จงตามเรามา
21–27 กันยายน 3 นีไฟ 12–16: “เราคือกฎ, และแสงสว่าง”


“21–27 กันยายน 3 นีไฟ 12–16: ‘เราคือกฎ, และแสงสว่าง’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“21–27 กันยายน 3 นีไฟ 12–16” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงระบุชื่ออัครสาวกสิบสอง

สามนีไฟ: เราได้เลือกสิบสองคนนี้ โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

21–27 กันยายน

3 นีไฟ 12–16

“เราคือกฎ, และแสงสว่าง”

แต่ละคนในชั้นเรียนของท่านอาจจะพบสิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษในบรรดาคำสอนอันทรงพลังมากมายของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12–16 ให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันหลักธรรมที่สะดุดใจพวกเขา

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาศึกษาใน 3 นีไฟ 12–16 ท่านจะเขียนเลข 12 ถึง 16 ตามขวางของกระดาน จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะค้นหาข้อในบทเหล่านี้ที่พวกเขาพบว่ามีความหมายแล้วเขียนเลขข้อนั้นไว้ใต้เลขบทบนกระดาน เลือกอ่านด้วยกันสองสามข้อ และสนทนาว่าเหตุใดข้อเหล่านั้นจึงมีความหมาย

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

3 นีไฟ 12–14

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เราเห็นวิธีเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริง

  • โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ให้ข้อสรุปใน 3 นีไฟ 12–14 เพื่อเติมวลี “สานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ …” ให้สมบูรณ์ ท่านอาจจะถามว่าสมาชิกชั้นเรียนที่ทำกิจกรรมนี้มีคนใดยินดีแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้หรือไม่ หรือท่านอาจจะเขียนประโยคที่ไม่สมบูรณ์ไว้บนกระดาน พร้อมข้ออ้างอิงต่อไปนี้ 3 นีไฟ 12:3–16, 38–44; 13:1–8, 19–24; และ 14:21–27 (หรือข้ออื่นที่ท่านพบในการศึกษาส่วนตัว) สมาชิกชั้นเรียนจะเลือกอ่านข้อใดข้อหนึ่งเป็นส่วนตัวหรือในกลุ่ม และเสนอวิธีเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์โดยใช้สิ่งที่ข้อเหล่านั้นสอนเป็นหลัก กระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้ไตร่ตรองและอาจจะจดสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์อย่างซื่อสัตย์มากขึ้นเนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12:48 ท่านจะเชิญหนึ่งหรือสองคนศึกษาข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เรื่อง “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม—ในที่สุด” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 40–42) ก่อนมาชั้นเรียนและแบ่งปันข้อคิดที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจข้อนี้

3 นีไฟ 12:21–30

ความคิดของเรานำไปสู่การกระทำ

  • การสนทนา 3 นีไฟ 12:21–30 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นว่าการควบคุมความคิดของเราจะช่วยเราควบคุมการกระทำของเราได้อย่างไร เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านจะทำตารางบนกระดานโดยมีหัวข้อเช่น การกระทำที่เราต้องการหลีกเลี่ยง และ ความคิดหรืออารมณ์ที่นำไปสู่การกระทำเหล่านั้น จากนั้นท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า 3 นีไฟ 12:21–22 และ 27–30 และเริ่มเติมข้อมูลในตาราง สมาชิกชั้นเรียนจะเพิ่มการกระทำและความคิดอะไรเข้าไปในตารางอีกบ้าง เรา “อย่ายอมให้เรื่องเหล่านี้เข้ามาใน” ใจเราได้อย่างไร (3 นีไฟ 12:29) เราจะขับไล่เรื่องเหล่านี้เมื่อเข้ามาในความคิดเราได้อย่างไร หลังจากอ่านคำแนะนำของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ท่านอาจจะสร้างตารางใหม่โดยมีหัวข้อเช่น การกระทำเหมือนพระคริสต์ที่เราต้องการพัฒนา และ ความคิดที่นำไปสู่การกระทำเหล่านั้น และให้ชั้นเรียนเติมข้อมูลในตาราง

3 นีไฟ 13:1–8, 16–18

การรับใช้และการนมัสการของเราต้องทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

  • การศึกษา 3 นีไฟ 13 เสนอโอกาสให้สมาชิกชั้นเรียนได้สำรวจว่าเหตุใดพวกเขาจึงทำงานดี เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านจะอ่าน ข้อ 1–2 และ 16 ด้วยกัน และบอกนิยามนี้ของ คนหน้าซื่อใจคด: “คนเสแสร้ง ภาษากรีก [ใช้ในพันธสัญญาใหม่] หมายถึง ‘นักเล่นละคร’ หรือ ‘คนที่ … พูดเกินจริง’” (Matthew 6:2, footnote a) สมาชิกชั้นเรียนหนึ่งหรือสองคนอาจจะชอบการเสแสร้งแกล้งทำประหนึ่งกำลังบริจาคให้คนยากจนหรืออดอาหาร เหตุใดการเสแสร้งแกล้งทำจึงเป็นอุปลักษณ์ที่ดีของความหน้าซื่อใจคด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการรับใช้ การสวดอ้อนวอน และการอดอาหารของเราจริงใจและไม่หน้าซื่อใจคด

  • หลังจากระบุงานดีที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 13:1–8 และ 16–18 แล้ว สมาชิกชั้นเรียนจะสนทนาว่าอะไรน่าจะเป็นเหตุจูงใจให้บุคคลนั้นทำสิ่งเหล่านี้หรือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้ทำ เราจะพูดอะไรกับคนที่ถามเราว่าทำไมเราทำสิ่งดีๆ กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองแรงจูงใจของพวกเขาเองในการทำงานดีแบบนี้ เราจะทำให้เหตุจูงใจของเราบริสุทธิ์ได้อย่างไร

3 นีไฟ 14:7–11

ถ้าเราแสวงหา “สิ่งดีๆ” จากพระบิดาบนสวรรค์ เราจะได้รับ

  • เพื่อเข้าใจพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเจ้าให้ขอ หา และเคาะ การสำรวจความหมายของคำเหล่านี้จะช่วยได้ แต่ละคำบอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราทำ เราขอ หา และเคาะอย่างไร คำสัญญาใน 3 นีไฟ 14:7–8 เกิดสัมฤทธิผลมาแล้วในชีวิตเราอย่างไร สมาชิกชั้นเรียนจะทบทวนคำแนะนำของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วยโดยมองหาคำถามที่ท่านถามและคำเชื้อเชิญที่ท่านให้ ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองและจดคำตอบของคำถามพร้อมแผนของพวกเขาที่จะทำตามคำเชื้อเชิญเหล่านั้น

  • สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจไม่แน่ใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ทุกคนที่ขอ, ย่อมได้รับ” (3 นีไฟ 14:8) เหตุใดการสวดอ้อนวอนบางครั้งจึงดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบ และเหตุใดบางครั้งเราจึงได้คำตอบที่เราไม่ต้องการ การให้ชั้นเรียนทบทวนพระคัมภีร์บางข้อต่อไปนี้จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้: อิสยาห์ 55:8–9; ฮีลามัน 10:4–5; 3 นีไฟ 18:20; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:7–9; 88:64 กระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ข้อคิดเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่เราสวดอ้อนวอน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน 3 นีไฟ 17–19 ที่บ้าน ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้ยินพระผู้ช่วยให้รอดสวดอ้อนวอนให้พวกเขาและครอบครัวของพวกเขา ในบทเหล่านี้พวกเขาจะได้อ่านเกี่ยวกับคนที่มีประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

เราสามารถควบคุมความคิดของเราได้

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า

“ความคิดเปรียบได้กับเวทีที่แสดงได้ทีละฉากเท่านั้น ข้างเวทีด้านหนึ่งพระเจ้าผู้ทรงรักท่านกำลังพยายามบอกให้สิ่งซึ่งจะเป็นพรแก่ท่านขึ้นเวทีความคิดของท่าน ส่วนข้างเวทีอีกด้านหนึ่งมารผู้เกลียดท่านกำลังพยายามบอกให้สิ่งซึ่งจะสาปแช่งท่านขึ้นเวทีความคิดของท่าน

“ท่านเป็นผู้จัดการเวที—ท่านคือคนที่ตัดสินใจว่าจะให้ความคิดใดขึ้นเวที … ท่านจะเป็นตามที่ท่านคิด—ตามที่ท่านยอมให้ครอบครองเวทีความคิดของท่านตลอดมา

“หากความคิดทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น และเราอยากเป็นเหมือนพระคริสต์ เราต้องมีความคิดเหมือนพระคริสต์” (“Think on Christ,” Ensign, Apr. 1984, 10–11)

พระองค์ทรงต้องการตรัสกับท่าน

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า

“การแสวงหาของท่านจะเปิดอะไรให้ท่าน ท่านขาดปัญญาเรื่องใด ท่านรู้สึกว่าท่านต้องรู้หรือเข้าใจอะไรโดยด่วน จงทำตามแบบอย่างของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ หาที่เงียบๆ ที่ท่านจะไปเป็นประจำได้ นอบน้อมถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ระบายความในใจต่อพระบิดาบนสวรรค์ของท่าน หันไปขอคำตอบและการปลอบโยนจากพระองค์

“สวดอ้อนวอนในพระนามของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับข้อกังวล ความกลัว ความอ่อนแอของท่าน—ใช่ ความปรารถนาของใจท่าน และฟัง! เขียนความคิดที่เข้ามาในจิตใจท่าน บันทึกความรู้สึกและทำตามที่ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำ

“พระผู้เป็นเจ้าทรง ต้องการ ตรัสกับท่านจริงหรือ จริง! … ข้าพเจ้าขอให้ท่านเพิ่มพูนความสามารถทางวิญญาณปัจจุบันในการรับการเปิดเผยส่วนตัว …

“มีอีกมากที่พระบิดาในสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านรู้” (“การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 95)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ช่วยให้ผู้เรียนหนุนใจกัน “แต่ละคนในชั้นเรียนของท่านเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยประจักษ์พยาน ข้อคิด และประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันและยกจิตใจกัน” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 5)