จงตามเรามา
21–27 กันยายน 3 นีไฟ 12–16: “เราคือกฎ, และแสงสว่าง”


“21–27 กันยายน 3 นีไฟ 12–16: ‘เราคือกฎ, และแสงสว่าง’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“21–27 กันยายน 3 นีไฟ 12–16” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงระบุชื่ออัครสาวกสิบสอง

สามนีไฟ: เราได้เลือกสิบสองคนนี้ โดย แกรีย์ แอล. เคพพ์

21–27 กันยายน

3 นีไฟ 12–16

“เราคือกฎ, และแสงสว่าง”

ขณะที่ท่านศึกษา 3 นีไฟ 12–16 ให้มองหาความจริงซึ่งจะมีความหมายต่อเด็กที่ท่านสอน โครงร่างนี้นำเสนอความจริงบางประการ แต่พระวิญญาณอาจทรงแสดงให้ท่านเห็นความจริงอื่น

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ส่งภาพพระเยซูเวียนไปรอบๆ ให้เด็กผลัดกันถือภาพและบอกหนึ่งอย่างที่พระเยซูทรงสอน เช่นบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้ที่บ้านสัปดาห์นี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

3 นีไฟ 12:14–16

ฉันสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้อื่น

บางครั้งเด็กอาจจะไม่ตระหนักว่าแบบอย่างของพวกเขาเป็นพรแก่ผู้อื่นได้มากเพียงใด ใช้ข้อเหล่านี้กระตุ้นให้พวกเขาเป็นแสงสว่าง

กิจกรรมที่ทำได้

  • บอกเด็กว่า 3 นีไฟ 12:14–16 เกี่ยวข้องกับพวกเขา และอ่านออกเสียง เมื่อใดก็ตามที่ท่านอ่าน “เจ้า” หรือ “ของเจ้า” ให้ชี้ไปที่เด็กและขอให้พวกเขาชี้ที่ตัวเอง

  • ให้เด็กดูไฟฉายและเชิญเด็กคนหนึ่งเปิดไฟฉาย อธิบายว่าเมื่อเราติดตามพระผู้ช่วยให้รอด ก็เหมือนเราเปิดไฟฉายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นติดตามพระองค์ด้วย จากนั้นให้คลุมหรือซ่อนไฟฉาย และขอให้เด็กบอกบางอย่างที่พวกเขาทำได้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนอื่นๆ แต่ละครั้งที่บอก ให้พวกเขาเอาที่คลุมไฟฉายออก (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ด้วย)

  • ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงที่กระตุ้นให้เด็กส่องสว่างเหมือนไฟ เช่น “ส่องไป” หรือ “ฉันเป็นเหมือนดวงดาว” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 96, 84) บอกเด็กเกี่ยวกับแสงสว่างที่ท่านมองเห็นในพวกเขาเมื่อพวกเขาทำ “งานดี” และอธิบายว่าแสงสว่างและแบบอย่างของพวกเขาช่วยเหลือผู้อื่นและสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านทำงานดีเช่นกันอย่างไร

3 นีไฟ 14:7

พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของฉัน

ข้อนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขณะที่ท่านอ่าน 3 นีไฟ 14:7 เชื้อเชิญให้เด็กทำท่าทางที่หมายถึงพระดำรัสเชื้อเชิญแต่ละอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อนี้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะยกมือ (ขอ) เอามือป้องตา (หา) หรือทำท่าเคาะ (เคาะ) ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทูลและขอในคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา อธิบายว่าเราสามารถทูลทุกอย่างกับพระบิดาบนสวรรค์และพระองค์จะทรงฟังเพราะทรงรักเรา

  • เชื้อเชิญให้เด็กแสดงให้ดูว่าพวกเขาทำอะไรกับมือ ตา และศีรษะเมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอน ใช้เพลงช่วย เช่นเพลง “เราน้อมศีรษะ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 18b) เรากำลังพูดกับใครเมื่อเราสวดอ้อนวอน แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเรา

3 นีไฟ 14:24–27

พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ฉันได้ยินและทำสิ่งที่พระองค์ทรงสอน

ได้ยินพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้นไม่พอ เฉพาะคนที่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์เท่านั้นจึงจะต้านพายุของชีวิตได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • ร้องเพลง “คนมีปัญญาและคนโง่” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 132) ด้วยกัน หรืออ่าน 3 นีไฟ 14:24–27 ช่วยเด็กใส่ชื่อตนเองแทน “คนฉลาด” ขณะพวกเขาร้องเพลง เหตุใดบ้านของคนมีปัญญาจึงตั้งมั่นคงในช่วงเกิดพายุ ทบทวน ข้อ 24 เพื่อเน้นว่าเขาทั้งได้ยินและทำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส

  • ให้เด็กดูก้อนหินและทราย ขอให้พวกเขาชี้ไปที่ก้อนหินเมื่อท่านพูดถึงการเลือกทำตามพระผู้ช่วยให้รอดและชี้ไปที่ทรายเมื่อท่านพูดถึงการเลือกไม่ทำตามพระองค์ เป็นพยานว่าเมื่อเราทำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส เราจะแข็งแกร่งเหมือนบ้านที่สร้างบนศิลา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

3 นีไฟ 12:6

ฉันควรหิวและกระหายความชอบธรรม

ทุกคนสามารถเข้าใจถึงความหิวและความกระหาย พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงความรู้สึกเหล่านี้เพื่อสอนเราว่าเราควรรู้สึกอย่างไรกับการแสวงหาความชอบธรรม

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กคนหนึ่งทำท่ากินหรือดื่มโดยไม่ให้เด็กคนอื่นได้ยิน และให้พวกเขาทายว่าเด็กคนนั้นกำลังทำอะไร เรารู้สึกอย่างไรเมื่อได้กินอาหารดีๆ หรือดื่มน้ำสะอาด เราบำรุงเลี้ยงวิญญาณของเราอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน 3 นีไฟ 12:6 เพื่อหาดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เรา “หิวและกระหาย” อะไร เราแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเราต้องการความชอบธรรมมากเท่าๆ กับเราต้องการอาหารและเครื่องดื่ม

  • นำภาพอาหารและเครื่องดื่มมาติดพระคัมภีร์อ้างอิงเช่น สดุดี 119:103; ยอห์น 6:35; 2 นีไฟ 32:3; อีนัส 1:4; หรือ 3 นีไฟ 20:8 ไว้ที่ภาพแต่ละภาพ ขอให้เด็กอ่านและอธิบายว่าข้อเหล่านั้นสอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้เพื่อแสดงว่าเราหิวและกระหายความชอบธรรม แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งท่านเคยรู้สึก “เปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณ” และเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

3 นีไฟ 13:1–8, 16–18

ฉันควรทำสิ่งดีด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

ข้อเหล่านี้บ่งบอกว่างานดีเท่านั้นไม่พอ—งานของเราต้องมีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาจะรับใช้พระองค์เป็นแรงบันดาลใจด้วย

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กแต่ละคนค้นคว้า 3 นีไฟ 13:1–4, 5–8 หรือ 16–18 และระบุงานดีที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ (อธิบายว่าการทำ “ทาน” หมายถึงการบริจาคให้คนจน) เหตุใดพระผู้ช่วยตรัสว่าอย่าเป็นเหมือนคนบางคนที่ทำสิ่งเหล่านี้

  • แจกแถบกระดาษที่เขียนความประพฤติชอบธรรมอย่างหนึ่งในนั้นให้เด็กคนละแผ่น (หรือให้พวกเขาคิดตัวอย่างเอง) ขอให้พวกเขานึกถึงเหตุผลที่ดีและไม่ดีสำหรับการทำสิ่งเหล่านั้น กระตุ้นให้พวกเขาทำสิ่งดีด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเสมอ

3 นีไฟ 14:21–27; 15:1

ความปลอดภัยทางวิญญาณมาจากการได้ยินและทำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน

“ฝน” และ “น้ำท่วม” เกิดกับเราทุกคนในชีวิต แต่เราจะรอดพ้นจากการทดลองถ้าเราทั้งได้ยินและทำสิ่งที่พระเยซูทรงสอน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ชั้นเรียนอ่าน 3 นีไฟ 14:21–27 และ 15:1 ขอให้เด็กยืนขึ้นทุกครั้งที่ท่านอ่านคำว่า “ทำ” เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นให้ทำตามพระดำรัสของพระองค์ ไม่เพียงได้ยินหรือจดจำเท่านั้น เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพของ ข้อ 24–25 และเขียนบนก้อนหินว่า “พระเยซู” และบางสิ่งที่พระเยซูทรงสอนให้ทำ ร้องเพลง “คนมีปัญญาและคนโง่” ด้วยกัน (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 132)

  • เชื้อเชิญให้เด็กยืนขึ้นและขอให้พวกเขาสมมติว่าขาข้างหนึ่งแทนการได้ยินพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดและขาอีกข้างหนึ่งแทนการทำตามพระวจนะ ให้พวกเขายกขา “ทำ” และทรงตัวบนขา “ได้ยิน” จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลมแรงพัดเข้ามาในห้อง ใช้ตัวอย่างนี้อธิบายว่าเหตุใดการ ทำ สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส ไม่ใช่แค่ได้ยินจึงปลอดภัยกว่า

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กเลือกหนึ่งอย่างที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระเยซูวันนี้และตัดสินใจว่าพวกเขาจะทำตามนั้นอย่างไร การกระทำของพวกเขาจะช่วยให้พวกเขาเป็นแสงสว่างสำหรับครอบครัวและเพื่อนๆ อย่างไร

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ตรงกับความต้องการ อย่ามองว่าโครงร่างเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ต้องทำตาม แต่จงใช้เป็นแหล่งแนวคิดเพื่อให้เกิดการดลใจของท่านเองขณะไตร่ตรองความต้องการของเด็กที่ท่านสอน ในบางกรณีท่านอาจจะรู้สึกได้รับการดลใจให้ปรับกิจกรรมสำหรับเด็กเล็กเพื่อสอนเด็กโต หรือปรับกิจกรรมสำหรับเด็กโตเพื่อสอนเด็กเล็ก