หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62: “เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา”


“31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62: ‘เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
แม่น้ำมิสซูรี

แคมป์ไฟริมแม่น้ำมิสซูรี โดย ไบรอัน มาร์ค เทย์เลอร์

31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62

“เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา”

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่าเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ “ประจักษ์พยานจะเพิ่มขึ้น คำมั่นสัญญาจะหนักแน่นขึ้น ครอบครัวจะแข็งแกร่งขึ้น การเปิดเผยส่วนตัวจะหลั่งไหลมา” (“The Power of the Word,” Ensign, May 1986, 81)

บันทึกความประทับใจของท่าน

ในเดือนมิถุนายน ปี 1831 โจเซฟ สมิธจัดการประชุมใหญ่กับเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรในเคิร์ทแลนด์ ที่นั่นพระเจ้าทรงจัดเอ็ลเดอร์บางคนเป็นคู่ๆ และส่งพวกเขาไปเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรีพร้อมความรับผิดชอบนี้ “สั่งสอนไประหว่างทาง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:10) เอ็ลเดอร์หลายคนสั่งสอนอย่างขยันหมั่นเพียร แต่บางคนไม่ทำเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเวลาเดินทางกลับเคิร์ทแลนด์ พระเจ้าจึงตรัสว่า “กับ [เอ็ลเดอร์] บางคนเราไม่สู้จะพอใจ, เพราะพวกเขาไม่ยอมอ้าปาก, แต่พวกเขาซ่อนพรสวรรค์ซึ่งเราให้แก่พวกเขา, เพราะความกลัวมนุษย์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2) พวกเราหลายคนรู้สึกเห็นใจเอ็ลเดอร์เหล่านี้—เราอาจรู้สึกลังเลไม่กล้าอ้าปากแบ่งปันพระกิตติคุณเช่นกัน เราเองอาจถูก “ความกลัวมนุษย์” ขัดขวาง เราอาจสงสัยความมีค่าควรหรือความสามารถของเรา ไม่ว่าเหตุผลใด พระเจ้าทรง “รู้ความอ่อนแอของมนุษย์และรู้ว่าจะช่วย [เรา]” อย่างไร (หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:1) คำรับรองต่อผู้สอนศาสนายุคแรกที่กระจายอยู่ทั่วการเปิดเผยเหล่านี้และสามารถช่วยเราเอาชนะความกลัวเรื่องการแบ่งปันพระกิตติคุณ—หรือความกลัวอื่นที่เราอาจจะกำลังประสบคือ “เรา, พระเจ้า, ปกครองอยู่ในฟ้าสวรรค์เบื้องบน” “เราสามารถทำให้เจ้าบริสุทธิ์” “เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา” และ “จงรื่นเริงเถิด, เด็กน้อยเอ๋ย; เพราะเราอยู่ท่ามกลางเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:4, 7; 61:6, 36)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6062

พระเจ้าพอพระทัยเมื่อฉันอ้าปากแบ่งปันพระกิตติคุณ

เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ตอนที่เราจะได้แบ่งปันพระกิตติคุณกับบางคน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง เราไม่ได้แบ่งปัน ขณะอ่านพระดำรัสของพระเจ้าต่อผู้สอนศาสนายุคแรกผู้ไม่ยอม “อ้าปาก” ให้ลองนึกถึงโอกาสของท่านเองในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ประจักษ์พยานของท่านในพระกิตติคุณเปรียบเสมือน “พรสวรรค์” หรือของมีค่าจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? บางครั้งเรา “ซ่อนพรสวรรค์ [ของเรา]” ด้วยวิธีใดบ้าง? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2; ดู มัทธิว 25:14–30 ด้วย)

พระเจ้าทรงตำหนิผู้สอนศาสนายุคแรกเหล่านี้ แต่ทรงพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเช่นกัน ท่านพบข่าวสารให้กำลังใจอะไรจากพระเจ้าใน ภาค 60 และ 62? ข่าวสารเหล่านี้สร้างความมั่นใจให้ท่านในการแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างไร? ในวันต่อๆ ไปให้มองหาโอกาสอ้าปากแบ่งปันสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ท่าน

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:8–10; 103:9–10; ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 15–18 ด้วย

ภาพ
ผู้สอนศาสนาบนรถโดยสาร

พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ฉันแบ่งปันพระกิตติคุณให้กับผู้อื่น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 61:5–6, 14–18

พระเจ้าทรงสาปแช่งผืนน้ำทั้งหมดหรือ?

พระดำรัสเตือนของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 61 ส่วนหนึ่งเตือนเรื่องอันตรายที่ผู้คนของพระองค์จะประสบขณะเดินทางไปไซอันตามแม่น้ำมิสซูรีซึ่งรู้กันในสมัยนั้นว่าอันตราย เราไม่ควรแปลความหมายของพระดำรัสเตือนนี้ว่าเราควรหลีกเลี่ยงการสัญจรทางน้ำ พระเจ้าทรงมี “เดชานุภาพทั้งมวล” รวมทั้งเดชานุภาพเหนือผืนน้ำ (ข้อ 1)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 61–62

พระเจ้าทรงมีเดชานุภาพทั้งมวลและทรงสามารถปกปักรักษาฉัน

ระหว่างทางกลับมาเคิร์ทแลนด์ โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นมีประสบการณ์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตในแม่น้ำมิสซูรี (ดู Saints, 1:133–134) พระเจ้าทรงใช้โอกาสนี้เตือนและสอนผู้รับใช้ของพระองค์ ท่านพบอะไรใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 61 ที่กระตุ้นให้ท่านวางใจพระเจ้าขณะท่านประสบความท้าทายของท่านเอง? ตัวอย่างเช่น เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่ “จากความเป็นนิจถึงความเป็นนิจ”? (ข้อ 1)

มีข้อคิดคล้ายกันใน ภาค 62 พระเจ้าทรงสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์เองและเดชานุภาพของพระองค์ในการเปิดเผยนี้?

ไตร่ตรองประสบการณ์เสริมสร้างศรัทธาที่ท่านเคยมีเมื่อพระเจ้าทรงช่วยท่านเอาชนะความลำบากทางวิญญาณหรือทางกาย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 62

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันตัดสินใจ “ดังที่ [ฉัน] เห็นว่าดี”

บางครั้งพระเจ้าประทานคำแนะนำเฉพาะเจาะจง และหลายเรื่องพระองค์ทรงปล่อยให้เราตัดสินใจเอง ท่านเห็นหลักธรรมนี้อธิบายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 62 อย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:5; 61:22 ด้วย) ท่านเคยเห็นหลักธรรมนี้ในชีวิตท่านอย่างไร? เหตุใดจึงเป็นเรื่องดีที่เราทำการตัดสินใจบางเรื่องโดยไม่ต้องมีคำสั่งจำเพาะจากพระผู้เป็นเจ้า?

ดู อีเธอร์ 2:18–25; หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27–28 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2–3เหตุใดผู้สอนศาสนายุคแรกบางคนจึงลังเลไม่กล้าแบ่งปันพระกิตติคุณ? เหตุใดบางครั้งเราลังเล? ท่านอาจแสดงบทบาทสมมติถึงวิธีที่สมาชิกครอบครัวจะแบ่งปันพระกิตติคุณในสภาพแวดล้อมต่างๆ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 61:36–39ในข้อเหล่านี้เราเห็นเหตุผลอะไรให้ “รื่นเริงใจ”? (ดู ยอห์น 16:33 ด้วย) ครอบครัวท่านอาจจะเขียนหรือวาดภาพสิ่งที่ทำให้พวกเขาเกิดปีติและรวมไว้ในขวดโหล “รื่นเริง” (ต้องมีภาพพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งเตือนใจให้นึกถึงความรักที่ทรงมีต่อเราอยู่ในนั้นด้วย) ตลอดสัปดาห์เมื่อสมาชิกครอบครัวต้องการสิ่งเตือนใจให้นึกถึงเหตุผลที่จะมีความสุข พวกเขาจะเลือกบางอย่างจากขวดโหล

หลักคำสอนและพันธสัญญา 61:36ท่านจะช่วยให้ครอบครัวท่านจำได้อย่างไรว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอยู่ “ท่ามกลาง [เรา]”? ท่านจะตัดสินใจด้วยกันว่าจะติดภาพของพระองค์ไว้ถาวรในบ้านท่านที่ใด เราจะอัญเชิญพระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในชีวิตเราได้อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:3ท่านอาจจะจัดการประชุมแสดงประจักษ์พยานในครอบครัวหลังจากอ่านข้อนี้ เพื่ออธิบายว่าประจักษ์พยานคืออะไร ท่านจะแบ่งปันข่าวสารบางตอนของประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดเรื่อง “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 50–53) เหตุใดจึงเป็นเรื่องดีที่จะบันทึกประจักษ์พยานของเรา?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:5, 8เหตุใดพระเจ้าไม่ประทานพระบัญญัติเกี่ยวกับชีวิตทุกด้านของเรา? ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 เราต้องตัดสินใจอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ประจักษ์พยานเพลงสวด บทเพลงที่ 60

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

จงให้พระวิญญาณนำทางการศึกษาของท่าน จงให้พระวิญญาณบริสุทธิ์นำทางท่าน จงรู้สึกไวต่อสุรเสียงกระซิบของพระองค์ขณะพระองค์ทรงนำท่านไปสู่สิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ในแต่ละวัน แม้สุรเสียงกระซิบเหล่านั้นจะบอกให้ท่านอ่านหรือศึกษาหัวข้อต่างจากที่ท่านจะศึกษาตามปกติหรือศึกษาในวิธีต่างจากเดิมก็ตาม

ภาพ
พระเยซูทรงอุ้มลูกแกะ

พระเมษบาลผู้ประเสริฐ โดย เดล พาร์สัน