การประชุมใหญ่สามัญ
ความจริงนิรันดร์
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2023


ความจริงนิรันดร์

ความจำเป็นของการรับรู้ความจริงไม่เคยสำคัญเท่านี้มาก่อน!

พี่น้องทั้งหลาย ขอบคุณสำหรับการอุทิศตนของท่านต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและต่อพระบุตร พระเยซูคริสต์ และขอบคุณสำหรับความรักและการรับใช้ของท่านที่มีต่อกัน ท่านน่าทึ่งจริงๆ!

คำนำ

หลังจากข้าพเจ้ากับแอนน์ภรรยาได้รับเรียกให้รับใช้เป็นผู้นำคณะเผยแผ่เต็มเวลา ครอบครัวเราตั้งใจที่จะรู้จักชื่อของผู้สอนศาสนาแต่ละคนก่อนจะมาถึงสนามเผยแผ่ เราเอารูปมาสร้างบัตรคำและเริ่มศึกษาใบหน้าและท่องจำชื่อ

เมื่อเรามาถึง เราจัดการประชุมแนะนำตัวกับผู้สอนศาสนา เมื่อเราพบปะกัน เราได้ยินลูกชายวัยเก้าปีของเรา:

“ยินดีที่ได้รู้จักครับแซม!”

“เรเชล คุณมาจากไหนครับ?”

“ว้าว เดวิด คุณตัวสูงมาก!”

ด้วยความตกใจ ข้าพเจ้าไปหาลูกชายและกระซิบบอกว่า “นี่ อย่าลืมเรียกผู้สอนศาสนาว่าเอ็ลเดอร์หรือซิสเตอร์กันสิ”

เขาทำหน้างงงวยและบอกว่า “พ่อครับ ผมนึกว่าเราต้องท่องจำ ชื่อ ของพวกเขาเสียอีก” ลูกของเราทำสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องตามความเข้าใจตนเอง

ฉะนั้น เราเข้าใจอะไรเกี่ยวกับความจริงในโลกปัจจุบัน? เราถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องด้วยความคิดเห็นรุนแรง การรายงานข่าวที่มีอคติ และข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ขณะเดียวกัน ปริมาณและแหล่งที่มาของข้อมูลนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นของการรับรู้ความจริงไม่เคยสำคัญเท่านี้มาก่อน!

ความจริงสำคัญยิ่งต่อการสร้างและกระชับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า การพบสันติสุขและปีติ และการบรรลุศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา วันนี้ ขอให้เราพิจารณาคำถามต่อไปนี้:

  • ความจริงคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญ?

  • เราพบความจริงอย่างไร?

  • เมื่อเราพบความจริงแล้วเราจะแบ่งปันได้อย่างไร?

ความจริงเป็นนิรันดร์

พระเจ้าทรงสอนเราในพระคัมภีร์ว่า “ความจริงคือความรู้ถึงสิ่งทั้งหลายดังที่เป็นอยู่, และดังที่เป็นมา, และดังที่จะเป็น” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:24) ความจริง “มิได้สร้างขึ้นหรือรังสรรค์ไว้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:29) และ “ไม่มีที่สิ้นสุด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:66)1 ความจริงเป็นสิ่งแน่นอน คงที่ และไม่เปลี่ยนแปลง อีกนัยหนึ่งคือ ความจริงเป็นนิรันดร์”2

ความจริงช่วยเราหลีกเลี่ยงการหลอกลวง3 แยกแยะความดีจากความชั่ว4 ได้รับความคุ้มครอง5 พบการปลอบโยนและการเยียวยา6 ความจริงสามารถชี้นำการกระทำของเรา7 ทำให้เราเป็นอิสระ8 ชำระเราให้บริสุทธิ์9 และนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดร์ด้วย10

พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงนิรันดร์

พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงนิรันดร์ต่อเราผ่าน เครือข่ายความสัมพันธ์ตามการเปิดเผย ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ พระเยซูคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ศาสดาพยากรณ์ และเรา ขอให้เราพูดถึงบทบาทที่แตกต่างกันแต่เชื่อมโยงถึงกันของผู้เข้าร่วมแต่ละคนในกระบวนการนี้

ประการแรก พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นบ่อเกิด นั้น ของความจริงนิรันดร์11 พระองค์และพระบุตร พระเยซูคริสต์12 ทรงเข้าพระทัยความจริงอย่างสมบูรณ์และทรงกระทำตามหลักธรรมและกฎที่แท้จริงเสมอ13 เดชานุภาพนี้ช่วยให้ทั้งสองพระองค์ทรงสร้างและปกครองโลก14 ตลอดจนรัก นำทาง และบำรุงเลี้ยงเราแต่ละคนอย่างสมบูรณ์แบบ15 ทั้งสองพระองค์ทรงต้องการให้ เรา เข้าใจและประยุกต์ใช้ความจริงเพื่อ เรา จะชื่นชมกับพรแบบเดียวกับพระองค์16 ทั้งสองพระองค์อาจบอกความจริงต่อหน้าหรือโดยปกติผ่านผู้ส่งสาร เช่น พระวิญญาณบริสุทธิ์ เทพ หรือศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่

ประการที่สอง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงความจริงทั้งปวง17 พระองค์ทรงเปิดเผยความจริงแก่เราโดยตรงและเป็นพยานถึงความจริงที่ผู้อื่นสอน ความประทับใจจากพระวิญญาณมักมาในรูปความคิดสู่จิตและความรู้สึกสู่ใจเรา18

ประการที่สาม ศาสดาพยากรณ์ได้รับความจริงจากพระผู้เป็นเจ้าและแบ่งปันความจริงนั้นกับเรา19 เราเรียนรู้ความจริงจากศาสดาพยากรณ์ในอดีตในพระคัมภีร์20 และจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ในการประชุมใหญ่สามัญและผ่านช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการอื่นๆ

สุดท้าย ท่านและข้าพเจ้ามีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้เราแสวงหา รับรู้ และปฏิบัติตามความจริง ความสามารถของเราที่จะได้รับและประยุกต์ใช้ความจริงขึ้นอยู่กับพลังของความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาและพระบุตร การตอบสนองของเราต่ออิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และความสอดคล้องของเรากับศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย

เราต้องจำไว้ว่าซาตานพยายามป้องกันเราจากความจริง เขารู้ว่าหากไม่มีความจริง เราจะรับชีวิตนิรันดร์ไม่ได้ เขาถักทอสายใยแห่งความจริงเข้ากับปรัชญาทางโลกเพื่อทำให้เราสับสนและเขวออกจากสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสื่อสาร21

แสวงหา รับรู้ และประยุกต์ใช้ความจริงนิรันดร์

เมื่อเราแสวงหาความจริงนิรันดร์22 คำถามสองข้อต่อไปนี้สามารถช่วยให้เรารับรู้ว่าแนวคิดมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือจากแหล่งอื่น:

  • เป็นแนวคิดที่สอนสม่ำเสมอในพระคัมภีร์และโดยศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่หรือไม่?

  • แนวคิดได้รับการยืนยันโดยพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่?

พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงทางหลักคำสอนผ่านศาสดาพยากรณ์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันความจริงเหล่านั้นแก่เราและช่วยเราประยุกต์ใช้23 เราต้องแสวงหาและพร้อมรับความประทับใจทางวิญญาณเหล่านี้เมื่อมาถึงเรา24 เราเปิดรับพยานของพระวิญญาณมากที่สุดเมื่อเราถ่อมตน25 สวดอ้อนวอนอย่างจริงใจและศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า26 และรักษาพระบัญญัติของพระองค์27

เมื่อพระ‍วิญ‌ญาณ‍บริ‌สุทธิ์ทรงยืนยันความจริงที่เฉพาะเจาะจงแก่เราแล้ว ความเข้าใจของเราลึกซึ้งขึ้นเมื่อเรานำหลักธรรมนั้นมาปฏิบัติ เวลาผ่านไป เมื่อเราดำเนินชีวิตตามหลักธรรมอย่างสม่ำเสมอ เราได้รับความรู้แน่นอนของความจริงนั้น28

ตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าทำผิดพลาดและรู้สึกเสียใจสำหรับการเลือกแย่ๆ แต่ผ่านการสวดอ้อนวอน การศึกษา และศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าได้รับพยานถึงหลักธรรมแห่งการกลับใจ29 เมื่อข้าพเจ้ากลับใจต่อเนื่อง ความเข้าใจเรื่องการกลับใจยิ่งเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้ารู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระองค์มากขึ้น ตอนนี้ข้าพเจ้า รู้ แล้วว่าบาปได้รับการอภัยผ่านพระเยซูคริสต์ เพราะข้าพเจ้าประสบพรของการกลับใจทุกวัน30

วางใจในพระผู้เป็นเจ้าเมื่อความจริงยังไม่เปิดเผย

แล้วเราควรทำอย่างไรเมื่อเราแสวงหาอย่างจริงใจเกี่ยวกับความจริงที่ยังไม่เปิดเผย? ข้าพเจ้าเห็นใจพวกเราผู้โหยหาคำตอบที่ดูเหมือนจะไม่มา

พระเจ้าทรงแนะนำโจเซฟ สมิธว่า “จงนิ่งเสียจนกว่าเราจะเห็นสมควรที่จะทำให้สิ่งทั้งปวงเป็นที่รู้ … เกี่ยวกับเรื่องนี้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 10:37)

และทรงอธิบายกับเอ็มมา สมิธว่า “อย่าพร่ำบ่นเพราะสิ่งซึ่งเจ้าไม่เห็น, เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกกันไว้จากเจ้าและจากโลก, ซึ่งเป็นปรีชาญาณในเราในเวลาที่จะมาถึง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4)

ข้าพเจ้าก็ได้แสวงหาคำตอบของคำถามจับใจเช่นกัน คำตอบหลายอย่างมาแล้ว บ้างก็ไม่มา31 เมื่อเราอดทน—โดยวางใจในพระปรีชาญาณและความรักของพระผู้เป็นเจ้า รักษาพระบัญญัติ และพึ่งพาสิ่งที่เรา รู้—พระองค์จะทรงช่วยให้เราพบสันติสุขจนกว่าพระองค์ทรงเปิดเผยความจริงของทุกเรื่อง32

เข้าใจหลักคำสอนและนโยบาย

เมื่อกำลังแสวงหาความจริง การเข้าใจความแตกต่างระหว่างหลักคำสอนและนโยบายช่วยได้ หลักคำสอนหมายถึงความจริงนิรันดร์ต่างๆ เช่น ธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ แผนแห่งความรอด การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ นโยบายคือการประยุกต์ใช้หลักคำสอนตามสภาวการณ์ปัจจุบัน นโยบายช่วยให้เราบริหารงานศาสนจักรอย่างเป็นระเบียบ

แม้หลักคำสอนไม่เคยเปลี่ยน แต่นโยบายปรับเปลี่ยนเป็นครั้งคราว พระเจ้าทรงทำงานผ่านศาสดาพยากรณ์เพื่อสนับสนุนหลักคำสอนของพระองค์ และ ปรับนโยบายศาสนจักรตามความจำเป็นของลูกๆ ของพระองค์

น่าเสียดายที่บางครั้งเราสับสนนโยบายกับหลักคำสอน หากเราไม่เข้าใจความแตกต่าง เราย่อมเสี่ยงต่อการหมดศรัทธาเมื่อนโยบายเปลี่ยน และอาจถึงขั้นเริ่มตั้งคำถามต่อพระปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้าหรือบทบาทการเปิดเผยของศาสดาพยากรณ์33

การสอนความจริงนิรันดร์

เมื่อเราได้รับความจริงจากพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงกระตุ้นให้เราแบ่งปันความรู้นั้นกับผู้อื่น34 เราแบ่งปันเมื่อเราสอนชั้นเรียน นำทางเด็ก หรือสนทนาความจริงพระกิตติคุณกับเพื่อน

เป้าหมายของเราคือสอนความจริงในวิธีที่เชื้อเชิญอำนาจการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพระวิญญาณบริสุทธิ์35 ข้าพเจ้าขอแบ่งปันคำเชื้อเชิญที่เรียบง่ายบางอย่างจากพระเจ้าและจากศาสดาพยากรณ์ที่จะช่วยได้36

  1. มุ่งเน้นที่พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และหลักคำสอนพื้นฐานของพระองค์37

  2. ยึดพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย38

  3. พึ่งพาหลักคำสอนที่สถาปนาผ่านพยานที่มีสิทธิอำนาจหลายคน39

  4. หลีกเลี่ยงการคาดเดา ความคิดเห็นส่วนตัว หรือความคิดทางโลก40

  5. สอนประเด็นของหลักคำสอนภายในบริบทของความจริงพระกิตติคุณที่เกี่ยวข้อง41

  6. ใช้วิธีการสอนที่อัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณ42

  7. สื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด43

พูดความจริงด้วยความรัก

วิธีที่เราสอนความจริงสําคัญมาก เปาโลกระตุ้นให้เราพูด “ความจริงด้วยความรัก” (เอเฟซัส 4:14–15) ความจริงมีโอกาสเป็นพรแก่ผู้อื่นได้ดีที่สุดเมื่อถ่ายทอดด้วยความรักเหมือนพระคริสต์44

ความจริงที่สอนโดยปราศจากความรักจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกตัดสิน ความท้อแท้ และความโดดเดี่ยว ซึ่งมักนำไปสู่ความไม่พอใจและการแบ่งแยก—แม้กระทั่งปมขัดแย้ง ในทางกลับกัน ความรักที่ปราศจากความจริงย่อมไม่มีความหมายและขาดสัญญาเรื่องการเติบโต

ทั้งความจริงและความรักจำเป็นต่อการพัฒนาทางวิญญาณของเรา45 ความจริงให้หลักคำสอน หลักธรรม และกฎที่จำเป็นต่อการได้รับชีวิตนิรันดร์ ส่วนความรักก่อให้เกิดแรงจูงใจที่จำเป็นต่อการน้อมรับและปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นความจริง

ข้าพเจ้าสำนึกคุณตลอดไปต่อคนอื่นๆ ที่อดทนสอนความจริงนิรันดร์แก่ข้าพเจ้าด้วยความรัก

สรุป

เพื่อสรุป ข้าพเจ้าขอแบ่งปัน ความจริงนิรันดร์ ที่กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รู้ความจริงเหล่านี้โดยทำตามหลักธรรมที่พูดถึงวันนี้

ข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา46 พระองค์ทรงรู้ทุกเรื่อง47 ทรงเดชานุภาพ48 และทรงเปี่ยมด้วยความรักอันสมบูรณ์แบบ49 พระองค์ทรงสร้างแผนให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์และกลายเป็นเหมือนพระองค์50

ส่วนหนึ่งของแผนนั้นคือพระองค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์มาช่วยเรา51 พระเยซูทรงสอนเราให้ทำตามพระประสงค์ของพระบิดา52 และให้รักกันและกัน53 ทรงชดใช้บาปของเรา54 และพลีพระชนม์บนกางเขน55 ทรงฟื้นจากความตายหลังจากสามวัน56 เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตโดยผ่านพระคริสต์และพระคุณของพระองค์57 เราจะได้รับการอภัย58 และสามารถพบพลังในความทุกข์ยากได้59

ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกพระเยซูทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์60 ศาสนจักรนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และความจริงสูญหาย61 พระเยซูคริสต์จึงทรงฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์รวมถึงความจริงของพระกิตติคุณผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ62 และทุกวันนี้พระคริสต์ยังทรงนำศาสนจักรของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่63

ข้าพเจ้ารู้ว่าเมื่อเรามาหาพระคริสต์ ในที่สุดเราจะ “ได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32) ได้รับ “ความสมบูรณ์แห่งปีติ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:33) และได้รับ “ทุกสิ่งที่พระบิดามี” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:38) ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงนิรันดร์เหล่านี้ ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู สดุดี 117:2; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:39 ด้วย

  2. “ตรงข้ามกับความสงสัยของบางคนคือ มี เรื่องอย่างเช่นถูกและผิดจริงๆ มี ความจริงอันสมบูรณ์—ความจริงนิรันดร์จริงๆ ภัยพิบัติอย่างหนึ่งในสมัยเราคือน้อยคนเหลือเกินรู้ว่าจะหันไปหาความจริงที่ใด” (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความจริงอันบริสุทธิ์ หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ และการเปิดเผยอันบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 6)

  3. ดู โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:37

  4. ดู โมโรไน 7:19

  5. ดู 2 นีไฟ 1:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 17:8

  6. ดู เจคอบ 2:8

  7. ดู สดุดี 119:105; 2 นีไฟ 32:3

  8. ดู ยอห์น 8:32; หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:8

  9. ดู ยอห์น 17:17

  10. ดู 2 นีไฟ 31:20

  11. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:11–13; 93:36

  12. ดู ยอห์น 5:19–20; 7:16; 8:26; 18:37; โมเสส 1:6

  13. ดู แอลมา 42:12–26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:41

  14. ดู โมเสส 1:30–39

  15. ดู 2 นีไฟ 26:24

  16. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–9

  17. ดู ยอห์น 16:13; เจคอบ 4:13; โมโรไน 10:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:14; 75:10; 76:12; 91:4; 124:97

  18. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:22–23; 8:2–3

  19. ดู เยเรมีย์ 1:5, 7; อาโมส 3:7; มัทธิว 28:16–20; โมโรไน 7:31; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38; 21:1–6; 43:1–7 ศาสดาพยากรณ์คือ “บุคคลผู้ที่ได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าและพูดแทนพระองค์ ในฐานะผู้ส่งสารของพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาพยากรณ์ได้รับพระบัญญัติ คำพยากรณ์ และการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า ความรับผิดชอบของท่านคือทำให้มนุษย์รู้พระประสงค์และพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า และแสดงให้เห็นเจตจำนงที่พระองค์ทรงติดต่อกับพวกเขา ศาสดาพยากรณ์ประณามบาปและบอกล่วงหน้าถึงผลของบาป ท่านเป็นผู้สั่งสอนความชอบธรรม บางครั้ง ศาสดาพยากรณ์อาจได้รับการดลใจให้บอกอนาคตล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบเบื้องต้นของท่านคือเป็นพยานถึงพระคริสต์ ประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกทุกวันนี้ สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสองได้รับการสนับสนุนในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย” (คู่มือพระคัมภีร์, “ศาสดาพยากรณ์,” คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ตัวอย่างของหลักธรรมเหล่านี้พบได้ในชีวิตของอาดัม (ดู โมเสส 6:51–62), เอโนค (ดู โมเสส 6:26–36), โนอาห์ (ดู โมเสส 8:19, 23–24), อับราฮัม (ดู ปฐมกาล 12:1–3; อับราฮัม 2:8–9), โมเสส (ดู อพยพ 3:1–15; โมเสส 1:1–6, 25–26), เปโตร (ดู มัทธิว 16:13–19), และโจเซฟ สมิธ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:6–10; 20:2; 21:4–6)

  20. ดู 2 ทิโมธี 3:16

  21. ดู ยอห์น 8:44; 2 นีไฟ 2:18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:39; โมเสส 4:4

  22. ดู 1 นีไฟ 10:19 ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า “เราจึงต้องระวังขณะแสวงหาความจริง [ของพระเจ้า] และเลือกแหล่งค้นคว้า เราไม่ควรถือว่าอำนาจหรือชื่อเสียงทางสังคมเป็นแหล่งที่ถูกต้อง … เมื่อเราแสวงหาความจริงเรื่องศาสนา เราควรใช้วิธีการทางวิญญาณที่เหมาะสม เช่น การสวดอ้อนวอน พยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ การศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน” (“ความจริงและแผน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 25)

  23. เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ … ประกาศพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า แต่นอกเหนือจากนั้นเราเชื่อว่าชายหญิงทั่วไปและแม้กระทั่งเด็กยังสามารถเรียนรู้และได้รับการนำทางจากการดลใจศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลจากการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ … สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งช่วยให้เกิดการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับพระบิดาบนสวรรค์ … นี่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนพูดแทนศาสนจักรหรือสามารถนิยามหลักคำสอนของศาสนจักรได้ ทว่าสมาชิกแต่ละคนสามารถได้รับการนำทางจากสวรรค์เพื่อรับมือการท้าทายและโอกาสต่างๆ ในชีวิตตนเอง” (“หลักคำสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 89–90, อ้างอิง 2)

  24. ดู 2 นีไฟ 33:1–2

  25. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:28

  26. ดู โมโรไน 10:3–5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:7–9; 84:85

  27. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:35; 63:23; 93:27–28 แม้ว่าเราจะพยายามอย่างจริงจัง พวกเราบางคนยังคงยากที่จะรู้สึกถึงพระวิญญาณเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และสภาพทางระบบประสาทอื่นๆ สามารถเพิ่มความซับซ้อนให้กับการรับรู้ถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในกรณีเช่นนั้น พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณต่อไป และพระองค์จะทรงอวยพรเรา (ดู โมไซยาห์ 2:41) เราสามารถมองหากิจกรรมเพิ่มเติม—เช่นฟังบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ มีส่วนในการรับใช้ หรือใช้เวลากับธรรมชาติ—ที่ช่วยเราสัมผัสถึงผลของพระวิญญาณ (ดู กาลาเทีย 5:22–23) และเสริมสร้างการเชื่อมสัมพันธ์เรากับพระผู้เป็นเจ้า

    เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์กล่าวว่า “ท่านจะตอบสนองได้ดีที่สุดอย่างไรเมื่อท่านหรือคนที่ท่านรักเผชิญความท้าทายทางจิตใจหรือทางอารมณ์? เหนือสิ่งอื่นใด จงอย่าสูญเสียศรัทธาในพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักท่านมากกว่าท่านจะเข้าใจได้ … จงดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์ในการอุทิศตนที่ได้รับการพิสูจน์ด้วยเวลาว่าจะนำพระวิญญาณของพระเจ้ามาสู่ชีวิตท่าน แสวงหาคำแนะนำจากผู้ที่ถือกุญแจสำหรับความผาสุกทางวิญญาณของท่าน ขอและยึดมั่นพรแห่งฐานะปุโรหิต จงรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์ และยึดมั่นคำสัญญาที่จะดีพร้อมจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ จงเชื่อในปาฏิหาริย์ ข้าพเจ้าเห็นปาฏิหาริย์มากมายเกิดขึ้นแม้เมื่อสิ่งบ่งชี้อื่นๆ บอกว่าไม่มีความหวังแล้ว ความหวัง ไม่มีวัน สูญสิ้น” (“เหมือนภาชนะแตก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 40–41)

  28. ดู ยอห์น 7:17; แอลมา 32:26–34 ท้ายที่สุดแล้ว พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้เราได้รับความจริง “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์,” จนกว่าเราจะเข้าใจทุกสิ่ง (ดู สุภาษิต 28:5; 2 นีไฟ 28:30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:67; 93:28)

  29. ดู 1 ยอห์น 1:9–10; 2:1–2

  30. ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า “ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ เมื่อร่วมกับศรัทธา การกลับใจเปิดประตูสู่พลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” (“เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67)

  31. ข้าพเจ้าไม่ทราบเหตุผลทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงระงับความจริงนิรันดร์บางอย่างไว้จากเรา แต่เอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ: “นับเป็นพรที่จะเชื่อโดยไม่เห็นเพราะการใช้ศรัทธาจะเกิดการพัฒนาทางวิญญาณซึ่งเป็นหนึ่งในจุดประสงค์สำคัญยิ่งของการดำรงอยู่บนแผ่นดินโลกของมนุษย์ ส่วนความรู้ที่กลืนศรัทธาเข้าไปจะขัดขวางการใช้ศรัทธา จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานั้น ‘ความรู้คือพลัง’ และจะรู้ทุกสิ่งในเวลาอันสมควร แต่ความรู้ก่อนเวลาอันควร—การรู้ผิดเวลา—ย่อมเป็นภัยต่อทั้งความก้าวหน้าและความสุข” (“The Divinity of Jesus Christ,” Improvement Era, Jan. 1926, 222; ดู Liahona, Dec. 2003, 14–15 ด้วย)

  32. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:5–10 พระเจ้าทรงแนะนำให้ไฮรัม สมิธว่า “อย่าหมายมั่นจะประกาศคำของเรา, แต่ก่อนอื่น จงหมายมั่นให้ได้คำของเรา … จงนิ่งเสีย [และ] ศึกษาคำของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21–22) ศาสดาพยากรณ์แอลมายกตัวอย่างการรับมือกับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ: “ความลี้ลับเหล่านี้ยังไม่เผยให้เป็นที่รู้โดยสมบูรณ์แก่พ่อ; ฉะนั้นพ่อจะหยุดก่อน” (แอลมา 37:11) เขาอธิบายให้โคริแอนทอนบุตรชายฟังด้วยว่า “ยังมีความลี้ลับหลายเรื่องซึ่งเก็บไว้, ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักนอกจากพระผู้เป็นเจ้าเอง” (แอลมา 40:3) ข้าพเจ้าพบความเข้มแข็งเช่นกันจากคำตอบของนีไฟเมื่อเขาถูกถามคำถามที่เขาตอบไม่ได้: “ข้าพเจ้ารู้ว่า [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงรักลูกๆ ของพระองค์; กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้าไม่รู้ความหมายของเรื่องทั้งหมด” (1 นีไฟ 11:17)

  33. ในทำนองเดียวกัน ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่หลักคำสอนหรือนโยบาย ประเพณีวัฒนธรรมจะมีประโยชน์หากช่วยให้เราทำตามหลักคำสอนและนโยบาย แต่จะขัดขวางการเติบโตทางวิญญาณของเราได้เช่นกันหากไม่ตั้งอยู่บนหลักธรรมที่แท้จริง เราควรหลีกเลี่ยงประเพณีที่ไม่สร้างศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์หรือไม่ช่วยให้เราก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์

  34. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 15:5; 88:77–78

  35. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:21–23

  36. ดัดแปลงจากเอกสาร “Principles for Ensuring Doctrinal Purity” ที่อนุมัติโดยฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023

  37. ดู 1 นีไฟ 15:14 พระเจ้าทรงแนะนำผู้รับใช้ของพระองค์ให้หลีกเลี่ยงการมุ่งเน้นหลักคำสอนหรือแนวคิดที่ไม่สำคัญต่อพระกิตติคุณของพระองค์: “และเกี่ยวกับหลักคำสอนต่างๆ เจ้าจะไม่พูดถึง, แต่เจ้าจงประกาศการกลับใจและศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด, และการปลดบาปโดยบัพติศมา, และโดยไฟ, แท้จริงแล้ว, แม้พระวิญญาณบริสุทธิ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:31)

    เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นอธิบายว่า “ขอให้เรามุ่งไปที่พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และของประทานแห่งการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถเล่าประสบการณ์ชีวิตหรือแบ่งปันข้อคิดจากผู้อื่น แม้ว่าหัวข้อของเราอาจเป็นเรื่องครอบครัว หรือการรับใช้ หรือพระวิหาร หรืองานเผยแผ่ล่าสุดที่ผ่านมา แต่ทุกสิ่ง … ควรชี้ไปที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์” (“เราพูดถึงพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 89–90)

  38. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:2–3, 8 ศาสดาพยากรณ์แอลมาตักเตือนผู้ได้รับแต่งตั้งให้สั่งสอนพระกิตติคุณว่า “ไม่ควรสอนอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ท่านได้สอนไว้, และที่มีพูดจากปากของศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์” (โมไซยาห์ 18:19)

    ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ประกาศว่า “เราต้องสอนหลักคำสอนพื้นฐานของศาสนจักรตามที่มีอยู่ในงานมาตรฐานและคำสอนของศาสดาพยากรณ์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศหลักคำสอน” (“The Lord Will Multiply the Harvest” [evening with a General Authority, Feb. 6, 1998], in Teaching Seminary: Preservice Readings [2004], 96)

    เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันเป็นพยานว่า “ในศาสนจักรทุกวันนี้ เช่นเดียวกับสมัยโบราณ การสถาปนาหลักคำสอนของพระคริสต์หรือการแก้ไขความคลาดเคลื่อนทางหลักคำสอนเป็นเรื่องของการเปิดเผยศักดิ์สิทธิ์ต่อผู้ที่พระเจ้าทรงประสาทอำนาจอัครสาวก” (“หลักคำสอนของพระคริสต์,” 86)

  39. ดู 2 โครินธ์ 13:1; 2 นีไฟ 11:3; อีเธอร์ 5:4; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:28 เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่า: “บางคนสงสัยศรัทธาของพวกเขาเมื่อพวกเขาพบว่าคำกล่าวของผู้นำศาสนจักรเมื่อหลายทศวรรษดูเหมือนไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนของเรา มีหลักธรรมสำคัญที่ปกครองหลักคำสอนของศาสนจักร หลักคำสอนสอนโดยสมาชิกทั้งหมด 15 ท่านจากฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง หลักคำสอนไม่ได้ซ่อนอยู่ในย่อหน้าที่คลุมเครือของคำปราศรัยหนึ่งเรื่อง หลักธรรมที่แท้จริงสอนกันบ่อยครั้งและหลายคนสอน หลักคำสอนของเราหาไม่ยากเลย” (“การทดลองศรัทธาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 41)

    เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนคล้ายกันว่า “พึงระลึกว่าคำแถลงทุกอย่างที่มาจากผู้นำศาสนจักรไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันใช่ว่าต้องประกอบด้วยหลักคำสอนเสมอไป เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันในศาสนจักรว่าคำแถลงที่ผู้นำคนหนึ่งพูดในวาระเดียวมักเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แม้จะพิจารณามาดีแล้วก็ตาม มิได้เจตนาให้เป็นทางการหรือผูกมัดศาสนจักรโดยรวมแต่อย่างใด” (“หลักคำสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 88)

  40. ดู 3 นีไฟ 11:32, 40 ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยพูดไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของการรักษาหลักคำสอนของศาสนจักรให้บริสุทธิ์ … ข้าพเจ้ากังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ การสอนหลักคำสอนผิดไปจากความจริงเล็กน้อยจะนำไปสู่ความเท็จที่ชั่วร้ายและใหญ่โต” (Teachings of Gordon B. Hinckley [1997], 620)

    ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์เตือนว่ามีบางคน “เลือกสองสามประโยคจากคำสอนของศาสดาพยากรณ์และใช้ประโยคเหล่านี้เพื่อสนับสนุนวาระทางการเมืองหรือจุดประสงค์ส่วนตัวอื่นๆ … การบิดเบือนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เพื่อสนับสนุนวาระส่วนตัว ทางการเมืองหรือการเงินหรืออย่างอื่น คือการพยายาม บงการ ศาสดาพยากรณ์ ไม่ใช่การ ทำตาม ท่าน” (“Our Strengths Can Become Our Downfall” [Brigham Young University fireside, June 7, 1992], 7, speeches.byu.edu)

    ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์เตือนว่า: “หลักคำสอนจะมีพลังเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันว่าหลักคำสอนนั้นจริง … เพราะเราต้องการพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงต้องระมัดระวังอย่าสอนนอกเหนือหลักคำสอนที่แท้จริง พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระวิญญาณแห่งความจริง การยืนยันของพระองค์มาถึงเมื่อเราหลีกเลี่ยงการคาดเดาหรือตีความเอาเอง นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก … ท่านอาจถูกล่อลวงให้ลองสอนเรื่องใหม่ๆ หรือน่าตื่นเต้น แต่เราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนเมื่อเราตั้งใจสอนเฉพาะหลักคำสอนที่แท้จริงเท่านั้น วิธีที่ใช้ได้ผลที่สุดวิธีหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หลักคำสอนเท็จคือเลือกสอนหลักคำสอนให้เรียบง่าย ความปลอดภัยได้มาจากความเรียบง่ายนั้น และไม่ขาดส่วนที่สำคัญไป” (“The Power of Teaching Doctrine,” Liahona, July 1999, 86)

    เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่า: “การแสวงหาความเข้าใจมากขึ้นเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางวิญญาณของเรา แต่โปรดจงระวัง เหตุผลไม่อาจแทนที่การเปิดเผยได้ การคาดเดาจะไม่นำไปสู่ความรู้ทางวิญญาณมากขึ้น แต่นำเราไปสู่การหลอกลวงหรือทำให้เราเขวออกจากสิ่งที่มีเปิดเผยไว้แล้ว” (“ธรรมชาติแห่งสวรรค์และจุดหมายนิรันดร์ของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 70)

  41. ดู มัทธิว 23:23 ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธเตือนว่า “ไม่ฉลาดเลยที่จะรับความจริงเพียงเสี้ยวหนึ่งและปฏิบัติราวกับเป็นความจริงทั้งหมด … หลักธรรมที่ได้รับการเปิดเผยทั้งหมดของพระกิตติคุณของพระคริสต์จำเป็นและสำคัญยิ่งในแผนแห่งความรอด” ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า “ไม่ใช่นโยบายที่ดีและคำสอนที่ถูกต้องที่จะนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหล่านี้มาแยกออกจากแผนทั้งหมดของความจริงพระกิตติคุณ ทำให้เป็นงานอดิเรกพิเศษ และพึ่งพาสิ่งนั้นเพื่อความรอดและความก้าวหน้าของเรา … ทั้งหมดล้วนจำเป็น” (Gospel Doctrine, 5th ed. [1939], 122)

    เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์อธิบายว่า: “หลักธรรมของพระกิตติคุณ … เรียกร้องให้ดำเนินชีวิตตามไปด้วย เมื่อถูกแยกออกจากกันหรืออยู่เดี่ยวๆ การตีความของมนุษย์และการนำหลักคำสอนเหล่านี้ไปปฏิบัติอาจเป็นเหตุให้พวกเขาปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม ความรัก หากไม่ถูกควบคุมโดยพระบัญญัติข้อเจ็ดจะกลายเป็นกามตัณหา พระบัญญัติข้อห้าที่เน้นย้ำอย่างน่ายกย่องในการให้เกียรติบิดามารดา หากไม่ควบคุมโดยพระบัญญัติข้อแรก จะส่งผลให้เกิดความภักดีโดยไม่มีเงื่อนไขต่อบิดามารดาที่ประพฤติชั่วมากกว่าจะภักดีต่อพระเจ้า … แม้แต่ความอดทนก็ยังต้องถ่วงดุลโดยการ ‘ว่ากล่าวโดยไม่ชักช้าด้วยความเฉียบขาด, เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:43]” (“Behold, the Enemy Is Combined,” Ensign, May 1993, 78–79)

    ประธานแมเรียน จี. รอมนีย์สอนว่า “การค้นคว้า [พระคัมภีร์] เพื่อค้นพบสิ่งที่พระคัมภีร์สอนตามที่พระเยซูทรงบัญชานั้นแตกต่างอย่างมากจากการค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อหาข้อความที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนข้อสรุปที่กำหนดไว้ล่วงหน้า” (“Records of Great Worth,” Ensign, Sept. 1980, 3)

  42. ดู 1 โครินธ์ 2:4; โมโรไน 6:9 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เน้นความจำเป็นในการสื่อสารพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในวิธีที่นำไปสู่การจรรโลงใจทางวิญญาณผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์: “พระเจ้าไม่ทรงให้คำแนะนำแก่ศาสนจักรโดยเน้นมากไปกว่าให้เราสอนพระกิตติคุณ ‘โดยพระวิญญาณ แม้พระผู้ปลอบโยนซึ่งถูกส่งออกไปสอนความจริง’ เราสอนพระกิตติคุณ ‘โดยพระวิญญาณแห่งความจริง’ หรือไม่? พระองค์ตรัสถาม หรือเราสอน ‘โดยทางอื่น? และหากเป็นโดยทางอื่น’ พระองค์ทรงเตือนว่า ‘มิได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:14, 17–18] … การเรียนรู้นิรันดร์เกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณจากสวรรค์ … นี่คือสิ่งที่สมาชิกของเราต้องการจริงๆ … พวกเขาต้องการให้ศรัทธาเข้มแข็งขึ้นและมีความหวังขึ้นมาใหม่ สรุปคือ พวกเขาต้องการการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า และเข้มแข็งขึ้นด้วยอำนาจของสวรรค์” (“ครูที่มาจากพระเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 29)

  43. ดู แอลมา 13:23 เมื่อกล่าวถึงพระบิดาบนสวรรค์ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเป็นพยานว่า “พระองค์ทรงสื่อสารอย่างเรียบง่าย แผ่วเบา และด้วยความชัดเจนอย่างน่าทึ่งจนเราเข้าใจพระองค์ผิดไม่ได้” (“ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 89)

  44. ดู สดุดี 26:3; โรม 13:10; 1 โครินธ์ 13:1–8; 1 ยอห์น 3:18

  45. ดู สดุดี 40:11

  46. ดู โรม 8:16

  47. ดู 1 ซามูเอล 2:3; มัทธิว 6:8; 2 นีไฟ 2:24; 9:20

  48. ดู ปฐมกาล 17:1; เยเรมีย์ 32:17; 1 นีไฟ 7:12; แอลมา 26:35

  49. ดู เยเรมีย์ 31:3; 1 ยอห์น 4:7–10; แอลมา 26:37

  50. ดู 2 นีไฟ 9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:17–31; โมเสส 6:52–62

  51. ดู ยอห์น 3:16; 1 ยอห์น 4:9–10

  52. ดู ยอห์น 8:29; 3 นีไฟ 27:13

  53. ดู ยอห์น 15:12; 1 นีไฟ 3:11

  54. ดู ลูกา 22:39–46

  55. ดู ยอห์น 19:16–30

  56. ดู ยอห์น 20:1–18

  57. ดู 1 โครินธ์ 15:20–22; โมไซยาห์ 15:20–24; 16:7–9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:16–17

  58. ดู กิจการ 11:17–18; 1 ทิโมธี 1:14–16; แอลมา 34:8–10; โมโรไน 6:2–3, 8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:13–19

  59. ดู มัทธิว 11:28–30; 2 โครินธ์ 12:7–10; ฟิลิปปี 4:13; แอลมา 26:11–13

  60. ดู มัทธิว 16:18–19; เอเฟซัส 2:20

  61. ดู มัทธิว 24:24; กิจการ 20:28–30

  62. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:1–4; 21:1–7; 27:12; 110; 135:3; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–20

  63. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:14, 38; 43:1–7; 107:91–92