จงตามเรามา
21–27 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว


“21–27 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“21–27 มกราคม ยอห์น 1,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
สตรีแบ่งปันพระกิตติคุณที่สถานีรถไฟ

21–27 มกราคม

ยอห์น 1

เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว

ก่อนท่านอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมใดก็ตาม ให้อ่านและไตร่ตรอง ยอห์น 1 และบันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ การทำเช่นนี้จะอัญเชิญพระวิญญาณเข้าสู่การเตรียมของท่าน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และแนวคิดต่อไปนี้จะช่วยท่านสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชั้นเรียนเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักคำสอนในบทนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเขียนคำถาม ความเห็น หรือข้อคิดจากการอ่านไว้บนกระดาษและใส่ไว้ในภาชนะ หยิบกระดาษออกจากภาชนะเพื่อให้ชั้นเรียนสนทนากัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ยอห์น 1:1–5

ในปฐมกาล พระเยซูคริสต์ “ทรงอยู่กับพระเจ้า”

  • ยอห์นเริ่มประจักษ์พยานของเขาเกี่ยวกับพระคริสต์โดยเป็นพยานถึงบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดก่อนพระองค์ประสูติ ยอห์นสอนอะไรเกี่ยวกับพระคริสต์ก่อนพระชนม์ชีพมรรตัย เหตุใดการรู้บทบาทก่อนพระชนม์ชีพมรรตัยของพระคริสต์จึงสำคัญ อาจจะช่วยได้ถ้าเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาคำตอบใน ยอห์น 1:1–5 (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–5 [ใน Bible appendix]) และในคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันพระคัมภีร์อ้างอิงข้อใดได้อีกบ้างที่สอนมากขึ้นเกี่ยวกับพระคริสต์ก่อนพระชนม์ชีพมรรตัย (ดูตัวอย่างใน “Jesus Christ, Antemortal Existence of” ใน Topical Guide) ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนทบทวน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ( เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) เช่นกัน

  • ถ้าท่านต้องการใช้ข้อเหล่านี้พูดถึงงานสร้างของพระเจ้า ท่านอาจจะอ่าน ยอห์น 1:3 และให้ดูภาพที่แสดงให้เห็นความสวยงามของแผ่นดินโลก ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Our Home” (lds.org/topics/environmental-stewardship-and-conservation) เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่างานสร้างของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระองค์อย่างไร

ยอห์น 1:1–14

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแสงสว่าง

  • แสงสว่างทางกายที่เรามองเห็นจะช่วยให้เราเข้าใจสัญลักษณ์ของแสงสว่างทางวิญญาณ ท่านจะอธิบายการใช้สัญลักษณ์นี้กับชั้นเรียนของท่านว่าอย่างไร ท่านอาจจะปิดไฟในห้องและส่องไฟฉายเพื่อให้เห็นแความแตกต่างระหว่างความสว่างกับความมืด จากนั้นขอให้สมาชิกชั้นเรียนหาคำว่า ความสว่าง ทุกคำใน ยอห์น 1:1–14 และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ให้แสงสว่างทางวิญญาณในชีวิตพวกเขาอย่างไร สมาชิกชั้นเรียนประสบแสงสว่างของพระองค์มาแล้วอย่างไร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจต้องการให้พวกเขาอ่านเรื่องแสงสว่างของพระคริสต์เพิ่มเติมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:45–46; 88:11–13 หรือท่านอาจจะให้พวกเขาดู “แสงสว่างของพระคริสต์” ในคู่มือพระคัมภีร์ เราจะเป็นแสงสว่างส่องโลกได้อย่างไร

    ภาพ
    แสงแดดส่องผ่านโขดหินที่ชายหาด

    พระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ให้แสงสว่างทางวิญญาณ

  • เพราะเขียน ยอห์น 1:1–14 ในภาษาเชิงสัญลักษณ์ จึงอาจจะเข้าใจยาก วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจประจักษ์พยานของยอห์นคือเชื้อเชิญให้พวกเขาแจกแจงคำและวลีซ้ำๆ ในข้อเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ และแบ่งปันว่าแต่ละคำสอนอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

  • ต่อไปนี้เป็นวิธีดึงดูดให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านข้อเหล่านี้: ให้ดูภาพหลายๆ ภาพ (รวมทั้งภาพหนึ่งจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ที่แสดงให้เห็นพระชนม์ชีพและพระพันธกิจด้านต่างๆ ของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า ยอห์น 1:1–14 โดยมองหาคำหรือวลีที่จะใช้เป็นชื่อภาพเหล่านี้ได้

ยอห์น 1:35–51

เราสามารถได้รับพยานของเราเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและเชื้อเชิญให้ผู้อื่น “มาดู”

  • ใน ยอห์น 1 พระดำรัสเชื้อเชิญให้ “มาดู” ปรากฏสองครั้ง (ดู ข้อ 39, 46) เราอาจไม่มีโอกาสเห็นพระผู้ช่วยให้รอดจริงๆ แบบที่อันดรูว์กับนาธานาเอลเห็น แต่เราสามารถตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญดังกล่าวได้ ท่านอาจจะถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาคิดว่า “มาดู” ในสมัยของเราหมายความว่าอย่างไรและแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับการได้รับประจักษ์พยานในพระผู้ช่วยให้รอด

  • เพื่อนำเข้าสู่การสนทนาเกี่ยวกับข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนเล่าว่าพวกเขาเคยแนะนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับผู้อื่นอย่างไร พวกเขาเชื้อเชิญใครให้ “มาดู” เราเรียนรู้อะไรจากอันดรูว์และฟีลิปเกี่ยวกับการแบ่งปันประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระคริสต์

  • บางครั้งผู้คนไม่แบ่งปันพระกิตติคุณเพราะพวกเขาพบว่าการทำเช่นนั้นน่ากลัวหรือซับซ้อน เรื่องราวใน ยอห์น 1:35–51 แสดงให้เห็นว่าการแบ่งปันพระกิตติคุณจะต้องเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านข้อเหล่านี้และสนทนาว่าพวกเขาจะใช้ข้อเหล่านี้ช่วยคนที่กลัวการแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร พวกเขาอาจจะใช้คำพูดอ้างอิงของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เป็นแนวคิด (ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Good Things to Share” ที่ LDS.orgด้วย)

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้ศึกษา มัทธิว 3, มาระโก 1 และ ลูกา 3 ท่านอาจจะขอให้พวกเขานึกถึงคนที่พวกเขาต้องการช่วยนำมาหาพระคริสต์ บอกพวกเขาว่าในบทเหล่านี้พวกเขาจะอ่านเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์คนหนึ่งผู้ซึ่งพันธกิจของท่านคือเตรียมผู้คนให้พร้อมรับพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ยอห์น 1

พระเยซูคริสต์อยู่กับพระบิดาในกาลเริ่มต้น

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจสอนว่า “เราได้รับการยืนยันแน่ชัดว่าพระวาทะคือพระเยซูคริสต์ผู้อยู่กับพระบิดาในกาลเริ่มต้น ผู้ทรงครอบครองเดชานุภาพและความเป็นพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์เสด็จมาในโลกและประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์ คำกล่าวเหล่านี้ได้รับการยืนยันแน่ชัดผ่านการเปิดเผยที่ประทานแก่โมเสส ซึ่งท่านได้รับอนุญาตให้เห็นงานสร้างมากมายของพระผู้เป็นเจ้า และได้ยินสุรเสียงของพระบิดาเกี่ยวกับสิ่งที่รังสรรค์ไว้ ‘และโดยคำแห่งอำนาจของเรา, เราสร้างสิ่งเหล่านี้, ซึ่งคือพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของเรา, ผู้เปี่ยมด้วยพระคุณและความจริง’ [โมเสส 1:32, 33]” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 10)

เราสามารถเชื้อเชิญให้ผู้อื่น “มาดู”

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นสอนว่า

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เรารู้วิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ ข้าพเจ้าชอบเรื่องของอันดรูว์ผู้ถามว่า ‘รับบี ท่านพักอยู่ที่ไหน?’ [ยอห์น 1:38] พระเยซูทรงตอบได้ว่าพระองค์ประทับอยู่ที่ไหน แต่แทนที่จะทรงตอบอย่างนั้น พระองค์กลับตรัสกับอันดรูว์ว่า ‘มาดูเถิด’ [ยอห์น 1:39] ข้าพเจ้าชอบคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดกำลังตรัสว่า ‘มาและไม่ใช่แค่ดูว่าเราอยู่ที่ไหนแต่ดูว่าเราดำเนินชีวิตอย่างไรด้วย มาและดูว่าเราเป็นใคร มาและสัมผัสพระวิญญาณ’ เราไม่รู้อะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับวันนั้น แต่เรารู้ว่าเมื่ออันดรูว์เจอซีโมนพี่ชายของเขา เขาประกาศว่า ‘เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว’ [ยอห์น 1:41]

“สำหรับคนที่สนใจการสนทนาของเรา เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดได้โดยเชิญพวกเขา ‘มาและดู’ บางคนจะตอบรับคำเชื้อเชิญของเราและบางคนอาจจะไม่ เราทุกคนรู้จักบางคนที่เราเชิญหลายครั้งก่อนจะยอมรับคำเชื้อเชิญให้ ‘มาและดู’ ขอให้เรานึกถึงคนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่กับเราแต่ตอนนี้เราไม่ค่อยได้เจอเขา เชื้อเชิญให้เขากลับมาและดูอีกครั้ง …

“สำหรับคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ มีช่องทางใหม่ให้เชิญผู้อื่น ‘มาดู’ ขอให้เราทำให้การแบ่งปันความเชื่อของเราทางออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้น” (“นี่คือปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 79)

ดนตรีสามารถสอนเราเรื่องพระคริสต์ได้

ท่านอาจจะใช้เพลงสวด “เพราะความโสภาของแผ่นดิน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 24 เมื่อท่านสนทนาบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะพระผู้สร้าง (ดู ยอห์น 1:3) ท่านอาจจะใช้วีดิทัศน์เรื่อง “For the Beauty of the Earth” ที่ mormontabernaclechoir.org

ปรับปรุงการสอนของเรา

ช่วยผู้เรียนเปรียบพระคัมภีร์กับตนเอง พระดำรัสเชื้อเชิญเดียวกันกับที่พระคริสต์ประทานแก่เหล่าสาวกของพระองค์—มาและดู—สามารถช่วยคนที่ท่านสอนให้ปรารถนาจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอด กระตุ้นผู้เรียนให้ประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พบในพระคัมภีร์กับชีวิตพวกเขาและเชื้อเชิญให้ผู้อื่นทำเช่นเดียวกัน (ดู 1 นีไฟ 19:23; การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 21)