2017
ครูผู้ช่วยจิตวิญญาณให้รอด
กรกฎาคม 2017


การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ครูผู้ช่วยจิตวิญญาณให้รอด

สาเหตุ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้ความหมายแก่ วิธี ที่พระองค์ทรงสอน จุดประสงค์ของเราต่างจากนั้นหรือไม่

ภาพ
Jesus sitting with old man

ผมยอมรับว่าเมื่อผมคิดเรื่องการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ผมมักจะให้ความสนใจกับ วิธี ที่พระองค์ทรงสอน พระองค์ทรงทำอะไร พระองค์ทรงปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างไร พระองค์ทรงเป็นครูผู้เชี่ยวชาญ! แต่หากเราต้องการสอนเหมือนพระองค์ เราจำเป็นต้องเข้าใจ สาเหตุ ที่พระองค์ทรงสอน สุดท้ายแล้ว “สาเหตุ” นั้นจะทำให้เราและคนที่เราสอนต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน จุดประสงค์ของพระองค์ไม่ใช่เพื่อสอนให้ครบตามเวลาหรือทำให้เพลิดเพลินหรือป้อนข้อมูลมากมาย ทุกอย่างที่พระองค์ทรงทำ—รวมทั้งการสอน—ล้วนมุ่งหมายจะนำผู้อื่นไปหาพระบิดา ความปรารถนาและพระพันธกิจทั้งหมดของพระผู้ช่วยให้รอดคือช่วยให้บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์รอด (ดู 2 นีไฟ 26:24) เมื่อเราพยายามสอนเฉกเช่นพระองค์ทรงสอน เราเรียนรู้ว่าเราต้องมีแรงจูงใจจากจุดประสงค์เดียวกันกับที่พระองค์ทรงมี

อีกนัยหนึ่งคือ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดคือการเป็นครูผู้มีจุดประสงค์จะช่วยจิตวิญญาณให้รอด

ความปรารถนาจะช่วยผู้อื่นให้รอด

เรื่องที่ผมชื่นชอบมากเรื่องหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนพูดถึงบุตรของกษัตริย์โมไซยาห์ทิ้งอาณาจักรของชาวนีไฟเพื่อพวกเขาจะสามารถสถาปนาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในบรรดาชาวเลมัน พวกเขายอมทิ้งอาณาจักรทางโลกเพื่ออาณาจักรแห่งสวรรค์ พวกเขายอมทิ้งความสุขสบายที่เป็นความปลอดภัยในบรรดาชาวนีไฟไปอยู่ท่ามกลางชาวเลมันผู้เป็นศัตรูเพื่อพวกเขา “อาจจะช่วยจิตวิญญาณของพวกเขาบางจิตวิญญาณให้รอด” (แอลมา 26:26)

อะไรเป็นแรงจูงใจผู้รับใช้เหล่านี้ของพระเจ้า “พวกท่านทนไม่ได้ที่จิตวิญญาณมนุษย์คนใดจะต้องพินาศ; แท้จริงแล้ว, แม้เพียงความคิดว่าจิตวิญญาณใดจะต้องทนความทรมานอันหาได้สิ้นสุดไม่ก็ทำให้พวกท่านครั่นคร้ามและตัวสั่น” (โมไซยาห์ 28:3) แรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้พวกเขาอดทนต่อ “ความทุกข์หลายอย่าง” (แอลมา 17:5, 14)

เรื่องนี้มักจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผมคิดว่าผมกำลังทำสิ่งที่ทำได้เพื่อนำผู้อื่นมาหาพระคริสต์หรือไม่ ผมจดจ่อมากพอกับการช่วยจิตวิญญาณให้รอดหรือไม่

การเป็นครูผู้ช่วยจิตวิญญาณให้รอด

ภาพ
teacher with youth

เมื่อเราปรารถนาจะสอนด้วยเหตุผลเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด หลักธรรมว่าด้วย วิธี ที่พระองค์ทรงสอนจะมีความหมายมากขึ้น หลักธรรมเหล่านั้นไม่ใช่แค่เทคนิค แต่เป็นแบบฉบับสำหรับการเป็นเหมือนพระองค์ เมื่อเราประยุกต์ใช้แนวคิดต่อไปนี้และแนวคิดอื่นๆ ใน การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างสม่ำเสมอ เราจะไม่เพียง สอน ได้เหมือนพระองค์มากขึ้นเท่านั้นแต่ เป็น เหมือนพระองค์มากขึ้นด้วย

แสวงหาการเปิดเผยแต่เนิ่นๆ

เพื่อช่วยในงานแห่งการช่วยจิตวิญญาณให้รอด เราต้องได้รับการเปิดเผย การเปิดเผยเกิดขึ้น “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์, ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” (2 นีไฟ 28:30)—และนั่นใช้เวลา เราจงเริ่มเตรียมแต่เนิ่นๆ และแสวงหาการเปิดเผยบ่อยๆ

รักผู้คน

ความรักอาจจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสุดที่ครูจะสามารถช่วยจิตวิญญาณให้รอดได้ อาจเรียบง่ายเพียงการรู้จักชื่อนักเรียนแต่ละคน ถามพวกเขาเกี่ยวกับสัปดาห์ของพวกเขา บอกพวกเขาว่าพวกเขาพูดดีมาก หรือแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของพวกเขา การแสดงความสนใจและความรักจะเปิดใจและช่วยให้คนที่เราสอนสามารถรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้

เตรียมสอนโดยนึกถึงความต้องการของผู้เรียน

ครูที่ช่วยจิตวิญญาณให้รอดจดจ่ออยู่กับผู้เรียน ขณะที่เราทบทวนเนื้อหาบทเรียน เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่จะสนองความต้องการของพวกเขาได้ดีที่สุด ไม่ใช่ของเรา เราลืมเรื่องการสอนให้ครบตามเวลาและจดจ่ออยู่กับการเติมเต็มจิตใจและความคิด เราไม่เพียงคิดว่าเราจะพูดและทำอะไร แต่คิดด้วยว่าผู้เรียนจะพูดและทำอะไรด้วย เราต้องการให้พวกเขาแบ่งปันความคิดเพราะนั่นจะสร้างความสามัคคี เปิดใจพวกเขา และช่วยให้พวกเขาใช้ศรัทธา

เน้นหลักคำสอน

เป็นธรรมดาที่ครูจะประเมินประสิทธิผลของพวกเขาโดยดูว่าพวกเขาทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากเพียงใด แต่นั่นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของประสบการณ์ หากชั้นเรียนของเรามีการแบ่งปันมากแต่มีหลักคำสอนนิดเดียว แสดงว่าเราให้สิ่งที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกว่า “กากทอด” เราได้ให้บางสิ่งที่รสชาติดี แต่เราไม่ได้บำรุงเลี้ยงสมาชิกชั้นเรียนด้วยพลังค้ำจุนของหลักคำสอน

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “มนุษย์ไม่ได้รอดเร็วกว่าเขาตักตวงความรู้”1 เราต้องช่วยคนที่เราสอนตักตวงความรู้ในแขนงสำคัญที่สุด—นั่นคือหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์

เมื่อเราและสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความคิดและความรู้สึก เราควรนำกลับมาที่พระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายเสมอ เมื่อไม่นานมานี้ บราเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญสอนว่า “ครูในอุดมคติจะพยายามเชื่อมโยงความเห็นของชั้นเรียนกับหลักคำสอนอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ครูอาจจะพูดว่า ‘ประสบการณ์ที่คุณแบ่งปันทำให้ผมนึกถึงพระคัมภีร์ข้อหนึ่ง’ หรือ ‘เราเรียนรู้ความจริงพระกิตติคุณอะไรบ้างจากความเห็นที่เราได้ยิน’ หรือ ‘ใครอยากแสดงประจักษ์พยานยืนยันพลังของความจริงที่เราสนทนาไปแล้วบ้าง’”2

อัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นพยาน

ครูผู้ช่วยจิตวิญญาณให้รอดเข้าใจว่าสิ่งที่เราพูดและทำในฐานะครูมุ่งหมายจะเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตผู้อื่น พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นครู บทบาทหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์คือเป็นพยานยืนยันความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระบิดาและพระบุตร ฉะนั้นเมื่อเราสอนเกี่ยวกับพระองค์และพระกิตติคุณของพระองค์ เราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นพยานต่อสมาชิกชั้นเรียน เดชานุภาพของพระองค์เสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาและเปลี่ยนใจพวกเขาตามระดับที่พวกเขารับได้ พยานของพระองค์มีพลังยิ่งกว่าการมองเห็น3

เชื้อเชิญให้ผู้เรียนเรียนรู้และกระทำด้วยตนเอง

ภาพ
woman commenting in class

เมื่อเร็วๆ นี้ผมอยู่ในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่ครูเริ่มโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษขณะพวกเขาอ่านงานมอบหมายของสัปดาห์นั้นจากพระคัมภีร์และวิธีที่พวกเขาได้ประยุกต์ใช้สิ่งนั้นกับชีวิต ทั้งหมดนี้นำไปสู่การสนทนาที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อคิดและสิ่งที่พวกเขาค้นพบด้วยตนเอง ครูเพิ่มประเด็นหลักคำสอนที่เธอเตรียมไว้เข้าไปในการสนทนานี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก สิ่งที่ผมประทับใจมากคือวิธีที่เธอเน้นส่งเสริมให้สมาชิกชั้นเรียนประสบพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยตนเอง

เป้าหมายของครูอย่างเราไม่เพียงให้มีประสบการณ์ที่ดีในชั้นเรียนหรือสอนครบตามเวลาหรือให้บทเรียนที่ดีเท่านั้น เป้าหมายจริงๆ คือเดินไปกับคนอื่นๆ บนเส้นทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เป้าหมายของเราคือเป็นครูผู้ช่วยจิตวิญญาณให้รอด

อ้างอิง

  1. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 286.

  2. แทด อาร์. คอลลิสเตอร์, “Sunday School ‘Discussion Is a Means, Not an End,’” Church News, June 9, 2016, deseretnews.com.

  3. ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮาโรลด์ บี. ลี (2000), 36.