จงตามเรามา
30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์: “พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”


“30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์: ‘พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์กับอัครสาวกของพระองค์

พระคริสต์กับอัครสาวก โดย เดล พาร์สัน

30 มีนาคม–12 เมษายน

อีสเตอร์

“พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”

วันอาทิตย์อีสเตอร์เป็นโอกาสดียิ่งที่จะให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านได้เสริมสร้างประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์—พร้อมทั้งเสริมสร้างประจักษ์พยานของกันและกัน นึกถึงสิ่งนี้เสมอขณะท่านศึกษาพระคัมภีร์เพื่อเตรียมบทเรียนนี้ จงแสวงหาการชี้นำทางวิญญาณว่าอะไรจะสัมผัสใจคนในชั้นเรียนของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

สมาชิกในชั้นเรียนของท่านอาจเคยมีประสบการณ์ที่เปี่ยมด้วยความหมายตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาขณะอ่านสิ่งที่พระคัมภีร์มอรมอนสอนเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีหาข้อที่พวกเขาประทับใจ และจากนั้นให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

2 นีไฟ 9:7–15; แอลมา 11:41–45; 40:21–23

การฟื้นคืนชีวิตเป็นการรวมกันถาวรของร่างกายกับวิญญาณ

  • การเปรียบเทียบเป็นวิธีสอนหลักธรรมของพระกิตติคุณที่ได้ผลดี ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน 2 นีไฟ 9:7–15 และ แอลมา 11:41–45 ระบุคำและวลีในข้อเหล่านี้ที่สอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิต ความตายเปรียบกับอะไร จะอธิบายการฟื้นคืนชีวิตว่าอย่างไร เหตุใดเราจึงต้องมีร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิต (ดู ค&พ. 93:33–34ด้วย) สมาชิกชั้นเรียนจะสนทนาว่าพวกเขาจะใช้การเปรียบเทียบเหล่านี้สอนคนบางคนเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตได้อย่างไร ขณะพวกเขาแบ่งปันแนวคิดกับชั้นเรียน ท่านอาจจะสนทนากับพวกเขาว่าเหตุใดพวกเขาจึงเห็นคุณค่าความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต

  • ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเล่าเวลาที่พวกเขารู้สึกขอบพระทัยสำหรับความรู้เรื่องการฟื้นคืนชีวิต ความรู้นั้นจะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราเป็นประจำมากขึ้นได้อย่างไร ท่านอาจจะช่วยสมาชิกชั้นเรียนตอบคำถามนี้โดยเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้า 2 นีไฟ 9:7–15; แอลมา 11:41–45; หรือ แอลมา 40:21–23 และเขียนความจริงที่พวกเขาพบเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตไว้เป็นข้อๆ บนกระดาน จากนั้นท่านอาจจะเขียนประโยคสองประโยคต่อไปนี้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองเป็นเวลาสองสามนาทีก่อนแบ่งปันว่าพวกเขาจะเปรียบเทียบอย่างไร: ถ้าฉันไม่รู้เรื่องเหล่านี้… และ เพราะฉันรู้เรื่องเหล่านี้…

ภาพ
พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนในสวนเกทเสมนี

เกทเสมนี โดย ไมเคิล ที มาล์ม

โมไซยาห์ 3:5–7; 15:5–9; แอลมา 7:11–13

พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุพพลภาพของเราไว้กับพระองค์

  • การไตร่ตรองและสนทนาเรื่องความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเราจะสามารถอัญเชิญพระวิญญาณและการดลใจให้เกิดความรู้สึกรักและกตัญญูต่อพระผู้ช่วยให้รอด เพื่อกระตุ้นให้ไตร่ตรองและสนทนาเรื่องนี้ ท่านอาจจะวาดแผนภูมิไว้บนกระดานคล้ายกับแผนภูมิที่แนะนำไว้ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเปรียบเทียบแผนภูมิโดยใช้ โมไซยาห์ 3:5–7; 15:5–9; และ แอลมา 7:11–13 กับประสบการณ์ของพวกเขาเอง เมื่อพระวิญญาณทรงนำ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเช่นกันว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อพวกเขา

  • เพลงศักดิ์สิทธิ์สามารถอัญเชิญพระวิญญาณและเสริมหลักคำสอนที่ท่านกำลังสอน สมาชิกชั้นเรียนอาจทบทวน โมไซยาห์ 3:5–7; 15:5–9; และ แอลมา 7:11–13 หาและร้องเพลงสวดที่พวกเขารู้สึกว่าตรงกับข่าวสารในข้อเหล่านี้ (ท่านอาจจะให้บางคนร้องหรือเล่นเพลงสวดได้เช่นกัน) ดัชนีพระคัมภีร์ท้ายหนังสือเพลงสวดจะช่วยได้ เพลงสวดเพลงอื่นๆ มีแนะนำไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันวลีจากเพลงสวดและพระคัมภีร์ที่ช่วยให้พวกเขาชื่นชมการเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

อีนัส 1:1–19; โมไซยาห์ 5:1–2; 27:8–28:4; แอลมา 24:7–19

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ชำระเราให้สะอาดและช่วยทำให้เราดีพร้อม

  • วิธีที่ได้ผลวิธีหนึ่งที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการเปลี่ยนชีวิตเราคือศึกษาตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนชีวิตผู้อื่นอย่างไรขณะพวกเขากลับใจและมาหาพระองค์ พระคัมภีร์มอรมอนมีตัวอย่างเช่นนั้นมากมาย ท่านอาจจะมอบหมายให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านตัวอย่างเหล่านี้คนละหนึ่งตัวอย่าง เช่น อีนัส (ดู อีนัส 1:1–19) ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน (ดู โมไซยาห์ 5:1–2) แอลมาผู้บุตร (ดู โมไซยาห์ 27:8–28:4) หรือชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ (ดู แอลมา 24:7–19) หรือพวกเขาอาจจะนึกถึงตัวอย่างอื่นจากพระคัมภีร์ จากนั้นให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนสรุปประสบการณ์ที่พวกเขาอ่าน ชั้นเรียนของท่านอาจจะชอบทำสิ่งนี้โดยให้คำไขที่จะช่วยให้คนอื่นในชั้นเรียนทายว่าพวกเขากำลังพูดถึงใคร พวกเขาอาจจะสนทนาคำถามทำนองนี้ด้วย อาทิ ผู้คนในตัวอย่างเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรคือบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนอาจจะพูดถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงกระทำ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ … ในใจ [พวกเขา]” (โมไซยาห์ 5:2) เพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปลี่ยนเรา—และเหตุใดการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงสำคัญมาก—ท่านอาจจะแบ่งปันเรื่องเปรียบเทียบของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ให้กับชั้นเรียน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน โมไซยาห์ 1–3 ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาไตร่ตรองเวลาที่พวกเขารู้สึกปรารถนาจะชื่นชมยินดีหลังจากอ่านหรือได้ยินข่าวสารพระกิตติคุณ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงที่สามารถชื่นชมยินดีได้ขณะพวกเขาอ่าน โมไซยาห์ 1–3

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

เพลงสวดเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

วีดิทัศน์ของคณะนักร้องประสานเสียงมอรมอนแทเบอร์นาเคิลที่ร้องเพลงสวดเหล่านี้บางเพลงดูได้ที่ ChurchofJesusChrist.org

เรื่องเปรียบเทียบ: เราต้องเป็นมากกว่าสะอาด

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์เล่าเรื่องเปรียบเทียบเพื่ออธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมเราให้พร้อมกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร:

“เรามักคิดว่าผลของการกลับใจเป็นเพียงการชำระเราจากบาป แต่นั่นคือภาพที่ยังไม่สมบูรณ์ … บุคคลที่ทำบาปเป็นเหมือนต้นไม้ลู่ตามลม ในวันที่ฝนตกและมีลมแรง ต้นไม้จะลู่ลงมาติดดินจนใบไม้เลอะโคลน เหมือนบาป ถ้าเรามุ่งแต่จะทำให้ใบสะอาด ความอ่อนแอในต้นไม้ที่ทำให้มันโอนเอนจนใบเลอะดินอาจจะยังอยู่ ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่เพียงแต่เสียใจเพราะบาปทำให้เปรอะเปื้อนจะทำบาปอีกในยามที่มีลมพัดแรงครั้งต่อไป ความอ่อนไหวต่อการทำซ้ำยังคงอยู่จนกว่าจะทำให้ต้นไม้แข็งแกร่ง

“เมื่อบุคคลผ่านกระบวนการอันก่อให้เกิดสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า ‘ใจชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด’ พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำมากกว่าชำระบุคคลนั้นให้สะอาดจากบาป พระองค์จะประทานความเข้มแข็งให้เขาใหม่ การทำให้เข้มแข็งจำเป็นสำหรับเราเพื่อตระหนักถึงจุดประสงค์ของการชำระให้สะอาด ซึ่งคือการกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ เพื่อถูกรับเข้าในที่ประทับของพระองค์ เราต้องเป็นมากกว่าสะอาด เราต้องเปลี่ยนจากคนอ่อนแอทางศีลธรรมที่เคยทำบาปเป็นคนเข้มแข็งที่มีสภาพทางวิญญาณพร้อมอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า” (“การชดใช้และศรัทธา,” เลียโฮนา, เม.ย. 2010, 33–34)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดำเนินชีวิตคู่ควรกับการนำทางของพระวิญญาณ เมื่อท่านดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ท่านย่อมคู่ควรกับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณผู้ทรงเป็นครูที่ดีที่สุด ขณะท่านแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะประทานความคิดและความประทับใจให้ท่านรู้วิธีตอบรับความต้องการของคนที่ท่านสอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 5)