หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
15–21 พฤศจิกายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 133–134: “เจ้าจงเตรียมรับการเสด็จมาของเจ้าบ่าว”


“15–21 พฤศจิกายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 133–134: ‘เจ้าจงเตรียมรับการเสด็จมาของเจ้าบ่าว’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“15–21 พฤศจิกายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 133–134” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
หญิงพรหมจารีมีปัญญาห้าคน

เจ้าบ่าวเสด็จมา โดย เอลิซาเบธ กิบบอนส์

15–21 พฤศจิกายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133–134

“เจ้าจงเตรียมรับการเสด็จมาของเจ้าบ่าว”

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอนว่า “การฟื้นฟูพระกิตติคุณเริ่มด้วยคำถามอันอ่อนน้อมถ่อมตนที่ไตร่ตรองในบ้านหลังเล็กๆ และดำเนินต่อเนื่องได้ในบ้านของเราแต่ละคน” (“บ้านที่พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 25)

บันทึกความประทับใจของท่าน

เมื่อศาสนจักรอายุเพียง 19 เดือน ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นได้วางแผนที่ต้องใช้ความพยายามมากเพื่อรวบรวมการเปิดเผยยุคสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเล่มเดียวและพิมพ์ 10,000 เล่ม—สองเท่าของจำนวนที่พิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนครั้งแรก น่าเสียดายที่ดำเนินแผนเหล่านี้ไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายสูง และกลุ่มคนร้ายบุกโรงพิมพ์ของศาสนจักรขณะเครื่องกำลังพิมพ์อยู่ ทำให้หน้าหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บเล่มกระจายเกลื่อนกลาด และถึงแม้วิสุทธิชนที่กล้าหาญจะเก็บไว้ได้บางส่วน แต่เท่าที่ทราบคือหนังสือพระบัญญัติเหลือไม่ครบ

สิ่งที่เรารู้ตอนนี้ว่าเป็น ภาค 133 ของหลักคำสอนและพันธสัญญาตั้งใจจะให้เป็นภาคผนวกของหนังสือพระบัญญัติ เหมือนเครื่องหมายอัศเจรีย์ต่อท้ายการเปิดเผยที่จัดพิมพ์แล้วของพระเจ้า ภาคนี้เตือนเรื่องวันพิพากษาที่จะมาถึงและย้ำการเรียกที่พบตลอดการเปิดเผยยุคปัจจุบันให้หลบหนีความฝักใฝ่ทางโลกอันมีบาบิโลนเป็นสัญลักษณ์ สร้างไซอัน เตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง และเผยแพร่ข่าวสารนี้ไป “ทุกประชาชาติ, และตระกูล, และภาษา, และผู้คน” (ข้อ 37) แม้แผนเดิมสำหรับหนังสือพระบัญญัติจะไม่บรรลุผล แต่การเปิดเผยนี้เป็นเครื่องเตือนใจและเป็นพยานว่างานของพระเจ้าจะถูกขัดขวางไม่ได้ “เพราะพระองค์จะทรงเผยพระพาหุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ … , และทั่วสุดแดนแผ่นดินโลกจะเห็นการช่วยให้รอดของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา” (ข้อ 3)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133

ความจริงในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาสามารถเตรียมฉันให้พร้อมทำงานของพระผู้เป็นเจ้า

บางครั้งหนังสือจบด้วยคำลงท้ายที่กล่าวย้ำหรือสรุปประเด็นหลักของหนังสือ ภาค 133 เดิมทีตั้งใจจะให้เป็นคำลงท้ายของหนังสือพระบัญญัติ และจะมีประโยชน์มากถ้าคิดเช่นนั้นขณะอ่านภาคนี้ พระเจ้าทรงเน้นประเด็นอะไรเกี่ยวกับงานของพระองค์? ข้อ 57–62 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับบทบาทที่พระผู้เจ้าทรงต้องการให้ท่านมีในงานของพระองค์?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:1–19

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

ภาค 1 ซึ่งเป็นคำปรารภของพระเจ้าสำหรับพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา กับ ภาค 133 ซึ่งเป็นภาคผนวกเดิมของหนังสือ เริ่มด้วยคำขอร้องเดียวกันจากพระเจ้า “จงสดับฟัง, โอ้เจ้าผู้คนแห่งศาสนจักรของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:1; 133:1) สดับฟังหมายความว่าอย่างไร? (ดูคู่มือพระคัมภีร์ “สดับฟังscriptures.ChurchofJesusChrist.org) พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านสดับฟังคำเชื้อเชิญหรือพระบัญชาอะไรบ้างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:1–19? ท่านได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาของพระองค์ได้ดีขึ้น? ท่านจะช่วยคนรอบข้างเตรียมอย่างไร?

ดู มัทธิว 25:1–13; ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เตรียมรับการเสด็จกลับมาของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 81–84 ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:19–56

การเสด็จมาครั้งที่สองจะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนชอบธรรม

ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:19–32 เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดร่วมกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจจะไตร่ตรองว่ารายละเอียดของเหตุการณ์เหล่านี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและงานของพระองค์ มีการประยุกต์ใช้ทางวิญญาณอะไรบ้างที่ท่านสามารถพบในรายละเอียดเหล่านี้?

ขณะที่ท่านอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 32–56 อะไรเป็นเหตุให้ท่านตั้งตารอวันสำคัญยิ่งนั้น? คำหรือวลีใดอธิบายความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อผู้คนของพระองค์? ท่านอาจจะบันทึกประสบการณ์ส่วนตัวที่มีกับ “ความการุณย์รักแห่งพระเจ้า [ของท่าน], และทุกสิ่งที่พระองค์ประทานแก่ [ท่าน] ตามพระกรุณาธิคุณของพระองค์” (ข้อ 52)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 134

“พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดตั้งการปกครองเพื่อประโยชน์ของมนุษย์”

วิสุทธิชนยุคแรกมีความสัมพันธ์ซับซ้อนกับฝ่ายปกครอง เมื่อวิสุทธิชนถูกบีบให้ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีในปี 1833 พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือค่าชดเชยจากฝ่ายปกครองในท้องที่หรือระดับชาติทั้งที่พวกเขาขอความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันบางคนนอกศาสนจักรตีความคำสอนเกี่ยวกับไซอันว่าหมายถึงวิสุทธิชนไม่ยอมรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทางโลก หลักคำสอนและพันธสัญญา 134 ส่วนหนึ่งเขียนไว้เพื่อชี้แจ้งจุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับการปกครอง

สมาชิกศาสนจักรควรรู้สึกอย่างไรกับรัฐบาล? ขณะที่ท่านศึกษา ภาค 134 ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมสองรายการ รายการหนึ่งคือหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับการปกครอง และอีกรายการหนึ่งคือหลักธรรมในเรื่องความรับผิดชอบของพลเมือง แนวคิดเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวิสุทธิชนยุคแรกอย่างไร? และจะประยุกต์ใช้กับสถานที่อยู่ของท่านอย่างไร?

ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:11–12; Gospel Topics, “Religious Freedom,” topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:4–14สิ่งตรงข้ามกับไซอันทางวิญญาณคือบาบิโลน—เมืองสมัยโบราณที่พระคัมภีร์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและพันธนาการทางวิญญาณ (ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 47; คู่มือพระคัมภีร์, “บาเบล, บาบิโลน,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org) มีสิ่งใดหรือไม่ที่ครอบครัวท่านต้องทำเพื่อ “ออกไปจากบาบิโลน” (ข้อ 5) และ “ออกไปยัง … ไซอัน” ในความหมายทางวิญญาณ? (ข้อ 9)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:20–33ขณะอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน ครอบครัวท่านอาจจะวาดภาพสิ่งที่พวกเขาคิดว่าการเสด็จมาครั้งที่สองน่าจะเป็นแบบนั้น ท่านอาจจะเปิดเพลงหรือร้องเพลงเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองด้วย เช่น “คราพระเสด็จมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 46–47) และสนทนาว่าครอบครัวท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาของพระองค์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:37–39ครอบครัวท่านจะชอบอ่านข้อเหล่านี้ “ด้วยเสียงอันดัง” หรือไม่? (ข้อ 38) แบ่งปันพระกิตติคุณ “ด้วยเสียงอันดัง” หมายความว่าอย่างไร? เราจะแบ่งปันความจริงอะไรได้บ้าง?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 134:1–2เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจความสำคัญของการปกครอง ท่านอาจจะสนทนาคำถามทำนองนี้: ครอบครัวท่านได้รับพรอย่างไรจากการมีกฎ? ประเทศของเราได้รับพรอย่างไรจากการมีกฎหมาย? ท่านอาจจะทำเครื่องหมายหรือระบายสีภาพธงประจำชาติของท่านหรือท่องจำ หลักแห่งความเชื่อข้อสิบเอ็ด และ สิบสอง

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “มาเถิดท่านลูกหลานพระเจ้าเพลงสวด, บทเพลงที่ 20

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

สอนหลักคำสอนที่เรียบง่ายและชัดเจน พระเจ้าทรงอธิบายพระกิตติคุณด้วยถ้อยคำที่ “แจ้งชัด” และ “เรียบง่าย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:57) คำเหล่านี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับการสอนพระกิตติคุณให้กับครอบครัวท่าน?

ภาพ
พระคริสต์ในฉลองพระองค์สีแดง

พระคริสต์ในฉลองพระองค์สีแดง โดย มิเนอร์วา ไทเชิร์ต