2019
วิธีที่เซมินารีสามารถยกระดับประสบการณ์ จงตามเรามา ของครอบครัวท่านในตอนนี้
สิงหาคม 2019


วิธีที่เซมินารีสามารถยกระดับประสบการณ์ จงตามเรามา ของครอบครัวท่านในตอนนี้

ผู้เขียนเป็นครูเซมินารีในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

บิดามารดาทุกท่าน ต่อไปนี้เป็นวิธีที่เซมินารีสามารถทำให้การศึกษาพระกิตติคุณของครอบครัวท่านดีขึ้น

ภาพ
family rowing in different directions

ในอดีต ครอบครัวอาจลำบากใจกับการทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ในศาสนจักร ในเซมินารี และกับครอบครัวอยู่ในแนวเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็วๆ นี้จะช่วยให้การสนทนาพระกิตติคุณดีขึ้นสำหรับสมาชิกครอบครัวทุกคน

ภาพประกอบโดย ริชาร์ด มีอา

ในเดือนมีนาคม ปี 2019 ฝ่ายประธานสูงสุดประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับเซมินารี เวลานี้ชั้นเรียนเซมินารีทั่วโลกกำลังศึกษาพระคัมภีร์เล่มเดียวกับที่บุคคลและครอบครัวกำลังศึกษาที่บ้านและที่โบสถ์อันเป็นส่วนหนึ่งของ จงตามเรามา ในฐานะครูเซมินารี (และบิดามารดา) ไม่มีอะไรทำให้เราตื่นเต้นมากไปกว่านี้อีกแล้ว!

พรที่ชัดเจนประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ชีวิตวัยรุ่นของเราง่ายขึ้น นอกจากโรงเรียน กีฬา งาน เวลาของครอบครัว และชีวิตทางสังคมแล้ว เยาวชนจำนวนมากในอดีตพยายามศึกษาจากพระคัมภีร์สามเล่ม เล่มหนึ่งสำหรับเซมินารี เล่มหนึ่งสำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์ และอีกเล่มหนึ่งสำหรับศึกษาในครอบครัว นับว่ามากทีเดียว

เมื่อผู้นำศาสนจักรปรับแนวการศึกษาของครอบครัวและโรงเรียนวันอาทิตย์ให้อยู่ในพระคัมภีร์เล่มเดียวกัน การปรับแนวเซมินารีย่อมเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลเช่นกัน เพราะเยาวชนจะได้ศึกษาพระคัมภีร์หนึ่งเล่มเข้มข้นขึ้น แต่การทำให้ง่ายขึ้นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว

ซิสเตอร์บอนนี่ เอช. คอร์ดอนประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่าเมื่อขอให้เยาวชนเป็น “ส่วนหนึ่งของการสอน เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสำคัญนั้นที่บ้าน” พวกเธอจะช่วยในการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว”1

เยาวชนหิวกระหายความจริงและตื่นเต้นที่จะแบ่งปัน! อาจจะเชื่อได้ยากสักหน่อยถ้าวัยรุ่นเคยจ้องมองท่านด้วยสายตาว่างเปล่า พ่อแม่และครูอย่างเราล้วนเคยเห็นสายตาแบบนั้นมาแล้ว! ในฐานะครูเซมินารี เราถามคำถามวัยรุ่นตลอดเวลา บางครั้งพวกเขาจ้องกลับด้วยสายตาว่างเปล่าเพียงเพราะไม่มีคำตอบ แต่เมื่อปรับเซมินารีและหลักสูตร จงตามเรามา ให้อยู่ในแนวเดียวกัน เด็กวัยเซมินารีของเราสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่กำลังเรียนรู้ในเซมินารีกับการสนทนาพระกิตติคุณในครอบครัวและในทางกลับกันได้ง่ายขึ้น เราเห็นเช่นนั้นมาแล้วในชั้นเรียนเซมินารีของเรา

นำการศึกษาพระคัมภีร์จากบ้านมาเซมินารี

ต้นปี 2019 เมื่อเพิ่งเริ่ม จงตามเรามา เล่มใหม่ เรารู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นของนักเรียน แม้เรากำลังศึกษาจากพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาในเซมินารี แต่พวกเขาเริ่มแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาพันธสัญญาใหม่กับครอบครัว พวกเขาตื่นเต้นกับเรื่องนี้มาก เมื่อเราศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 89 (พระคำแห่งปัญญา) ในเซมินารี ราวช่วงเดียวกันเราจะศึกษา ยอห์น 2 (เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น) ใน จงตามเรามา การหาหลักธรรมและแนวคิดร่วมระหว่างการอ่านทั้งสองช่วยให้นักเรียนได้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากบ้านให้กับเพื่อนวัยเดียวกัน พวกเขามีส่วนร่วมมากขึ้น และการสนทนาออกรสมากขึ้นเพราะนักเรียนมีเรื่องให้พูด พวกเขาสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบ้านกับสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้จากเซมินารี

ภาพ
family rowing in the same direction

นำเซมินารีเข้ามาในบ้าน

ในปี 2020 การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนที่บ้าน ในเซมินารี และในโรงเรียนวันอาทิตย์เปิดประตูกว้างขึ้นให้นักเรียนได้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในสถานที่เหล่านี้มากขึ้น

กลยุทธ์การเรียนรู้บางอย่างที่เราใช้ในเซมินารีสามารถช่วยเรื่องการศึกษาพระคัมภีร์ของครอบครัวได้ การรู้กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยให้ท่านมองเห็นวิธีช่วยให้วัยรุ่นของท่านมีส่วนร่วมมากขึ้นในการศึกษาพระคัมภีร์ที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลาง

ขณะท่านนั่งกับครอบครัว วัยรุ่นของท่านจะศึกษาหลักธรรมเดียวกันจากพระคัมภีร์เล่มเดียวกัน และพวกเขาจะมีข้อคิดถ้าพวกเขาศึกษาหลักธรรมเหล่านั้นในเซมินารีแล้ว พวกเขาจะไม่รู้สึกเหมือน “ตกเป็นเป้าสายตา” เมื่อท่านขอให้พวกเขาแบ่งปันเพราะพวกเขาจะมีให้แบ่งปันจริงๆ ประสบการณ์ของพวกเขาที่เซมินารีจะช่วยให้พวกเขาสามารถพูดคุยเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่บ้านได้ การสังสรรค์ในครอบครัวและการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวจะกลายเป็นเวลาแบ่งปันข้อคิดส่วนตัวให้กันมากขึ้น

คำถามปลายเปิดบางคำถามที่ท่านจะใช้เชื้อเชิญให้วัยรุ่นของท่านแบ่งปันในบ้านมีดังนี้

  1. ท่านมีประสบการณ์ทางวิญญาณอะไรบ้างในเซมินารีวันนี้

  2. อะไรมีผลต่อท่านมากที่สุดวันนี้

  3. ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรในเซมินารีที่รู้สึกว่าจะช่วยครอบครัวเราได้

  4. วันนี้ท่านเรียนพระคัมภีร์เรื่องใดที่รู้สึกว่าสามารถแบ่งปันกับเราได้

  5. เรื่องราวพระคัมภีร์เรื่องใดมีผลต่อชีวิตท่านในเซมินารี

  6. วันนี้ท่านได้รับการดลใจอย่างไรในเซมินารีให้เป็นคนดีขึ้น

  7. ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเพราะสิ่งที่ท่านเรียนรู้ในเซมินารี

อาจมีหลายครั้งที่การศึกษาของท่านกับครอบครัวล้ำหน้าสิ่งที่กำลังศึกษาในเซมินารี ในช่วงเวลาเหล่านี้ ครูเซมินารีอาจจะนำคำถามข้างต้นมาใช้เพื่อดึงสิ่งที่เยาวชนกำลังเรียนรู้ที่บ้านออกมา

ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน

วิธีศึกษาพระคัมภีร์ของเซมินารีไม่เกี่ยวกับการท่องจำอีกต่อไป เราเน้นผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน—ช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ประยุกต์ใช้ และได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักคำสอนที่สอนในพระคัมภีร์ เกี่ยวกับการทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสหลักคำสอนที่แท้จริงลึกซึ้งขึ้นและรู้ว่าจะสอนด้วยพลังอำนาจอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าข้อหนึ่งสอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ เมื่อเราศึกษาข้อนั้นในเซมินารี เราค้นคว้าข้ออื่นที่สอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ จากนั้นเรากระตุ้นให้นักเรียนบันทึกสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์จากข้อเหล่านั้น สุดท้าย เราคิดสถานการณ์ให้นักเรียนแสดงบทบาทว่าพวกเขาจะอธิบายความเชื่อของเราอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์โดยใช้พระคัมภีร์เหล่านั้น

ท่านอาจจะใช้วิธีนี้ที่บ้านและเชื้อเชิญให้วัยรุ่นของท่านทำดังนี้

  1. สอนหลักธรรมในพระคัมภีร์

  2. แบ่งปันข้ออ้างโยงกับพระคัมภีร์เล่มอื่นเกี่ยวกับหัวข้อนั้น

  3. ช่วยครอบครัวท่านท่องจำหรือจดจำวิธีหาข้อต่างๆ

  4. สนทนาว่าคำสอนเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านอย่างไร

เตรียมการเรียนรู้เชิงลึก

ในเซมินารีเน้นมากเรื่องการเรียนรู้เชิงลึก—การเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส ส่วนสำคัญอย่างยิ่งของการเรียนรู้เชิงลึกคือการเตรียมเรียนรู้ให้ดีขึ้น การเตรียมนักเรียนให้พร้อมมากขึ้นต่างกันไปสำหรับชั้นเรียนเซมินารีแต่ละชั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ชั้นเรียนเซมินารีบางชั้นพยายามทำอยู่คือการบ้านที่ให้อ่านมาล่วงหน้า เราส่งพวกเขากลับบ้านพร้อมช่วงพระคัมภีร์ที่ให้อ่านเป็นการบ้านและคำถามบางข้อให้ศึกษาเพื่อพวกเขาจะได้อ่านพระคัมภีร์ที่เราจะศึกษาในชั้นเรียน เมื่อหลักสูตรเซมินารีและ จงตามเรามา อยู่ในแนวเดียวกันมากขึ้น นักเรียนสามารถแบ่งปันสิ่งที่เซมินารีให้อ่านมาล่วงหน้ากับครอบครัวของพวกเขา การทำเช่นนั้นจะทำให้ครอบครัวมีวิธีเรียนรู้ด้วยกันอีกหนึ่งวิธี

ท่านอาจเชื้อเชิญให้วัยรุ่นของท่านทำดังนี้

  1. แบ่งปันการบ้านที่ให้อ่านมาล่วงหน้ากับครอบครัว

  2. หลังจากเรียนเซมินารี ให้แบ่งปันว่าเขาเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับหัวข้อนี้

ตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง

ท่านอาจสังเกตเห็นว่าหลักสูตร จงตามเรามา มักจะกระตุ้นให้เราตั้งเป้าหมาย นี่เป็นเรื่องที่เรากำลังเน้นในเซมินารีเช่นกัน เรากำลังสอนให้นักเรียนตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่แค่เป้าหมายทั่วไปเช่น “มีสุขภาพดีขึ้น” เมื่อนักเรียนตั้งเป้าหมาย พวกเขาวางแผนว่าพวกเขาจะบรรลุเป้าหมายนั้น เมื่อใด ที่ไหน และ อย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าวัยรุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาความอดทนมากขึ้น ขั้นต่อไปคือวางแผนว่าพวกเขาจะพัฒนาอย่างไร พวกเขารู้สึกว่าตนต่อสู้กับความอดทนในด้านใดหรือในสภาวะแวดล้อมใด นักเรียนคนหนึ่งตัดสินใจว่าเขาจะใช้ความอดทนมากขึ้นเมื่อขับรถ เมื่อเราคุยกันว่าเขาจะฝึกความอดทนในขณะขับรถได้อย่างไร เขาคิดแผนหนึ่งขึ้นมานั่นคือเขาจะฟังเพลงเย็นๆ ในรถและเขียนข้อความติดไว้บนแผงหน้าปัดรถยนต์เพื่อเตือนให้เขาสวดอ้อนวอนขอความอดทนทุกครั้งที่เขาอยู่ในรถ

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้วัยรุ่นของท่านทำดังนี้

  1. พูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายของเขา

  2. แบ่งปันว่าครอบครัวท่านจะตั้งเป้าหมายคล้ายกันและทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร

เพิ่มพลังให้บุตรธิดาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวท่าน

ท่านมีโอกาสดีเหลือเชื่อที่จะฉีดความกระตือรือร้นเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปในการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว และตอนนี้หลักสูตรอยู่ในแนวเดียวกันแล้ว ท่านจึงสามารถเชื้อเชิญให้บุตรธิดาวัยเซมินารีแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ได้ เมื่อพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์เล่มเดียวกันในเซมินารีและกับครอบครัวของพวกเขาใน จงตามเรามา พวกเขาจะมีพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวมากกว่าเดิมด้วยข้อคิดของพวกเขาในพระกิตติคุณ

ขั้นตอนต่อไปนี้ที่ศาสนจักรพยายามเป็น “ศาสนจักรที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลาง และให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอาคารของสาขา วอร์ด และสเตคสนับสนุน”2 จะเพิ่มพลังให้เยาวชนมีบทบาทมากขึ้นในการเสริมสร้างครอบครัวของพวกเขา เราเห็นด้วยกับเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเมื่อท่านกล่าวว่า “เราคิดว่านี่เป็นวิวัฒนาการครั้งใหญ่มากในยุคนี้ที่เยาวชนของเราต้องการพลังทางวิญญาณมากขึ้น เราคิดว่านี่เป็นการจัดแนวทางที่ดีเยี่ยมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสิ่งที่ศาสนจักรทำอยู่ และเราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสอนพระกิตติคุณที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลาง ให้ศาสนจักรสนับสนุน—และเวลานี้เราให้เซมินารีสนับสนุนด้วย”3

อ้างอิง

  1. บอนนี่ เอช. คอร์ดอน, “Seminary Curriculum to Support Home-centered Learning” (video, Mar. 22, 2019), ChurchofJesusChrist.org.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คำกล่าวเปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 7.

  3. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “Seminary Curriculum to Support Home-centered Learning.”