2017
ฝึกฟัง: สาขาต่างเชื้อชาติสาขาแรกในแอฟริกาใต้
กรกฎาคม 2017


ฝึกฟัง: สาขาต่างเชื้อชาติสาขาแรกในแอฟริกาใต้

ฟรานส์ เลคควาตีวัย 56 ปีน้ำตาคลอขณะที่เขานั่งตรงข้ามโอเลฟ เทมประธานสเตคของเขา ประธานเทมเพิ่งถามว่าฟรานส์คิดอย่างไรเกี่ยวกับการตั้งสาขาของศาสนจักรในโซเวโต แอฟริกาใต้บ้านเกิดของเขา

“คุณร้องไห้ทำไม ผมทำให้คุณไม่พอใจหรือเปล่า” ประธานเทมถาม

“เปล่าครับ” ฟรานส์ตอบ “นี่เป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ที่คนผิวขาวขอความคิดเห็นของผมก่อนตัดสินใจ”

ชีวิตภายใต้นโยบายแบ่งแยกสีผิว

ภาพ
South Africa in 1981

บน: ชายหาดที่กำหนดให้เป็นเขตเฉพาะคนผิวขาวภายใต้นโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

ล่างซ้าย: ภาพถ่ายจาก Keystone/Getty Images

ปีนั้นคือปี 1981 สมัยนั้น คนผิวขาวกับคนผิวดำในแอฟริกาใต้ถูกแบ่งแยกภายใต้ระบบกฎหมายที่เรียกว่านโยบายแบ่งแยกสีผิว การแบ่งแยกตามกฎหมายเช่นนี้ พร้อมด้วยข้อจำกัดของศาสนจักรไม่ให้ชายแอฟริกันผิวดำได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต มีความหมายมานานว่าศาสนจักรจะเจริญรุ่งเรืองในหมู่ชาวแอฟริกาใต้ผิวดำไม่ได้ วันใหม่เริ่มต้นในปี 1978 เมื่อประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ได้รับการเปิดเผยให้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต แต่ความท้าทายเรื่องการแบ่งแยกและความหวาดระแวงระหว่างเชื้อชาติที่มีมานานยังอยู่

ชาวแอฟริกาใต้ผิวดำส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองท้องถิ่น ปกติจะตั้งอยู่แถบชานเมืองที่มีคนผิวขาวมากกว่า เช่น โจฮันเนสเบิร์ก โซเวโตเป็นชื่อย่อของ South Western Townships เป็นเมืองใหญ่ที่สุด คนผิวขาวไม่ค่อยเข้าไปในเขตปกครองเหล่านั้น และคนผิวดำที่เข้าไปในเมืองมักจะถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกับคนผิวขาว

ฟรานส์กับครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มน้อยจากโซเวโตผู้น้อมรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูในช่วงทศวรรษ 1970 ตอนแรกพวกเขาเข้าร่วมการประชุมที่วอร์ดโจฮันเนสเบิร์ก โจนัสบุตรชายของฟรานส์จำได้ว่าวันอาทิตย์ครอบครัวของเขาตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อให้ทันขึ้นรถไฟเที่ยวเช้าตรู่ไปโจฮันเนสเบิร์กแล้วเดินอีกไกลไปโบสถ์ก่อนพิธีเริ่มเวลา 9 โมง ครอบครัวไปถึงก่อนเวลาเสมอ—แม้บางครั้งเด็กๆ จะยังง่วงตลอดช่วงปฐมวัยก็ตาม!

การเป็นผู้บุกเบิกของการรวมเชื้อชาติเป็นความท้าทายทางอารมณ์เช่นกัน โจไซยาห์ โมฮาปีจำได้ว่าเขาบังเอิญได้ยินเด็กชายผิวขาววัยหกขวบพูดจาก้าวร้าวต่อคนผิวดำที่เขาเจอที่โบสถ์ “พูดตามตรง ผมโกรธจนหน้าแดง” โจไซยาห์จำได้ แต่จากนั้นเขาก็ได้ยินผู้เป็นแม่บอกลูกชายเธอว่า “ศาสนจักรมีไว้สำหรับทุกคน” คำพูดนั้นทำให้โจไซยาห์เย็นลง

สาขาในโซเวโตหรือ

ภาพ
Julia Mavimbela participating in the groundbreaking of a new building

จูเลีย มาวิมเบลาประธานสมาคมสงเคราะห์ผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ เธอเข้าร่วมพิธีเบิกดินสร้างอาคารหลังใหม่ของสาขาโซเวโตในปี 1991 (ดูเรื่องราวของเธอในบทความถัดไป)

ภาพถ่ายเอื้อเฟื้อโดยหอสมุดประวัติศาสนจักร

ประธานเทมทราบดีว่าสมาชิกผิวดำเผชิญความท้าทายทางกายและทางอารมณ์ เขาถือว่าการเริ่มสาขาในโซเวโตทำให้คนเหล่านั้นเดินทางสะดวกขึ้นแต่ไม่ต้องการทำให้พวกเขารู้สึกประหนึ่งไม่เป็นที่ต้อนรับในโจฮันเนสเบิร์ก เขาตัดสินใจสัมภาษณ์สมาชิกโซเวโตอย่างฟรานส์เพื่อประเมินความรู้สึกก่อนดำเนินการ สมาชิกเหล่านั้นให้คำตอบชัดเจนว่า “เราอยากให้จัดตั้งศาสนจักรในโซเวโต”

ประธานเทมระบุชื่อผู้นำที่มีประสบการณ์ผู้จะสามารถช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ได้ เขาสัมภาษณ์สมาชิก 200 กว่าคนในโจฮันเนสเบิร์กและสุดท้ายจึงเรียกสมาชิก 40 คนมาเข้าร่วมสาขาใหม่ให้นานพอจะช่วยอบรมกลุ่มบุกเบิกของผู้นำในท้องที่นั้น

ขณะที่สมาชิกผิวสีข้ามเข้ามาในอีกเขตหนึ่งของเมืองและอีกวัฒนธรรมหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมที่วอร์ดโจฮันเนสเบิร์ก สมาชิกผิวขาวก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ขณะพวกเขารับใช้ในโซเวโต สถานการณ์ไม่ราบรื่นเสมอไป มอรีน แวนซิล สมาชิกผิวขาวที่ได้รับเรียกให้รับใช้เป็นประธานปฐมวัยไม่ได้คิดอะไรเมื่อเลือกเพลงชาติแอฟริกาใต้เป็นเพลงเปิดในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สัปดาห์หนึ่ง แต่ไม่นานเธอก็ทราบว่าชาวแอฟริกันผิวสีมองว่าเพลงชาติเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสีผิวและพี่น้องสตรีผิวสีหลายคนไม่พอใจกับการเลือกเพลงนี้

สมาชิกผิวสีกับสมาชิกผิวขาวเหมือนกันตรงที่ท้อใจได้ง่ายกับความเข้าใจผิดเช่นนั้น แต่พวกเขาเลือกมองว่านั่นเป็นโอกาสให้ได้พูดคุยกันและปรับปรุงให้ดีขึ้น “เราพูดคุยกันทุกเรื่อง” มอรีนจำได้ “อะไรจะทำให้คนผิวสีไม่พอใจ และอะไรจะทำให้คนผิวขาวอย่างเราไม่พอใจ พวกเขาทำแบบนั้นอย่างไร และพวกเราทำแบบนี้อย่างไร นี่เป็นช่วงเวลาดีเยี่ยมที่เราได้เรียนรู้ด้วยกัน”

เมื่อสาขาในโซเวโตเข้มแข็งขึ้นและใหญ่ขึ้น ในเขตปกครองอื่นก็เริ่มมีสาขาโดยใช้ต้นแบบเดียวกัน คัมบูลานี มะดะเลทเชเป็นเยาวชนชายในขตปกครองความาชูใกล้เดอร์บัน เมื่อเขาเข้าร่วมศาสนจักรในปี 1980 เขามาพร้อมกับความหวาดระแวงคนผิวขาวเหมือนเยาวชนชายผิวสีเกือบทุกคนในแอฟริกาใต้เวลานั้น แต่ประสบการณ์การนมัสการของเขาในสาขาต่างเชื้อชาติเปลี่ยนทัศนะของเขา

กาวที่ช่วยประสานผู้คนเข้าด้วยกัน

ในปี 1982 คัมบูลานีกับเยาวชนชายอีกหลายคนในสาขาของเขาได้รับเชิญไปเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของหนุ่มสาวโสด ประธานสาขาของเขาเป็นคนผิวขาวชื่อจอห์น แมนฟอร์ด ต้องการให้เยาวชนชายดูดีที่สุด แต่มีเพียงไม่กี่คนที่มีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ เขาขนสูทในตู้เสื้อผ้าของเขามาแจกให้เยาวชนชายสวมไปการประชุมใหญ่ วันอาทิตย์ต่อมา ประธานแมนฟอร์ดสวมสูทที่เขาให้คัมบูลานียืม “ผมไม่คิดว่าคนผิวขาวจะสวมเสื้อผ้าชุดเดียวกับที่ผมเคยสวม” คัมบูลานีเล่า “แต่เขาสวม เขาเริ่มช่วยให้ผมมองคนผิวขาวต่างจากที่ผมเคยมอง”

เอ็ลเดอร์มะดะเลทเชซึ่งเวลานี้เป็นสาวกเจ็ดสิบภาคตั้งข้อสังเกตว่า “เราทุกคนต้องมีประสบการณ์จริงแบบนี้จึงจะทำให้เราเปลี่ยน”

ภาพ
Johannesburg South Africa Temple

ธงชาติแอฟริกาใต้ที่นำมาใช้ในปี 1994 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันหลังนโยบายแบ่งแยกสีผิว สีดำ เหลือง และเขียวหมายถึงสภาแห่งชาติแอฟริกัน ส่วนสีแดง ขาว และน้ำเงินหมายถึงสาธารณรัฐโบเออร์

นโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้สิ้นสุดในปี 1994 แม้ที่ประชุมหลายแห่งเวลานี้ยังอยู่ในเขตที่มีคนผิวสีเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ก็คนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ แต่เสรีภาพมากขึ้นหมายความว่าจำนวนเขตที่มีคนทั้งสองกลุ่มก็เพิ่มตามไปด้วย เฉกเช่นผู้บุกเบิกของสาขาแรกๆ ในเขตปกครองท้องถิ่น สมาชิกที่มีพื้นเพต่างกันนมัสการและทำงานด้วยกันเพื่อเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

ธาโบ เลเบโธอาประธานสเตคโซเวโตคนปัจจุบันบอกว่าพระกิตติคุณเป็นกาวที่ช่วยประสานผู้คนเข้าด้วยกันในช่วงเวลาของการแบ่งแยก “เราอาจไม่เห็นพ้องในเรื่องที่เกิดขึ้นนอกศาสนจักร กับนโยบายและอีกหลายเรื่อง” เขากล่าว “แต่เราเห็นพ้องในหลักคำสอน” ผู้คนได้เรียนรู้จากความต่างของกันและกันโดยทำงานจากพื้นฐานร่วมกันขณะพวกเขาหารือกันและฟังด้วยความรู้สึกละเอียดอ่อนทางวิญญาณ “สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเป็นผู้นำคือฟังผู้คน” ประธานเลเบโธอาแนะนำ “ฟังเพื่อให้คุณเข้าใจ ฟังเพื่อให้คุณรู้สึก ฟังเพื่อให้คุณได้รับการดลใจ”

โธบา คาร์ล-ฮัลลาลูกสาวของจูเลีย มาวิมเบลาสมาชิกสาขาโซเวโตรุ่นแรกยอมรับว่าการฟังช่วยป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นกลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่เจ็บปวด “ดิฉันจะฟังจนทำให้ดิฉันเข้าใจความคับข้องใจของคนที่ดิฉันอาจจะคิดว่าเป็นฝ่ายผิด” เธอกล่าว

เอ็ลเดอร์มะดะเลทเชกระตุ้นวิสุทธิชนชาวแอฟริกาใต้ในปัจจุบันให้หาข้อดีในความหลากหลายของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมของการปรึกษาหารือ “พระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น” เขากล่าว “ให้คนทุกวงการนั่งล้อมโต๊ะคุยกันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ” เขาขอร้องผู้นำในท้องที่ทั่วศาสนจักรให้สร้างผู้นำจากพื้นเพต่างกันต่อไป เหมือนกับที่คนรุ่นก่อนสนับสนุนเขา เมื่อพยายามไปถึงเขตใหม่และคนกลุ่มใหม่ เขากล่าวว่า “คุณจะไม่หาคนที่มีประสบการณ์ แต่คุณสร้างประสบการณ์ในศาสนจักร คุณสร้างประสบการณ์โดยให้ผู้คนดำรงตำแหน่งสำคัญแม้ไม่มีประสบการณ์และให้พวกเขาทำงานด้วยกัน”