จงตามเรามา
7–13 มกราคม มัทธิว 1; ลูกา 1: ‘ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน’


“7–13 มกราคม มัทธิว 1; ลูกา 1: ‘ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“7–13 มกราคม มัทธิว 1; ลูกา 1,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
มารีย์กับเอลีซาเบธ

7–13 มกราคม

มัทธิว 1; ลูกา 1

“ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน”

ก่อนท่านอ่านเนื้อหาการศึกษาเพิ่มเติม ให้อ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 1 และ ลูกา 1 บันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน จงให้พระวิญญาณชี้นำการเตรียมของท่าน จากนั้นให้สำรวจแนวคิดในโครงร่างนี้และใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีทบทวน มัทธิว 1 หรือ ลูกา 1 เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันข้อที่ชื่นชอบเป็นพิเศษและอธิบายว่าพวกเขาเรียนรู้ความจริงของหลักคำสอนอะไรบ้าง ท่านอาจพบว่าเป็นประโยชน์ถ้าทบทวนเหตุการณ์ในบทเหล่านี้พอสังเขปก่อนจะให้บริบทบางอย่างแก่ข้อที่แบ่งปัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 1:18–25; ลูกา 1:5–80

พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำงานผ่านบุตรธิดาที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจได้ประสบการณ์ที่มีความหมายขณะศึกษาพันธสัญญาใหม่ปีนี้ถ้าพวกเขาสามารถดึงบทเรียนมาจากประสบการณ์ของคนที่พวกเขาอ่าน เพื่อช่วยพวกเขาทำสิ่งนี้ ท่านอาจจะเขียนชื่อคนใน มัทธิว 1 และ ลูกา 1 บนกระดาน ตามด้วยพระคัมภีร์อ้างอิงเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ ดังต่อไปนี้

    เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกหนึ่งคนที่พวกเขาประสงค์จะเรียนรู้เพิ่มเติม อ่านข้อที่ระบุ และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ของบุคคลนั้นกับบางคนในชั้น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามแบบอย่างที่ซื่อสัตย์ของบุคคลนั้น

    ภาพ
    กาเบรียลปรากฏต่อมารีย์

    การแจ้งให้ทราบ โดย จอห์น สก็อตต์

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนคิดลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับอุปนิสัยและบทบาทของมารีย์ในแผนของพระบิดา ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “An Angel Foretells Christ’s Birth to Mary” และ “Mary and Elisabeth Rejoice Together” (LDS.org) หรืออ่าน ลูกา 1:26–38, 46–56 ด้วยกันโดยมองหาสิ่งที่มารีย์กล่าวซึ่งเปิดเผยบางอย่างเกี่ยวกับอุปนิสัยของเธอ เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับมารีย์ เธอสอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับการยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเรา

ลูกา 1:5–25

พรของพระผู้เป็นเจ้ามาในเวลาของพระองค์

  • อาจจะมีคนในชั้นของท่านที่เหมือนเอลีซาเบธกับเศคาริยาห์คือดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมแต่ยังไม่ได้รับพรที่หวังไว้ ท่านจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างของเอลีซาเบธกับเศคาริยาห์ได้อย่างไร ท่านอาจจะเริ่มโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนจดพรที่พวกเขาหวัง จากนั้นพวกเขาอาจจะค้นคว้า ลูกา 1:5–25 โดยมองหาบทเรียนที่พวกเขาสามารถเรียนรู้จากเอลีซาเบธและเศคาริยาห์เกี่ยวกับการรอคอยพระเจ้า พวกเขาอาจจะอ่านและไตร่ตรองคำพูดอ้างอิงใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ได้เช่นกัน กระตุ้นให้พวกเขาเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไว้ข้างๆ พรที่พวกเขาหวังและแบ่งปันความคิดของพวกเขาหากเห็นเหมาะสม

  • สมาชิกชั้นเรียนจะยกตัวอย่างอะไรได้อีกบ้างของการรอคอยจังหวะเวลาของพระเจ้าจากชีวิตของพวกเขาเองหรือจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ เราเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างเหล่านี้

ลูกา 1:26–38

“ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้”

  • บางครั้ง สมาชิกชั้นเรียนอาจสงสัย—เช่นเดียวกับมารีย์—ว่าแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพวกเขาหรือสัญญากับพวกเขาจะเกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าโดยผ่านเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าทุกสิ่งเป็นไปได้ ท่านอาจจะให้ดูภาพ การแจ้งให้ทราบ: ทูตสวรรค์กาเบรียลปรากฏต่อมารีย์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, หน้า 28) และเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ลูกา 1:26–38 ด้วยกัน เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเอาชนะสิ่งที่ดูเหมือนสุดวิสัยโดยศึกษาคำพูดและการกระทำของมารีย์ ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้พวกเขาทำสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ดูตัวอย่างยุคปัจจุบันของวิสุทธิชนผู้ทำสิ่งที่ดูเหมือนสุดวิสัยให้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าได้จากวีดิทัศน์เรื่อง “Sealed Together: The Manaus Temple Caravan” (LDS.org)

  • พระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นความจริงที่กาเบรียลประกาศว่า “ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไม่ได้” (ลูกา 1:37) เพื่ออธิบายหลักธรรมนี้ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำสิ่งที่ดูเหมือนสุดวิสัยให้สำเร็จเมื่อทรงทำตามพระประสงค์ของพระบิดา (ดูตัวอย่างใน ยอห์น 9:1–7) เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นว่าหลักธรรมนี้เกิดผลในชีวิตพวกเขาอย่างไร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามดังนี้: การรู้ว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระผู้เป็นเจ้าทำไม่ได้ส่งผลอะไรในชีวิตท่าน หลักธรรมดังกล่าวเปลี่ยนวิธีที่ท่านรับใช้ในศาสนจักร เปลี่ยนวิธีที่ท่านปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวท่านอย่างไร การเปรียบเทียบ ลูกา 1:37 กับพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน มาระโก 14:30 อาจช่วยได้เช่นกัน

มัทธิว 1:18–25; ลูกา 1:26–55

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

  • จุดประสงค์หลักของมัทธิว ลูกา และผู้เขียนกิตติคุณคนอื่นๆ คือเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ท่านสามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรับรู้จุดประสงค์นี้ในบทแรกๆ ที่พวกเขาจะอ่านในพันธสัญญาใหม่ได้อย่างไร แนวคิดหนึ่งคือแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นคู่ และให้อ่านพระคัมภีร์กลุ่มละชุดจาก มัทธิว 1 หรือ ลูกา 1 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาเหตุการณ์หรือถ้อยคำที่เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและแบ่งปันสิ่งที่พบกับชั้นเรียน บางข้อที่ท่านอาจจะแนะนำให้อ่านได้แก่ มัทธิว 1:18–25 และ ลูกา 1:26–38, 39–45, 46–55 แนะนำชั้นเรียนว่าขณะพวกเขาศึกษาพันธสัญญาใหม่ปีนี้ พวกเขาอาจจะเก็บรายการข้อพระคัมภีร์ที่เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเอาไว้ ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนของท่านเก็บรายการนี้ไว้เช่นกัน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มัทธิว 2 และ ลูกา 2 สำหรับชั้นเรียนสัปดาห์ถัดไป ท่านอาจจะแนะนำว่าถ้าพวกเขาอ่านเรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดร่วมกับการสวดอ้อนวอน พวกเขาจะได้ข้อคิดใหม่ๆ ถึงแม้จะเคยอ่านมาแล้วหลายครั้งก็ตาม

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 1; ลูกา 1

การรอคอยพระเจ้า

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์สอนว่า “ศรัทธา … ครอบคลุมถึงความวางใจในจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งทั้งปวงต้องบังเกิดขึ้นในเวลาของมัน’ (คพ. 64:32.)” (“Lest Ye Be Wearied and Faint in Your Minds,” Ensign, May 1991, 90)

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนว่า

“เราทุกคนได้รับเรียกให้คอยในแบบของเราเอง เราคอยคำตอบของการสวดอ้อนวอน เรารอสิ่งที่ในเวลานั้นอาจดูถูกต้องและดีต่อเราอย่างยิ่งจนเรานึกไม่ออกว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบเราช้า

“ข้าพเจ้าจำได้เมื่อเตรียมตัวรับการฝึกเป็นนักบินเครื่องบินรบ เราใช้เวลาของการฝึกเบื้องต้นทางทหารส่วนใหญ่ไปกับการออกกำลังกาย … เราวิ่งและวิ่งและวิ่งต่อไป

“เมื่อข้าพเจ้าวิ่งก็เริ่มเห็นบางสิ่งซึ่งจริงๆ แล้วรบกวนข้าพเจ้า บ่อยครั้งคนที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และทำทุกสิ่งขัดกับพระกิตติคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระคำแห่งปัญญาวิ่งแซงข้าพเจ้า

“ข้าพเจ้าจำได้ตอนคิดว่า ‘เดี๋ยวก่อน! ฉันน่าจะวิ่งและไม่เหนื่อยไม่ใช่หรือ’ แต่ข้าพเจ้า เหนื่อย และถูกคนที่ไม่ทำตามพระคำแห่งปัญญาวิ่งแซง ข้าพเจ้าสารภาพว่าในเวลานั้นข้าพเจ้าไม่สบายใจ ข้าพเจ้าถามตนเองว่า คำสัญญาจริงหรือไม่

“คำตอบไม่ได้มาทันที แต่ในที่สุดข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือในวิธีที่หวังไว้เสมอไป คำตอบมาตามจังหวะเวลาและในวิธีของพระองค์ หลายปีต่อมา ข้าพเจ้าเห็นหลักฐานชัดเจนของพรทางโลกที่มีต่อผู้เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา—นอกจากพรทางวิญญาณซึ่งมาในทันทีจากการเชื่อฟังกฎทุกข้อของพระผู้เป็นเจ้า” (“จงอดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 72)

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้าน วิธีหนึ่งที่ท่านจะกระตุ้นให้ศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้านคือให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบและข้อคิดจากการศึกษาส่วนตัวและกับครอบครัวของพวกเขา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 29)