จงตามเรามา
14–20 กันยายน 3 นีไฟ 8–11: “จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา”


“14–20 กันยายน 3 นีไฟ 8–11: ‘จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“14–20 กันยายน 3 นีไฟ 8–11” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

เราเป็นความสว่างของโลก โดย เจมส์ ฟูลเมอร์

14–20 กันยายน

3 นีไฟ 8–11

“จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา”

การย้อนกลับไปดูความประทับใจที่ท่านบันทึกไว้ระหว่างศึกษา 3 นีไฟ 8–11 เป็นส่วนตัวอาจกระตุ้นให้เกิดแนวคิดการสอน ข้อเสนอแนะด้านล่างจะให้แนวคิดเพิ่มเติม

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

บางครั้งผู้คนจะแบ่งปันมากขึ้นถ้าท่านขอบางอย่างเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางอย่างจาก 3 นีไฟ 8–11 ที่ได้สอนพวกเขาเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะให้คำเชื้อเชิญนี้สองสามวันล่วงหน้าเพื่อพวกเขาจะได้เตรียมมาแบ่งปัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

3 นีไฟ 8–10

ถ้าเรากลับใจ พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรวบรวม คุ้มครอง และทรงเยียวยาเรา

  • บทเหล่านี้ประกอบด้วยเรื่องราวของความพินาศและการทำลายล้าง แต่สอนบทเรียนทางวิญญาณที่จะช่วยให้เราใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นเช่นกัน ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและมอบหมายให้ค้นคว้า 3 นีไฟ 8–10 กลุ่มละบทโดยมองหาคำหรือวลีที่บอกว่าผู้คนเรียนรู้หรือประสบอะไร จากนั้นคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มจะแบ่งปันกับคนที่เหลือในชั้นว่ากลุ่มของพวกเขาค้นพบอะไร กระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้สนทนาว่าบทเรียนทางวิญญาณเหล่านี้จะช่วยให้เราใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร

  • ข่าวสารอันทรงคุณค่าในบทเหล่านี้คือพระผู้ช่วยให้รอดทรงเอื้อมมาหาเราด้วยความรักและความเมตตาแม้ในช่วงการทดลองที่ยากที่สุดของเรา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงคนรู้จักที่กำลังประสบช่วงเวลาท้าทายและค้นคว้าพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 9:13–22 และ 10:1–10 เพื่อหาวลีที่จะช่วยบุคคลนั้นได้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อพวกเขารู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเอื้อมมาหาพวกเขา

3 นีไฟ 9:19–22

พระเจ้าทรงเรียกร้อง “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด”

  • ก่อนการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด คนซื่อสัตย์ในแผ่นดินที่สัญญาไว้เชื่อฟังกฎของโมเสส ซึ่งรวมถึงสัตวบูชาด้วย เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจกฎนี้มากขึ้น ท่านจะทบทวน โมเสส 5:5–8 พอสังเขป เหตุใดผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าจึงได้รับบัญชาให้ถวายสัตวบูชาในสมัยโบราณ พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติใหม่อะไรใน 3 นีไฟ 9:20 และบัญญัตินั้นบอกเป็นนัยถึงพระองค์และการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์อย่างไร ข้อความอ้างอิงเกี่ยวกับกฎแห่งการพลีบูชาใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยได้

  • ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจความหมายของการมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดได้อย่างไร ท่านอาจจะเริ่มโดยเขียนคำว่า ชอกช้ำ สำนึกผิด และ การพลีบูชา ไว้บนกระดาน จากนั้นท่านจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนวาดรูปที่แสดงให้เห็นว่าคำเหล่านี้มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไรหรือเขียนคำหรือวลีที่เกี่ยวข้องกับคำเหล่านี้ ขณะสมาชิกชั้นเรียนให้ดูภาพ คำ หรือวลี พวกเขาจะสนทนาว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอจากเราใน 3 นีไฟ 9:19–22 อย่างไร ข้อความอ้างอิงจากเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยได้เช่นกัน

3 นีไฟ 11:1–17

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก

  • เหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 11:1–17 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจสักครู่ ท่านอาจจะเขียนคำถามสองสามข้อบนกระดานให้พวกเขาไตร่ตรองขณะอ่าน เช่น ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านอยู่ในหมู่คนเหล่านี้ อะไรทำให้ท่านประทับใจเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระเยซู หรือ ประสบการณ์ใดให้พยานแก่ท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของท่าน ท่านจะให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความคิดหรือความประทับใจบางอย่างของพวกเขา

    ภาพ
    พระเยซูทรงแสดงให้ชาวนีไฟเห็นรอยตะปูในพระหัตถ์

    ทีละคน โดยวอลเตอร์ เรน

3 นีไฟ 11:10–41

พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาหลักคำสอนและศาสนจักรของพระองค์

  • อาจเป็นประโยชน์ถ้ากล่าวถึงเรื่องแรกๆ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกตรัสและทำเมื่อทรงปรากฏในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง สมาชิกชั้นเรียนอาจจะทำเครื่องหมายหรือจดความจริงที่พวกเขาค้นพบจากพระดำรัสและการกระทำของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 11:10–41 เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับศาสนจักรของพระองค์

  • เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่คนเกี่ยวกับบัพติศมา พระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงเปิดเผยความจริงสำคัญๆ เกี่ยวกับศาสนพิธีนี้ใน 3 นีไฟ 11 เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนค้นพบความจริงเหล่านี้ ท่านจะเขียนเลขข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: 21–25, 26–27, 33–34. เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกคนละหนึ่งหรือสองข้อและแบ่งปันความจริงที่ข้อนั้นสอนเกี่ยวกับบัพติศมา

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ชั้นเรียนของท่านอาจจะอยากรู้ว่าการเสด็จเยือนชาวนีไฟและชาวเลมันของพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อพวกเขาลึกซึ้งมากถึงขนาดว่าคนที่เคยขัดแย้งกันอยู่กันอย่างสงบต่อเนื่องเป็นเวลา 200 ปี (ดู 4 นีไฟ 1 เหตุการณ์นี้อาจสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษา 3 นีไฟ 12–16 เพื่อเรียนรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรผู้คนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งเช่นนั้น

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

กฎแห่งการพลีบูชา

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดอธิบายวิธีหนึ่งที่เราดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการพลีบูชาในปัจจุบัน:

“หลังจากการพลีพระชนม์ชีพขั้นสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอด มีการปรับเปลี่ยนสองอย่างในการปฏิบัติ [กฎแห่งการพลีบูชา] หนึ่ง ศาสนพิธีของศีลระลึกแทนที่ศาสนพิธีของการพลีบูชา และสอง การเปลี่ยนแปลงนี้ย้ายจุดศูนย์รวมของการพลีบูชาจากสัตว์ของคนๆ หนึ่งไปเป็นตัวบุคคลคนนั้น ตามความหมายนี้ การพลีบูชาเปลี่ยนจาก ของถวาย ไปที่ ผู้ถวาย

“… แทนที่พระเจ้าจะทรงเรียกร้องสัตว์หรือพืชพันธุ์ธัญญาหารของเรา เวลานี้พระองค์ทรงต้องการให้เราละทิ้งการอธรรมทุกอย่าง … 

“… เมื่อใดที่เราเอาชนะความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวของเราเองและให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตเราและทำพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระองค์ไม่ว่าจะต้องเสียอะไรก็ตาม เมื่อนั้นเรากำลังดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการพลีบูชา” (“The Law of Sacrifice,” Ensign, Oct. 1998, 10)

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แมกซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “การพลีบูชาส่วนตัวจริงๆ จะไม่ใช่การวางสัตว์ไว้บนแท่นบูชา แต่คือการเต็มใจวางสัตว์ในตัวเราไว้บนแท่นบูชาและให้มันถูกเผาผลาญ!” (“Deny Yourselves of All Ungodliness,” Ensign, May 1995, 68)

ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันอธิบายความหมายของการมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดดังนี้

“ท่านสามารถถวายพระเจ้าด้วยของถวายแห่งใจที่ชอกช้ำหรือกลับใจและวิญญาณที่สำนึกผิดหรือเชื่อฟังของท่าน ในความเป็นจริงของถวายนั้นคือตัวท่านเอง—คือสิ่งที่ท่านเป็นและสิ่งที่ท่านกำลังจะเป็น

“มีสิ่งใดในท่านหรือในชีวิตท่านที่ไม่บริสุทธิ์หรือไม่มีค่าควรหรือไม่ เมื่อท่านขจัดมันออกไป นั่นคือของถวายแด่พระผู้ช่วยให้รอด มีนิสัยที่ดีหรือคุณสมบัติอันดีที่ชีวิตท่านขาดหรือไม่ เมื่อท่านรับสิ่งนั้นเข้ามาและทำให้เป็นส่วนหนึ่งในอุปนิสัยของท่าน ท่านกำลังถวายของขวัญแด่พระเจ้า” (ดู “เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 14)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ทำงานร่วมกับสมาชิกครอบครัว “คนที่มีอิทธิพลอันทรงอานุภาพมากที่สุดต่อบุคคลหนึ่ง—ทั้งในทางดีและไม่ดี—โดยปกติคือผู้ที่อยู่ในบ้านของเขา เพราะบ้านคือศูนย์กลางของการเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ความพยายามของท่านในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกชั้นเรียนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อท่านทำงานร่วมกับ… สมาชิกครอบครัว” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 8–9)