนชายหญิงในห้องเรียน

    การแสวงหาการเรียนรู้โดยศรัทธาจะช่วยให้เราได้ประจักษ์พยานของเราเอง

  • ไม่ว่าเราอยู่ในศาสนจักรนานเท่าใด เราทุกคนต้องเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราอยู่เสมอ เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนค้นพบความจริงที่พวกเขาต้องรู้ด้วยตนเอง ท่านอาจจะเขียนพระคัมภีร์อ้างอิงบางข้อที่สอนความจริงสำคัญๆ ไว้บนแถบกระดาษเช่น ยอห์น 3:16–17; 1 โครินธ์ 15:22; โมไซยาห์ 3:13; แอลมา 7:11–13; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:3 ขอให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านพระคัมภีร์เหล่านี้ สรุปความจริงนิรันดร์ที่พวกเขาพบ และสนทนาสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อให้มีประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงเหล่านี้ เพื่อให้เยาวชนมีส่วนในกิจกรรมนี้มากขึ้น ท่านอาจจะซ่อนกระดาษเหล่านั้นไว้ทั่วห้องและเชื้อเชิญให้เยาวชน “แสวงหาความจริง”

  • กิจการของอัครทูต 17:10–12 พูดถึงวิสุทธิชนผู้ค้นคว้าพระคัมภีร์และได้รับพยานของตนเองเกี่ยวกับความจริงนั้น เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนทำตามแบบอย่างของพวกเขา ให้อ่านข้อเหล่านี้ด้วยกันและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

เราจะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ของเรามีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร

  • การพัฒนานิสัยของการศึกษาพระคัมภีร์ที่อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสมาชิกชั้นเรียนผู้รู้สึกว่าตนไม่มีเวลา ความเข้าใจ หรือทักษะที่จำเป็น ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้พวกเขาประสบผลสำเร็จ ท่านอาจจะเริ่มโดยสนทนาเรื่องเล่าเกี่ยวกับนักโค่นต้นไม้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเกิดความเชื่อมั่นในการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจจะแบ่งปันข้อมูลจาก “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว บางทีท่านหรือสมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ อาจจะแบ่งปันประสบการณ์กับการใช้แนวคิดบางอย่างเหล่านี้หรือประสบการณ์ที่มีความหมายอื่นๆ กับการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจจะเลือกหนึ่งบทในพันธสัญญาใหม่และลองให้ชั้นเรียนศึกษาโดยใช้แนวคิดเหล่านี้บางประการ

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษา มัทธิว 1 และ ลูกา 1 ที่บ้านในการเตรียมสนทนาของสัปดาห์ถัดไป ท่านอาจจะถามว่า “เคยมีคนขอให้ท่านทำเรื่องที่ดูเหมือนสุดวิสัยหรือไม่” บทเหล่านี้อธิบายความจริงว่า “ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ลูกา 1:37)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

การได้ความรู้ทางวิญญาณด้วยตัวเราเอง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายว่า “ข้าพเจ้าสังเกตเห็นอุปนิสัยที่ครูผู้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตข้าพเจ้ามีเหมือนกัน นั่นคือ พวกเขาช่วยให้ข้าพเจ้าแสวงหาการเรียนรู้โดยศรัทธา พวกเขาไม่ยอมให้คำตอบข้าพเจ้าง่ายๆ สำหรับคำถามยากๆ อันที่จริง พวกเขาไม่ให้คำตอบใดๆ เลย แต่พวกเขาชี้ทางและช่วยให้ข้าพเจ้าเดินไปหาคำตอบด้วยตนเอง … เรามักจะจำคำตอบจากคนอื่นได้ไม่นาน หรือจำไม่ได้เลย แต่คำตอบที่เราค้นพบหรือได้รับผ่านการใช้ศรัทธา โดยปกติแล้วจะอยู่ชั่วชีวิต … วิธีนี้เท่านั้นที่บุคคลจะอยู่เหนือการพึ่งพาความรู้ทางวิญญาณและประสบการณ์ของผู้อื่นและมีสิทธิ์รับพรเหล่านั้นด้วยตนเอง” (“แสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, ก.ย. 2007, 23)

การจัดเวลาศึกษาพระคัมภีร์

เอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์สอนว่า

“นักโค่นต้นไม้สองคน … ประลองกันเพื่อดูว่าในหนึ่งวันใครจะโค่นต้นไม้ได้มากกว่ากัน การประลองเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ทุกชั่วโมงคนตัวเล็กกว่าจะเดินเข้าไปในป่า 10 นาทีหรือราวๆ นั้น ทุกครั้งที่เขาทำเช่นนี้ คู่แข่งจะยิ้มและพยักหน้า เชื่อมั่นว่าตนจะชนะ คนตัวใหญ่กว่าไม่ออกจากบริเวณนั้นเลย ตัดไม่หยุด ไม่พักเลย

“เมื่อสิ้นวัน คนตัวใหญ่กว่าตกใจมากเมื่อทราบว่าคู่แข่งที่ดูเหมือนจะเสียเวลาไปมากกลับตัดต้นไม้ได้มากกว่าเขา ‘คุณทำได้อย่างไรทั้งที่คุณพักตั้งหลายครั้ง’ เขาถาม

“ผู้ชนะตอบว่า ‘ผมไปลับขวานครับ’

“ทุกครั้งที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เรากำลังลับขวานทางวิญญาณของเรา” (“ปีติของการเรียนรู้,” เลียโฮนา, ต.ค. 2016, 14)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เน้นหลักคำสอน พึงให้การสนทนาในชั้นเรียนยึดพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์เป็นหลัก ท่านทำสิ่งนี้ได้โดยถามคำถามทำนองนี้ “เราเรียนรู้ความจริงพระกิตติคุณอะไรบ้างจากข้อคิดเห็นที่เราได้ยิน” หรือ “มีใครจะแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนทนาไปแล้วได้บ้าง” (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 20–21)