การประชุมใหญ่สามัญ
ในการเป็นหุ้นส่วนกับพระเจ้า
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2022


ในการเป็นหุ้นส่วนกับพระเจ้า

พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ประกาศหลักธรรมของการเป็นหุ้นส่วนเต็มรูปแบบระหว่างชายกับหญิง ทั้งในชีวิตมรรตัยและในนิรันดร

ภายในไม่กี่เดือนแรกของชีวิตแต่งงาน ภรรยาที่รักบอกข้าพเจ้าว่าเธออยากเรียนดนตรี เพื่อเอาใจเธอ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจทำการใหญ่โตให้สุดที่รักประหลาดใจ ข้าพเจ้าไปที่ร้านขายเครื่องดนตรีและซื้อเปียโนให้เธอเป็นของขวัญ ข้าพเจ้าเอาใบเสร็จใส่กล่องผูกโบสวยๆ และมอบให้เธอด้วยความตื่นเต้น หวังว่าเธอจะแสดงท่าทีขอบอกขอบใจสามีที่ใส่ใจและรักเธอมากขนาดนี้

พอเธอแกะกล่องเล็กๆ นั้นและเห็นของที่อยู่ข้างใน เธอมองข้าพเจ้าด้วยความรักและพูดว่า “โอ ที่รัก คุณน่ารักมากเลย! แต่ขอถามหน่อยนะคะว่า: นี่คือของขวัญหรือหนี้?” หลังจากหารือกันเรื่องนี้ เราจึงตัดสินใจยกเลิกการซื้อ เรายังชีพด้วยงบแบบนักศึกษาเหมือนคู่แต่งงานใหม่หลายๆ คู่ ประสบการณ์นี้ช่วยให้ข้าพเจ้ารับรู้ถึงความสำคัญของหลักธรรมแห่งการเป็นหุ้นส่วนเต็มรูปแบบในสัมพันธภาพสมรสและวิธีที่การประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ช่วยให้ข้าพเจ้ากับภรรยามีใจเดียวและความคิดเดียว1

พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ประกาศหลักธรรมของการเป็นหุ้นส่วนเต็มรูปแบบระหว่างชายกับหญิง ทั้งในชีวิตมรรตัยและในนิรันดร แม้ว่าแต่ละฝ่ายต่างมีความเฉพาะในคุณลักษณะและหน้าที่รับผิดชอบที่ทรงกำหนดให้ แต่หญิงและชายสวมบทบาทสำคัญอันขาดไม่ได้เท่าๆ กันในแผนแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ ของพระองค์2 เรื่องนี้ประจักษ์ตั้งแต่ต้นเมื่อพระเจ้าทรงประกาศว่า “ไม่ดีเลยที่ชายคนนี้จะอยู่คนเดียว; ดังนั้น [พระองค์จึงทรง] รังสรรค์ผู้ช่วยที่เหมาะสมสำหรับเขา”3

ในแผนของพระเจ้า “ผู้ช่วยที่เหมาะสม” คือคู่ชีวิตที่เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับอาดัมในฐานะหุ้นส่วนเต็มรูปแบบ4 ความจริงแล้วเอวาเป็นพรจากสวรรค์ในชีวิตอาดัม โดยผ่านธรรมชาติอันสูงส่งและคุณลักษณะทางวิญญาณของเธอ เธอได้ผลักดันให้อาดัมเป็นหุ้นส่วนกับเธอในการบรรลุแผนแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับมวลมนุษยชาติ5

เรามาพิจารณาหลักธรรมพื้นฐานสองข้อที่ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนระหว่างชายกับหญิง หลักธรรมข้อแรกคือ “เราทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับผู้เป็นเจ้า”6 ตามหลักคำสอนพระกิตติคุณ ความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายไม่ได้ลบล้างสัญญานิรันดร์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีให้บุตรธิดาของพระองค์ ฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีโอกาสรับรัศมีภาพซีเลสเชียลในนิรันดรมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง7 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญเราทุกคนซึ่งเป็นลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า “ให้มาหาพระองค์และรับส่วนพระคุณความดีของพระองค์; และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย”8 ฉะนั้นในบริบทนี้จึงถือว่าเราทุกคนเท่าเทียมกันต่อพระองค์

เมื่อคู่สมรสเข้าใจและนำหลักธรรมนี้มาใช้ พวกเขาย่อมไม่วางตัวเป็นประธานหรือรองประธานของครอบครัว ไม่มีใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่าในสัมพันธภาพการแต่งงาน ทั้งไม่มีใครเดินนำหน้าหรือเดินตามหลัง พวกเขาเดินเคียงคู่กันในฐานะหน่อเนื้อเชื้อไขที่เท่าเทียมกันของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขากลายเป็นหนึ่งเดียวในความคิด ความปรารถนา และจุดประสงค์กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์9 ในการนำและชี้แนะหน่วยครอบครัวด้วยกัน

ในการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน “ความรักไม่ใช่การครอบครอง แต่คือการมีส่วนร่วม … ส่วนของการสร้างร่วมกันนั้นซึ่งเป็นการเรียกของมนุษย์”10 “เมื่อร่วมมือกันจริงๆ สามีภรรยาย่อมผสานพลังความเป็นหนึ่งของ ‘การปกครองอันเป็นนิจ’ ที่จะไหลมาพร้อมกับชีวิตอันเปี่ยมพลังทางวิญญาณ ‘โดยปราศจากวิธีบังคับ’ มาสู่พวกเขาและลูกหลาน ‘ตลอดกาลและตลอดไป’”11

หลักธรรมที่เกี่ยวข้องข้อสองคือกฎทองคำซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนในคำเทศนาบนภูเขา: “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนอย่างที่พวกท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน”12 หลักธรรมนี้บ่งบอกเจตคติของความร่วมมือกัน ความสัมพันธ์กัน ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และการพึ่งพาอาศัยกัน และยึดพระบัญญัติสำคัญข้อสองเป็นหลัก “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”13 ทั้งยังผสานกับคุณลักษณะอื่นของชาวคริสต์ด้วย เช่น ความอดทนนาน ความสุภาพ ความอ่อนโยน และความมีน้ำใจ

เพื่อเข้าใจวิธีประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ได้ดีขึ้น ให้เราดูพันธะนิรันดร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้ระหว่างบิดามารดาแรกของเรา อาดัมกับเอวา ทั้งสองเป็นเนื้อเดียวกัน14 สร้างมิติของความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้สามารถเดินไปด้วยกันด้วยความเคารพ ความสำนึกคุณ และความรัก โดยลืมตนเอง และมุ่งหมายให้อีกฝ่ายมีความผาสุกในการเดินทางสู่นิรันดร

ลักษณะเดียวกันนั้นคือสิ่งที่เราพากเพียรให้มีในชีวิตแต่งงานร่วมกันในปัจจุบัน การผนึกในพระวิหารทำให้หญิงและชายได้เข้าสู่ระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ของการสมรสในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ โดยระเบียบนี้ของฐานะปุโรหิต พวกเขาจึงได้รับพรนิรันดร์และมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการกำกับดูแลเรื่องต่างๆ ในครอบครัวขณะดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่ทำไว้ จากจุดนั้นพวกเขาเดินหน้าต่อไปด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและการเป็นหุ้นส่วนเต็มรูปแบบกับพระเจ้า โดยเฉพาะด้านหน้าที่รับผิดชอบที่ทรงกำหนดให้แต่ละฝ่ายอบรมเลี้ยงดูและเป็นหัวหน้าดูแลครอบครัว15 การอบรมเลี้ยงดูและการเป็นหัวหน้าดูแลคือหน้าที่รับความรับผิดชอบที่สัมพันธ์กันและทับซ้อนกัน ซึ่งหมายความว่ามารดาและบิดา “มีพันธะต้องช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน”16 และเป็นผู้นำเสมอกันในบ้าน

“อบรมเลี้ยงดูหมายถึงบำรุงเลี้ยง สอน และสนับสนุน” สมาชิกครอบครัว โดยช่วยให้พวกเขา “เรียนรู้ความจริงพระกิตติคุณและพัฒนาศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์” ในสภาพแวดล้อมของความรัก เป็นหัวหน้าดูแลหมายถึง “ช่วยนำสมาชิกครอบครัวกลับไปพำนักในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เราทำสิ่งนี้โดยรับใช้และสอนด้วยความสุภาพ ความอ่อนโยน และความรักอันบริสุทธิ์” รวมถึง “การนำสมาชิกครอบครัวให้สวดอ้อนวอน ศึกษาพระกิตติคุณ และนมัสการด้านอื่นๆ เป็นประจำด้วย บิดามารดาทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน” โดยทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ “เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบ [สำคัญสองอย่าง] นี้ให้ลุล่วง”17

สำคัญที่ต้องสังเกตว่าการปกครองในครอบครัวทำตามแบบแผนปิตุ ซึ่งมีความแตกต่างบางด้านจากการนำของฐานะปุโรหิตในศาสนจักร18 แบบแผนปิตุทำให้สามีภรรยาต้องชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงเรื่องการทำหน้าที่รับผิดชอบศักดิ์สิทธิ์ในครอบครัวให้ลุล่วง สิ่งนี้เรียกร้องการเป็นหุ้นส่วนเต็มรูปแบบ—การเต็มใจทำตามหลักธรรมทุกประการเรื่องความชอบธรรมและภาระรับผิดชอบ—และมอบโอกาสพัฒนาในสภาพแวดล้อมของความรักและความช่วยเหลือกัน19 หน้าที่รับผิดชอบพิเศษเหล่านี้ไม่ได้สื่อถึงลำดับชั้นในบ้าน ทั้งไม่รวมถึงการทารุณกรรมหรือการใช้สิทธิอำนาจไม่เหมาะสมใดๆ ทั้งสิ้น

ประสบการณ์ของอาดัมกับเอวาหลังออกจากสวนเอเดนแสดงให้เห็นได้ดีถึงแนวคิดเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูและเป็นหัวหน้าดูแลครอบครัว ตามที่สอนในหนังสือโมเสส ทั้งคู่ทำไร่ไถนาด้วยกันโดยอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี;20 นำลูกๆ มาสู่โลก;21 เรียกขานพระนามของพระเจ้าด้วยกันและได้ยินสุรเสียงของพระองค์ “จากทางสู่สวนแห่งเอเดน”;22 ยอมรับพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้และพากเพียรด้วยกันในการเชื่อฟังพระบัญญัติเหล่านั้น23 จากนั้นก็ “ทำให้เรื่อง [เหล่านี้] เป็นที่รู้แก่บุตรของพวกท่านและธิดาของพวกท่าน”24 และ “มิได้หยุดเรียกหาพระผู้เป็นเจ้า” ด้วยกันตามความจำเป็นในชีวิต25

พี่น้องที่รักทั้งหลาย การอบรมเลี้ยงดูและการเป็นหัวหน้าดูแลคือโอกาส ไม่ใช่ข้อจำกัดแต่อย่างเดียว คนหนึ่งอาจมีหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างแต่อาจไม่ได้ทำคนเดียว เมื่อพ่อแม่ที่รักกันเข้าใจหน้าที่รับผิดชอบหลักสองอย่างนี้ดี พวกเขาจะพากเพียรด้วยกันที่จะคุ้มครองดูแลความผาสุกทางกายและทางอารมณ์ของลูกๆ ตลอดจนช่วยลูกๆ เผชิญอันตรายทางวิญญาณในสมัยของเราโดยอบรมเลี้ยงดูพวกเขาด้วยพระคำอันประเสริฐของพระเจ้าตามที่เปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์

แม้สามีภรรยาจะสนับสนุนกันในหน้าที่รับผิดชอบที่ทรงกำหนด แต่ “อาจจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมในแต่ละกรณีเมื่อมีความทุพพลภาพ ความตาย หรือสภาวการณ์อื่นๆ เกิดขึ้น”26 บางครั้งคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีหน้าที่ทำทั้งสองบทบาทไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวร

ข้าพเจ้าเพิ่งพบซิสเตอร์และบราเดอร์คนหนึ่งที่ต่างอยู่ในสภาพนี้ ในฐานะพ่อ/แม่ตัวคนเดียว แต่ละคนได้ตัดสินใจอุทิศทั้งชีวิตให้กับการดูแลลูกๆ ทั้งทางโลกและทางวิญญาณภายในวงครอบครัวของตนและในการเป็นหุ้นส่วนกับพระเจ้า พวกเขาไม่มองข้ามพันธสัญญาพระวิหารที่ทำไว้กับพระเจ้าและสัญญานิรันดร์ของพระองค์แม้จะมีการหย่าร้าง ทั้งคู่แสวงหาความช่วยเหลือของพระเจ้าในทุกสิ่งขณะพากเพียรอดทนต่อความท้าทายและเดินในเส้นทางพันธสัญญาตลอดเวลา พวกเขาวางใจว่าพระเจ้าจะทรงดูแลความต้องการของพวกเขา ไม่เฉพาะในชีวิตนี้เท่านั้นแต่ตลอดนิรันดรด้วย ทั้งคู่อบรมเลี้ยงดูลูกๆ โดยสอนด้วยความสุภาพ ความอ่อนโยน และความรักอันบริสุทธิ์แม้จะอยู่ในสภาวการณ์ยากๆ ในชีวิต เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ทั้งสองคนนี้ไม่โทษพระผู้เป็นเจ้าสำหรับโชคร้ายที่เกิดขึ้น แต่มุ่งหน้าด้วยความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวังและความมั่นใจในพรที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้27

พี่น้องทั้งหลาย พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของความเป็นหนึ่งเดียวและความสอดคล้องในจุดประสงค์และหลักคำสอนกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา ทรงสวดอ้อนวอนแทนสานุศิษย์ว่า “เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย … เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์กับข้าพระองค์”28

ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าเมื่อเรา—หญิงและชาย—ทำงานด้วยกันในการเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันอย่างแท้จริง เราจะประสบความเป็นหนึ่งเดียวกันตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่เราทำหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ในสัมพันธภาพการแต่งงานให้ลุล่วง ข้าพเจ้าสัญญากับท่านในพระนามของพระคริสต์ว่าใจเราจะ “ผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน”29 เราจะพบปีติมากขึ้นในการเดินทางสู่ชีวิตนิรันดร์ และความสามารถของเราในการรับใช้กันและรับใช้ด้วยกันจะทวีคูณขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ30 ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงเหล่านี้ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ เอเมน