จงตามเรามา
7–13 กันยายน 3 นีไฟ 1–7: “จงเงยหน้าของเจ้าและรื่นเริงเถิด”


“7–13 กันยายน 3 นีไฟ 1–7: ‘จงเงยหน้าของเจ้าและรื่นเริงเถิด’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“7–13 กันยายน 3 นีไฟ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
ชาวนีไฟเห็นวันที่ไม่มีกลางคืน

หนึ่งวัน หนึ่งคืน กับหนึ่งวัน โดย จอร์จ ค็อคโค

7–13 กันยายน

3 นีไฟ 1–7

“จงเงยหน้าของเจ้าและรื่นเริงเถิด”

ถ้าท่านต้องการแนวคิดเพิ่มเติมขณะเตรียมสอน ให้ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็ก” และ “การตอบรับความต้องการของเด็กเล็ก” ตอนต้นหนังสือเล่มนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจำได้จากการเรียนรู้เมื่อสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับเครื่องหมายที่แซมิวเอลชาวเลมันกล่าวว่าจะช่วยให้ผู้คนรู้ว่าพระเยซูประสูติ บอกเด็กว่าวันนี้พวกเขาจะพูดถึงคนที่เห็นเครื่องหมายเหล่านั้นเกิดขึ้น

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

3 นีไฟ 1:4–15, 19–21

ดาวดวงใหม่ปรากฏเมื่อพระเยซูประสูติ

เรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดในพันธสัญญาใหม่เป็นเรื่องที่รู้จักกันดี แม้แต่เด็กๆ ก็รู้ สัปดาห์นี้เป็นโอกาสเหมาะที่จะสอนเด็กในชั้นของท่านเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่ชาวนีไฟเห็นเมื่อพระเยซูประสูติ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ก่อนชั้นเรียนให้ติดดาวดวงหนึ่งไว้บนผนัง ให้เด็กมองหาบางอย่างบนผนังที่โดยปกติไม่อยู่ที่นั่น บอกเด็กว่าชาวนีไฟเห็นดาวดวงใหม่บนท้องฟ้าเมื่อพระเยซูประสูติ สรุปเรื่องราวใน 3 นีไฟ 1:4–15 และ 19–21 ท่านจะใช้ “บทที่ 41: เครื่องหมายแห่งการประสูติของพระคริสต์” ได้เช่นกัน (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 114–116 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org)

  • ให้เด็กดูภาพการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 30) และร้องเพลงคริสต์มาสเพลงหนึ่ง เช่น “เพลงประสูติกาล” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 32–33) ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าชาวนีไฟอยู่ห่างจากที่พระเยซูประสูติ แต่พวกเขารู้ว่าพระองค์ประสูติเพราะเครื่องหมายที่พวกเขาเห็น เป็นพยานว่าแม้เราไม่เห็นการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้เรารู้ได้ว่าเรื่องดังกล่าวในพระคัมภีร์เป็นความจริง

3 นีไฟ 1:20

ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ

พระเจ้ารับสั่งกับนีไฟว่า “[เราจะ] แสดงแก่โลกว่าเราจะทำให้ทุกสิ่งซึ่งเราให้ปากของศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์ของเราพูดไว้เกิดสัมฤทธิผล” (3 นีไฟ 1:13)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพที่แสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์อย่างไร เช่น โนอาห์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 78; ดู ปฐมกาล 6–7) และแซมิวเอลชาวเลมัน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 81; ดู ฮีลามัน 14:1–7) เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

  • อ่าน 3 นีไฟ 1:20 ให้เด็กฟัง และแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ เชื้อเชิญให้เด็กฟังศาสดาพยากรณ์ที่การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป

3 นีไฟ 5:13

ฉันสามารถทำตามพระเยซูคริสต์

มอรมอนประกาศว่า “ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” ท่านจะช่วยให้เด็กเห็นได้อย่างไรว่าพวกเขาเองก็เป็นสานุศิษย์เช่นกัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 3 นีไฟ 5:13 และเชื้อเชิญให้เด็กพูดทวนวลี “ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” สอนพวกเขาว่าสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์พยายามทำตามพระองค์ แบ่งปันบางอย่างที่มอรมอนทำเพื่อเป็นเหมือนพระเยซู เช่น สอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 3 นีไฟ 5:13–18) ช่วยเด็กคิดหาวิธีที่พวกเขาจะเป็นสานุศิษย์

  • ลากเส้นตามรอยมือของพวกเขาลงบนแผ่นกระดาษและตัดออกมา เขียน “ฉันเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” ไว้ด้านหนึ่ง และให้พวกเขาวาดสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อเป็นสานุศิษย์ไว้อีกด้านหนึ่ง (ท่านอาจจะต้องช่วยพวกเขาคิด) ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับการทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41)

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

3 นีไฟ 1:4–21

คำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ

เรื่องราวใน 3 นีไฟ 1:4–21 จะช่วยสร้างศรัทธาของเด็กว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักษาสัญญาของพระองค์เสมอ

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กเปรียบเทียบคำพยากรณ์ของแซมิวเอลชาวเลมันใน ฮีลามัน 14:1–7 กับสัมฤทธิผลใน 3 นีไฟ 1:19–21 เป็นพยานว่าคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ

  • อ่านเรื่องราวที่พบใน 3 นีไฟ 1:4–10 กับเด็กๆ ถามเด็กว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าเป็นผู้เชื่อคนหนึ่งที่อยู่ในเวลานั้น เชื้อเชิญให้เด็กอ่านเรื่องราวที่เหลือใน ข้อ 11–15 และเสนอวิธีเติมประโยค “บทเรียนจากเรื่องนี้คือ …” ให้สมบูรณ์ เราจะแสดงความวางใจในพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรเมื่อเรากังวลหรือท้อถอย

  • แบ่งปันบางอย่างที่ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่สัญญากับเรา เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงศรัทธาว่าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์มาจากพระผู้เป็นเจ้า

3 นีไฟ 2:11–12; 3:13–14, 24–26

เราเข้มแข็งขึ้นเมื่อเรารวมตัวกัน

ชาวนีไฟต้องรวมตัวกันเพื่อความปลอดภัยทางกาย ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าการรวมตัวกับเพื่อนที่ชอบธรรมจะให้พลังทางวิญญาณแก่พวกเขาเช่นกัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านข้อต่อไปนี้กับเด็ก เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาเหตุผลที่ชาวนีไฟรวมตัวกันและพรที่มาถึงพวกเขา: 3 นีไฟ 2:11–12 และ 3:13–14, 24–26 เหตุใดจึงสำคัญที่ปัจจุบันนี้เราต้อง “รวม” ตัวกันในครอบครัวและที่โบสถ์ การรวมตัวกันจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทางวิญญาณได้อย่างไร

  • ใช้อุปกรณ์จริงสอนว่าเมื่อรวมกันเราเข้มแข็งกว่าแยกกัน ตัวอย่างเช่น เชื้อเชิญให้เด็กพยายามหักไม้อันหนึ่งแล้วหักไม้มัดหนึ่งหรือฉีกกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วฉีกทั้งปึก เราเป็นเหมือนไม้หรือกระดาษอย่างไร เราจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กันได้อย่างไรเมื่อเรารวมตัวกันในครอบครัวหรือที่โบสถ์

  • อธิบายว่าพระเยซูทรงกำลังรวบรวมผู้คนของพระองค์เข้ามาในศาสนจักรทุกวันนี้ผ่านงานเผยแผ่ศาสนา (ดู 3 นีไฟ 5:24–26) เชิญผู้สอนศาสนาเต็มเวลาหรือผู้สอนศาสนาวอร์ดมาเล่าประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนเข้มแข็งขึ้นเพราะรวมกันในศาสนจักรอย่างไร

3 นีไฟ 4:30–33; 5:12–26; 6:14; 7:15–26

ฉันเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

ท่านจะช่วยให้เด็กเห็นตนเองเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เช่นเดียวกับมอรมอนเห็นได้อย่างไร (ดู 3 นีไฟ 5:13)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพมอรมอน (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 73) เชิญเด็กแต่ละคนผลัดกันพูดทวนสิ่งที่มอรมอนกล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 5:13: “ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร (ดู คพ. 41:5)

  • แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมอบหมายให้อ่านตัวอย่างของสานุศิษย์ต่อไปนี้กลุ่มละหนึ่งคน: ชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดู 3 นีไฟ 4:30–33; 6:14) มอรมอน (ดู 3 นีไฟ 5:12–26) และนีไฟ (ดู 3 นีไฟ 7:15–26) คนเหล่านี้เป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์อย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามแบบอย่างของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงบางสิ่งที่พวกเขาจะทำสัปดาห์นี้เพื่อเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์ กระตุ้นให้พวกเขาจดไว้และแบ่งปันกับครอบครัว

ปรับปรุงการสอนของเรา

ติดข้อพระคัมภีร์ เลือกพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่ท่านพบว่ามีความหมาย (หรือเชื้อเชิญให้เด็กเลือกหนึ่งข้อ) แล้วติดไว้ในห้องเรียนให้เด็กเห็นบ่อยๆ ท่านอาจจะติดไว้นานหลายสัปดาห์และพูดถึงเป็นครั้งคราว