จงตามเรามา 2024
12–18 กุมภาพันธ์: “เรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข” 2 นีไฟ 3–5


“12–18 กุมภาพันธ์: ‘เรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข’ 2 นีไฟ 3–5,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“12–18 กุมภาพันธ์ 2 นีไฟ 3–5,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

ภาพ
นีไฟและภรรยาของเขา

12–18 กุมภาพันธ์: “เรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข”

2 นีไฟ 3–5

การอ่าน 1 นีไฟ อาจทำให้ท่านรู้สึกว่านีไฟยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น การที่เขามี “ร่างกายสูงใหญ่” ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงวิญญาณ (1 นีไฟ 2:16) ทำให้เขาดูเหมือนไม่สะทกสะท้านกับการทดลองที่เผชิญ หรืออย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่เราอาจสันนิษฐานได้ ถึงแม้ศรัทธาของนีไฟจะน่าทึ่ง แต่ถ้อยคำอันอ่อนโยนของเขาใน 2 นีไฟ 4 เปิดเผยว่าแม้แต่คนที่ซื่อสัตย์ก็รู้สึก “น่าสมเพช” และถูก “รุกรานโดยง่าย” จากการล่อลวง ในส่วนนี้ เราจะเห็นใครบางคนที่กำลังพยายามอยากจะมีปีติ แต่ “ใจครวญครางเพราะบาป [ของเขา]” เราสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งนี้ รวมถึงเชื่อมโยงกับความมุ่งมั่นอย่างมีความหวังที่ตามมาได้: “กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าได้วางใจผู้ใด” (ดู 2 นีไฟ 4:15–19)

ขณะที่นีไฟและผู้คนของเขาเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” (2 นีไฟ 5:27) พวกเขาก็เรียนรู้เช่นกันว่าความสุขไม่ได้มาโดยง่ายหรือไม่ได้มาโดยไม่มีช่วงเวลาของโทมนัสเลย ท้ายที่สุดแล้ว ความสุขมาจากการวางใจพระเจ้า “ศิลาแห่งความชอบธรรม [ของเรา]” (2 นีไฟ 4:35)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

ภาพ
ไอคอนเซมินารี

2 นีไฟ 3:6–24

พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกโจเซฟ สมิธให้ฟื้นฟูพระกิตติคุณ

ลีไฮเล่าให้โจเซฟบุตรชายฟังถึงคำพยากรณ์ที่โยเซฟแห่งอียิปต์ให้ไว้ คำพยากรณ์เกี่ยวกับอนาคตของ “ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ” โจเซฟ สมิธ ข้อ 6–24 กล่าวว่าโจเซฟ สมิธจะทำอะไรเพื่อเป็นพรแก่ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า? พิจารณาว่างานของโจเซฟ สมิธ “มีค่ายิ่ง” ต่อท่านอย่างไร   คิดเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ และบันทึกคำตอบของท่าน:

  • สิ่งที่โจเซฟ สมิธสอนทำให้ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?

  • ชีวิตท่านเปลี่ยนแปลงอย่างไรเนื่องจากสิ่งที่พระเจ้าทรงฟื้นฟูผ่านโจเซฟ สมิธ?

  • ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไรถ้าการฟื้นฟูไม่เกิดขึ้น?

ส่วนสำคัญประการหนึ่งของพันธกิจของโจเซฟ สมิธคือการนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา ท่านเรียนรู้อะไรจากบทนี้เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้พระคัมภีร์มอรมอนมีความสำคัญ? ท่านอาจมองหาเหตุผลใน ข้อ 7, 11–13, 18–24 เป็นพิเศษ

ดู “สรรเสริญบุรุษ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 14 ด้วย

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า โดย เดวิด ลินสลีย์

2 นีไฟ 4:15–35

“ข้าแต่พระเจ้า, ข้าพระองค์วางใจในพระองค์”

นีไฟกล่าวว่าเขาจะ “เขียนเรื่องจิตวิญญาณข้าพเจ้า” (ข้อ 15) ขณะที่ท่านอ่านสิ่งที่เขาเขียนใน 2 นีไฟ 4:15–35 ให้ถามตนเองว่า “เรื่องจิตวิญญาณ ของฉัน คืออะไร?” ท่านอาจจดบันทึกไว้อย่างที่นีไฟเขียน และแบ่งปันกับคนที่ท่านรัก

การดูว่านีไฟพบการปลอบโยนอย่างไรเมื่อเขารู้สึกหนักใจและวิตกกังวลสามารถช่วยท่านได้เมื่อท่านมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน ดูข้อ 15–35 เพื่อหาข้อความที่ทำให้ท่านสบายใจ ท่านรู้จักคนอื่นที่อาจรู้สึกสบายใจเมื่อได้อ่านข้อความเหล่านี้หรือไม่?

ดู โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, “สิ่งของจิตวิญญาณของข้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 39, 41 ด้วย

2 นีไฟ 5

ฉันสามารถพบความสุขในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้

ท่านคิดว่าการมีความสุขหมายความว่าอย่างไร? นีไฟเขียนว่าผู้คนของเขามีชีวิตอยู่ “ตามทางแห่งความสุข” (2 นีไฟ 5:27) ท่านอาจมองหาทางเลือกที่นีไฟและผู้คนของเขาเลือกซึ่งช่วยให้พวกเขามีความสุข (ดู 2 นีไฟ 5:6, 10–17 เป็นตัวอย่าง) อะไรที่สามารถช่วยท่านสร้างชีวิตแห่งความสุขได้เช่นเดียวกับผู้คนของนีไฟ?

2 นีไฟ 5:20–21

การสาปแช่งอะไรมาสู่ชาวเลมัน?

ในสมัยของนีไฟ การสาปแช่งของชาวเลมันคือพวกเขา “ถูกตัดขาดจากที่ประทับ [ของพระเจ้า] … เพราะความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขา” (2 นีไฟ 5:20–21) นี่หมายความว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงถอนไปจากชีวิตพวกเขา ต่อมาเมื่อชาวเลมันน้อมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ “การสาปแช่งของพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่ดำรงอยู่กับพวกเขาอีกต่อไป” (แอลมา 23:18)

พระคัมภีร์มอรมอนกล่าวเช่นกันว่าเครื่องหมายของผิวคล้ำมาสู่ชาวเลมันหลังจากชาวนีไฟแยกจากพวกเขา ไม่มีใครเข้าใจลักษณะและรูปกายของเครื่องหมายนี้อย่างถ่องแท้ ในตอนแรกเครื่องหมายดังกล่าวมีเพื่อแยกแยะชาวเลมันจากชาวนีไฟ ต่อมา ขณะที่ชาวนีไฟและชาวเลมันต่างผ่านช่วงเวลาแห่งความชั่วร้ายและความชอบธรรม เครื่องหมายก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง

ศาสดาพยากรณ์ยืนยันในสมัยของเราว่าผิวคล้ำไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกความไม่โปรดปรานหรือการสาปแช่งของพระเจ้า ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันประกาศว่า “ข้าพเจ้ารับรองว่าสถานะของท่านเบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้กำหนดโดยสีผิว การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดปรานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการอุทิศตนของท่านต่อพระผู้เป็นเจ้าและพระบัญญัติของพระองค์ ไม่ใช่สีผิว” (“ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 94)

ดังที่นีไฟสอน พระเจ้า “ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย, ไม่ว่าดำและขาว, ทาสและไท, ชายและหญิง; … ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 26:33)

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

2 นีไฟ 3:6–24

โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์

  • พิจารณาว่าท่านจะสอนเด็กเกี่ยวกับงานยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้สำเร็จผ่านโจเซฟ สมิธได้อย่างไร ในตอนเริ่มต้น ท่านอาจช่วยเด็กหาคำว่า “ผู้หยั่งรู้” ใน 2 นีไฟ 3:6 และอธิบายว่าศาสดาพยากรณ์ถูกเรียกว่าผู้หยั่งรู้เพราะพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้พวกเขาเห็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น แบ่งปันเหตุผลที่ท่านรู้สึกขอบคุณที่มีผู้หยั่งรู้นำศาสนจักร

  • หนังสือภาพพระกิตติคุณ มีรูปภาพหลายภาพที่ท่านสามารถใช้สอนเกี่ยวกับงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำผ่านโจเซฟ สมิธ (ดู ภาพที่ 89–95) ให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับภาพนั้นๆ เหตุใดจึงเรียกโจเซฟ สมิธว่า “ผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอ”? โจเซฟ สมิธทำอะไรที่ “มีค่ายิ่ง”? (ข้อ 7)

2 นีไฟ 4:15–355

ฉันชื่นชอบ “เรื่องของพระเจ้า”

  • อะไรทำให้เรามีความสุข? ท่านอาจอ่านข้อต่างๆ จาก 2 นีไฟ 4 ด้วยกันเพื่อหาว่าอะไรที่ทำให้นีไฟพึงพอใจหรือทำให้เขามีความสุข (ดู ข้อ 15–16, 20–25, 34–35) ในข่าวสารของเขาเรื่อง “เรื่องจิตวิญญาณข้าพเจ้า” เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แบ่งปัน “เรื่องของพระเจ้า” เจ็ดอย่างที่ล้ำค่าสำหรับเขา (เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 39–41) บางทีท่านอาจทบทวนรายการของเขาด้วยกันและพูดคุยเกี่ยวกับ “เรื่องของพระเจ้า” ที่มีค่าต่อท่าน

  • 2 นีไฟ 5 อธิบายถึงสิ่งที่ช่วยให้ชาวนีไฟดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” (ข้อ 27) ท่านอาจเตรียมคำหรือภาพที่แสดงถึงสิ่งเหล่านี้และช่วยเด็กจับคู่สิ่งเหล่านั้นกับข้อต่างๆ ใน บทที่ 5 ตัวอย่างบางส่วน ได้แก่ ครอบครัว (ข้อ 6) พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 10) พระคัมภีร์ (ข้อ 12) งาน (ข้อ 15 และ 17) พระวิหาร (ข้อ 16) และการเรียกในศาสนจักร (ข้อ 26) สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความสุขได้อย่างไร?

2 นีไฟ 5:15–16

พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า

  • ขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 5:15–16 ให้เด็กฟัง ท่านอาจให้เด็กแสร้งทำเป็นช่วยนีไฟสร้างพระวิหาร ท่านสามารถแสดงภาพอาคารต่างๆ เช่น ภาพพระวิหารให้พวกเขาดูได้เช่นกัน พระวิหารแตกต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อย่างไร? แบ่งปันกันว่าเหตุใดพระวิหารจึงมีความสำคัญต่อท่าน (ดู “ฉันชอบมองดูพระวิหาร,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99)

ทุกช่วงเวลาสามารถเป็นช่วงเวลาแห่งการสอน อย่าคิดว่าการสอนครอบครัวเป็นสิ่งที่ท่านทำสัปดาห์ละครั้งในช่วงบทเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ให้คิดว่าเป็นสิ่งที่ท่านทำเป็นปกติ

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
ชาวนีไฟสร้างพระวิหาร

พระวิหารของนีไฟ โดย ไมเคิล ที. มาล์ม