2018
ของประทานที่สวยงามของศีลระลึก
August 2018


ของประทานที่สวยงามของศีลระลึก

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “มาหาพระคริสต์” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮ วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2017

จงสวดอ้อนวอนให้ท่านมีพลังอีกครั้งขณะท่านรับส่วนศีลระลึกและระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
woman taking the sacrament

ในเดือนเมษายน ปี 2017 เรามีโอกาสช่วยงานโอเพ่นเฮาส์ที่พระวิหารปารีส ฝรั่งเศสก่อนการอุทิศวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2017 ประติมากรรม Christus ที่สวยงามตั้งอยู่บริเวณพระวิหาร จำลองมาจากต้นแบบผลงานชิ้นเอกปี 1838 ของเบอร์เทล ธอร์วัลด์เซ็น ประติมากรชาวเดนมาร์ก ประติมากรรมดังกล่าวเป็นจุดสนใจในสวน ประกาศต่อทุกคนถึงความเชื่อของเราในพระเยซูคริสต์ ความสง่างาม ขนาด และสภาวะแวดล้อมเป็นที่จับตาจับใจ รูปปั้นพระเจ้าผู้คืนพระชนม์ดึงดูดผู้มาเยือนและพวกเขามักจะต้องการยืนถ่ายรูปที่นั่น

บ่อยครั้งจะเรียกประติมากรรมดังกล่าวว่า Christus Consolator ผู้ปลอบประโลมคือคนที่ปลอบประโลม1 ปลอบประโลมหมายถึงปลอบโยนกันยามทุกข์โศกหรือผิดหวัง ปลอบใจ เห็นใจ สงสาร หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน2 สำหรับเรา ประติมากรรม Christus ถ่ายทอดพระคุณลักษณะเหล่านี้ของพระผู้ช่วยให้รอด

ต้นแบบ Christus Consolator อยู่ใน Vor Frue Kirke Church of Our Lady ในเมืองโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ประติมากรรม Christus อยู่ในเวิ้งเสากลม รายล้อมด้วยรูปปั้นอัครสาวกสิบสอง เหนือประติมากรรมและด้านล่างเป็นคำจารึกข้อพระคัมภีร์ที่รู้จักกันดีจากพระคัมภีร์ไบเบิล

ภาพ
Christus statue

บนสุดตรงแผงเหนือเสากลมสองต้นมีคำจารึกเป็นภาษาเดนมาร์กว่า “DENNE ER MIN SØN DEN ELSKELIGE HØRER HAM” ในภาษาไทยคือ “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา จงเชื่อฟังท่านเถิด”

พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงมีพระดำรัสนี้เมื่อพระเยซูทรงจำแลงพระกายบนภูเขาต่อหน้าเปโตร ยากอบ และยอห์น ทั้งข้อกล่าวว่า “แล้วก็มีเมฆมาปกคลุมพวกเขาไว้ และมีพระสุรเสียงดังออกมาจากเมฆนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา จงเชื่อฟังท่านเถิด” (มาระโก 9:7)

บนฐานรองประติมากรรม Christus Consolator มีคำจารึกเป็นภาษาเดนมาร์กว่า “KOMMER TIL MIG.” ในภาษาไทยคือ “จงมาหาเรา” ในบรรดาพระดำรัสทั้งหมดที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้ ไม่มีคำใดวิงวอนและสำคัญต่อเรามากไปกว่าคำว่า “จงมาหาเรา”

ทั้งข้อกล่าวว่า “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28)

พร้อมกับประติมากรรมดั้งเดิมของ Christus Consolator เรามีทั้งพระดำรัสเชื้อเชิญของพระบิดาให้ฟังพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์และพระดำรัสเชื้อเชิญของพระบุตรให้มาหาพระองค์ ในความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ ทั้งสองพระองค์ทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนฟังและมา

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่เรากลับไปบ้านบนสวรรค์ของเรา “เราเชื่อว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์, มนุษยชาติทั้งมวลจะรอดได้, โดยการเชื่อฟังกฎและศาสนพิธีทั้งหลายของพระกิตติคุณ” (หลักแห่งความเชื่อ 1:3) แต่ละคนสามารถมาหาพระเยซูคริสต์ได้อย่างสมบูรณ์โดยรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเท่านั้น เรา “รับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ การกลับใจ บัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่”3

หลักคำสอนของพระคริสต์

นี่เป็นข่าวสารเดียวกันของพระบิดาและพระบุตร ทั้งสองพระองค์ทรงต้องการให้บุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ทำตามหลักคำสอนของพระคริสต์ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน วลี “หลักคำสอนของพระคริสต์” จึงมีความหมายเดียวกันกับพระกิตติคุณของพระคริสต์

เพื่อเน้นความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระบิดาและพระบุตรในข่าวสารของพระองค์เกี่ยวกับหลักคำสอนของพระคริสต์ ให้เราดูแผนภูมินี้

2 นีไฟ 31

3 นีไฟ 9

3 นีไฟ 11

3 นีไฟ 27

รวม

ศรัทธา

1

2

4

1

8

การกลับใจ

5

4

4

3

16

บัพติศมา

10

0

13

3

26

พระวิญญาณบริสุทธิ์

8

2

6

1

17

อดทน

3

0

0

3

6

พระบิดา

14

5

20

25

64

เรารู้ว่าบทที่ระบุไว้ตรงนี้ (2 นีไฟ 31; 3 นีไฟ 9; 3 นีไฟ 11; และ 3 นีไฟ 27) ประกอบด้วยหลักคำสอนของพระคริสต์ บทเหล่านี้กล่าวถึงศรัทธา การกลับใจ บัพติศมา พระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จำนวนครั้งที่กล่าวถึงแต่ละคำอยู่ในตาราง ตามที่ท่านเห็น บทเหล่านี้กล่าวถึงศรัทธา 8 ครั้ง การกลับใจ 16 ครั้ง บัพติศมา 26 ครั้ง พระวิญญาณบริสุทธิ์ 17 ครั้ง และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ 6 ครั้ง

แต่ท่านอาจจะแปลกใจที่เราพบเช่นกันว่าในบทเหล่านี้กล่าวโยงถึงพระบิดาหลายครั้ง อันที่จริง กล่าวเจาะจงถึงพระองค์ 64 ครั้ง มากกว่ากล่าวถึงบัพติศมา4 จากตรงนี้ เราทราบได้ว่าหลักคำสอนของพระคริสต์เป็นหลักคำสอนของทั้งพระบิดาและพระบุตร

เราลองพิจารณาสองข้อนี้ที่กล่าวโยงถึงพระบิดา

“และพระบิดาตรัส : เจ้าจงกลับใจ, เจ้าจงกลับใจ, และรับบัพติศมาในนามบุตรที่รักของเรา.

“และ, สุรเสียงของพระบุตรมาถึงข้าพเจ้าด้วย, มีความว่า : คนที่รับบัพติศมาในนามของเรา, แก่เขาผู้นั้นพระบิดาจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้, เหมือนกับเรา; ดังนั้น, จงตามเรามา, และทำสิ่งที่เจ้าเห็นเราทำ. …

“และข้าพเจ้า [นีไฟ] ได้ยินสุรเสียงจากพระบิดา, มีความว่า : แท้จริงแล้ว, ถ้อยคำของผู้เป็นที่รักของเราจริงและเป็นสัจจะ. ผู้ใดที่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่, ผู้เดียวกันนั้นจะได้รับการช่วยให้รอด” (2 นีไฟ 31:11–12, 15)

พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานว่านี่เป็นวิธีเดียว

โดยตรัสย้ำถ้อยคำจากมัทธิว พระบิดาและพระบุตรรับสั่งกับเราว่าเราควรมาหาพระคริสต์และแบกแอกของพระองค์ไว้เพราะทรงสามารถทำให้ภาระที่เราแบกเบาลงได้และเราจะได้หยุดพัก เราทุกคนแบกภาระ เราอาจแบกภาระบาป ความเศร้าโศก การเสพติด ความเจ็บป่วย ความรู้สึกผิด หรือความละอายใจ ในความยุ่งยากเหล่านี้ การพึ่งพาพระคริสต์ทำให้เกิดการเยียวยา ความหวัง และการปลอบประโลม

หลักคำสอนของพระคริสต์—ศรัทธา การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์—ไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นเหตุการณ์ที่เราประสบครั้งเดียว ศาสนาของเราสอนเราว่าเราได้รับการทำให้ดีพร้อมโดย “วางใจอย่างเต็มที่” อยู่เสมอในหลักคำสอนและคุณงามความดีของพระคริสต์ (2 นีไฟ 31:19) หมายความว่าเราทำซ้ำขั้นตอนต่างๆ ในหลักคำสอนของพระคริสต์ตลอดชีวิตเรา แต่ละขั้นตอนตั้งอยู่บนขั้นที่มาก่อน และจงใจจะให้ประสบตามลำดับขั้นครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อเราใช้ศรัทธา ศรัทธาจะแรงกล้าขึ้น เมื่อเราพยายามกลับใจอยู่เสมอ เราดีขึ้น เราสามารถก้าวหน้าผ่านความพยายามของเราเองจากการมีประสบการณ์เป็นครั้งคราวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นการมีพระองค์เป็นเพื่อนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ขณะฟันฝ่าชีวิต เราสามารถเรียนรู้จากพระคุณลักษณะของพระเยซูคริสต์ และพัฒนาคุณสมบัติเดียวกันเหล่านี้5 เมื่อเราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ ใจเราจะเปลี่ยนและเราสามารถอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ดูตัวอย่างใน 2 นีไฟ 31:2–21; 3 นีไฟ 11:23–31; 27:13–21; โมโรไน 4:3; 5:2; 6:6; คพ. 20:77, 79; 59:8–9)

เห็นได้ง่ายว่าขั้นตอนทั้งหมดในหลักคำสอนของพระคริสต์สามารถทำซ้ำและต่อยอดจากขั้นตอนแต่ละขั้นไปตลอดชั่วชีวิต แล้วบัพติศมาเล่า เรารับบัพติศมาเพื่อตัวเราเพียงครั้งเดียว

ภาพ
passing the sacrament

ศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้า

เพื่อตอบคำถามนี้ เราควรพิจารณาผลงานชิ้นเอกด้านศาสนาที่เขียนโดยเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองชื่อว่า The Articles of Faith หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 1899 ตอบคำถามเกี่ยวกับศาสนจักรและคำสอนพื้นฐานให้อนุชนรุ่นหลังที่ได้อ่านและศึกษา

ในสารบัญ เราเห็นว่าแต่ละบท นอกจากบทนำ เชื่อมโยงกับหลักแห่งความเชื่อหนึ่งในสิบสามข้อ6 หลักแห่งความเชื่อบางข้อครอบคลุมมากกว่าหนึ่งบท ทว่าแต่ละบทเชื่อมโยงกับหลักแห่งความเชื่อหนึ่งข้อ

น่าสนใจคือบทที่ 9 เรื่อง “ศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้า” อยู่ต่อจากบทเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์7 เอ็ลเดอร์ทัลเมจเชื่อมโยงบทนี้กับหลักแห่งความเชื่อข้อสี่

ตอนต้นบทที่ 9 เอ็ลเดอร์ทัลเมจเขียนว่า “ในระหว่างที่เราศึกษาหลักธรรมและศาสนพิธีของพระกิตติคุณ ตามที่ระบุไว้ในหลักแห่งความเชื่อข้อสี่ เรื่องศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้าสมควรได้รับความเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง การถือปฏิบัติศาสนพิธีนี้จำเป็นต่อทุกคนที่เป็นสมาชิกของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ผ่านการปฏิบัติตามข้อกำหนดของศรัทธา การกลับใจ และบัพติศมาโดยน้ำและจากพระวิญญาณบริสุทธิ์”8

เมื่อนึกถึงถ้อยคำเหล่านั้น เราเห็นได้ว่าเหตุใดเอ็ลเดอร์ทัลเมจจึงเชื่อมโยงศีลระลึกกับหลักแห่งความเชื่อข้อสี่ ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีลำดับต่อมาที่ทุกคนต้องรับหลังจากได้รับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักร

ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีลำดับต่อมาที่ผู้ชายต้องรับหลังจากรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีลำดับต่อมาที่แต่ละบุคคลต้องรับหลังจากได้รับเอ็นดาวเม้นท์ในพระวิหาร

ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีลำดับต่อมาที่คู่สามีภรรยาต้องรับหลังจากรับการผนึก

ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีลำดับต่อมาที่เราต้องการ ศีลระลึกสำคัญต่อการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจจากบาป และรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา นี่เป็นกลไกซึ่งเราใช้ต่อพันธสัญญาและพรของบัพติศมา

คู่มือเล่ม 2 กล่าวว่า “สมาชิกศาสนจักรได้รับบัญชาให้รวมกันบ่อยๆ เพื่อรับส่วนศีลระลึกอันเป็นการระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาและต่อพันธสัญญากับพรแห่งการบัพติศมา”9 ท่านอาจจะถามว่า “พรอะไรบ้าง” แน่นอนว่าการประสาทพรต่อเนื่องของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์คือพรของบัพติศมา แต่ผลการชำระให้สะอาดของบัพติศมาอันเป็นหนึ่งในพรวิเศษสุดนั้นต่อด้วยหรือ

ลองพิจารณาคำกล่าวนี้จากประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุด “เราได้รับบัญชาให้กลับใจจากบาป มาหาพระเจ้าด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด และรับส่วนศีลระลึก … เราเป็นพยานว่าเราเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เมื่อเราปฏิบัติตามพันธสัญญาบัพติศมานี้ พระเจ้าทรงต่อผลการชำระให้สะอาดของบัพติศมา เราจึงสะอาดและเราสามารถมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา”10

กระนั้น ขอให้เราระวังว่า “ศีลระลึกไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนทางเดียวที่เราจะได้รับการปลดบาปของเรา”11 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่สามารถจงใจทำบาปคืนวันเสาร์และคาดหวังว่าจะได้รับการให้อภัยอย่างน่าอัศจรรย์โดยรับขนมปังหนึ่งชิ้นและดื่มน้ำนิดหน่อยในวันอาทิตย์ การกลับใจเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องมากกว่านั้น เรียกร้องความสำนึกผิดและการละทิ้งบาป การวางแผนกลับใจก่อนทำบาปเป็นเรื่องที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรังเกียจ

เรามีคุณสมบัติคู่ควรแก่การรับเดชานุภาพการชำระให้สะอาดของพระเยซูคริสต์เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร12 เป็นวิธีรักษาตัวเราให้ “หมดจดจากโลก” (คพ. 59:9) ศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้าตามหลังบัพติศมาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยประยุกต์ใช้ซ้ำหลักคำสอนของพระคริสต์ขณะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายก้าวหน้าสู่ความดีพร้อม

เราพึงเดินตามเส้นทางนี้ โดยให้ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีตามหลังบัพติศมาและการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ การเตรียมรับศีลระลึกเรียกร้องให้คิดวางแผนล่วงหน้าและเอาใจใส่ ท่านจะคาดหวังให้ศีลระลึกเป็นประสบการณ์ทางวิญญาณไม่ได้หากท่านลนลาน ส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือเสียสมาธิ

ฉะนั้นจงมาโบสถ์ก่อนเวลา เมื่อเพลงศีลระลึกเริ่ม จงให้ความคิดของท่านจดจ่ออยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด การชดใช้ของพระองค์ ความรักของพระองค์ และพระเมตตาสงสารของพระองค์ สวดอ้อนวอนว่าท่านจะเริ่มต้นใหม่ขณะรับส่วนศีลระลึกและระลึกถึงพระองค์

บทเรียนจากรวันดา

ในปี 1994 เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างน่าสยดสยองในรวันดา ประชาชนราว 600,000 ถึง 900,000 คนเสียชีวิตในเวลา 60 ถึง 90 วัน

ท้ายที่สุดศาสนจักรจัดตั้งสาขาหนึ่งในคิกาลีเมืองหลวง สาขาประสบความสำเร็จ—โดยไม่มีผู้สอนศาสนาเต็มเวลา ในปี 2011 เรากำลังรับใช้ในภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเราทราบข่าวเศร้าว่าเราจดทะเบียนเป็นศาสนจักรกับประเทศรวันดาไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าศาสนจักรเราทำงานแบบผิดกฎหมาย เราทราบเช่นกันว่าอาคารประชุมของเราซึ่งเป็นบ้านสองชั้นที่ปรับปรุงใหม่อยู่ในเขตห้ามจัดการประชุมของศาสนจักร หลังจากหารือกับสมาชิกท่านหนึ่งในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ฝ่ายประธานภาคตัดสินใจปิดสาขาด้วยความปวดร้าวใจ สมาชิกของเราไม่สามารถจัดการประชุมของศาสนจักรได้อีก

ทนายความในเมืองคิกาลี ซอลท์เลคซิตี้ และโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้เริ่มทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหา ระหว่างนั้น วิสุทธิชนถามอยู่เนืองๆ ว่าเมื่อใดพวกเขาจะประชุมกันได้อีกครั้ง หลายเดือนผ่านไปโดยไม่มีทางออกหรือความคืบหน้า

หลังจากนั้นประมาณ 10 เดือน เราบินไปคิกาลีเพื่อเยี่ยมวิสุทธิชนเหล่านั้นและพยายามให้กำลังใจพวกเขา ก่อนเราไป เราขอให้เรื่องนี้อยู่ในรายชื่อสวดอ้อนวอนที่พระวิหารของการประชุมประจำสัปดาห์ในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง

วันอังคารก่อนกำหนดเดินทางจากโจฮันเนสเบิร์กไปคิกาลี เราประหลาดใจที่ได้รับแจ้งว่ารัฐบาลยอมให้ศาสนจักรจดทะเบียนชั่วคราวในคิกาลี ต่อจากนั้นในวันพฤหัสบดีสัปดาห์เดียวกัน คณะกรรมการวางผังเมืองอนุญาตให้ศาสนจักรได้รับการยกเว้นจากกฎหมายการวางผังเมือง วิสุทธิชนคิกาลีสามารถประชุมในอาคารของเราได้อีกครั้งโดยไม่ละเมิดกฎหมาย

เรื่องนี้น่าอัศจรรย์! สมาชิกได้รับแจ้งอย่างรวดเร็วว่าสาขาจะประชุมวันอาทิตย์ เรามาถึงวันศุกร์และเชิญสมาชิกมาโบสถ์ เมื่อถึงวันอาทิตย์ สมาชิกทุกคน—พวกเขา ทุกคน—และเพื่อนหลายคนของพวกเขามาโบสถ์ พวกเขามาถึงก่อนเวลา กระตือรือร้นที่จะอยู่กันพร้อมหน้าอีกครั้ง ขณะให้พรและส่งผ่านศีลระลึก เราทุกคนประสบวิญญาณพิเศษที่ชำระเราให้สะอาด สดชื่น และเป็นคนใหม่

เราจำได้ว่าในการประชุมนั้น เราสงสัยว่าเหตุใดเราไม่รู้สึกถึงวิญญาณเดียวกันนี้ทุกสัปดาห์ขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก เรากวาดสายตาดูวิสุทธิชนและตระหนักว่าพวกเขามาด้วยความหิวกระหายศีลระลึก ศรัทธา ความขยันหมั่นเพียร และความอดทนของพวกเขานำพรมาให้เราทุกคน เราให้สัญญาว่าเมื่อใดก็ตามที่เรารับส่วนศีลระลึกอีกครั้ง เราจะนึกถึงประสบการณ์ที่มีกับวิสุทธิชนคิกาลีครั้งนี้ เราให้คำมั่นว่าเราจะหิวพรของการรับส่วนศีลระลึกเช่นกัน

ท่านคงจำได้ว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งศีลระลึกในบรรดาชาวนีไฟ พระองค์รับสั่งกับพวกเขาว่าศีลระลึกสำคัญต่อการสถาปนาพวกเขาไว้บนศิลาของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า

“และเราให้บัญญัติแก่เจ้าว่าเจ้าจงทำสิ่งเหล่านี้ [รับส่วนศีลระลึก] และหากเจ้าทำสิ่งเหล่านี้เสมอเจ้าย่อมเป็นสุข, เพราะเจ้าสร้างอยู่บนศิลาของเรา.

“แต่ผู้ใดในบรรดาพวกเจ้าจะทำมากหรือน้อยไปกว่านี้ย่อมไม่ได้สร้างอยู่บนศิลาของเรา, แต่สร้างอยู่บนรากฐานทราย และเมื่อฝนลงมา, และน้ำท่วม, และลมพัด, กระหน่ำมาที่พวกเขา, พวกเขาจะล้ม” (3 นีไฟ 18:12–13)

ศีลระลึกเป็นของประทานที่สวยงามที่เราได้รับทุกวันอาทิตย์ซึ่งช่วยเราในความก้าวหน้าทางโลกของเรา ศีลระลึกทำให้เราประสบองค์ประกอบสำคัญของหลักคำสอนของพระคริสต์ นำเราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น และประสบความรักตลอดจนการให้อภัยของพระองค์ในชีวิตเรา เราสำนึกคุณต่อช่วงเวลาเหล่านี้ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งช่วยให้เราจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอด

“เพื่อฉันจริงๆ”

เพื่อนคนหนึ่งของเราในแอฟริกาใต้เล่าให้ฟังว่าเธอเกิดความตระหนักเช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อไดแอนเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ เธอเข้าร่วมการประชุมของสาขาหนึ่งนอกเมืองโจฮันเนสเบิร์ก วันอาทิตย์วันหนึ่ง ขณะนั่งอยู่ในห้องประชุม ผังของห้องนมัสการทำให้มัคนายกมองไม่เห็นเธอขณะที่เขาส่งผ่านศีลระลึก ไดแอนผิดหวังแต่ไม่พูดอะไร สมาชิกอีกคนหนึ่งสังเกตเห็นและบอกเรื่องนี้กับประธานสาขาหลังเลิกประชุม เมื่อโรงเรียนวันอาทิตย์เพิ่งจะเริ่มต้น ไดแอนได้รับเชิญให้เข้าไปในห้องเรียนที่ไม่มีใครอยู่

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนหนึ่งเดินเข้ามา เขาคุกเข่า ให้พรขนมปัง และยื่นชิ้นหนึ่งให้เธอ เธอกินขนมปังชิ้นนั้น เขาคุกเข่าอีกครั้ง ให้พรน้ำ และยื่นถ้วยเล็กให้เธอ เธอดื่ม ไดแอนมีความคิดสองอย่างแวบขึ้นมาหลังจากนั้น “โอ เขา [ผู้ดำรงฐานะปุโรหิต] ทำสิ่งนี้เพื่อฉันจริงๆ” แล้วก็ “โอ พระองค์ [พระผู้ช่วยให้รอด] ทรงทำสิ่งนี้เพื่อฉันจริงๆ” โดยผ่านศีลระลึก ไดแอนรู้สึกถึงความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อเธอจริงๆ

ภาพ
sacrament tray

การตระหนักว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเสียสละเพื่อเธอช่วยให้เธอรู้สึกใกล้ชิดพระองค์และเกิดความปรารถนาท่วมท้นอยากเก็บความรู้สึกนั้นไว้ในใจเธอ—ไม่เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้นแต่ทุกวัน เธอตระหนักว่าถึงแม้เธอนั่งในที่ประชุมเพื่อรับส่วนศีลระลึก แต่พันธสัญญาที่ต่อใหม่ทุกวันอาทิตย์เป็นของเธอโดยเฉพาะ ศีลระลึกช่วย—และยังคงช่วย—ให้ไดแอนรู้สึกถึงพลังความรักของพระผู้เป็นเจ้า รับรู้พระหัตถ์ของพระองค์ในชีวิตเธอ และเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น13

คำเชื้อเชิญของเราเหมือนกับคำเชื้อเชิญของโมโรไน

“แท้จริงแล้ว, จงมาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์, และปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง; และหากท่านจะปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง, และรักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลังของท่าน, เมื่อนั้นพระคุณของพระองค์จึงเพียงพอสำหรับท่าน, เพื่อโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะดีพร้อมในพระคริสต์; และหากโดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าท่านดีพร้อมในพระคริสต์, ท่านย่อมไม่มีทางปฏิเสธเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าได้เลย.

“และอนึ่ง, หากท่านโดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าดีพร้อมในพระคริสต์, และไม่ปฏิเสธเดชานุภาพของพระองค์, เมื่อนั้นท่านย่อมได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ในพระคริสต์โดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า, ผ่านการหลั่งพระโลหิตของพระคริสต์, ซึ่งมีอยู่ในพันธสัญญาของพระบิดาอันนำไปสู่การปลดบาปของท่าน, ทำให้ท่านกลับบริสุทธิ์, ปราศจากมลทิน” (โมโรไน 10:32–33)

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อเราประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์ โดยมองว่าศีลระลึกเป็นศาสนพิธีตามหลังบัพติศมาและการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในวิธีนี้ เราสามารถ “วางใจอย่างเต็มที่ในคุณงามความดีของพระองค์ผู้ทรงอานุภาพที่จะช่วยให้รอด” (2 นีไฟ 31:19) เราสำนึกคุณต่อศีลระลึก—วิธีที่ศีลระลึกสอนและเตือนเราแต่ละสัปดาห์ให้นึกถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเรา เราสำนึกคุณต่อพระองค์เพราะเรารู้ว่าพระองค์ทรงชดใช้เพื่อเราแต่ละคนจริงๆ

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับชาวนีไฟ พระองค์ตรัสว่า เมื่อ เกิดฝน ลม และน้ำท่วม พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า ถ้า อันที่จริง ฝน ลม และน้ำท่วมเกิดขึ้นกับทุกคน แต่พระองค์รับสั่งกับเราว่าวิธีที่เราจะตั้งมั่นบนศิลาของพระองค์คือนึกถึงพระองค์ขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก (ดู 3 นีไฟ 15:9; 18:1)

เวลาจะมาถึงในชีวิตท่านแต่ละคนเมื่อท่านลังเลไม่อยากไปโบสถ์หรือรับส่วนศีลระลึก หากยังไม่เกิดขึ้น มันจะเกิด แต่จงรู้ว่า ถ้าท่านเดินตามการนำทางของพระผู้ช่วยให้รอดและรับส่วนศีลระลึกด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด พรจะเทมาให้ท่านอันจะทำให้ท่านตั้งมั่นอยู่บนฐานมั่นคงซึ่งคือพระเยซูคริสต์ การตัดสินใจทำเช่นนั้นจะส่งผลนิรันดร ท่านจะตั้งมั่นบนพระเยซูคริสต์ ผู้ลิขิตและผู้ประสิทธิ์ศรัทธาของเรา

อ้างอิง

  1. ดู Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 11th ed. (2003), “consolator.”

  2. ดู Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, “console.”

  3. สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา (2004), 1.

  4. รวมถึงคำที่คลุมเครือด้วยเช่น พระองค์/ของพระองค์

  5. ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, บทที่ 6, 125–133.

  6. ดู เจมส์ อี. ทัลเมจ, The Articles of Faith, 12th ed. (1924), v–ix.

  7. ดู ทัลเมจ, Articles of Faith, vi.

  8. ทัลเมจ, Articles of Faith, 171.

  9. คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 2.1.2.

  10. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พยานพิเศษของพระคริสต์,” เลียโฮนา, เม.ย. 2001, 14.

  11. ทัลเมจ, Articles of Faith, 175.

  12. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21–25.

  13. ดู เดล จี. เรนลันด์, “เพื่อเราจะดึงมนุษย์ทั้งปวงมาหาเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 41.