จงตามเรามา
28 กันยายน–11 ตุลาคม 3 นีไฟ 17–19: “ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม”


“28 กันยายน–11 ตุลาคม 3 นีไฟ 17–19: ‘ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“28 กันยายน–11 ตุลาคม 3 นีไฟ 17–19” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

แสงแห่งสีพระพักตร์สว่างเรืองรองท่ามกลางพวกเขา โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

28 กันยายน–11 ตุลาคม

3 นีไฟ 17–19

“ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม”

การเตรียมสอนของท่านควรเริ่มด้วยการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว จะเสริมการศึกษาของท่าน และโครงร่างนี้จะให้แนวคิดเพื่อช่วยท่านเตรียม

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ใน 3 นีไฟ 17:1–3 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ผู้คนกลับไปบ้านและ “เตรียมจิตใจ” ก่อนกลับมารับการสอนอีก ท่านอาจจะถามนักเรียนว่าพวกเขาเตรียมมาสนทนาวันนี้อย่างไรและพวกเขาไตร่ตรองอะไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

3 นีไฟ 17; 18:24–25, 28–32

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการปฏิบัติศาสนกิจ

  • เราทุกคนมีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น และเราทุกคนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ดีขึ้น วิธีหนึ่งที่จะเรียนรู้จากแบบอย่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดคือให้ชั้นเรียนอ่าน 3 นีไฟ 17 และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแสดงความเห็นทุกครั้งที่พวกเขาพบบางสิ่งที่สอนพวกเขาเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของการปฏิบัติศาสนกิจ เราเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะมองหาข้อคิดเพิ่มเติมได้เช่นกันใน 3 นีไฟ 18:24–25 และ 28–32 จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะพูดถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาทำตามแบบอย่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

    ภาพ
    พระเยซูทรงอวยพรเด็กๆ ชาวนีไฟ

    จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

3 นีไฟ 17:13–22; 18:15–25; 19:6–9, 15–36

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนวิธีสวดอ้อนวอน

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากแบบอย่างมากมายและคำสอนเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนใน 3 นีไฟ 17–19 ท่านจะเขียนบนกระดานว่า ใคร อย่างไร เมื่อใด และ เหตุใด และเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ขณะพวกเขาเชื่อมโยงกับการสวดอ้อนวอนในข้อเหล่านี้: 3 นีไฟ 17:13–22; 18:15–25; และ 19:6–9, 15–36 สมาชิกชั้นเรียนได้ข้อคิดอะไรอีกบ้างขณะพวกเขาอ่านข้อเหล่านี้ คำกล่าวจากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจจะเสริมการสนทนาได้ ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันเช่นกันว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัวและกับครอบครัวมีความหมายมากขึ้น (ดู 3 นีไฟ 18:18–21)

  • โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เสนอคำถามให้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนเมื่ออ่านข้อเหล่านี้ ท่านจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อคิดที่พวกเขามีเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ หรือท่านจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนหลายๆ คนเตรียมมาสนทนาบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจาก 3 นีไฟ 17–19 พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนของพวกเขามีความหมายมากขึ้น

  • พระเยซูทรงสอนว่าเหตุใดเราจึงควรสวดอ้อนวอนเสมอ (ดู 3 นีไฟ 18:15–18) บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงอาจช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงสอน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเติมน้ำในภาชนะเพื่อแทนอิทธิพลของซาตาน ยัดทิชชู (แทนตัวเรา) ลงก้นถ้วยให้แน่นๆ (แทนการสวดอ้อนวอนเสมอ) คว่ำถ้วยลง และดันลงไปตรงๆ ในภาชนะที่มีน้ำ ทิชชูที่อยู่ก้นถ้วยควรแห้งเหมือนเดิมแม้จะมีน้ำล้อมรอบ บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงนี้และ 3 นีไฟ 18:15–18 สอนอะไรเราเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน (ดู คพ. 10:5 ด้วย) “สวดอ้อนวอนเสมอ” หมายความว่าอย่างไร การสวดอ้อนวอนจะช่วยเราต่อต้านอิทธิพลของซาตานได้อย่างไร ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนจดสักครู่ว่าพวกเขารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไรเพื่อปรับปรุงการสวดอ้อนวอนของพวกเขา

3 นีไฟ 18:1–12

เราสามารถอิ่มทางวิญญาณขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก

  • เพื่อเริ่มสนทนาเกี่ยวกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องศีลระลึกใน 3 นีไฟ 18 ท่านจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ และแจกพระคัมภีร์ต่อไปนี้ให้กลุ่มละข้ออ่านและสนทนา: มัทธิว 26:26–28; 3 นีไฟ 18:1–12; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75–79; 27:1–4 หลังจากอ่านข้อที่ได้รับมอบหมายแล้ว แต่ละกลุ่มจะคิดคำถามหนึ่งหรือสองข้อเกี่ยวกับศีลระลึกที่มีคำตอบอยู่ในข้อที่พวกเขาอ่านและเขียนคำถามของพวกเขาไว้บนกระดาน จากนั้นให้คนที่เหลือค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อหาคำตอบของคำถาม สมาชิกชั้นเรียนจะสนทนาด้วยว่าพวกเขาจะมีประสบการณ์ที่มีความหมายมากขึ้นขณะรับส่วนศีลระลึกได้อย่างไร

  • “อิ่ม” ขณะที่เรารับส่วนศีลระลึกหมายความว่าอย่างไร (ดู 3 นีไฟ 18:4–5, 9; 20:9) ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนจับคู่กันสนทนาคำถามนี้ขณะพวกเขาอ่าน 3 นีไฟ 18:1–12 ด้วยกัน ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองครั้งสุดท้ายที่พวกเขารู้สึก “อิ่ม” ทางวิญญาณเมื่อรับส่วนศีลระลึกด้วย พวกเขาอาจจะสนทนาถึงสิ่งที่จะกีดกั้นหรือหันเหความสนใจของพวกเขาไปจากการ “อิ่ม” ด้วยศีลระลึกและแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับวิธีเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้

3 นีไฟ 19:9–15, 20–22

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์แสวงหาของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงบางสิ่งที่พวกเขาปรารถนาอย่างมาก พวกเขายอมทำอะไรเพื่อให้ได้มา นำชั้นเรียนไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่สานุศิษย์สิบสองคน “ปรารถนาที่สุด” ดังที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 19:9–15 และ 20–22 เหตุใดสิ่งนี้จึงสำคัญต่อพวกเขา เหตุใดจึงสำคัญต่อเรา ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราจะแสวงหาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างจริงจังได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

พระเจ้าตรัสว่า “ถ้อยคำของอิสยาห์ยิ่งใหญ่” (3 นีไฟ 23:1) เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน 3 นีไฟ 20–26 ท่านจะบอกพวกเขาว่าในบทเหล่านี้พระเยซูทรงอธิบายถ้อยคำที่ “ยิ่งใหญ่” บางส่วนของอิสยาห์ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าเหตุใดถ้อยคำเหล่านี้ของอิสยาห์จึงสำคัญยิ่ง กระตุ้นให้พวกเขาเตรียมมาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ในวันอาทิตย์หน้า

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

คุณค่าของการสวดอ้อนวอน

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์เป็นพยานถึงคุณค่าของการสวดอ้อนวอนดังนี้

“เราสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาบนสวรรค์ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์ พระเยซูคริสต์ การสวดอ้อนวอนจะได้ผลมากที่สุดเมื่อเราพยายามดำรงตนให้สะอาดและเชื่อฟังด้วยเหตุจูงใจที่คู่ควรและเต็มใจทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ การสวดอ้อนวอนที่นอบน้อมและวางใจจะได้รับการนำทางและสันติสุข

“อย่าห่วงความรู้สึกขัดเขินที่ท่านแสดงออก จงพูดกับพระบิดาผู้ทรงเมตตาและเข้าใจ ท่านเป็นบุตรธิดาล้ำค่าของพระองค์ผู้ทรงรักท่านอย่างสมบูรณ์และทรงต้องการช่วยท่าน ขณะที่ท่านสวดอ้อนวอน จงรับรู้ว่าพระบิดาในสวรรค์ทรงอยู่ใกล้และทรงฟังท่าน

“จุดสำคัญในการสวดอ้อนวอนให้ดีขึ้นคือฝึกทูลถามคำถามที่ถูกต้อง ท่านอาจเปลี่ยนจากการทูลขอสิ่งที่ท่านต้องการมาเป็นการแสวงหาสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์สำหรับท่าน ต่อจากนั้นเมื่อท่านรู้พระประสงค์ของพระองค์แล้ว จงสวดอ้อนวอนขอให้ทรงนำท่านให้มีพลังทำให้เกิดสัมฤทธิผล

“หากท่านรู้สึกเหินห่างจากพระบิดา อาจเป็นด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เมื่อท่านวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อไป พระองค์จะทรงนำทางท่านให้ทำสิ่งซึ่งจะทำให้ท่านเชื่อมั่นอีกครั้งว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ จงสวดอ้อนวอนแม้เมื่อท่านไม่ปรารถนาจะสวดอ้อนวอน บางครั้ง เหมือนเด็ก ท่านอาจทำผิดและรู้สึกว่าท่านไม่สามารถเข้าเฝ้าพระบิดาพร้อมปัญหานั้นได้ นั่นเป็นเวลาที่ท่านต้องสวดอ้อนวอนมากที่สุด จงอย่ารู้สึกว่าตนเองไร้ค่าควรเกินกว่าจะสวดอ้อนวอน

“ข้าพเจ้าสงสัยว่าเราจะเข้าใจพลังมหาศาลของการสวดอ้อนวอนได้จริงหรือไม่หากเราไม่เผชิญปัญหาเร่งด่วนเกินกำลังและตระหนักว่าเราไม่มีพลังแก้ไขปัญหานั้น ตอนนั้นเราจะหันไปหาพระบิดาของเราโดยยอมรับด้วยความอ่อนน้อมว่าเราต้องพึ่งพาพระองค์ทั้งหมด ดีทีเดียวถ้าจะหาสถานที่สงบที่เราสามารถเอ่ยความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้อย่างจริงจังและนานเท่าที่จำเป็น” (ดู “การใช้ของประทานอันสูงส่งแห่งการสวดอ้อนวอน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 9–10)

ปรับปรุงการสอนของเรา

พยายามมีความรักเหมือนพระคริสต์ หากมีสมาชิกคนหนึ่งในชั้นเรียนของท่านต้องได้รับการผูกมิตร ลองพิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนอีกคนหนึ่งมานั่งข้างๆ คนนั้นและเป็นเพื่อนเขา