หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
25–31 ตุลาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 124: “บ้านแด่นามของเรา”


“25–31 ตุลาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 124: ‘บ้านแด่นามของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“25–31 ตุลาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 124,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
นอวู

นอวูเมืองงาม โดย ลาร์รีย์ วินบอร์ก

25–31 ตุลาคม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124

“บ้านแด่นามของเรา”

ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124 ให้ไตร่ตรองพรที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้วิสุทธิชนในนอวูรับและพรที่พระองค์ทรงมอบให้ท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ถึงแม้หกปีหลังจะยากมากสำหรับวิสุทธิชน แต่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายในฤดูใบไม้ผลิปี 1839 เมื่อวิสุทธิชนที่ลี้ภัยได้รับความเห็นอกเห็นใจจากชาวเมืองควินซี อิลลินอยส์ ผู้คุมปล่อยให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ หลบหนีการจับกุมในมิสซูรี และศาสนจักรเพิ่งซื้อที่ดินในอิลลินอยส์เพื่อให้วิสุทธิชนได้รวมตัวกันอีกครั้ง ที่ดินผืนนั้นเป็นหนองน้ำและมียุงชุม แต่เมื่อเทียบกับความท้าทายที่วิสุทธิชนประสบมาแล้ว ดูเหมือนว่าเรื่องนี้น่าจะจัดการได้ พวกเขาระบายน้ำออกจากหนองน้ำและร่างกฎบัตรสำหรับเมืองใหม่ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่านอวู นอวูหมายถึง “สวยงาม” ในภาษาฮีบรู แม้ว่าชื่อจะเป็นการพูดถึงศรัทธามากกว่าคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมา แต่อย่างน้อยก็ตอนแรก ระหว่างนั้นพระเจ้าทรงทำให้ศาสดาพยากรณ์รู้สึกว่าต้องเร่งสร้างเมือง พระองค์ทรงมีความจริงและศาสนพิธีให้ฟื้นฟูอีก และทรงต้องการพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ให้วิสุทธิชนได้รับความจริงและศาสนพิธีเหล่านั้น ความรู้สึกเดียวกันนี้ของศรัทธาและความเร่งด่วนสำคัญต่องานของพระเจ้าทุกวันนี้ในหลายๆ ด้าน

แม้นอวูจะกลายเป็นเมืองงามที่มีพระวิหารสวยงาม แต่สุดท้ายทั้งเมืองและพระวิหารก็ถูกทำลาย แต่งานที่สวยงามจริงๆ ของพระเจ้าตลอดมาคือการ “สวมมงกุฎเจ้าด้วยเกียรติยศ, ความเป็นอมตะ, และชีวิตนิรันดร์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:55) และงานนั้นไม่มีวันสิ้นสุด

ดู Saints, 1:399–427; “Organizing the Church in Nauvoo,” Revelations in Context, 264–271

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:12–21

ฉันสามารถเป็นสานุศิษย์ที่พระเจ้าทรงวางใจ

ถึงแม้ผู้นำที่โดดเด่นหลายคนออกจากศาสนจักรช่วงปลายทศวรรษ 1830 แต่สมาชิกส่วนใหญ่ยังคงซื่อสัตย์ วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้นับรวมถึงคนที่อดทนต่อการทดลองในมิสซูรีและคนที่เพิ่งเข้าร่วมศาสนจักร ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:12–21 พระเจ้าตรัสยกย่องพวกเขาบางคน ท่านพบข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ในพระดำรัสของพระองค์? มีบางอย่างเกี่ยวกับวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเป็นเหมือนพวกเขาหรือไม่? ท่านอาจจะไตร่ตรองว่าพระเจ้าทรงแสดงความรักต่อท่านอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:22–24, 60–61

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันต้อนรับและยอมรับคนอื่นๆ

เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่วิสุทธิชนเพิ่งประสบในมิสซูรี พวกเขาอาจจะอยากแยกตัวออกมาและห้ามคนเข้ามาในนอวู นึกถึงเรื่องนี้ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:22–24, 60–61 ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำแนะนำของพระเจ้าให้สร้าง “บ้านให้เช่าพัก”? (ข้อ 23) พระดำรัสของพระองค์สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพันธกิจแห่งศาสนจักรของพระองค์? ไตร่ตรองวิธีประยุกต์ใช้คำแนะนำเหล่านี้กับท่านและบ้านท่าน

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “A Friend to All” ChurchofJesusChrist.org ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:25–45, 55

พระเจ้าทรงบัญชาให้เราสร้างพระวิหารเพื่อเราจะได้รับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์

ทันทีที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายตั้งถิ่นฐานในนอวู พวกเขาไม่แปลกใจเลยที่พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างพระวิหาร—เช่นที่พระองค์ประทานให้ในโอไฮโอและมิสซูรี ท่านพบอะไรใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:25–45, 55 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจเหตุผลที่พระเจ้าตรัสว่า “ผู้คนของเราได้รับบัญชาอยู่เสมอให้สร้าง [พระวิหาร] แด่นามศักดิ์สิทธิ์ของเรา”? (ข้อ 39)

ตั้งแต่สร้างพระวิหารนอวู ศาสนจักรสร้างหรือประกาศสร้างพระวิหารอีก 200 กว่าแห่ง ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “เรารู้ว่าเวลาของเราในพระวิหารสำคัญมากต่อความรอดและความสูงส่งของเราและต่อครอบครัวของเรา … การจู่โจมของปฏิปักษ์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรงและหลากหลายมากขึ้นด้วย ความจำเป็นที่เราจะเข้าพระวิหารเป็นประจำนั้นสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา” (“การเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 114) พระวิหารเคยช่วยท่านต้าน “การจู่โจมของปฏิปักษ์” อย่างไร? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อทำตามคำแนะนำของประธานเนลสัน?

ดู Church History Topics, “Nauvoo Temple,” ChurchofJesusChrist.org/study/church-history ด้วย

ภาพ
โจเซฟ สมิธกับบุรุษทั้งหลายกำลังสร้างพระวิหารนอวู

โจเซฟ สมิธที่พระวิหารนอวู โดย แกรีย์ อี. สมิธ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:84–118

พระเจ้าทรงปรารถนาจะประทานคำแนะนำจำเพาะสำหรับชีวิตฉัน

ข้อ 84–118 เต็มไปด้วยคำแนะนำจำเพาะบุคคลและบางอย่างอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตท่าน แต่ท่านอาจพบสิ่งที่ท่านจำเป็นต้องได้ยินเช่นกัน ท่านอาจจะทูลถามพระเจ้าว่าพระองค์ทรงมีข่าวสารอะไรให้ท่านในข้อเหล่านี้และแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณเพื่อหาข่าวสารนั้น แล้วตัดสินใจว่าท่านจะทำตามนั้นอย่างไร ตัวอย่างเช่น การเป็นคนนอบน้อมถ่อมตนมากขึ้นจะช่วยให้ท่านได้รับพระวิญญาณอย่างไร? (ดู ข้อ 97)

ท่านอาจจะไตร่ตรองคำแนะนำอื่นที่พระเจ้าประทานแก่ท่านแล้วเช่นกัน ท่านกำลังทำตามคำแนะนำนั้นอย่างไร?

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:2–11ถ้าพระเจ้ารับสั่งให้ครอบครัวท่าน “ทำถ้อยแถลงพระกิตติคุณด้วยความเลื่อมใส” ต่อ “กษัตริย์ทั้งปวงของโลก” (ข้อ 2–3) ถ้อยแถลงของท่านจะมีใจความว่าอย่างไร? ท่านอาจจะทำถ้อยแถลงด้วยกัน และเชื้อเชิญให้สมาชิกเสนอความจริงพระกิตติคุณที่พวกเขาต้องการรวมไว้ในถ้อยแถลง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:15การมีความสุจริตหมายความว่าอย่างไร? เหตุใดพระเจ้าทรงเห็นค่าความสุจริต? ครอบครัวท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของความสุจริต? (ดู เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน 19 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:28–29, 40–41, 55เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับเหตุผลที่พระเจ้าทรงบัญชาให้เราสร้างพระวิหาร? ครอบครัวท่านอาจจะวาดภาพพระวิหารหรือสร้างด้วยอิฐบล็อกหรือวัสดุอื่น ขณะทำเช่นนั้น ท่านจะสนทนาว่าเหตุใดเราขึงขอบพระทัยที่เรามีพระวิหารวันนี้และเหตุใดเราต้องนมัสการในพระวิหารเป็นประจำ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:91–92ครอบครัวท่านจะได้ประโยชน์จากการสนทนาเรื่องปิตุพรหรือไม่? สมาชิกครอบครัวที่ได้รับปิตุพรแล้วจะแบ่งปันว่าการรับปิตุพรเป็นอย่างไรและปิตุพรเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร ท่านจะทบทวน “Patriarchal Blessings” ด้วย (Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ฉันชอบมองดูพระวิหาร,หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99

ภาพ
ไอคอนเสียงของการฟื้นฟู

เสียงของการฟื้นฟู

สมาคมสงเคราะห์

ภาพ
โจเซฟกับเอ็มมา สมิธและสตรีคนอื่นๆ

ภาพวาดองค์การสมาคมสงเคราะห์ โดย พอล แมนน์

ในปี 1842 หลังจากจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ในนอวู อิลลินอยส์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “ศาสนจักรไม่มีวันจัดตั้งได้อย่างสมบูรณ์จนกว่าจะจัดตั้งองค์การให้สตรี”1 ในทำนองเดียวกัน การศึกษาเรื่องการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเจ้าและฐานะปุโรหิตของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107) จะไม่สมบูรณ์จนกว่าจะศึกษาเรื่องสมาคมสงเคราะห์ด้วย ซึ่งองค์การนี้เป็น “การฟื้นฟูแบบแผนสมัยโบราณ” ของสานุศิษย์สตรีของพระเยซูคริสต์2

เอไลซา อาร์. สโนว์มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูนั้น เธออยู่ที่นั่นเมื่อจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ครั้งแรกในฐานะเลขานุการของสมาคมเพื่อจดบันทึกระหว่างการประชุม เธอเป็นพยานด้วยตนเองว่าสมาคมสงเคราะห์จัดตั้ง “ตามแบบแผนของฐานะปุโรหิต”3 ด้านล่างเป็นคำที่เธอเขียนขณะรับใช้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเพื่อช่วยให้พี่น้องสตรีเข้าใจงานที่ทรงมอบให้เธอในฐานะธิดาแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อเรียนรู้มากขึ้นว่าสมาคมสงเคราะห์จัดตั้งอย่างไร ให้ดู Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society (2017), 1–25; The First Fifty Years of Relief Society (2016), 3–175.

เอไลซา อาร์. สโนว์

ภาพ
เอไลซา อาร์. สโนว์ โดย ลูอิส แรมซีย์

“ถึงแม้ชื่อ [สมาคมสงเคราะห์] จะเป็นชื่อสมัยใหม่ แต่สถาบันดังกล่าวมีมาแต่โบราณ [โจเซฟ สมิธ] บอกเราว่าองค์การเดียวกันกับที่มีอยู่ในศาสนจักรสมัยโบราณ ซึ่งมีการกล่าวถึงองค์การนี้ในสาส์นบางฉบับที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาใหม่โดยใช้ชื่อ ‘สตรีที่ทรงเลือกไว้’ [ดู 2 ยอห์น 1:1; หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:3]

“สมาคมสงเคราะห์เป็นองค์การที่จะดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากฐานะปุโรหิต เพราะเหตุว่าองค์การดังกล่าวได้สิทธิอำนาจและอิทธิพลทั้งหมดมาจากแหล่งนั้น เมื่อนำฐานะปุโรหิตไปจากแผ่นดินโลก สถาบันนี้พร้อมด้วยส่วนประกอบอื่นทั้งหมดของระเบียบที่ถูกต้องของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลกจึงดับสูญ …

“เพราะเคยอยู่ในองค์การของ ‘สมาคมสตรีสงเคราะห์แห่งนอวู’ … และเคยมีประสบการณ์ไม่น้อยในสมาคมนั้น ดิฉันจึงขอถ่ายทอดแนวคิดบางประการที่จะช่วยเหลือธิดาแห่งไซอันขณะก้าวเข้ามาในตำแหน่งสำคัญมากนี้ซึ่งเต็มไปด้วยความรับผิดชอบใหม่ๆ มากมาย ถ้าธิดาและมารดาคนใดในอิสราเอลกำลังรู้สึกถูกจำกัดแม้แต่นิดเดียวในสภาพปัจจุบันของเธอ เวลานี้พวกเธอจะมีโอกาสมากพอให้ใช้พลังความสามารถทุกอย่างซึ่งประสาทให้พวกเธอด้วยใจกรุณาเป็นที่สุดเพื่อทำคุณประโยชน์ …

ภาพ
ร้านอิฐแดง

สมาสงเคราะห์จัดตั้งในห้องชั้นบนของร้านอิฐแดง

“หากใครมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่าวัตถุประสงค์ของสมาคมสตรีสงเคราะห์คืออะไร? ดิฉันจะตอบว่า—ทำคุณประโยชน์—นำความสามารถทั้งหมดที่เรามีมาใช้ทำคุณประโยชน์ ไม่เฉพาะในการสงเคราะห์คนยากไร้เท่านั้นแต่ในการช่วยจิตวิญญาณให้รอดด้วย ควาพยายามอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะทำให้บรรลุผลนับไม่ถ้วนมากกว่าต่างคนต่างทำสุดแรงสุดฝีมือ …

“ในการดูแลคนยากไร้ สมาคมสตรีสงเคราะห์มีหน้าที่อื่นให้ทำมากกว่าเพียงสงเคราะห์ความต้องการทางกาย พวกเธอต้องเอาใจใส่ความยากจนของจิตและความเจ็บป่วยของใจด้วย และหลายครั้งการแสดงออกที่อ่อนโยน—คำปรึกษาไม่กี่คำ หรือแม้กระทั่งการจับมือทักทายด้วยความรักความอบอุ่นจะทำคุณประโยชน์มากกว่าและมีค่ามากกว่าถุงเงิน …

“เมื่อวิสุทธิชนต่างถิ่นมารวมกัน ทุกคนเป็นคนแปลกหน้า และมีคนดักรอหลอกพวกเขาให้หลงทาง สมาคม [สงเคราะห์] ควรพร้อมดูแล [พวกเขา] ทันที นำพวกเขาเข้ามาในสมาคมที่จะขัดเกลาและยกระดับพวกเขา เหนือสิ่งอื่นใดคือทำให้พวกเขามีศรัทธาแรงกล้ามากขึ้นในพระกิตติคุณ และในการทำเช่นนั้นอาจเป็นเครื่องมือในการช่วยคนมากมายให้รอด

“ต้องใช้หนังสือหลายเล่มเพื่อนิยามหน้าที่ เอกสิทธิ์ และความรับผิดชอบที่มากับขอบข่ายงานของสมาคม … จงทำงานของสมาคม (ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ) อย่างสงบ ตั้งใจ กระตือรือร้น พร้อมเพรียง ร่วมกับการสวดอ้อนวอน และพระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรท่านให้ประสบผลสำเร็จ”4

อ้างอิง

  1. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 489

  2. Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society (2017), 1.

  3. โจเซฟ สมิธ ใน Sarah M. Kimball, “Auto-biography,” Woman’s Exponent, Sept. 1, 1883, 51.

  4. “Female Relief Society,” Deseret News, Apr. 22, 1868, 81.

ภาพ
พระวิหารนอวู

พระวิหารนอวู โดย จอร์จ ดี. ดูร์รันท์