2019
ความสำคัญนิรันดร์ของการเลือกที่ชอบธรรม
สิงหาคม 2019


ความสำคัญนิรันดร์ของ การเลือกที่ชอบธรรม

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ฮาวายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 และที่มหาวิทยาลัยยูทาห์แวลลีย์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019

การเลือกที่เราทำสำคัญอย่างยิ่ง—การเลือกเหล่านั้นเป็นกุญแจไขอนาคตและความสุขของเรา

ภาพ
people walking toward a bright door

ภาพประกอบจาก Getty Images

เราอยู่ในโลกที่เน้นความหลากหลายเหนือความเป็นหนึ่งเดียวกัน คนจำนวนมากคิดเอาเองว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่คนต่างวัฒนธรรมและภูมิหลังหลากหลายจะเป็นหนึ่งเดียวกันในเป้าหมายร่วมกัน บางคนยืนยันว่า “เราขาดความเข้าใจไปในทางเดียวกันในเรื่องของการอยู่ [ร่วมกัน] ของคนต่างความเชื่อต่างวัฒนธรรม”1 บางคนเชื่อว่า “โลกถูกกำหนดโดยชาติพันธุ์เดียวของคุณ พวกเขาเรียกสังคมว่าเป็นสนามรบ” ที่ “บ่มเพาะความไม่เชื่อใจ การแบ่งแยก และความเย็นชาทางอารมณ์”2

สิ่งเดียวที่จะตอบคำยืนยันเหล่านี้คือพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ความชอบธรรมเป็นหลักธรรมพื้นฐานอันนำมาซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสุข ข้าพเจ้าชอบ 2 นีไฟ บทที่ 9 ซึ่งประกอบด้วยคำสอนเรื่องการเรียนรู้ ปัญญา ความร่ำรวย แรงงาน และการไม่ยอมดูหรือฟังผลของบาป ทั้งยังประกอบด้วยหลักคำสอนอันลึกซึ้งที่ให้เราเดินตามเส้นทางแห่งความชอบธรรมไปหาพระผู้ช่วยให้รอด

ข้าพเจ้าจะแบ่งปันหลักธรรมห้าข้อที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะช่วยให้เราแสวงหาศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ความชอบธรรม และความรู้ได้สำเร็จ วัตถุประสงค์เหล่านี้สอดคล้องกันและเสริมกัน ในระดับปฏิบัติ หลายท่านกำลังเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตครอบครัวและวิธีจุนเจือครอบครัวท่าน ศรัทธา ความชอบธรรม และความรู้จะช่วยท่านอย่างมากทั้งสองด้าน การทำงานที่ซื่อสัตย์ทั้งหมดคุ้มค่าและน่าชื่นชม งานที่มีคุณค่า มีความหมาย และมีแนวคิดใหม่ๆ และงานที่เป็นพรแก่มนุษยชาติล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ภาพ
man harvesting ideas

1. เรียนรู้ต่อไป

หลักธรรมข้อแรกที่ข้าพเจ้าจะแบ่งปันคือจงแสวงหาความรู้ด้วยความชอบธรรมและความกระตือรือร้นต่อไป วีรบุรุษคนหนึ่งของข้าพเจ้าในประเภทนี้คือพอล ค็อกซ์สมาชิกที่แข็งขันของศาสนจักร เขาได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์และปริญญาโทอีกหลายสาขา เขารับใช้งานเผยแผ่ในซามัวและต่อมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของเขาในซาไวอี ซามัวเป็นเวลาหลายปี ด้านหนึ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือแพทย์แผนโบราณ เขาศึกษาพืชบางชนิดที่มารดาชาวซามัวใช้รักษาปัญหาสุขภาพมาหลายชั่วคน เขากับเพื่อนคนหนึ่งร่วมกันเขียนหนังสือเรื่อง พืช คน และวัฒนธรรม: วิทยาศาสตร์ด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน3

เขาพัฒนาหลายด้านในการรักษาโรค แม้จะทำหลายอย่างในอาชีพที่โดดเด่นของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าประสงค์จะกล่าวถึงเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน พอลกับฟูอิโอโน เซนิโอหัวหน้าชาวซามัวทำงานวิจัยด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในหมู่บ้านฟาเลอาลูโปทางประเทศซามัวตะวันตก

เรื่องราวใน นิตยสารบีวายยู รายงานว่า “หมู่บ้านออกใบอนุญาตตัดไม้ในป่าของตนให้บริษัทตัดไม้แห่งหนึ่งอย่างไม่เต็มใจเพื่อระดมทุนมาสร้างโรงเรียน ค็อกซ์กล่าวว่าเพราะ ‘พวกเขารู้สึกว่าต้องเลือกระหว่างลูกหลานกับป่า ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากมากๆ สำหรับพวกเขา’ เมื่อค็อกซ์ทราบเรื่องการติดต่อทางธุรกิจกับบริษัทตัดไม้แห่งนั้น เขาบอกหัวหน้าทั้งหลายว่าเขาจะออกเงินค่าสร้างโรงเรียนให้ถ้าพวกเขาระงับการตัดไม้” ในป่าฝนได้4

เขาสร้างโรงเรียนด้วยความช่วยเหลือของนักธุรกิจหลายคนที่มีเครือข่ายกับซามัว5 บราเดอร์ค็อกซ์ได้รับความเคารพนับถือและรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัล Goldman Environmental Prize สำหรับวีรบุรุษสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า เขาเป็นตัวแทนของคนที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นพรแก่มนุษยชาติ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของคนที่รักการเรียนรู้และพลังเสริมของความรู้

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน วีรบุรุษอีกคนหนึ่งของข้าพเจ้า เป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนาการผ่าตัดเปิดหัวใจ ซึ่งเป็นพรอย่างยิ่งต่อคนที่อยู่ในยุคสมัยของเรา หลายปีก่อน ข้าพเจ้าถามท่านเรื่องประวัติศาสตร์อันน่าอัศจรรย์ของการผ่าตัดเปิดหัวใจและบทบาทสำคัญของท่านในเรื่องนี้ เราสนทนากันเป็นเวลาพอสมควร และจากนั้นท่านกล่าวอย่างถ่อมตนว่า “น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่พระเจ้าผู้ทรงรู้ทั้งหมดทรงยอมให้เราได้รับปีติใหญ่หลวงจากการค้นพบความรู้ด้านต่างๆ”

2 นีไฟ 9:29 อ่านว่า “แต่การเป็นผู้คงแก่เรียนย่อมดีหากพวกเขาสดับฟังคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้า” ความรู้สำคัญเสมอ และปัจจุบันเราอยู่ตรงจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นมากมายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แน่นอนว่าความก้าวหน้าส่วนมากจะมีประโยชน์มหาศาลต่อศาสนจักรและต่อครอบครัวมนุษย์ทั้งหมด ความรู้ที่ใช้อย่างชอบธรรม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ล้วนสำคัญ

ภาพ
man standing at a crossroads

2. การเลือกที่ชอบธรรมเป็นเรื่องสำคัญ

หลายปีก่อนเอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟน ปัจจุบันเป็นสมาชิกเกียรติคุณแห่งโควรัมสาวกเจ็ดสิบ ได้ยกตัวอย่างชวนขบขันของการเลือกที่ไม่ดีระหว่างเป็นผู้พูดในนิวซีแลนด์ เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ปีศาจคุกกี้ (ตัวละครมีชื่อใน Sasame Street) ชนะรายการแข่งขันตอบปัญหา และมีสามรางวัลให้เขาเลือก หนึ่ง เขาจะได้บ้านหลังใหม่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า สอง เขาจะได้รถคันใหม่ในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า หรือสาม เขาจะกินคุกกี้ที่อร่อยมาก—ตอนนี้! ท่านคิดว่าเขาเลือกอะไร ท่านคิดถูก—เขาเลือกคุกกี้!6

เราหัวเราะกับเรื่องนี้ แต่การเลือกที่เราทำสำคัญอย่างยิ่ง—การเลือกเหล่านั้นเป็นกุญแจไขอนาคตและความสุขของเรา พึงจดจำว่า เราเป็นผลรวมทั้งหมดของการตัดสินใจทุกอย่างที่เราทำ เราอยู่ในยุคที่การเลือกแทบทุกอย่างถูกแย้งหรือถูกตรวจสอบ คนมากมายคัดค้านหลักธรรมหรือข้อเสนอที่ชอบธรรมแทบจะทันที (ดู 2 ทิโมธิ 4:3) เมื่อใกล้ถึงจุดจบของชีวิต ศาสดาพยากรณ์ลีไฮสอนว่า

“เพราะจำเป็นต้อง, มีการตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง.

“ดังนั้น, มนุษย์เป็นอิสระตามเนื้อหนัง; และสิ่งทั้งปวงซึ่งสมควรแก่มนุษย์ประทานให้พวกเขา. และพวกเขาเป็นอิสระที่จะเลือกเสรีภาพและชีวิตนิรันดร์, โดยผ่านพระผู้เป็นสื่อกลางที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์, หรือจะเลือกการเป็นเชลยและความตาย, ตามการเป็นเชลยและอำนาจของมาร; เพราะเขาแสวงหาเพื่อจะให้มนุษย์ทั้งปวงเศร้าหมองเหมือนตัวเขา” (2 นีไฟ 2:11, 27)

เพราะเกิดสงครามในสวรรค์ต่อต้านแผนแห่งความรอด (ดู อับราฮัม 3) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลักศาสนาที่สอนในสมัยการประทานสุดท้ายนี้ถูกโจมตีอย่างโหดร้ายรุนแรง แต่เกรงว่าเราจะท้อ ขอให้เราจดจำผลของสงครามในสวรรค์และผลอันดีเยี่ยมที่เรารู้ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

ศัตรูตัวฉกาจของการเลือกที่ดีคือการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง หลายคนอ้างเหตุผลว่าเราไม่ต้องรับผิดชอบการเลือกของเรา แต่เพราะพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ เราจึงรู้ว่าเรา ต้อง รับผิดชอบ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:3) เรารู้เช่นกันว่าเราต้องรายงานต่อใคร ต่อพระผู้ช่วยให้รอด! (ดู 2 นีไฟ 9:41; ดู กิจการของอัครทูต 4:12ด้วย)

บางครั้งการเลือกที่สำคัญเรียบง่ายมาก สมัยเป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มในอังกฤษ ข้าพเจ้ากับคู่มีโอกาสไปพระวิหาร ขณะเดินลัดสนามของพระวิหาร เซลวอย เจ. โบเยอร์ประธานพระวิหารเดินมาหาเรา เมื่อเห็นป้ายผู้สอนศาสนา เขาชี้ที่เราและถามว่า “มัทธิว 5:48—คุณรู้จักพระคัมภีร์ข้อนี้หรือเปล่า” คู่ข้าพเจ้าตอบว่า “เพราะฉะนั้นจงเป็นคนดีพร้อมเหมือนอย่างที่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” ประธานโบเยอร์พูดว่า “ถูกต้อง เอ็ลเดอร์ครับ คุณดำเนินชีวิตตามพระบัญชานั้นหรือเปล่า”

เราเริ่มอึกอัก เรารู้ว่าเราไม่ดีพร้อม! เขาช่วยเราตอบ เขาถามว่าสามวันที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง เขาถามว่าเราเข้านอนกี่โมง เราตื่นกี่โมง เรามีการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวและกับคู่ไหม และเราออกไปเผยแผ่ตรงเวลาหรือไม่ จากนั้นเขาพูดว่า “ผมทราบดีว่าคุณไม่ดีพร้อม แต่สามวันที่ผ่านมาคุณได้ทำการเลือกที่ดีพร้อม และนั่นหมายความว่าคุณกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง” เขาปล่อยให้เรานึกถึงความสำคัญของสิ่งที่เขาถาม

ลีไฮร้องขอเกี่ยวกับการเลือกซึ่งบิดาและมารดาที่ชอบธรรมทุกคนขอร้องบุตรธิดาของตนดังนี้ “พ่ออยากให้ลูกมองหาพระผู้เป็นสื่อกลางที่ยิ่งใหญ่องค์นี้, และสดับฟังพระบัญญัติอันสำคัญยิ่งของพระองค์; และซื่อสัตย์ต่อพระวจนะของพระองค์, และเลือกชีวิตนิรันดร์, ตามพระประสงค์ของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” (2 นีไฟ 2:28)

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่ามีการตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวงและการเลือกที่ชอบธรรมของเราสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่ออายุยังน้อย ข้าพเจ้าได้รู้จักกับคำกล่าวของแฮร์รีย์ อีเมอร์สัน ฟอสดิคบาทหลวงเลื่องชื่อนิกายโปรเตสแตนท์ เมื่อพูดถึงการเลือก เขากล่าวว่า “ความชั่วร้ายอันน่าสลดใจของชีวิตเราโดยปกติเกิดจากความไม่ตั้งใจ เราไม่ได้อยากทำเพื่อเป้าหมายราคาถูกและต่ำช้าเช่นนั้น จุดมุ่งหมายนั้นไม่อยู่ในความคิดเราเลย … นั่นคือสาเหตุที่ถนนไปนรกมักปูลาดด้วยความตั้งใจดีเสมอ และนั่นคือสาเหตุที่ข้าพเจ้าไม่ยกย่องอุดมการณ์อันสูงส่ง จุดมุ่งหมายอันล้ำเลิศ จุดประสงที่ดีงาม ปณิธานที่เลิศหรู แต่กำลังบอกว่าสิ่งที่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในโลกคือการยอมรับสิ่งเหล่านั้นและคิดว่าคุณเชื่อในสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่สนใจจะลงมือทำทุกวันเพื่อไปให้ถึง โอ จิตวิญญาณข้าพเจ้า จงดูถนนที่ท่านเดินอยู่! คนที่หยิบปลายไม้ด้านหนึ่งขึ้นมาเท่ากับหยิบปลายไม้อีกด้านหนึ่งขึ้นมาด้วย คนที่เลือกจุดเริ่มต้นของถนนเท่ากับเลือกสถานที่ซึ่งถนนนั้นพาไป หนทางกำหนดจุดหมาย”7

3. ทุ่มเทความพยายามทุกวัน

การพยายามทุ่มเททำสิ่งชอบธรรมทุกวันดีกว่าสร้างวีรกรรมเป็นครั้งคราว จิม จาร์ดีนเพื่อนของข้าพเจ้าบอกไว้ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ว่าสมัยเป็นนักศึกษา เขาคิด “เรื่องการอุทิศชีวิต [ของเขา] ให้กับการสร้างวีรกรรมครั้งใหญ่สักครั้ง” แต่คิดขึ้นมาได้ว่า “การอุทิศเช่นนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งเดียวของชีวิต แต่เป็นความทุ่มเททุกวัน”8

สมัยข้าพเจ้าเป็นเยาวชน ข้าพเจ้าต้องการพิสูจน์ตนเองผ่านวีกรรมบางอย่างเช่นกัน เดวิด แพทเท็น คิมบัลล์คุณตาทวดของข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในชายหนุ่มคนหนึ่งที่ไปช่วยแบกสมาชิกในคณะรถลากมาร์ตินข้ามแม่น้ำสวีทวอเทอร์ นั่นฟังเหมือนเป็นการอุทิศถวายที่ข้าพเจ้ากำลังมองหา ต่อมา เมื่อข้าพเจ้าพูดคุยกับโครเซียร์ คิมบัลล์คุณตาข้าพเจ้า ท่านอธิบายว่าเมื่อประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) ส่งคนไปทำพันธกิจช่วยชีวิต ท่านแนะนำพวกเขาให้ทำสุดความสามารถเพื่อช่วยชีวิตคณะรถลากให้ได้ การอุทิศถวายของพวกเขาคือการ “ทำตามศาสดาพยากรณ์” คุณตาบอกข้าพเจ้าว่าการอุทิศตนทำหน้าที่หรือปฏิบัติหลักธรรมหนึ่งอย่างซื่อสัตย์และเสมอต้นเสมอปลายถือว่าน่าชื่นชมมาก

การที่เดวิด แพทเท็น คิมบัลล์ช่วยชีวิตผู้บุกเบิกถือเป็นวีรกรรมฉันใด การทำตามศาสดาพยากรณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านเรื่องการลดใช้สื่อสังคม การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจายทั้งสองด้านของท่านถือเป็นวีรกรรมในปัจจุบันทัดเทียมกันฉันนั้น ถ้าเราช่วยรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย เรากำลังช่วยจิตวิญญาณของมนุษยชาติ—เช่นเดียวกับคุณตาทวดของข้าพเจ้าช่วยชีวิตคนในคณะรถลาก

สมาชิกบางคนของศาสนจักรกล่าวว่าพวกเขาตั้งใจจะทำด้วยความกระตือรือร้นถ้าได้รับการเรียกที่สำคัญบางอย่าง แต่พวกเขาไม่เห็นว่าการปฏิบัติศาสนกิจหรือการรวบรวมประวัติครอบครัวเป็นวีรกรรมมากพอที่พวกเขาจะต้องทำต่อไป

ภาพ
people shaking hands

4. จงเข้มแข็งและไม่หวั่นไหวในเรื่องความชอบธรรม

หลายปีก่อน เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเกี่ยวกับเพื่อนบางคนของท่านที่แข็งขันน้อยในศาสนจักร ท่านกล่าวว่าท่านสังเกตเห็นศรัทธาลุ่มๆ ดอนๆ ของพวกเขาและสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เอ็ลเดอร์แม็กซ์เวลล์กล่าวต่อจากนั้นว่า

“ข้อหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนให้คำอธิบายเป็นที่น่าพอใจที่สุด คำอธิบายดังกล่าวเป็นประโยคคำถามใน โมไซยาห์ 5:13 ว่า ‘เพราะคนจะรู้จักผู้เป็นนายซึ่งเขาไม่เคยรับใช้, และเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา, และอยู่ไกลจากความนึกคิดและเจตนาของใจเขาได้อย่างไร?’

“ข้อนี้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามปรกติ นั่นคือ โดยพื้นฐานแล้วคนดีเพียงแต่หมกมุ่นอยู่กับความห่วงกังวลของโลก ถ้าเรากลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพระอาจารย์แทนที่จะเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น แสดงว่าเราหลงทาง โดยปกติคนดีเหล่านี้ไม่ได้ทำการล่วงละเมิดร้ายแรง แต่พวกเขาทำตัวเหินห่างจากพระผู้ช่วยให้รอด และพระองค์จึงกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขา”9

จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องวางศรัทธาในพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราพระเยซูคริสต์ไว้กลางชีวิตเรา ประธานคณะเผยแผ่ที่ยอดเยี่ยมของเราให้ผู้สอนศาสนาแต่ละคนท่องจำข้อความเกี่ยวกับศรัทธาและความชอบธรรมซึ่งอยู่กับข้าพเจ้าตลอดชีวิต ข้าพเจ้าจะท่องให้ท่านฟัง

ไม่มีความบังเอิญ ไม่มีพรหมลิขิต ไม่มีชะตากรรมใด

สามารถหยุดยั้งหรือขัดขวางหรือควบคุม

ความตั้งใจแน่วแน่ของจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นได้10

เพื่อนรักทั้งหลาย ท่านต้องเป็นจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นเมื่อมาถึงเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

5. รับมรดกของท่านผ่านการเลือกที่ชอบธรรม

หนึ่งในเรื่องราวที่ดีมากๆ ในพระคัมภีร์มอรมอนคือคำแนะนำที่แอลมาให้แก่บุตรชายสามคนของเขา—คือฮีลามัน ชิบลัน และโคริแอนทอน แอลมาเป็นบุตรของแอลมาศาสดาพยากรณ์ เขาประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมในอันน่าอัศจรรย์สมัยเป็นชายหนุ่ม เขากลายเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของประเทศ เป็นมหาปุโรหิตและศาสดาพยากรณ์ของศาสนจักร บุตรชายสองคนของเขาเลือกทำสิ่งดี แต่บุตรชายคนหนึ่งเลือกทำสิ่งไม่ดีมากๆ บางอย่าง สำหรับข้าพเจ้าสิ่งสำคัญที่สุดในคำแนะนำของแอลมาคือเขากำลังให้คำแนะนำในฐานะบิดาของลูกๆ ข้อกังวลข้อแรกของเขาคือลูกๆ ควรมีประจักษ์พยานในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์

แอลมาเริ่มในบทที่ 36 โดยเล่าเรื่องการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันน่าอัศจรรย์ของเขาให้ฮีลามันฟัง เทพบอกแอลมาว่าเขาจะถูกทำลายถ้าไม่เลิกต่อต้านศาสนจักร เขาเป็นพยานว่าความรู้ที่เขาแบ่งปันไม่ได้มาจากสติปัญญาของเขาเองแต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อเขา เขาต้องการให้ฮีลามันมีประจักษ์พยาน

หลายท่านมีประจักษ์พยาน เราแต่ละคนต้องมีประจักษ์พยานส่วนตัว ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ (1838–1919) กล่าวว่า “ความผิดอย่างหนึ่งที่วิสุทธิชนหนุ่มสาวและสูงวัยพึงหลีกเลี่ยงคือแนวโน้มที่เขาจะอยู่ด้วยแสงสว่างที่ยืมมา [และ] ยอมให้ … แสงสว่างในตัวเขาเป็นเงาสะท้อนแทนที่จะเป็นต้นกำเนิดของแสง”11

ประธานฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ (1801–1868) ที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานยังก์กล่าวว่า

“เวลาจะมาถึงเมื่อไม่มีชายหรือหญิงคนใดอดทนได้โดยอาศัยแสงสว่างที่ยืมมา แต่ละคนจะต้องมีแสงนำทางอยู่ในตนเอง หากท่านไม่มี ท่านจะทนได้อย่างไร …

“… หากท่านไม่มีแสงสว่างท่านจะไม่ทน ด้วยเหตุนี้จงแสวงหาและยืนหยัดในประจักษ์พยานถึงพระเยซู เผื่อว่าเมื่อเกิดความยากลำบากท่านจะไม่สะดุดล้ม”12

หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 76 กล่าวถึงรัศมีภาพสามระดับและเปรียบเทียบรัศมีภาพซีเลสเชียลกับดวงอาทิตย์ จากนั้นจึงเปรียบเทียบอาณาจักรเทอร์เรสเตรียลกับดวงจันทร์และอาณาจักรทีเลสเชียลกับดวงดาว (ดู 1 โครินธ์ 15:41ด้วย)

น่าสนใจตรงที่ดวงอาทิตย์มีแสงสว่างในตนเอง แต่ดวงจันทร์เป็นแสงสะท้อนหรือ “แสงที่ยืมมา” เมื่อพูดถึงคนที่สืบทอดอาณาจักรเทอร์เรสเตรียลเป็นมรดก ข้อ 79 กล่าวว่า “คนเหล่านี้คือคนที่ไม่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู” เราจะไม่ได้อาณาจักรซีเลสเชียลและอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาโดยอาศัยแสงที่ยืมมา

จงสำนึกคุณถ้าท่านมีบิดามารดาที่ประเสริฐผู้มีประจักษ์พยานและสอนพระกิตติคุณให้ท่าน แต่ท่านต้องมีประจักษ์พยานของท่านเอง เกอเธ่นักปรัชญากล่าวว่า “สิ่งที่ท่านยืมมาจากมรดกของบรรพบุรุษ จงหาเอาใหม่เพื่อจะได้ครอบครองจริงๆ”13

แต่ละคนมีหน้าที่ต้องเลือกสิ่งที่ชอบธรรมและไตร่ตรองคำแนะนำห้าด้านที่ข้าพเจ้าอธิบายไปแล้วอย่างจริงจัง เป้าหมายหลักของท่านคือสร้างศรัทธาของท่านเอง สภาพของโลกเรียกร้องให้บุคคลเปลี่ยนใจเลื่อมใสลึกซึ้งขึ้นและเสริมสร้างศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

ภาพ
people walking towards light

พร้อมรับเวลาที่น่ากลัว

ศาสนจักรพยายามให้แผนที่นำทางเพื่อช่วยให้ท่านเลือกทำสิ่งที่ชอบธรรม พระเจ้าทรงเตรียมเรา บรรทัดมาเติมบรรทัด ให้พร้อมรับ “เวลาที่น่ากลัว” (2 ทิโมธี 3:1) ที่เราประสบในขณะนี้ หลักปฏิบัติบางประการที่ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองให้เป็นแผนที่นำทางได้แก่

  • การให้เกียรติวันสะบาโตและศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึกที่เน้นอีกครั้งตลอดห้าปีที่ผ่านมา

  • ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ โควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งเน้นย้ำจุดประสงค์และความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงกำหนดให้ศาสนจักรโดยช่วยให้สมาชิกทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์

  • ทำการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเบิกบานในวิธีที่สูงส่งกว่าและศักดิ์สิทธิ์กว่า

  • เมื่อเราเริ่มลงมือทำให้บรรลุเป้าหมาย พันธสัญญาพระวิหารและงานประวัติครอบครัวจะกลายเป็นส่วนที่มีจุดประสงค์ของเส้นทางพันธสัญญา

ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2018 ศาสนจักรเสนอการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดดุลยภาพใหม่ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในศาสนจักรกับในบ้าน เพื่อให้บรรลุความพยายามของการทำให้บ้านเป็นศูนย์กลางในวันสะบาโตและศาสนจักรให้การสนับสนุน ในคำปราศรัยของข้าพเจ้า ซึ่งอนุมัติโดยฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง เราประกาศว่าจุดประสงค์และพรอันเกี่ยวเนื่องกับการปรับเปลี่ยนนี้และการเปลี่ยนแปลงอื่นเมื่อเร็วๆ นี้ได้แก่

  • การทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระบิดาบนสวรรค์และพระเจ้าพระเยซูคริสต์ลึกซึ้งขึ้นและเสริมสร้างศรัทธาในทั้งสองพระองค์

  • เสริมสร้างความเข้มแข็งให้บุคคลและครอบครัวผ่านหลักสูตรที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลางและศาสนจักรให้การสนับสนุนซึ่งเอื้อต่อการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างเบิกบาน

  • ให้เกียรติวันสะบาโต โดยมุ่งเน้นศาสนพิธีศีลระลึก

  • ช่วยบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ทั้งสองด้านของม่านผ่านงานเผยแผ่ศาสนาและการรับศาสนพิธี พันธสัญญา และพรของพระวิหาร14

การปฏิบัติตามคำแนะนำที่ให้ไว้อย่างถูกต้องจะเป็นพรแก่ท่านเวลานี้และตลอดชีวิตท่าน

อ้างอิง

  1. เดวิด บรูคส์, “The Rise of the Amphibians,” New York Times, Feb. 15, 2018, nytimes.com.

  2. บรูคส์, “The Rise of the Amphibians.”

  3. ไมเคิล เจ. บาลิคและพอล อลัน ค็อกซ์, Plants, People, and Culture: The Science of Ethnobotany (1996).

  4. จูลี วอล์คเกอร์, “Professor and Samoan Chief Awarded for Saving Rain Forest,” BYU Magazine, Summer 1997, 8; ดู Anne Billings, “You Can Make a Difference: Paul Cox—Preserving God’s Creations,” Liahona, Nov. 1998, 32–37 ด้วย.

  5. รวมถึงสมาชิกศาสนจักรที่ชื่อเร็กซ์ มอฮัน, เคน เมอร์ด็อค และคนอื่นๆ ด้วย

  6. ดู บรูซ ซี. ฮาเฟนและมารี เค, ฮาเฟน, “Bridle All Your Passions,” Ensign, Feb. 1994, 16.

  7. แฮร์รีย์ อีเมอร์สัน ฟอสดิค, Living Under Tension (1941), 111.

  8. เจมส์ เอส. จาร์ดีน, “Consecration and Learning,” ใน Henry B. Eyring, ed., On Becoming a Disciple-Scholar: Lectures Presented at the Brigham Young University Honors Program Discipline and Discipleship Lecture Series (1995), 78.

  9. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Insights from My Life,” Ensign, Aug. 2000, 9.

  10. เอลลา วีลเลอร์ วิลค็อกซ์, “Will,” in Charles Wells Moulton, The Magazine of Poetry: A Quarterly Review, vol. 5 (1893). ประธานคณะเผยแผ่คือเอ็ลเดอร์มาเรียน ดี. แฮงส์

  11. โจเซฟ เอฟ. สมิธ, Gospel Doctrine, 5th ed. (1939), 87.

  12. ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ ใน ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์, Life of Heber C. Kimball, 6th ed. (1975), 450.

  13. โจฮานน์ วูล์ฟแกงก์ ฟอน เกอเธ่ Faust, trans. Bayard Taylor (1912), 1:28.

  14. ดู เควนทิน แอล. คุก, “การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันลึกซึ้งและยั่งยืนต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเจ้าพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 8–11.