จงตามเรามา
13–19 เมษายน โมไซยาห์ 1–3: “เปี่ยมด้วยความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง”


“13–19 เมษายน โมไซยาห์ 1–3: ‘เปี่ยมด้วยความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“13–19 เมษายน โมไซยาห์ 1–3” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
กษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขา

มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต (1888–1976), คำปราศรัยอำลาของกษัตริย์เบ็นจามิน 1935, สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัดขนาด 36 x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์

13–19 เมษายน

โมไซยาห์ 1–3

“เปี่ยมด้วยความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง”

มีหลักธรรมมากมายใน โมไซยาห์ 1–3 ที่ท่านอาจจะสนทนากับชั้นเรียนของท่าน สวดอ้อนวอนขอการนำทางให้รู้ว่าหลักธรรมใดจะมีความหมายต่อคนที่ท่านสอนมากที่สุด

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกชั้นเรียนพูดคุยเกี่ยวกับการศึกษา โมไซยาห์ 1–3 เป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัวของพวกเขา ให้พวกเขาแบ่งปันกันหนึ่งข้อที่พวกเขาพบว่าสร้างแรงบันดาลใจ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โมไซยาห์ 2:1–9

การได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเรียกร้องการเตรียมพร้อม

  • วิธีหนึ่งที่จะเริ่มสนทนาเรื่องการเตรียมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าคือพูดคุยเกี่ยวกับผลของการเตรียม—หรือไม่เตรียม—รับสิ่งอื่น ตัวอย่างเช่น สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ว่าการเตรียมหรือไม่เตรียมส่งผลอย่างไรต่อประสบการณ์ของพวกเขาที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือกิจกรรมบางอย่าง หลังจากพวกเขาแบ่งปัน ท่านอาจจะเชิญนักเรียนครึ่งชั้นอ่าน โมไซยาห์ 2:1–9 โดยมองหาสิ่งที่ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินทำเพื่อเตรียมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า อีกครึ่งชั้นค้นคว้าข้อเดียวกัน โดยมองหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและความจำเป็นของการแบ่งปันพระวจนะ จากนั้นขอให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันแนวคิดของพวกเขา เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้ที่จะช่วยให้เราได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

โมไซยาห์ 2:10–26

เมื่อเรารับใช้ผู้อื่นเท่ากับเรากำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้า

  • กษัตริย์เบ็นจามินเป็นแบบอย่างของผู้รับใช้พระผู้เป็นเจ้าและคนรอบข้าง สมาชิกชั้นเรียนสามารถเรียนรู้อะไรจากเขาที่จะช่วยพวกเขาขณะพยายามรับใช้ผู้อื่น ท่านอาจจะเริ่มการสนทนาโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนอุปสรรคที่ผู้คนประสบในการรับใช้ผู้อื่น—เช่น เหตุผลที่เราไม่รับใช้หรือเหตุผลที่การรับใช้ของเราไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร จากนั้นพวกเขาอาจจะศึกษา โมไซยาห์ 2:10–26 และเขียนรายการความจริงที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนเกี่ยวกับการรับใช้ผู้อื่นที่จะช่วยให้พวกเขาเอาชนะอุปสรรคที่เขียนไว้ บุคคลและครอบครัวจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมุ่งเน้นการรับใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ท่านอาจแบ่งปันเรื่องที่เล่าโดยประธานโธมัส เอส. มอนสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อเป็นข้อเสนอแนะ

  • เพลงสวดเช่น “ชายเศร้าโศกยากจนผู้ท่องไป” (เพลงสวด บทเพลงที่ 16) หรือวีดิทัศน์เช่น “The Old Shoemaker” (ChurchofJesusChrist.org) จะช่วยเสริมข่าวสารที่พบใน โมไซยาห์ 2:17—เมื่อเรารับใช้ผู้อื่นเท่ากับเรากำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ท่านจะใช้แหล่งข้อมูลเช่นนั้นเสริมข่าวสารของกษัตริย์เบ็นจามินได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยรับใช้ผู้อื่นหรือได้รับการรับใช้เฉกเช่นพระคริสต์จากบางคน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้ท่านอาจแบ่งปันข้อความอ้างอิงนี้จากประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ “เมื่อเราให้ความช่วยเหลือใครก็ตาม พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกประหนึ่งเราเอื้อมออกไปช่วยเหลือพระองค์” (“เราเลือกการอดอาหารอย่างนี้ไม่ใช่หรือ?เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 22) ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น

ภาพ
สตรีสองคนสวมกอดกัน

การรับใช้ผู้อื่นช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า

โมไซยาห์ 2:38–41

ความสุขมาจากการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียน “พิจารณาถึงสภาพอันเป็นพรและความสุขของคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” การเริ่มด้วยนิยามของความสุขอาจจะช่วยได้ สมาชิกชั้นเรียนจะพูดถึงความสุขที่มาจากการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างไร พวกเขาอาจจะสมมติว่าพวกเขามีเพื่อนคนหนึ่งที่พูดว่าเขามีความสุขโดยไม่ต้องรักษาพระบัญญัติ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน โมไซยาห์ 2:38–41 และสนทนาว่าพวกเขาจะช่วยให้เพื่อนคนนั้นเข้าใจความแตกต่างระหว่างความสุขทางโลกกับความสุขนิรันดร์ได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนสามารถแบ่งปันประสบการณ์หรือตัวอย่างอะไรได้บ้างจากชีวิตผู้คนที่แสดงตัวอย่างของความสุขนิรันดร์

โมไซยาห์ 3:1–20

ความรอดมา “โดยผ่านพระนามของพระคริสต์, พระเจ้า” เท่านั้น

  • ข่าวสารของกษัตริย์เบ็นจามินรวมถึงคำพยากรณ์เชิงพรรณนาอันเปี่ยมด้วยพลังเกี่ยวกับการประสูติ การปฏิบัติศาสนกิจ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อต่างๆ จาก โมไซยาห์ 3:1–20 ที่พวกเขาประทับใจเป็นพิเศษและช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์ ขอให้พวกเขาแบ่งปันว่าเหตุใดจึงประทับใจข้อเหล่านี้

  • คำนำพระคัมภีร์มอรมอน สอนว่าพระคัมภีร์เล่มนี้ “วางแนวทางแผนแห่งความรอด” เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นว่าโอวาทของกษัตริย์เบ็นจามินช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของพระคัมภีร์มอรมอนอย่างไร ท่านอาจจะเขียนบนกระดานว่า พระเยซูคริสต์ทรงทำให้ความรอดเกิดขึ้นได้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะทบทวน โมไซยาห์ 3:1–20 จากนั้นท่านหรือพวกเขาจะเขียนความจริงที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับแผนแห่งความรอดไว้บนกระดาน ถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงทำให้แผนแห่งความรอดเกิดขึ้นได้ จากนั้นให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนทบทวน โมไซยาห์ 3:18–19 และแบ่งปันสิ่งที่เราต้องทำเพื่อกลับเป็นวิสุทธิชนและได้รับความรอด การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ช่วยให้เราบรรลุสิ่งนี้อย่างไร ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในแผนแห่งความรอด

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกชั้นเรียนเคยมีประสบการณ์เมื่อหลักคำสอนที่สอนในคำพูด บทเรียน หรือพระคัมภีร์เปลี่ยนพวกเขาหรือไม่ บอกพวกเขาว่าใน โมไซยาห์ 4–6 พวกเขาจะอ่านเกี่ยวกับผลอันน่าทึ่งที่ความจริงซึ่งกษัตริย์เบ็นจามินสอนมีผลต่อผู้คนของเขา

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

การรับใช้ผู้อื่น

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า

“เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ข้าพเจ้าอ่านบทความที่นายแพทย์ แมคคอนเนลล์เขียนไว้ เขาเติบโตในบริเวณเนินเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐโดยที่เป็นบุตรคนหนึ่งในเจ็ดคนของนักเทศน์นิกายเมโธดิสต์กับคุณแม่ซึ่งเป็นแม่บ้าน สถานภาพของครอบครัวยากจน เขาเล่าเรื่องราวสมัยเป็นเด็กว่าทุกวันเมื่อครอบครัวนั่งรอบโต๊ะอาหารเย็น คุณพ่อจะถามลูกทีละคนว่า ‘วันนี้ลูกทำอะไรให้ใครบ้าง’ ลูกๆ ตั้งใจทำความดีทุกวันเพราะพวกเขาสามารถรายงานกับคุณพ่อว่าพวกเขาได้ช่วยเหลือใคร ดร.  แมคคอนเนลล์เรียกกิจกรรมนี้ว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของคุณพ่อ เพราะความคาดหวัง นั้น และคำพูด เหล่านั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เขากับพี่น้องช่วยเหลือผู้อื่นตลอดชีวิต ขณะที่พวกเขาเติบใหญ่ แรงบันดาลใจในการรับใช้เปลี่ยนเป็นความปรารถนาภายในที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

“นอกจาก อาชีพแพทย์ที่โด่งดังของดร. แมคคอนเนลล์แล้ว … เขาตั้งองค์กรหนึ่งที่เขาเรียกว่าอาสาสมัครทางการแพทย์ ซึ่งเปิดโอกาสให้แพทย์ที่เกษียณอายุมาเป็นอาสาสมัครที่คลินิกเพื่อช่วยแรงงานที่ไม่มีประกันสุขภาพโดยไม่คิดค่าบริการ ดร.  แมคคอนเนลล์กล่าวว่าเวลาว่างนับตั้งแต่เขาเกษียณได้ ‘สละให้ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กับงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่พละกำลัง [ของเขา] เพิ่มขึ้น และมีความพึงพอใจในชีวิต [ของเขา] อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน’ [Jack McConnell, “And What Did You Do for Someone Today?” Newsweek, June 18, 2001, 13.] …

“แน่นอน เราทุกคนไม่สามารถเป็นนายแพทย์แมคคอนเนลล์ ที่จะจัดตั้งคลินิกแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการของผู้อื่นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราทุกคนสามารถทำบางอย่างเพื่อช่วยใครสักคน …

“พี่น้องทั้งหลาย มีผู้ต้องการความเอาใจใส่ กำลังใจ ความช่วยเหลือ การปลอบโยน ความเมตตาอยู่รายรอบเรา—ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือคนแปลกหน้า เราคือพระหัตถ์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกโดยมีพระบัญชาให้รับใช้และให้กำลังใจบุตรธิดาของพระองค์ พระองค์ทรงพึ่งพาเราทุกคน … ขอให้เราถามตัวเราด้วยคำถามเดียวกันกับที่ดร. แจ๊ค แมคคอนเนลล์กับพี่น้องของเขาได้รับที่โต๊ะอาหารเย็นทุกวันว่า ‘วันนี้ฉันทำอะไรให้ใครบ้าง’” (“วันนี้ฉันทำอะไรให้ใครบ้างเลียโฮนา, พ.ย. 2009, 103–106)

ปรับปรุงการสอนของเรา

จงเป็นเครื่องมือของพระวิญญาณ จุดประสงค์ของท่านในฐานะครูไม่ใช่ทำการนำเสนอแต่ช่วยให้ผู้อื่นได้รับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์—ครูตัวจริง (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 10)