จงตามเรามา
27 มกราคม–2 กุมภาพันธ์ 1 นีไฟ 16–22: “เราจะเตรียมทางข้างหน้าเจ้า”


“27 มกราคม–2 กุมภาพันธ์ 1 นีไฟ 16–22: ‘เราจะเตรียมทางข้างหน้าเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“27 มกราคม–2 กุมภาพันธ์ 1 นีไฟ 16–22” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
ลีไฮมองดูเลียโฮนา

ลีไฮกับเลียโฮนา โดย โจเซฟ บริกคีย์

27 มกราคม–2 กุมภาพันธ์

1 นีไฟ 16–22

“เราจะเตรียมทางข้างหน้าเจ้า”

เรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจใน 1 นีไฟ 16–22 สอนความจริงที่สามารถเป็นพรแก่เด็กในชั้นเรียนของท่าน อ่านบทเหล่านี้และบันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน หรือให้ดูภาพของคำเหล่านั้น: เลียโฮนา คันธนู และ เรือ เชิญเด็กสามคนเลือกคนละคำหรือคนละภาพ และเล่าเรื่องราวส่วนนั้นของนีไฟตามภาพหรือคำที่เลือก ให้ความช่วยเหลือหากจำเป็น

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

1 นีไฟ 16:10, 28–29; 18:8–13, 20–22

พระเจ้าทรงสามารถนำทางและแนะนำฉัน

สอนเด็กว่าแม้เมื่อพวกเขาประสบความท้าทายยากๆ พระเจ้าทรงสามารถนำทางพวกเขาได้ (ดู 1 นีไฟ 16:29)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูเข็มทิศ แผนที่ หรือสิ่งที่ช่วยให้เราพบทางของเรา และอธิบายวิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้ เปรียบเทียบเครื่องมือเหล่านี้กับเลียโฮนาขณะที่ท่านสรุปเรื่องราวใน 1 นีไฟ 16:10, 28–29 และ 18:9–13, 20–22 ชี้ให้เห็นว่าเมื่อครอบครัวของลีไฮไม่เชื่อฟัง เลียโฮนาไม่ทำงาน (ดู 1 นีไฟ 18:9–12, 20–22 ด้วย) ทุกวันนี้อะไรช่วยให้เราพบทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

  • นำกล่องใบหนึ่งมาที่ชั้นเรียน ในกล่องมีคำไขหลายๆ คำที่บอกสถานที่หนึ่งในอาคารหรือรอบอาคารโบสถ์ ใช้กล่องและคำไขแทนเลียโฮนา ให้เด็กผลัดกันเลือกคำไขและทายว่าสถานที่นั้นคือที่ไหน จากนั้นให้เดินไปสถานที่นั้นด้วยกัน อธิบายว่าเมื่อเราแสดงศรัทธาและทำตามคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เรา พระองค์จะทรงช่วยเรากลับไปหาพระองค์ (ดู แอลมา 37:38–42) พระบิดาบนสวรรค์ทรงนำทางเราอย่างไรในการเดินทางกลับไปหาพระองค์

1 นีไฟ 16:14–32

ฉันสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อครอบครัวของฉัน

ปฏิสัมพันธ์ของนีไฟกับครอบครัวในยามยากลำบากจะช่วยให้เด็กเห็นว่าแม้พวกเขาอายุยังน้อย แต่พวกเขาสามารถเป็นแบบอย่างต่อครอบครัวได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • มอบหมายให้เด็กแต่ละคนวาดภาพของบางอย่างจากเรื่องนีไฟทำคันธนูหัก (ดู 1 นีไฟ 16:14–32) เช่น นีไฟ คันธนู หรือเลียโฮนา จากนั้นให้ใช้ภาพเล่าเรื่องให้ชั้นเรียนฟัง และให้เด็กผลัดกันเล่า เราจะเป็นเหมือนนีไฟได้อย่างไรเมื่อครอบครัวเรากำลังประสบความยากลำบาก

  • เชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมและวาดหน้าเศร้าไว้ด้านหนึ่งและหน้ามีความสุขไว้อีกด้านหนึ่ง ขณะท่านเล่าเรื่องนีไฟทำคันธนูหัก ให้พวกเขาใช้หน้าแสดงว่าครอบครัวของนีไฟรู้สึกอย่างไรในแต่ละช่วงของเรื่องนั้น นีไฟช่วยทำให้ครอบครัวมีความสุขอย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ครอบครัวเรามีความสุข

1 นีไฟ 17:7–19; 18:1–4

พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยฉันทำสิ่งยากๆ ได้

เหมือนนีไฟ เด็กที่ท่านสอนกำลังเรียนรู้ที่จะทำสิ่งที่ดูเหมือนทำได้ยาก ประสบการณ์ของนีไฟจะช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขาทูลขอ

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าเรื่องนีไฟได้รับบัญชาให้ต่อเรือโดยใช้ 1 นีไฟ 17:7–19 และ 18:1–4 ท่านอาจจะใช้ “บทที่ 7: ต่อเรือ” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 21–22) หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องในชุดวีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอนที่ ChurchofJesusChrist.org หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้จะเสริมหลักธรรมที่ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยเหลือนีไฟ และพระองค์จะทรงช่วยเหลือเรา

  • ร้องเพลงข้อสองของ “ความกล้าหาญของนีไฟ” พร้อมกัน (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 64–65) อะไรช่วยให้นีไฟมีความกล้าหาญเมื่อพี่ๆ เยาะเย้ยที่เขาพยายามต่อเรือ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

1 นีไฟ 16:10, 28–29; 17:13–15; 18:8–13, 20–22

เมื่อฉันรักษาพระบัญญัติ พระเจ้าทรงนำทางฉัน

ใช้เรื่องเลียโฮนานำทางครอบครัวของลีไฮเพื่อให้เด็กเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางพวกเขาอย่างไรเมื่อพวกเขาพยายามทำตามพระประสงค์ของพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • เลือกอ่านข้อต่อไปนี้หนึ่งชุดหรือมากกว่านั้นกับเด็กๆ: 1 นีไฟ 16:10, 28–29; 17:13–15; และ 18:8–13, 20–22 ขอให้พวกเขามองหาสิ่งที่เราต้องทำเพื่อได้รับการนำทางและการแนะนำจากพระผู้เป็นเจ้าและสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

  • หลังจากทบทวนเรื่องราวต่างๆ ใน 1 นีไฟ 16–18 แล้ว ให้สัมภาษณ์เด็กหลายๆ คนประหนึ่งพวกเขาได้เดินทางไปกับครอบครัวของลีไฮ ท่านจะถามคำถามทำนองนี้: เหตุใดหนูจึงขอบคุณเลียโฮนา หนูต้องทำอะไรเพื่อให้เลียโฮนาทำงาน (ดู 1 นีไฟ 16:28–29) ให้ชั้นเรียนสนทนาสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้นำทางเราในสมัยของเรา

  • ขอให้เด็กพิจารณาว่าพวกเขาจะใช้เรื่องของเลียโฮนาช่วยเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญได้อย่างไร แนะนำว่านอกจาก 1 นีไฟ 16:10, 26–31 และ 18:9–22 แล้ว พวกเขาจะอ้างถึง แอลมา 37:38–44 ได้เช่นกัน แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยท่านผ่านเวลาที่ยุ่งยาก หรือเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปัน เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์

1 นีไฟ 16:14–39; 18:1–5

เจตคติและการเลือกของฉันจะมีผลดีต่อครอบครัวฉัน

ศรัทธาของนีไฟเป็นพรใหญ่หลวงเมื่อครอบครัวของเขาประสบการทดลอง ท่านจะช่วยให้เด็กเรียนรู้จากแบบอย่างของนีไฟได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพประกอบเรื่องราวของนีไฟทำคันธนูหัก (ดู 1 นีไฟ 16:14–39) ทบทวนเรื่องนี้กับพวกเขาหากจำเป็น ขณะพวกเขาให้ดูภาพวาด จงช่วยพวกเขาบอกด้านต่างๆ ที่ศรัทธาของนีไฟเป็นพรแก่ครอบครัว เชื้อเชิญให้เด็กไตร่ตรองความท้าทายที่พวกเขาหรือครอบครัวกำลังประสบ พวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามแบบอย่างของนีไฟ

  • อ่านบางข้อจาก 1 นีไฟ 16:21–32 ด้วยกัน สนทนาเป้าหมายบางข้อที่ครอบครัวของเด็กอาจจะมี เช่น จัดสังสรรค์ในครอบครัวหรือสวดอ้อนวอนกับครอบครัวเป็นประจำ เด็กจะช่วยให้ครอบครัวของพวกเขาบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาวางแผนทำสิ่งที่จะช่วยให้ครอบครัวบรรลุเป้าหมายสัปดาห์นี้

1 นีไฟ 19:22–24

ฉันสามารถเปรียบพระคัมภีร์กับชีวิตฉัน

ช่วยให้เด็กเห็นว่าเรื่องราวในพระคัมภีร์เป็นมากกว่าเรื่องเล่า—แต่มีหลักธรรมที่สามารถเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 19:22–24 และถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่า “เปรียบพระคัมภีร์ทั้งหมด” กับตัวเราหมายความว่าอย่างไร ช่วยพวกเขาค้นหาว่านีไฟเปรียบเรื่องราวพระคัมภีร์กับประสบการณ์ในการไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองอย่างไร (ดู 1 นีไฟ 4:1–4; ดู อพยพ 14ด้วย) การจดจำเรื่องนี้ช่วยนีไฟกับพี่ๆ ของเขาอย่างไร

  • ทบทวนเรื่องบางเรื่องที่เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับลีไฮและครอบครัวของเขาจาก 1 นีไฟ และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากเรื่องเหล่านี้ ช่วยให้พวกเขานึกถึงสถานการณ์ในชีวิตที่อาจจะคล้ายกับเรื่องเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น เรื่องพระเจ้าทรงขอให้นีไฟต่อเรืออาจจะเตือนพวกเขาให้นึกถึงเวลาที่พวกเขาต้องทำงานยากบางอย่างและขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กเลือกเรื่องหนึ่งจาก 1 นีไฟ 16–22 และแบ่งปันกับครอบครัวว่าพวกเขาจะ “เปรียบ” เรื่องนั้นกับชีวิตพวกเขาได้อย่างไร

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้เรื่องเล่า เรื่องเล่าจะช่วยให้เด็กเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณเพราะเรื่องเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าผู้อื่นดำเนินชีวิตตามหลักธรรมเหล่านั้นอย่างไร