2018
การนมัสการในยุคดิจิทัล
August 2018


การนมัสการ ในยุคดิจิทัล

พิจารณาหลักธรรมสามประการต่อไปนี้สำหรับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมในห้องนมัสการ

ภาพ
sitting in sacrament meeting

วันอาทิตย์วันหนึ่งขณะมีการส่งผ่านศีลระลึก ประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดที่ผมรู้จักหยิบสมาร์ทโฟนของเธอออกมาอ่าน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ประจักษ์พยานของอัครสาวกเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดสร้างแรงบันดาลใจให้เธอรู้สึกว่าต้องตั้งใจใหม่อีกครั้งว่าจะระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา

ทว่าความรู้สึกดีของเธอมลายหายไปสิ้นในอีกไม่กี่วันต่อมาเมื่อเธอได้รับจดหมายสนเท่ห์ทางไปรษณีย์จากสมาชิกวอร์ดคนหนึ่ง ผู้เขียนตำหนิเธอว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีเพราะใช้สมาร์ทโฟนในการประชุมศีลระลึก เธอเสียใจมาก

แน่นอนว่าเธอไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ใครขุ่นเคืองเพราะการใช้อุปกรณ์มือถือของเธอ เธอใช้นานๆ ครั้งในห้องนมัสการ และต่อเมื่อเธอรู้สึกว่าเหมาะสมเท่านั้น แต่หลังจากได้รับจดหมาย เธอเริ่มสงสัยตนเอง

ความท้าทายใหม่

คนทุกรุ่นมีความท้าทาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่า ปี 2020 จะมีคนใช้โทรศัพท์มือถือ (5.4 พันล้านคน) มากกว่าใช้น้ำประปา (3.5 พันล้านคน)1 นี่นับรวมแท็บเล็ต “แฟ็บเล็ต” และอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ ด้วย ท่านอยู่ในโลกที่กำลังพยายามไขปัญหาว่าอะไรเป็น “มารยาทการใช้ดิจิทัล” ที่เหมาะสม

ขณะที่บิดามารดา ผู้นำ และครูพยายามพิจารณาว่าอะไรเป็นมารยาทการใช้ดิจิทัลที่เหมาะสมในสภาวะแวดล้อมของศาสนจักร ความเห็นต่างบางครั้งก็ทำให้วิธีควบคุมดูแลการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการประชุมศาสนจักรขัดแย้งกัน

ผู้นำศาสนจักรเคยให้คำแนะนำเรื่องพรและอันตรายของการใช้เทคโนโลยีไว้แล้ว แต่ผู้นำศาสนจักรมักจะไม่บอกทุกอย่างที่เราควรทำและไม่ควรทำในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ (ดู โมไซยาห์ 4:29–30) ศาสนจักรคาดหวังให้สมาชิกศึกษาเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเองและแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการตัดสินใจ น่าเสียดายที่บางครั้ง ดังในสถานการณ์ข้างต้น เราไม่เพียงใช้จุดยืนเท่านั้นแต่ใช้เจตคติที่ชอบจับผิดตัดสินคนที่มีจุดยืนต่างจากเราด้วย

พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจ ซาตานหาประโยชน์ใส่ตัว

พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมพรของเทคโนโลยีไว้เพื่อประโยชน์ของเราและเพื่อส่งเสริมงานของพระองค์ให้ก้าวหน้า2 ฉะนั้นแม้สมาชิกบางคนใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของพวกเขาอย่างไม่เหมาะสม แต่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เราไม่ควรปล่อยให้ความกลัวคนเข้าใจผิดขัดขวางเราไม่ให้ได้รับพรอันสำคัญยิ่งที่เครื่องมือเหล่านี้สามารถให้ได้”3 เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างเหมาะสมและสอนบุตรธิดาของเราให้ทำเช่นเดียวกัน

อุปกรณ์มือถือช่วยสมาชิกศาสนจักรเรื่องการศึกษาพระกิตติคุณ ประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร ตลอดจนการแบ่งปันพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น มีคนสามล้านกว่าคนใช้แอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณในเดือนมกราคม ปี 2018 เวลาศึกษาของพวกเขารวมกันมากกว่าหนึ่งพันปี

นอกจากพูดถึงพรแล้ว ผู้นำศาสนจักรยังได้เตือนให้ระวังอันตรายที่แฝงอยู่ในนั้นเช่นกัน รวมถึงเวลาที่เสียเปล่า ความสัมพันธ์ที่พังทลาย และการติดอยู่ในบาป4 ในสภาวะแวดล้อมของศาสนจักร การใช้ที่ไม่เหมาะสมสามารถทำให้เราและคนอื่นๆ เขวจากการนมัสการและการเรียนรู้ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า

อย่างไรก็ดี อันตรายเหล่านี้ไม่เพียงเฉพาะกับอุปกรณ์ดิจิทัลเท่านั้น “เครื่องมือบางอย่างเหล่านี้—เหมือนเครื่องมืออื่นในมือคนที่ไม่ชำนาญหรือขาดวินัย—สามารถเป็นอันตรายได้” ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดรักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน “… นั่นไม่ต่างอะไรจากวิธีที่คนเลือกใช้โทรทัศน์หรือภาพยนตร์หรือแม้กระทั่งห้องสมุด ซาตานมักจะรีบหาประโยชน์ใส่ตัวโดยใช้อำนาจด้านลบของนวัตกรรมใหม่ๆ ทำลาย ลดคุณค่า และลบล้างผลดีทุกอย่าง”5

อุปกรณ์มือถือในการประชุมศีลระลึก

เพราะพรที่อาจเกิดขึ้น—และสิ่งรบกวนที่อาจเกิดขึ้น—ของอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้ สมาชิกตัดสินว่าจะใช้อย่างไร โจเซฟ สมิธพูดถึงพลังของวิธีการบนพื้นฐานของหลักธรรมเมื่อท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าสอนหลักธรรมที่ถูกต้อง และให้พวกเขาปกครองตนเอง”6

ตรงนี้ เราจะสำรวจหลักธรรมที่อาจมีส่วนช่วยตัดสินใจเรื่องการใช้อุปกรณ์มือถือในการประชุมศีลระลึก ดูการสนทนาเรื่องการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในห้องเรียนได้ที่ “การสอนด้วยเทคโนโลยี: ดึงดูดเยาวชนในโลกดิจิทัล” โดย บราเดอร์ไบรอัน เค. แอชตัน ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญ หน้า 30 ของฉบับนี้

หลักธรรม 1: การเลือกของฉันสนับสนุนการนมัสการ

การประชุมศีลระลึกมีไว้เพื่อ “[แสดง] ความจงรัก [ของเรา] แด่พระผู้สูงสุด” (คพ. 59:10) เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่าเราควรจดจ่อกับการต่อพันธสัญญาของเรา ศรัทธาของเราในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ และการชดใช้ของพระองค์7 สิ่งที่เราเลือกทำในการประชุมศีลระลึกควรช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งเหล่านั้น

เพราะต้องจดจ่อเช่นนั้น หากจำเป็น เราจึงอาจจะใช้อุปกรณ์ของเราอย่างเหมาะสมเพื่อ

  • ยกระดับการนมัสการของเรา สมาชิกอาจจะใช้อุปกรณ์ดิจิทัลระหว่างการประชุมศีลระลึกเพื่อค้นหาข้อพระคัมภีร์ ร้องเพลงสวด หรือจดบันทึกความประทับใจทางวิญญาณ

  • ปฏิบัติศาสนกิจ อธิการอาจจะสังเกตเห็นคนใหม่หรือสมาชิกแข็งขันน้อยเข้ามานั่งอยู่หลังห้องนมัสการระหว่างการประชุมศีลระลึกและหากได้รับการกระตุ้นเตือนเขาอาจส่งข้อความถึงหัวหน้าเผยแผ่วอร์ดให้ต้อนรับบุคคลนั้นและเชิญพวกเขาเข้าชั้นเรียนหลักธรรมพระกิตติคุณหลังเลิกประชุม

  • ทำให้การติดต่อที่จำเป็นสะดวกขึ้น แพทย์ ผู้ให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน และผู้ประกอบอาชีพอื่นที่พร้อมบริการเมื่อมีสายเรียกเข้าสามารถเข้าร่วมพิธีนมัสการได้เพราะพวกเขารู้ว่าสามารถติดต่อพวกเขาได้หากจำเป็นผ่านอุปกรณ์มือถือของพวกเขา

เมื่อเราพยายามจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอด สำคัญที่ต้องจำไว้ว่าอุปกรณ์ของเราอำนวยความสะดวกเรื่องการศึกษาของเราก็จริง แต่ไม่สามารถเรียนรู้แทนเราได้ อุปกรณ์สามารถให้บางอย่างเราไตร่ตรอง แต่ไม่สามารถคิดแทนเราได้ แม้กระทั่งสามารถช่วยให้เรานึกได้ว่าต้องสวดอ้อนวอน แต่การสวดอ้อนวอนเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยตัวเราเอง

เอ็ลเดอร์เบดนาร์สอนว่าความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเสมือนจริง8 ไม่สามารถคลิกสองครั้งหรือดาวน์โหลดได้9 ฉะนั้นขณะที่ประธานสมาคมสงเคราะห์ในตอนต้นบทความนี้ใช้โทรศัพท์ช่วยให้ความคิดเธอจดจ่ออยู่กับพระคริสต์ เธอไม่ได้ต่อพันธสัญญากับโทรศัพท์ของเธอ แต่เธอต่อพันธสัญญากับพระองค์ การเดินทางที่อุปกรณ์มือถือช่วยเธอเริ่มต้องจบลงในความคิดเธอ คำสวดอ้อนวอนของเธอ และการกระทำของเธอ

ภาพ
youth on phone during church

หลักธรรม 2: ฉันลดสิ่งรบกวนให้เหลือน้อยที่สุด

เราทุกคนควรพยายามหาสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราจดจ่อกับการนมัสการและการเรียนรู้ได้ดีขึ้น การทำให้สิ่งรบกวนเหลือน้อยที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ หลักธรรมนี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ตั้งแต่การพูดคุยหรือจัดการกับลูกที่งอแงไปจนถึงการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของเรา

อุปกรณ์ที่ออกแบบไว้ให้ทำหลายอย่างอาจทำให้เขวไปได้หลายทาง เห็นได้ชัดว่าการดูวีดิทัศน์ ฟังเพลง หรือเล่นเกมจะทำให้เอาใจใส่พิธีศีลระลึกได้ยาก การเช็คอีเมล ข้อความบนมือถือ สื่อสังคม คะแนนกีฬา เสียงข้อความเข้า เสียงเตือนและแถบข้อความบนมือถือจะดึงเราเข้าไปสู่เหตุการณ์ ความสัมพันธ์ และการสนทนาที่อยู่นอกการประชุมเช่นกัน ทั้งหมดนี้และมากกว่านี้สามารถทำให้เราและคนอื่นๆ เสียสมาธิ แม้จะอยู่ห่างเราหลายแถวก็ตาม

สำหรับคนที่ต้องการกำจัดสิ่งรบกวนของดิจิทัลให้หมดไป การเก็บอุปกรณ์ไว้ที่บ้านหรือปิดเครื่องอาจเป็นเรื่องสมควรทำ สำหรับคนที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้สนับสนุนการนมัสการของพวกเขาแต่ไม่ต้องการรบกวนผู้อื่น อาจจะปิดเสียง ตั้งอุปกรณ์ในโหมดไม่รบกวนหรือโหมดเครื่องบิน10

หลักธรรม 3: ฉันจดจ่อกับการนมัสการของฉัน

มักจะมีสิ่งรบกวนแบบใดแบบหนึ่งเสมอ และใช่ว่าทั้งหมดจะเป็นดิจิทัล อาจรวมถึงเด็กงอแง แมลงดังหึ่งๆ หรือเสียงที่เกิดจากการจราจรด้านนอก เรามีความรับผิดชอบเบื้องต้นต่อสิ่งที่เราได้จากการนมัสการของเรา ฉะนั้นหากมีคนลืมตั้งโทรศัพท์ในโหมดเครื่องบิน เราต้องพยายามทำให้ตัวเราอยู่ในโหมด “ไม่สนใจสิ่งรบกวน”

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “สมาชิกแต่ละคนของศาสนจักรมีความรับผิดชอบต่อการเพิ่มพูนทางวิญญาณที่เกิดขึ้นได้จากการประชุมศีลระลึก”11

หากเราสังเกตเห็นคนรอบข้างเราใช้อุปกรณ์มือถือ เราต้องระวังอย่าทึกทักว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นไม่เหมาะสมเพียงเพราะใช้อุปกรณ์ดิจิทัล หากคนนั้นเป็นเด็กหรือเป็นคนที่เราได้รับเรียกให้ดูแลรับผิดชอบ การตรวจสอบการใช้ของพวกเขาเมื่อพระวิญญาณทรงนำอาจเป็นเรื่องสมควรทำ หรือมิฉะนั้นก็พยายามหันกลับมาสนใจการนมัสการของเราเอง

การเรียนรู้ด้วยกัน

ในคำพูดที่ครอบคลุมหลักธรรมเหล่านี้ เอ็ลเดอร์โอ๊คส์แนะนำว่า “ระหว่างการประชุมศีลระลึก—และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพิธีศีลระลึก—เราควรตั้งใจจดจ่ออยู่กับการนมัสการและละเว้นจากกิจกรรมอื่นทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพฤติกรรมที่อาจรบกวนการนมัสการของผู้อื่น”12

มีหลักธรรมอีกหลายประการที่จะช่วยชี้นำการใช้ของเรา เมื่ออุปกรณ์ดิจิทัลกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้นในวัฒนธรรมของเรา เราจะต้องช่วยกันตอบคำถามว่าอะไรเหมาะสม เพราะทุกสถานการณ์ไม่เหมือนกันและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงต่อไป เราจึงต้องสำรวจการใช้ของเราเสมอ พิจารณามุมมองใหม่หรือมุมต่าง และยินดีให้อภัยผู้อื่นขณะที่เราเรียนรู้ด้วยกัน

อ้างอิง

  1. See “10th Annual Cisco Visual Networking Index (VNI) Mobile Forecast Projects 70 Percent of Global Population Will Be Mobile Users,” Feb. 3, 2016, newsroom.cisco.com.

  2. See David A. Bednar, “Apostle Offers Counsel about Social Media,” Ensign, Jan. 2015, 17; Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 18–19.

  3. In Sarah Jane Weaver, “Elder Bednar Tells 2016 Mission Presidents Not to Fear Technology,” July 6, 2016, news.lds.org.

  4. See “Elder Bednar Tells 2016 Mission Presidents.”

  5. M. Russell Ballard, “Sharing the Gospel Using the Internet,” Liahona, June 2008, N2.

  6. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 307.

  7. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21–25.

  8. เดวิด เอ. เบดนาร์, “เรื่องดังที่เป็นจริง,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2010, 22–31.

  9. See Scott D. Whiting, “Digital Detachment and Personal Revelation,” Ensign, Mar. 2010, 16–21.

  10. ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 4 พ.ค., 2014); lds.org/broadcasts.

  11. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การนมัสการในการประชุมศีลระลึก,” เลียโฮนา, ส.ค. 2004, 14.

  12. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” 22–23.