จงตามเรามา
30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์: “พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”


“30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์: ‘พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์กับอัครสาวกของพระองค์

พระคริสต์กับอัครสาวก โดย เดล พาร์สัน

30 มีนาคม–12 เมษายน

อีสเตอร์

“พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”

ในช่วงเวลาก่อนถึงวันอาทิตย์อีสเตอร์ การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวของท่านอาจจะเน้นประจักษ์พยานอันแรงกล้าของพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับพระชนม์ชีพ การสิ้นพระชนม์ การฟื้นคืนพระชนม์ และเดชานุภาพการไถ่ของพระเยซูคริสต์

บันทึกความประทับใจของท่าน

อัครสาวกสมัยโบราณองอาจในประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ผู้คนหลายล้านคนเชื่อในพระเยซูคริสต์และพยายามติดตามพระองค์เพราะถ้อยคำเหล่านั้นที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่บางคนอาจสงสัยว่าถ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคนทั้งโลก แล้วเหตุใดพยานที่เห็นพระองค์จึงมีเพียงไม่กี่คนในภูมิภาคเล็กๆ แห่งหนึ่ง

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานเพิ่มเติมที่ทำให้มั่นใจว่าพระเยซูคริสต์ทรง เป็น พระผู้ช่วยให้รอดของโลก “ทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์แก่ประชาชาติทั้งปวง” (หน้าชื่อเรื่องของพระคัมภีร์มอรมอน) และประทานความรอดให้ทุกคนที่มาหาพระองค์ นอกจากนี้ พยานปากที่สองนี้ให้ความกระจ่างเช่นกันว่าความรอดหมายถึงอะไร นี่คือสาเหตุที่นีไฟ เจคอบ มอรมอน และศาสดาพยากรณ์ทั้งหมดทำงาน “อย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อจารึกถ้อยคำเหล่านี้บนแผ่นจารึก”—เพื่อประกาศต่อคนรุ่นต่อๆ ไปว่าพวกเขา “รู้เรื่องพระคริสต์, และ … มีความหวังในรัศมีภาพของพระองค์” เช่นกัน (เจคอบ 4:3–4) เทศกาลอีสเตอร์ปีนี้ จงใคร่ครวญประจักษ์พยานในพระคัมภีร์มอรมอนที่ว่าเดชานุภาพการชดใช้ของพระคริสต์มีผลกับคนทั้งโลกและแต่ละคน—ไถ่คนทั้งโลกและไถ่ท่าน

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

2 นีไฟ 9:6–15, 22; แอลมา 11:41–45; 40:21–23; 3 นีไฟ 26:4–5

เพราะการพื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิต

การไตร่ตรองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์เป็นประเพณีสืบต่อกันมา แต่จริงๆ แล้วการฟื้นคืนชีวิตหมายความว่าอย่างไร พระคัมภีร์มอรมอนให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต การถือปฏิบัติวันอีสเตอร์ส่วนหนึ่งของท่านน่าจะเป็นการเขียนรายการความจริงเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตที่ท่านพบใน 2 นีไฟ 9:6–15, 22; แอลมา 11:41–45; 40:21–23; และ 3 นีไฟ 26:4–5 ท่านอาจจะบันทึกด้วยว่าท่านคิดว่าเหตุใดการรู้ความจริงแต่ละข้อเหล่านี้จึงสำคัญ

ท่านอาจจะสังเกตเห็นว่าความจริงเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตมักจะสอนควบคู่กับความจริงเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้าย ไตร่ตรองสิ่งที่สอนท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการฟื้นคืนชีวิตในแผนแห่งความรอด

ดู ลูกา 24:36–43; กิจการของอัครทูต 24:15; 1 โครินธ์ 15:12–23 ด้วย

โมไซยาห์ 3:7; 15:5–9; แอลมา 7:11–13

พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุพพลภาพของฉันไว้กับพระองค์

พระคัมภีร์ไบเบิลสอนชัดเจนว่าพระเยซูคริสต์ทรงชดใช้บาปของเรา แต่พระคัมภีร์มอรมอนขยายความเข้าใจของเราในเรื่องการพลีพระชนม์ชีพและการทนทุกข์ของพระคริสต์ในด้านสำคัญๆ ท่านจะพบคำสอนเหล่านี้บางข้อใน โมไซยาห์ 3:7; 15:5–9; และ แอลมา 7:11–13 หลังจากท่านอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ท่านอาจจะบันทึกสิ่งที่ท่านค้นพบลงในแผนภูมิลักษณะนี้

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์อะไร

เหตุใดพระองค์ทรงทนทุกข์

สิ่งนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์อะไร

เหตุใดพระองค์ทรงทนทุกข์

สิ่งนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร

ดู อิสยาห์ 53; ฮีบรู 4:14–16 ด้วย

ภาพ
พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนในสวนเกทเสมนี

เกทเสมนี โดย ไมเคิล ที. มาล์ม

โมไซยาห์ 5:1–2; 27:8–28; แอลมา 15:3–12; 24:7–19

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ชำระฉันให้สะอาดและช่วยทำให้ฉันดีพร้อม

อาจจะกล่าวได้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของคนที่เปลี่ยนแปลงเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ อันที่จริง คนเหล่านั้นบางคนทำบาปอันน่าสลดใจและแม้กระทั่งเป็นศัตรูกับผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าก่อนเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในพวกเขาตามศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระองค์ ท่านสามารถอ่านประสบการณ์บางอย่างเหล่านี้ใน โมไซยาห์ 5:1–2; 27:8–28; และ แอลมา 15:3–12; 24:7–19; ท่านอาจจะศึกษาตัวอย่างอื่นได้เช่นกัน ท่านสังเกตเห็นว่าประสบการณ์แต่ละอย่างนี้มีอะไรเหมือนกัน ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง เรื่องราวเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับวิธีที่การชดใช้ของพระเยซูคริสต์สามารถเปลี่ยนท่านได้

ดู แอลมา 5:6–14; 13:11–12; 18; 19:1–16; 22:1–26; 36:16–21; อีเธอร์ 12:27; โมโรไน 10:32–33

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านฉลองอีสเตอร์กับครอบครัว ให้มองหาวิธีเรียนรู้ด้วยกันเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด การชดใช้ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

3 นีไฟ 1117

บางครอบครัวพบว่าการศึกษาเรื่องราวการเสด็จเยือนอเมริกาของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์มีความหมายเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ กระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้สัมผัสรอยแผลของพระองค์ (ดู 3 นีไฟ 11:14–15) หรือเป็นเด็กคนหนึ่งที่พระองค์ทรงให้พร (ดู 3 นีไฟ 17:21) เรื่องนี้ทำให้เราสำนึกคุณมากขึ้นต่อการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร ภาพวาดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาพร้อมโครงร่างนี้ อีกหลายภาพอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org สมาชิกครอบครัวท่านอาจจะชอบวาดภาพสิ่งที่พวกเขาอ่าน

ข่าวสารจากการประชุมใหญ่สามัญ

ในหลายภูมิภาคของโลก การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายนของปีนี้จะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนอีสเตอร์ การฟังข่าวสารการประชุมใหญ่อาจจะช่วยให้ครอบครัวท่านจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดในช่วงอีสเตอร์ปีนี้ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเชิญชวนให้สมาชิกครอบครัวฟังข่าวสารการประชุมใหญ่ที่เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์—โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอัครสาวกผู้เป็นพยานพิเศษของพระเยซูคริสต์ จากนั้นท่านอาจจะทบทวนข่าวสารเหล่านี้ด้วยกันและระบุคำสอนที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก

อ่าน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” กับครอบครัว ( เลียโฮนา, พ.ค. 2017 ปกหน้าด้านใน; ดู ChurchofJesusChrist.orgด้วย) เชื้อเชิญให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวเลือกข่าวสารอีสเตอร์จากประจักษ์พยานนี้ไปแบ่งปันกับผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะทำโปสเตอร์แสดงบนสื่อสังคม ติดที่ประตูหน้าบ้าน หรือที่หน้าต่าง

วีดิทัศน์: พยานพิเศษของพระคริสต์

ChurchofJesusChrist.org และแอปพลิเคชันคลังค้นคว้ามีชุดวีดิทัศน์เรียกว่า Special Witnesses of Christ ซึ่งจะมีวีดิทัศน์ของสมาชิกแต่ละท่านในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์รวมอยู่ด้วย ครอบครัวท่านอาจจะดูวีดิทัศน์เหล่านี้หนึ่งเรื่องหรือมากกว่านั้นและสนทนาว่าวีดิทัศน์ดังกล่าวสอนอะไรเราเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเรา

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านทำได้ในฐานะบิดามารดาคือดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณด้วยสุดใจของท่าน นี่เป็นวิธีดีที่สุดที่จะทำให้มีคุณสมบัติคู่ควรรับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านไม่จำเป็นต้องดีพร้อม แค่เพียรพยายามทำส่วนของท่านให้ดีที่สุดและแสวงหาการให้อภัยผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 13–14)

ภาพ
พระคริสต์ทรงทักทายชาวนีไฟ

ภาพประกอบพระคริสต์กับชาวนีไฟ โดย เบ็น เซาเวิร์ดส์