หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
30 สิงหาคม–5 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 94–97: “เพื่อความรอดของไซอัน”


“30 สิงหาคม–5 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 94–97: ‘เพื่อความรอดของไซอัน’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“30 สิงหาคม–5 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 94–97” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021

ภาพ
พระวิหารเคิร์ทแลนด์

พระวิหารเคิร์ทแลนด์ โดย อัล ราวด์ส

30 สิงหาคม–5 กันยายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 94–97

“เพื่อความรอดของไซอัน”

แสวงหาการดลใจให้รู้ว่าจะเน้นหลักธรรมใดจาก ภาค 94–97 ขณะที่ท่านสอน ท่านสามารถปรับแนวคิดให้เหมาะกับเด็กเล็กขณะที่ท่านสอนเด็กโตและปรับให้เหมาะกับเด็กโตขณะที่ท่านสอนเด็กเล็ก

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เด็กดูภาพพระวิหารและขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระวิหาร พวกเขาจะพูดคุยกันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นพระวิหาร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:8; 97:15–16

พระวิหารเป็นบ้านของพระเจ้า

แม้แต่เด็กในเคิร์ทแลนด์ก็ช่วยสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ในวิธีเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมาย ช่วยให้เด็กที่ท่านสอนรักพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพพระวิหารเคิร์ทแลนด์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ใช้วลีต่างๆ จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:8 สอนเด็กเกี่ยวกับพระบัญชาของพระเจ้าให้สร้างพระวิหารแห่งนี้ ให้เด็กผลัดกันถือภาพและพูดว่า “พระวิหารเป็นบ้านของพระเจ้า”

    ภาพ
    พระวิหารเคิร์ทแลนด์

    วิสุทธิชนสร้างพระวิหารเพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

  • บอกเด็กว่าบนพระวิหารทุกแห่งจะมีคำจารึกว่า “ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า พระนิเวศน์ของพระเจ้า” หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้พวกเขาดูภาพของคำเหล่านี้บนพระวิหาร เหตุใดพระวิหารจึงเป็นสถานที่พิเศษ? อ่านวลีต่างๆ จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:15–16 ที่สอนเกี่ยวกับการที่พระวิหารเป็นบ้านของพระเจ้า และแบ่งปันความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระวิหาร

  • เชื้อเชิญให้เด็กทำท่ากำลังช่วยสร้างพระวิหาร (ตัดไม้ ตอกตะปู ทาสีผนัง และอื่นๆ) อธิบายว่าพระวิหารสำคัญเพียงใดต่อพระเจ้า วิสุทธิชนทำงานหนักเพียงใดเพื่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ และพวกเขาเสียสละเพื่อพระวิหารมากเพียงใด (ดู Saints, 1:210)

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกเคารพบ้านของพระเจ้า เช่น “ฉันชอบมองดูพระวิหาร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99) ให้เด็กแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระวิหาร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:8

ฉันสามารถซื่อสัตย์

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:8 พระเจ้าทรงระบุว่าความซื่อสัตย์เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของคนที่ได้รับการ “ยอมรับจากเรา”

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายให้เด็กฟังว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสอนว่าเมื่อเราซื่อสัตย์ พระองค์ทรงยอมรับเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:8) เล่าเรื่องสั้นๆ ให้เด็กฟังสองสามเรื่องที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจความหมายของการเป็นคนซื่อสัตย์ เรื่องเหล่านี้อาจจะมาจากชีวิตท่านเอง จากชีวิตคนที่ท่านรู้จัก หรือจาก เพื่อนเด็ก หรือ เลียโฮนา ช่วยเด็กเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ท่านฟังอีกครั้งหรือเล่าประสบการณ์กับความซื่อสัตย์จากชีวิตพวกเขาเอง

  • ช่วยให้เด็กเรียนรู้ประโยคแรกของหลักแห่งความเชื่อข้อสิบสาม “เราเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์” ช่วยพวกเขาทำท่าประกอบตัวอย่างของการเป็นคนซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์ ตัวอย่างเช่น เด็กจะทำท่าแย่งของจากน้องและบอกพ่อแม่ว่าพวกเขาไม่ได้แย่ง จากนั้นช่วยเด็กทำท่าประกอบเหตุการณ์เดียวกันที่พวกเขาบอกความจริงกับพ่อแม่ อธิบายว่านี่คือความซื่อสัตย์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:1–3, 8, 11–17; 97:10–17

พระวิหารเป็นบ้านของพระเจ้า

ไตร่ตรองว่าท่านจะใช้ข้อเหล่านี้ช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าพระวิหารสำคัญต่อพระเจ้าเพียงใด—และพระวิหารควรสำคัญต่อเราทุกคนเพียงใด

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กพูดถึงเวลาที่พวกเขาควรจะทำบางอย่างแต่ไม่ทำทันที ช่วยเด็กคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:3, 8 และถามเด็กๆ ว่าพระบัญญัติข้อใดที่พระเจ้าตรัสว่าวิสุทธิชนไม่ได้เชื่อฟัง อ่าน ข้อ 11 ด้วยกัน วิสุทธิชนต้องทำอะไรจึงจะสร้างพระวิหารได้? เราได้เรียนรู้อะไรจากสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับพวกเขา?

  • เขียนหลักธรรมต่างๆ เกี่ยวกับพระวิหารตามที่พบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 95 และ 97 ไว้บนการ์ดพร้อมกับพระคัมภีร์อ้างอิงที่สอดคล้องกัน และนำการ์ดใส่ถุง ตัวอย่างเช่น: การสร้างพระวิหารเรียกร้องการเสียสละ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:11–12) และ เราต้องมีค่าควรจึงจะเข้าพระวิหารได้ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:15–17) แบ่งเด็กเป็นคู่ๆ ให้แต่ละคู่หยิบการ์ดหนึ่งใบจากถุงแล้วอ่านพระคัมภีร์บนการ์ดด้วยกัน และพูดคุยกันว่าหลักธรรมนั้นมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่กำลังอ่านเมื่อจำเป็น

  • เชิญเยาวชนคนหนึ่งจากวอร์ดหรือสาขาของท่านที่เคยไปพระวิหารมาเล่าประสบการณ์และบอกเด็กๆ ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมไปพระวิหาร

  • ใช้บทความ “เส้นทางของท่านสู่พระวิหาร” (ใน พระวิหารของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย [ เลียโฮนา ฉบับพิเศษ ต.ค. 2010], 72–75) เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในพระวิหารและพวกเขาจะเตรียมพร้อมได้อย่างไร ท่านอาจจะให้เด็กอ่านบทความคนละหัวข้อและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

  • ให้ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Two Apostles Lead a Virtual Tour of the Rome Italy Temple” (ChurchofJesusChrist.org) และเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการไปพระวิหารในวันหน้า

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับพระวิหาร เช่น “ฉันชอบมองดูพระวิหาร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99) วลีใดในเพลงนี้สอนให้เรารู้ว่าเหตุใดพระวิหารจึงศักดิ์สิทธิ์?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:1–2, 8–9, 21

ไซอันคือ “ผู้มีใจบริสุทธิ์”

ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าไซอันไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือ “ผู้มีใจบริสุทธิ์” ด้วย (หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:21)

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:21 และถามพวกเขาว่า “บริสุทธิ์” หมายถึงอะไร เพื่ออธิบายคำนี้ ให้พวกเขาดูแก้วน้ำสะอาด และสนทนาว่าเหตุใดการมีน้ำสะอาดจึงสำคัญ เติมบางอย่างลงในน้ำที่ทำให้น้ำไม่บริสุทธิ์ (เช่น ดินหรือพริกไทย) เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:21 อีกครั้งและวางนิ้วของพวกเขาบนคำว่า “บริสุทธิ์” ใจเราบริสุทธิ์หมายความว่าอย่างไร? ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการมีใจบริสุทธิ์ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำผิดพลาด เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีใจบริสุทธิ์มากขึ้น? พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเราอย่างไร?

  • ช่วยเด็กค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:1–2, 8–9, 21 โดยมองหาคำหรือวลีที่บอกวิธีมีใจบริสุทธิ์ ขอให้พวกเขาเลือกหนึ่งคำหรือหนึ่งวลี เขียนลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ และใส่ไว้ในภาชนะ หยิบมาทีละแผ่น และขอให้เด็กเสนอสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อใช้แนวคิดนั้นในชีวิตพวกเขา ตัวอย่างเช่น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อ “พบความจริง” (ข้อ 1) หรือ “ซื่อสัตย์” มากขึ้น (ข้อ 8)?

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้แบ่งปันกับครอบครัวว่าวันนี้พวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระวิหาร

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้เด็กถามคำถาม “พยายามมองคำถามของ [เด็ก] เป็นโอกาส ไม่ใช่สิ่งรบกวนหรืออุปสรรคต่อบทเรียนของท่าน … คำถามเช่นนั้นจะให้ข้อคิดที่มีค่าแก่ท่านว่าเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ พวกเขากังวลเรื่องอะไร และพวกเขาตอบรับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้อย่างไร ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าคำตอบต่อคำถามของพวกเขาจะพบได้ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)