2017
อยู่ฝ่ายพระเจ้า: บทเรียนจากค่ายไซอัน
กรกฎาคม 2017


อยู่ฝ่ายพระเจ้า: บทเรียนจากค่ายไซอัน

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณที่สัปดาห์การศึกษาเรื่อง “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า ถึงเวลาต้องแสดงให้เห็น” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮ วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2010

การเดินทางของค่ายไซอันที่นำโดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในปี 1834 เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของการเลือกอยู่ฝ่ายพระเจ้า การทบทวนประวัติของค่ายไซอันจะช่วยให้เราได้เรียนบทเรียนล้ำค่าและไม่ตกยุคจากเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ในประวัติศาสนจักรที่ประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตและสภาวการณ์ปัจจุบันของเรา

ค่ายไซอันคืออะไร

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยในปี 1831 โดยทรงกำหนดอินดิเพนเดนซ์ เทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีเป็นสถานที่ชุมนุมหลักสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและที่ตั้งเยรูซาเล็มใหม่ดังระบุไว้ทั้งในพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน (ดู คพ. 57:1–3; ดู วิวรณ์ 21:1–2; อีเธอร์ 13:4–6) ราวฤดูร้อนปี 1833 ผู้ตั้งถิ่นฐานมอรมอนนับได้ประมาณหนึ่งในสามของประชากรในเทศมณฑลแจ็คสัน จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อิทธิพลทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น และความเชื่อที่โดดเด่นด้านศาสนาและการเมืองของผู้มาใหม่เหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้ตั้งถิ่นฐานคนอื่นๆ ในเขตนั้นกังวล พวกเขาจึงเรียกร้องให้สมาชิกศาสนจักรออกจากบ้านและที่ดินของตน เมื่อยื่นคำขาดและสมาชิกไม่ทำตาม ชาวมิสซูรีจึงรุกรานถิ่นฐานต่างๆ ในเดือนพฤศจิกายนปี 1833 และบังคับให้วิสุทธิชนออกไป

ภาพ
exiled Saints

เร่งเดินไปข้างหน้า ไปข้างหน้าเสมอ โดย เกล็น ฮ็อพคินสัน

การตั้งค่ายไซอันได้รับบัญชาโดยการเปิดเผยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1834 (ดู คพ. 103) จุดประสงค์เบื้องต้นสำหรับกองทัพของพระเจ้าคือคุ้มครองชาวมอรมอนในเทศมณฑลแจ็คสันไม่ให้ถูกทำร้ายเพิ่ม—หลังจากทหารอาสาชาวมิสซูรีทำหน้าที่คุ้มกันผู้ตั้งถิ่นฐานให้กลับไปบ้านและที่ดินของพวกเขาอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ค่ายยังต้องนำเงิน เสบียง และกำลังใจไปให้วิสุทธิชนที่เดือดร้อนด้วย ดังนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนปี 1834 กลุ่มอาสาสมัครวิสุทธิชนยุคสุดท้าย 200 กว่าคนนำโดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจึงเดินทางประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร) จากเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอไปเทศมณฑลเคลย์ รัฐมิสซูรี ไฮรัม สมิธกับไลมัน ไวท์เกณฑ์อาสาสมัครกลุ่มเล็กจากอาณาเขตมิชิแกนไปสมทบกับกลุ่มของท่านศาสดาพยากรณ์ในมิสซูรีด้วย ผู้เข้าร่วมค่ายไซอันมีทั้งบริคัม ยังก์, ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์, วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, พาร์ลีย์ พี. แพรทท์, ออร์สัน ไฮด์ และอีกหลายคนผู้เป็นที่จดจำในประวัติศาสนจักร

จุดประสงค์ของข้าพเจ้าไม่ใช่เพื่ออธิบายรายละเอียดของการเดินทางที่เรียกร้องมากครั้งนี้หรือเล่าเหตุการณ์สำคัญทางวิญญาณทั้งหมดที่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอสรุปเหตุการณ์สำคัญมากสามสี่เหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของค่ายไซอันดังนี้

  • ผู้ว่าการดาเนียล ดังคลินของรัฐมิสซูรีไม่ให้ความช่วยเหลือตามที่สัญญาไว้กับผู้ตั้งถิ่นฐานมอรมอนว่าจะคืนที่ดินให้พวกเขา

  • การเจรจาต่อรองเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำศาสนจักร เจ้าหน้าที่รัฐมิสซูรี และชาวเทศมณฑลแจ็คสันเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยใช้อาวุธและแก้ไขข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สิน แต่ไม่บรรลุข้อตกลงที่น่าพอใจ

  • สุดท้าย พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธยุบค่ายไซอันและบอกว่าเหตุใดกองทัพของพระเจ้าจึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ค่ายรับรู้ (ดู คพ. 105:6–13, 19)

  • พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนสร้างสัมพันธไมตรีในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเวลาที่จะกอบกู้ไซอันด้วยวิธีการทางกฎหมายไม่ใช่วิธีการทางทหาร (ดู คพ. 105:23–26, 38–41)

กองทัพไซอันแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ตอนปลายเดือนมิถุนายน ปี 1834 และออกเอกสารปลดประจำการครั้งสุดท้ายในสองสามวันแรกของเดือนกรกฎาคม ปี 1834 อาสาสมัครส่วนใหญ่กลับไปโอไฮโอ

เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากค่ายไซอัน

ภาพ
etching of zions camp

เพราะไม่สามารถนำวิสุทธิชนกลับมาอยู่บนที่ดินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสันอีกครั้ง บางคนจึงถือว่าค่ายไซอันไม่ประสบผลสำเร็จและความพยายามครั้งนั้นไร้ผล พี่น้องชายคนหนึ่งในเคิร์ทแลนด์—คนที่ขาดศรัทธาจะอาสาไปกับค่าย—พบบริคัม ยังก์ขณะท่านกลับจากมิสซูรีและถามว่า “‘คุณได้อะไรจากการเดินทางไปมิสซูรีโดยไร้ประโยชน์ครั้งนี้กับโจเซฟ สมิธ’ ‘ได้ทั้งหมดแหละครับ’ บริคัม ยังก์ตอบทันควัน ‘ผมจะไม่แลกประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้กับความมั่งคั่งทั้งหมดของเทศมณฑลกูกา’” เทศมณฑลที่ตั้งอยู่ในเคิร์ทแลนด์เวลานั้น1

ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านตรึกตรองคำตอบของบริคัม ยังก์อย่างจริงจัง “ได้ทั้งหมดแหละครับ” เราเรียนรู้เรื่องสำคัญอะไรบ้างจากภารกิจที่ไม่บรรลุจุดประสงค์ตามกำหนดแต่ก็ยังจัดเตรียมพรให้วิสุทธิชนยุคแรกเหล่านั้นชั่วชีวิตและสามารถให้เราได้เช่นกัน

ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีบทเรียนครอบคลุมอย่างน้อยสองบทในคำตอบที่บราเดอร์บริคัมให้กับคำถามเชิงเสียดสีดังกล่าว คือ (1) บทเรียนเรื่องการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียม และ (2) บทเรียนเรื่องการสังเกต การเรียนรู้จากผู้นำฐานะปุโรหิต และทำตามพวกท่าน ข้าพเจ้าเน้นว่าบทเรียนเหล่านี้สำคัญหรือไม่ก็สำคัญกว่ากับเราที่จะเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในปัจจุบันเช่นเดียวกับพวกเขา ผู้ที่เป็นอาสาสมัครค่ายไซอัน เมื่อ 180 ปีก่อน

บทเรียนเรื่องการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียม

วิสุทธิชนที่เด็ดเดี่ยวผู้เดินอยู่ในกองทัพของพระเจ้าต่างได้รับการทดสอบและการทดลอง ดังที่พระเจ้าตรัส “เราได้ยินคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา, และจะรับเครื่องถวายของพวกเขา; และเราเห็นสมควรว่าพวกเขาจะถูกนำมาไกลถึงเพียงนี้ เพื่อการทดลองศรัทธาของพวกเขา” (คพ. 105:19)

ในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ความท้าทายทางกายและทางวิญญาณของค่ายไซอันประกอบด้วยการฝัดร่อนข้าวสาลีออกจากข้าวละมาน (ดู มัทธิว 13:25, 29–30; คพ. 101:65) การแบ่งแยกแกะออกจากแพะ (ดู มัทธิว 25:32–33) การแยกคนเข้มแข็งทางวิญญาณจากคนอ่อนแอ เพราะเหตุนี้ชายหญิงแต่ละคนที่สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพของพระเจ้าจึงพบเจอและตอบคำถามน่าคิดที่ว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า”2

ขณะที่วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์กำลังสะสางเรื่องธุรกิจและเตรียมไปสมทบกับค่ายไซอัน มิตรสหายและเพื่อนบ้านเตือนเขาว่าอย่าเข้าร่วมการเดินทางที่อันตรายเช่นนั้น พวกเขาแนะนำว่า “อย่าไป ถ้าคุณไม่อยากเสียชีวิต” เขาตอบว่า “ถ้าผมรู้ว่าผมจะถูกยิงทะลุหัวใจทันทีที่ก้าวเข้าไปในมิสซูรี ผมจะไป”3 วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์รู้ว่าเขาไม่ต้องกลัวผลอันชั่วร้ายตราบใดที่เขาซื่อสัตย์และเชื่อฟัง เขาอยู่ฝ่ายพระเจ้าอย่างชัดเจน

แท้จริงแล้ว “เวลาที่ต้องแสดงให้เห็น”4 สำหรับชายหญิงที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นคือฤดูร้อนปี 1834 แต่การตัดสินใจเดินทัพกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟไปมิสซูรีไม่ใช่การตอบคำถามว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า” ครั้งเดียว รวบยอด หรือทันที เวลาที่วิสุทธิชนเหล่านั้นต้องแสดงให้เห็นเกิดขึ้นบ่อยครั้งและซ้ำหลายครั้งผ่านความอ่อนล้าทางกายและใจ ผ่านแผลพุพองเปื้อนเลือดที่เท้า ผ่านอาหารที่ขาดแคลนและน้ำไม่สะอาด ผ่านความผิดหวังมากมาย ผ่านความไม่ลงรอยกันและการกบฏในค่าย และผ่านการข่มขู่จากศัตรูที่ชั่วร้าย

เวลาที่ต้องแสดงให้เห็นมาในประสบการณ์และความขาดแคลนทุกชั่วโมง ทุกวัน และทุกสัปดาห์ การเลือกมากมายที่ดูเหมือนเล็กน้อยผนวกกับการปฏิบัติในชีวิตของวิสุทธิชนที่ภักดีเหล่านี้ได้ให้คำตอบเบ็ดเสร็จของคำถามที่ว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า”

การทดสอบและการฝัดร่อนที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ร่วมค่ายไซอันเป็นการเตรียมอย่างไร น่าสนใจตรงที่พี่น้องชายแปดคนได้รับเรียกเข้าสู่โควรัมอัครสาวกสิบสองในปี 1835 และสาวกเจ็ดสิบทุกคนที่ได้รับเรียกในคราวเดียวกันล้วนเป็นผู้ที่ผ่านค่ายไซอัน ที่การประชุมหลังจากเรียกสาวกเจ็ดสิบ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศว่า

“พี่น้องทั้งหลาย บางท่านโกรธข้าพเจ้าเพราะท่านไม่ได้ต่อสู้ในมิสซูรี แต่ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงต้องการให้ท่านต่อสู้ พระองค์ไม่ทรงสามารถจัดตั้งอาณาจักรของพระองค์โดยให้ชายสิบสองคนไปเปิดประตูพระกิตติคุณให้กับประเทศต่างๆ ของแผ่นดินโลก และให้ชายเจ็ดสิบคนภายใต้การกำกับดูแลของพวกเขาเดินตามรอยพวกเขา นอกเสียจากพระองค์จะทรงนำพวกเขาออกจากกลุ่มคนผู้เคยมอบชีวิตของตน และผู้ที่เคยเสียสละมากเท่าอับราฮัม

“บัดนี้ พระเจ้าทรงได้อัครสาวกสิบสองและสาวกเจ็ดสิบของพระองค์แล้ว และจะทรงเรียกโควรัมอื่นของสาวกเจ็ดสิบด้วย”5

โดยแท้แล้วค่ายไซอันเป็นไฟของคนถลุงแร่สำหรับอาสาสมัครทุกคนและสำหรับผู้นำอีกมากมายในอนาคตของศาสนจักรของพระเจ้า

ประสบการณ์ที่อาสาสมัครในกองทัพของพระเจ้าได้รับเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพครั้งใหญ่กว่าในอนาคตของสมาชิกศาสนจักร ผู้เข้าร่วมค่ายไซอัน 20 กว่าคนกลายเป็นร้อยเอกร้อยโทในการอพยพครั้งใหญ่สองครั้ง—ครั้งแรกในอีกสี่ปีต่อมา เกี่ยวข้องกับการนำผู้อพยพ 8,000 ถึง 10,000 คนออกจากมิสซูรีไปอิลลินอยส์6 และครั้งที่สองในอีก 12 ปีต่อมา เป็นการย้ายครั้งใหญ่ไปตะวันตกของวิสุทธิชนประมาณ 15,000 คนจากอิลลินอยส์ไปซอลท์เลคและหุบเขาอื่นๆ ของเทือกเขาร็อกกี เนื่องจากเป็นการฝึกความพร้อมในขั้นเตรียม ค่ายไซอันจึงมีค่ามหาศาลต่อศาสนจักร ปี 1834 เป็นเวลาที่ต้องแสดงให้เห็น—และเตรียมพร้อมสำหรับปี 1838 และปี 1846

ตัวเราและครอบครัวเราจะได้รับการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียมเช่นเดียวกับสมาชิกของค่ายไซอัน พระคัมภีร์และคำสอนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เต็มไปด้วยสัญญาว่าศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การลงมือทำ การให้เกียรติ และจดจำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้เราเข้มแข็งเพื่อเตรียมเราให้พร้อมเผชิญ เอาชนะ และเรียนรู้จากการทดลองและการทดสอบของความเป็นมรรตัย

ผู้นำศาสนจักรของพระเจ้าระบุการทดสอบโดยรวมหรือโดยทั่วไปไว้ชัดเจน ซึ่งเราคาดได้ว่าจะต้องเผชิญในยุคสมัยและรุ่นของเรา เมื่อครั้งเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองในปี 1977 ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) เปล่งเสียงแห่งการพยากรณ์เตือนในการประชุมตัวแทนเขต ข้าพเจ้าจะอ้างอิงรายละเอียดจากข่าวสารของประธานเบ็นสันและเชื้อเชิญให้ท่านเอาใจใส่คำแนะนำที่เหมาะกับยุคสมัยดังนี้

“คนทุกรุ่นมีการทดสอบและโอกาสให้อดทนและพิสูจน์ตนเอง ท่านอยากรู้เรื่องของการทดสอบที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของเราหรือไม่ จงฟังคำเตือนของบริคัม ยังก์ ‘สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวที่สุดเกี่ยวกับคนเหล่านี้คือพวกเขาจะร่ำรวยในประเทศนี้ หลงลืมพระผู้เป็นเจ้าและผู้คนของพระองค์ เกียจคร้าน และเสือกไสตนเองออกจากศาสนจักรไปลงนรก คนเหล่านี้จะทนต่อการกลุ้มรุมทำร้าย การปล้นจี้ ความยากจน และการข่มเหงทุกรูปแบบและซื่อสัตย์ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวมากสุดคือพวกเขาจะทนความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ไหว’”

ประธานเบ็นสันกล่าวต่อไปว่า “ดูเหมือนนั่นจะเป็นการทดสอบที่ยากสุดของเราทุกคน เพราะความชั่วแยบยลมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น ดูเหมือนไม่ค่อยมีพิษภัยและสังเกตได้ยากกว่า แม้การทดสอบทั้งหมดของความชอบธรรมจะหมายถึงการต่อสู้ดิ้นรน แต่การทดสอบเจาะจงนี้ดูเหมือนไม่เป็นการทดสอบเลย ไม่มีการต่อสู้ดิ้นรนและด้วยเหตุนี้จึงเป็นการทดสอบที่หลอกได้มากสุดในบรรดาการทดสอบทั้งหมด

“ท่านรู้หรือไม่ว่าสันติสุขและความรุ่งเรืองจะทำอะไรคนเหล่านี้—จะสะกดพวกเขาให้หลับ พระคัมภีร์มอรมอนเตือนเราว่าในวันเวลาสุดท้ายซาตานจะค่อยๆ พาเราลงนรก พระเจ้าทรงมียักษ์ใหญ่ทางวิญญาณที่มีศักยภาพบนโลกนี้ผู้ที่พระองค์ทรงสงวนไว้หกพันปีให้มาช่วยนำอาณาจักรให้ได้ชัยชนะและมารกำลังพยายามสะกดพวกเขาให้หลับ ปฏิปักษ์รู้ว่าเขาอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเลยในการชักจูงคนเหล่านั้นให้ทำบาปใหญ่ร้ายแรงมากมายของการทำผิด เขาจึงสะกดคนเหล่านั้นให้หลับลึกเหมือนกัลลิเวอร์ขณะที่เขาทำให้คนเหล่านั้นเกยตื้นกับบาปเล็กๆ น้อยๆ ของการละเลย ยักษ์ใหญ่ที่เซื่องซึม เฉื่อยชา และเมินเฉยจะเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร

ภาพ
women sitting in front of computer

“เรามียักษ์ใหญ่ทางวิญญาณที่มีศักยภาพมากมายเหลือเกินผู้ควรจะกระตือรือร้นมากขึ้นในการปรับปรุงครอบครัว อาณาจักร และประเทศของพวกเขา เรามีคนมากมายผู้รู้สึกว่าตนเป็นคนชายหญิงที่ดี แต่พวกเขาต้องดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง—ผู้ประสาทพรที่เข้มแข็ง ผู้สอนศาสนาที่ห้าวหาญ เจ้าหน้าที่พระวิหารและประวัติครอบครัวที่กล้าหาญ คนรักชาติที่อุทิศตน สมาชิกโควรัมที่ทุ่มเท สรุปคือเราต้องสลัดตนและตื่นจากการงีบหลับทางวิญญาณ”7

ลองคิดดูว่าความมั่งคั่ง ความรุ่งเรือง และความสบายสามารถเป็นการทดสอบสาหัสในสมัยของเราเทียบเท่าหรือมากกว่าการข่มเหงและความยากลำบากทางกายที่วิสุทธิชนผู้อาสาเดินทัพในค่ายไซอันประสบ ดังที่ศาสดาพยากรณ์มอรมอนบรรยายไว้ในบทสรุปอันสูงส่งของท่านเกี่ยวกับวัฏจักรของความจองหองที่อยู่ในฮีลามัน 12 ว่า

“และดังนั้นเราจะเห็นว่าการหลอกลวง, และความรวนเรของใจลูกหลานมนุษย์เป็นอย่างไรด้วย; แท้จริงแล้ว, เราจะเห็นว่าพระเจ้าในพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีที่สุดของพระองค์ประทานพรและทรงทำให้คนที่มอบความไว้วางใจในพระองค์รุ่งเรือง.

“แท้จริงแล้ว, และเราจะเห็นในเวลานั้นเองเมื่อพระองค์ทรงทำให้ผู้คนของพระองค์รุ่งเรือง, แท้จริงแล้ว, ในการเพิ่มพูนท้องทุ่งของพวกเขา, ฝูงสัตว์เลี้ยงและฝูงสัตว์ใหญ่ของพวกเขา, และในทอง, และในเงิน, และในสิ่งมีค่าทุกประเภทของทุกชนิดและทุกอย่าง; ทรงไว้ชีวิตพวกเขา, และทรงปลดปล่อยพวกเขาจากเงื้อมมือศัตรู; ทรงทำให้ใจศัตรูของพวกเขาอ่อนลงเพื่อจะไม่ประกาศสงครามกับพวกเขา; แท้จริงแล้ว, และท้ายที่สุด, ทรงทำทุกสิ่งเพื่อความผาสุกและความสุขของผู้คนของพระองค์; แท้จริงแล้ว, หลังจากนั้นคือเวลาที่พวกเขาทำใจตนแข็งกระด้าง, และลืมพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา, และเหยียบย่ำพระผู้บริสุทธิ์ไว้ใต้เท้าของพวกเขา—แท้จริงแล้ว, และนี่เพราะความสบายของพวกเขา, และความรุ่งเรืองยิ่งของพวกเขา” (ฮีลามัน 12:1–2)

ข้าพเจ้าเชื้อเชิญท่านเป็นพิเศษให้สังเกตประโยคสุดท้ายของข้อสุดท้าย “และนี่เพราะความสบายของพวกเขา, และความรุ่งเรืองยิ่งของพวกเขา”

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี (1899–1973) สอนทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการทดสอบความสบายที่เราเผชิญในสมัยของเรา “เราได้รับการทดสอบ เราได้รับการทดลอง เรากำลังประสบการทดสอบที่เข้มงวดที่สุดบางอย่างในปัจจุบันและเราไม่ตระหนักในความรุนแรงของการทดสอบที่เรากำลังประสบ ในสมัยนั้นมีการฆาตรกรรม มีการกลุ้มรุมทำร้าย มีการขับไล่ พวกเขาถูกขับไล่เข้าไปในทะเลทราย พวกเขาอดอยาก เปลือยเปล่า และพวกเขาหนาว พวกเขามาถึงแผ่นดินที่เอื้อประโยชน์นี้ เราเป็นผู้สืบทอดสิ่งที่พวกเขามอบให้เรา แต่เราทำอะไรกับสิ่งนั้น ทุกวันนี้เรากำลังสำเริงสำราญกับชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ เหมือนเราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลก ดูเหมือนว่านี่อาจจะเป็นการทดสอบเข้มงวดที่สุดในบรรดาการทดสอบที่เราเคยมีในประวัติศาสตร์ของศาสนจักรนี้”8

คำสอนเหล่านี้จากศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและปัจจุบันเกี่ยวกับการทดสอบและการทดลองยุคสุดท้ายถือว่าขึงขังและจริงจัง แต่นั่นไม่ควรทำให้ท้อใจ และเราไม่ควรกลัว สำหรับคนที่มีตามองเห็นและมีหูได้ยิน คำเตือนทางวิญญาณทำให้พวกเขาระแวดระวังเพิ่มขึ้น ท่านและข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ใน “วันแห่งการเตือน” (คพ. 63:58) และเพราะเราได้รับการเตือนมาแล้วและจะได้รับอีก เราจึงต้อง “เฝ้าระวัง … ด้วยความเพียร” (เอเฟซัส 6:18) ตามที่อัครสาวกเปาโลตักเตือน ขณะที่เราเฝ้าระวังและเตรียม เราไม่จำเป็นต้องกลัว (ดู คพ. 38:30)

ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีความนึกคิดและจิตใจที่ยอมรับและจะขานรับคำเตือนที่ได้รับการดลใจเหล่านี้ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเฝ้าระวังและเตรียมต้านการทดลองยุคสุดท้ายของความรุ่งเรืองและความจองหอง ของความมั่งคั่งและความสบาย ของใจที่แข็งกระด้างและการหลงลืมพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเรา บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเราจะซื่อสัตย์ตลอดเวลาในสิ่งใดก็ตามที่พระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงฝากฝังไว้กับเรา—และเราจะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระองค์ (ดู แอลมา 53:20–21)

บทเรียนเรื่องการสังเกต การเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และการทำตามพวกท่าน

วิสุทธิชนที่แข็งแกร่งในกองทัพของพระเจ้าได้รับพรให้สังเกต ให้เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และทำตามพวกท่าน ปัจจุบันเราได้ประโยชน์ใหญ่หลวงจากแบบอย่างและความซื่อสัตย์ของสมาชิกที่ภักดีของค่ายไซอัน

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เดินทางตามคำแนะนำจากพาร์ลีย์ พี. แพรทท์ไปเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอในเดือนเมษายน ค.ศ. 1834 เพื่อสมทบกับค่ายไซอัน เรื่องราวการพบกันครั้งแรกของบราเดอร์วูดรัฟฟ์กับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้ความรู้แก่เราทุกคน

“นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ข้าพเจ้าได้พบและพูดคุยกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธที่รักของเรา บุรุษที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้นำการเปิดเผยของพระองค์ออกมาในวันเวลาสุดท้ายเหล่านี้ การแนะนำตัวครั้งแรกของข้าพเจ้าไม่ใช่เพื่อสนองแนวคิดทางโลกที่มีอยู่แล้วว่าศาสดาพยากรณ์ควรเป็นอย่างไรและท่านควรมีลักษณะอย่างไร เรื่องนั้นอาจสะเทือนความเชื่อของบางคน ข้าพเจ้าพบท่านกับไฮรัมพี่ชายกำลังยิงเป้าด้วยปืนสั้น เมื่อพวกท่านหยุดยิง ข้าพเจ้าจึงแนะนำตัวกับบราเดอร์โจเซฟและท่านจับมือทักทายข้าพเจ้าอย่างจริงใจที่สุด ท่านเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าทำเสมือนที่อยู่ของท่านเป็นบ้านข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้าอยู่ในเคิร์ทแลนด์ ข้าพเจ้ายอมรับคำเชื้อเชิญนี้อย่างตื่นเต้นที่สุด อีกทั้งได้รับการสอนสั่งและพรอย่างมากระหว่างพักอยู่กับท่าน”9

ข้าพเจ้าพบว่าน่าสนใจตรงที่บราเดอร์วูดรัฟฟ์ผู้อยู่ในบ้านของท่านศาสดาพยากรณ์ระยะหนึ่งและแน่นอนว่ามีโอกาสวิเศษสุดที่ได้สังเกตการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน ได้รับพรให้มีตามองไปไกลกว่า “แนวคิดทางโลกที่มีอยู่แล้วว่าศาสดาพยากรณ์ควรเป็นอย่างไรและท่านควรมีลักษณะอย่างไร” แนวคิดผิดๆ เช่นนั้นบดบังวิสัยทัศน์ของหลายคนในโลกปัจจุบัน ทั้งในและนอกศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้า

เนื่องด้วยการเรียกของข้าพเจ้าในปี 2004 ให้รับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ข้าพเจ้าจึงมีทัศนะชัดเจนแจ่มแจ้งเกี่ยวกับความหมายของการสังเกต การเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และทำตามพวกท่าน เวลานี้ข้าพเจ้าเห็นบุคลิกภาพส่วนตัว ความพึงใจที่หลากหลาย และอุปนิสัยที่โดดเด่นของผู้นำศาสนจักรนี้ทุกวัน บางคนพบว่าข้อจำกัดและข้อบกพร่องตามประสามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายและบั่นทอนศรัทธา สำหรับข้าพเจ้า ความอ่อนแอเหล่านั้นกำลังส่งเสริมศรัทธา แบบแผนการปกครองที่พระเจ้าทรงเปิดเผยในศาสนจักรนี้มีไว้เพื่อลดผลกระทบของความอ่อนแอตามประสามนุษย์ สำหรับข้าพเจ้า น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่เห็นพระเจ้าทรงบรรลุพระประสงค์ของพระองค์ผ่านผู้รับใช้ของพระองค์แม้ว่าผู้นำที่พระองค์ทรงเลือกจะมีจุดด่างพร้อยและข้อผิดพลาดก็ตาม บุรุษเหล่านี้ไม่เคยอ้างว่าตนดีพร้อมและไม่ดีพร้อม แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพวกท่านแน่นอน

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เป็นปุโรหิตเมื่อครั้งเดินไปมิสซูรีกับกองทัพของพระเจ้า ท่านประกาศในเวลาต่อมาขณะรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองว่า “เราได้รับประสบการณ์ที่เราไม่มีวันได้รับในวิธีอื่น เราได้รับเกียรติอันสูงส่งให้ … เดินทางหนึ่งพันไมล์ไปกับ [ท่านศาสดาพยากรณ์] และเห็นการทำงานของพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้ากับท่าน และการเปิดเผยของพระเยซูคริสต์ต่อท่านและสัมฤทธิผลของการเปิดเผยเหล่านั้น … หากข้าพเจ้าไม่ไปกับค่ายไซอันข้าพเจ้าคงไม่ได้อยู่ที่นี่วันนี้”10

ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายน ปี 1834 โจเซฟ สมิธเชิญผู้นำจำนวนหนึ่งของศาสนจักรมาพูดกับอาสาสมัครค่ายไซอันที่ชุมนุมกันในอาคารเรียน หลังจากพี่น้องชายสรุปข่าวสารของพวกเขา ท่านศาสดาพยากรณ์ลุกขึ้นและบอกว่าคำแนะนำเหล่านั้นจรรโลงใจท่าน ท่านพยากรณ์ต่อจากนั้นว่า

“ข้าพเจ้าประสงค์จะพูดกับท่านต่อพระพักตร์พระเจ้าว่าท่านไม่รู้เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของศาสนจักรและอาณาจักรนี้มากไปกว่าเด็กทารกบนตักมารดา ท่านไม่เข้าใจ … นี่คือฐานะปุโรหิตเพียงหยิบมือเดียวที่ท่านเห็นที่นี่คืนนี้ แต่ศาสนจักรนี้จะเต็มอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้—จะเต็มโลก”11

บุรุษอย่างเช่น บริคัม ยังก์, ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์, ออร์สัน แพรทท์ และวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ ฟังและเรียนรู้มาจากท่านศาสดาพยากรณ์คืนนั้น—หลายปีต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ช่วยทำให้คำประกาศอันเป็นการพยากรณ์นั้นเกิดสัมฤทธิผล บุรุษเหล่านี้มีโอกาสอันน่ายินดียิ่งที่ได้สังเกต เรียนรู้จากท่านศาสดาพยากรณ์ และทำตามท่าน

ภาพ
President Nelson with young man

สำคัญที่เราทุกคนจะจดจำว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ทั้งจากคำสอนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และจากแบบอย่างชีวิตของท่านเหล่านั้น จากวิสัยทัศน์อันสูงส่งเกี่ยวกับการเติบโตในอนาคตของศาสนจักรที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพูดไว้อย่างชัดเจน ตอนนี้ได้โปรดพิจารณาพลังแบบอย่างของท่านศาสดาพยากรณ์ในการปฏิบัติภารกิจปรกติประจำแต่จำเป็น จอร์จ เอ. สมิธบรรยายไว้ในบันทึกส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับการตอบสนองของท่านศาสดาพยากรณ์ต่อความท้าทายประจำวันของการเดินทัพไปมิสซูรีดังนี้

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพอๆ กับทุกคนตลอดการเดินทาง นอกจากจะดูแลเรื่องการจัดเตรียมค่ายและควบคุมค่ายแล้ว ท่านต้องเดินเป็นส่วนใหญ่ เท้าของท่านพุพอง มีเลือดออก และปวดแสบปวดร้อนเหมือนคนอื่นๆ … แต่ตลอดการเดินทางท่านไม่เคยบ่นหรือโอดครวญ ขณะที่ชายส่วนใหญ่ในค่ายบ่นกับท่านเรื่องนิ้วเท้าที่ปวดแสบปวดร้อน เท้าพุพอง การเดินทางไกลโดยไม่หยุดพัก เสบียงอาหารร่อยหรอ ขนมปังคุณภาพต่ำ ขนมปังข้าวโพดบูด เนยขึ้นรา น้ำผึ้งรสชาติแปลกๆ หนอนขึ้นเบคอนกับชีส ฯลฯ กระทั่งสุนัขเห่าใส่ก็ยังมีคนบ่นกับโจเซฟ ถ้าพวกเขาต้องพักแรมและน้ำไม่สะอาด แทบจะเกิดการจลาจลได้เลย แต่เราคือค่ายไซอัน เราหลายคนไม่สวดอ้อนวอน สิ้นคิด เลินเล่อ ไม่ใส่ใจ โง่เขลาหรือเหมือนปีศาจร้าย แต่เราไม่รู้ตัว โจเซฟต้องอดทนกับเราและสอนเราเหมือนเด็กๆ”12

โจเซฟเป็นแบบอย่างน่าเชื่อถือของหลักธรรมที่แอลมาสอน “เพราะผู้สั่งสอนไม่ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; … พวกเขาทุกคนทำงาน, ทุกคนทำงานตามกำลังของตน” (แอลมา 1:26)

ตั้งแต่ทรงเรียกข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าพยายามสังเกตและเรียนรู้ขณะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่บางท่านประสบผลของความชราหรือข้อเรียกร้องไม่หยุดหย่อนของขีดจำกัดทางกายและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ท่านไม่สามารถและจะไม่มีวันรู้ความทุกข์ส่วนตัวเงียบๆ ของบุรุษบางท่านเหล่านี้ขณะพวกท่านรับใช้ส่วนรวมด้วยสุดใจ พลัง ความคิด และพละกำลังของพวกท่าน การเฝ้าดูและรับใช้กับประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917–2008) ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) และเพื่อนอัครสาวกท่านอื่นของข้าพเจ้าทำให้ข้าพเจ้ามีพลังประกาศอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ารับใช้ด้วยล้วนเป็นนักรบ—นักรบทางวิญญาณที่ยิ่งใหญ่และสง่างาม—ในความหมายแท้จริงที่สุดและน่าชื่นชมที่สุดของคำนั้น! ความอดทน ความไม่ย่อท้อ และความกล้าหาญของพวกท่านทำให้พวกท่านสามารถ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์” (2 นีไฟ 31:20) สิ่งนั้นคู่ควรให้เราเลียนแบบ

ประธานลีเตือนเรื่องการทดสอบโดยรวมเพิ่มเติมที่กำลังแพร่หลายมากขึ้นในคนรุ่นนี้ว่า “เวลานี้เรากำลังประสบการทดสอบอีกอย่างหนึ่ง—ช่วงเวลาของสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าการตบตา นี่เป็นเวลาที่คนฉลาดมากมายไม่ยอมฟังศาสดาพยากรณ์ที่ต่ำต้อยของพระเจ้า … นี่คือการทดสอบที่ค่อนข้างสาหัส”13

การทดสอบเรื่องการตบตามาคู่กับการทดสอบเรื่องความรุ่งเรืองและความสบาย สำคัญอย่างยิ่งที่เราแต่ละคนต้องสังเกต เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และทำตามพวกท่าน

ภาพ
members of the First Presidency

“ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า” บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นโดยการฟังและเอาใจใส่คำแนะนำของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกในยุคสุดท้ายให้ควบคุมและกำกับดูแลงานของพระองค์บนแผ่นดินโลก บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อว่า “คำ [ของพระผู้เป็นเจ้า] จะไม่สูญสิ้นไป, แต่จะเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด, ไม่ว่าโดยเสียงของเราเอง หรือโดยเสียงของผู้รับใช้ทั้งหลายของเรา, ก็เหมือนกัน” (คพ. 1:38) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็น บัดนี้ถึงเวลาแล้ว!

ค่ายไซอันของเราเอง

ณ จุดหนึ่งของชีวิตเราแต่ละคน เราจะได้รับการเชื้อเชิญให้เดินทัพในค่ายไซอันของเราเอง จังหวะเวลาของการเชื้อเชิญจะหลากหลาย และอุปสรรคที่เราพบเจอบนการเดินทางจะต่างกัน แต่การขานรับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอต่อคำขอที่เลี่ยงไม่ได้นี้สุดท้ายแล้วจะให้คำตอบแก่คำถามที่ว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า”

เวลาที่ต้องแสดงให้เห็นคือเดี๋ยวนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ และตลอดกาล ขอให้เราจดจำบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียม ตลอดจนการสังเกต การเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และการทำตามพวกท่าน

อ้างอิง

  1. บริคัม ยังก์, ใน B. H. Roberts, A Comprehensive History of the Church, 1:370–71.

  2. “Who’s on the Lord’s Side?” Hymns, no. 260.

  3. The Discourses of Wilford Woodruff, ed. G. Homer Durham (1946), 306.

  4. “Who’s on the Lord’s Side?” Hymns, no. 260.

  5. โจเซฟ สมิธ, ใน Joseph Young Sr., History of the Organization of the Seventies (1878), 14; see also History of the Church, 2:182.

  6. ดู อเล็กซานเดอร์ แอล. บัพ, “From High Hopes to Despair: The Missouri Period, 1831–39,” Ensign, July 2001, 44.

  7. เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “Our Obligation and Challenge,” Regional Representatives seminar, Sept. 30, 1977, 2–3; ฉบับคัดลอกที่ไม่ได้ตีพิมพ์.

  8. ฮาโรลด์ บี. ลี, “Christmas address to Church employees,” Dec. 13, 1973, 4–5; ฉบับคัดลอกที่ไม่ได้ตีพิมพ์.

  9. วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, ใน Matthias F. Cowley, Wilford Woodruff: History of His Life and Labors (1909), 39.

  10. วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, ใน The Discourses of Wilford Woodruff, 305.

  11. โจเซฟ สมิธ ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (2004), 25–26; ดู โจเซฟ สมิธ, อ้างโดยวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, ใน Conference Report, Apr. 1898, 57 ด้วย.

  12. จอร์จ เอ. สมิธ, “My Journal,” Instructor, May 1946, 217.

  13. ฮาโรลด์ บี. ลี, “Sweet Are the Uses of Adversity,” Instructor, June 1965, 217.