จงตามเรามา
2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ’


“2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
อ่างบัพติศมาในพระวิหาร

2–8 กันยายน

1 โครินธ์ 14–16

“พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ”

ก่อนทบทวนโครงร่างนี้ ให้อ่าน 1 โครินธ์ 14–16 บันทึกความประทับใจแรกของท่านว่าความจริงใดจะช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่าน และแสวงหาการนำทางเพิ่มเติมต่อไปจากพระวิญญาณระหว่างสัปดาห์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีทบทวน 1 โครินธ์ 14–16 และหาข้อที่พวกเขารู้สึกว่ามีความหมายเป็นพิเศษ เชื้อเชิญให้พวกเขาหาสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งที่พวกเขาสามารถแบ่งปันข้อนี้และอธิบายว่าเหตุใดจึงเลือกข้อนี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

1 โครินธ์ 14

เมื่อวิสุทธิชนมารวมกัน พวกเขาควรพยายามจรรโลงใจกัน

  • ท่านอาจใช้คำสอนของเปาโลใน 1 โครินธ์ 14 เพื่อเตือนสมาชิกชั้นเรียนว่าเราทุกคนสามารถจรรโลงใจ—หรือสนับสนุนหรือหนุนใจ—กันและกันที่โบสถ์ วิธีง่ายๆ ที่จะทบทวนบทนี้อาจเป็นการเขียนคำถามบนกระดาน เช่น อะไรควรเป็นเป้าหมายของเราเมื่อเรามารวมกัน เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้ใน 1 โครินธ์ 14 แนวคิดอื่นๆ มีอยู่ใน โมโรไน 6:4–5 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:17–23 ขณะสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจถามพวกเขาว่าพวกเขารู้สึกว่าชั้นเรียนของท่านเป็นอย่างไรบ้างในการทำให้เป้าหมายเหล่านี้บรรลุผลสำเร็จ พวกเขาอาจแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกจรรโลงใจจากบางสิ่งที่สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันด้วย

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจคำแนะนำของเปาโลว่าสมาชิกควรแสวงหาการพยากรณ์ ท่านอาจขอให้พวกเขาเสนอแนะนิยามสำหรับคำว่า พยากรณ์ ท่านหรือสมาชิกชั้นเรียนอาจเขียนนิยามแต่ละข้อบนกระดานและทบทวนนิยามคำว่า พยากรณ์ ด้วยกันใน คู่มือพระคัมภีร์ และคำแนะนำของเปาโลใน 1 โครินธ์ 14:3, 31, 39–40 เราสามารถเพิ่มนิยามใดได้บ้างจากแหล่งช่วยเหล่านี้ (ดู วิวรณ์ 19:10 ด้วย) เราได้รับการดลใจให้ทำอะไรที่โบสถ์และที่บ้านอันเป็นผลมาจากคำสอนของเปาโล

1 โครินธ์ 15

เพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน

  • ท่านจะใช้ประจักษ์พยานของเปาโลใน 1 โครินธ์ 15 เพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของสมาชิกชั้นเรียนของท่านเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์อย่างไร วิธีหนึ่งอาจเป็นการแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่มและขอให้หนึ่งกลุ่มดู 1 โครินธ์ 15 เพื่อหาผลที่เราต้องเผชิญหากพระเยซูคริสต์ไม่ทรงฟื้นคืนพระชนม์ อีกกลุ่มหนึ่งอาจหาพรที่เราจะได้รับเพราะการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ จากนั้นแต่ละกลุ่มอาจเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้บนกระดาน พวกเขาอาจเพิ่มอะไรเข้าไปในรายการได้หลังจากอ่านคำกล่าวจาก เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรู้สึกถึงพระวิญญาณระหว่างการสนทนานี้ ท่านอาจให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว)

  • เนื่องจากเปาโลกำลังตอบคนที่ไม่เชื่อในการฟื้นคืนชีวิต ชั้นเรียนของท่านอาจได้รับประโยชน์จากการแสดงบทบาทสมมติสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะเสริมสร้างศรัทธาในการฟื้นคืนพระชนม์ของคนที่รักได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนพบอะไรใน 1 โครินธ์ 15 ที่จะช่วยพวกเขาอธิบายความจำเป็นที่ต้องมีและหลักฐานของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ มีข้อพระคัมภีร์ข้อใดอีกที่พวกเขาใช้ได้ (ดู ตัวอย่างเช่น ลูกา 24:1–12, 36–46; แอลมา 11:42–45)

  • เปาโลกล่าวถึงรัศมีภาพสามระดับของการฟื้นคืนชีวิตหลายครั้งในสาส์นของเขา (ดู 1 โครินธ์ 15:40–42 และ 2 โครินธ์ 12:1–2) เพื่อช่วยชั้นเรียนของท่านค้นพบว่าการเปิดเผยในยุคปัจจุบันอธิบายคำสอนของเปาโลอย่างไร ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและให้แต่ละกลุ่มรับกระดาษหนึ่งแผ่นที่มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ (คพ. 76:50–70) ดวงจันทร์ (คพ. 76:71–80) หรือดวงดาว (คพ. 76:81–89) เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 แบ่งปันสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับรัศมีภาพต่างๆ ที่เปาโลบรรยาย ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4; 137:7–10 ด้วย

    ภาพ
    ดวงอาทิตย์ขึ้น

    “รัศมี​ของ​ดวง‍อา‌ทิตย์​ก็​อย่าง​หนึ่ง” (1 โครินธ์ 15:41)

  • 1 โครินธ์ 15 เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงบัพติศมาแทนคนตาย (ดู ข้อ 29; ดู คพ. 128:18 ด้วย) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาประกอบพิธีบัพติศมาหรือศาสนพิธีอื่นๆ ให้บรรพชนของพวกเขา ท่านอาจแบ่งปันประสบการของวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่าบัพติศมาแทนคนตายเป็นหลักฐานของการฟื้นคืนพระชนม์ วีดิทัศน์ “Glad Tidings: The History of Baptisms for the Dead” (LDS.org) อธิบายว่าหลักธรรมนี้ได้รับการฟื้นฟูในยุคสมัยของเรา

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงการทดลองที่พวกเขากำลังเผชิญหรือความอ่อนแอที่พวกเขามี บอกพวกเขาว่าเมื่อพวกเขาอ่าน 2 โครินธ์ พวกเขาจะเรียนรู้สิ่งที่ช่วยให้เปาโลอดทนต่อการทดลองและเขามองความอ่อนแอของตนอย่างไร

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

1 โครินธ์ 14–16

ความสำคัญของการฟื้นคืนพระชนม์

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ลองพิจารณาสักครู่ถึงนัยสำคัญของการฟื้นคืนพระชนม์ในการขจัดข้อสงสัยทั้งหมดในคราวเดียวเกี่ยวกับอัตลักษณ์แท้จริงของเยซูแห่งนาซาเร็ธ การโต้แย้งเชิงปรัชญา และคำถามของชีวิต หากพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์จริงๆ ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นสัตภาวะแห่งสวรรค์ ไม่มีมนุษย์คนใดมีพลังอำนาจในตนเองที่จะกลับมามีชีวิตหลังจากตายไปแล้ว เพราะว่าพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูจึงไม่ได้เป็นเพียงช่างไม้ ครู อาจารย์ หรือศาสดาพยากรณ์อย่างแน่นอน เพราะพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูต้องเป็นพระผู้เป็นเจ้า แม้พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา

“ฉะนั้น สิ่งที่พระองค์ทรงสอนจึงเป็นความจริง เพราะพระผู้เป็นเจ้าตรัสเท็จไม่ได้

“ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นพระผู้สร้างแผ่นดินโลก ดังที่พระองค์ตรัส

“ฉะนั้น สวรรค์และนรกจึงมีจริง ดังที่พระองค์ทรงสอน

“ฉะนั้น มีโลกแห่งวิญญาณซึ่งพระองค์ทรงไปเยือนหลังจากสิ้นพระชนม์

“ฉะนั้น พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้ง ดังที่ทวยเทพกล่าว และจะทรง ‘ปกครองแผ่นดินโลกด้วยพระองค์เอง’

“ฉะนั้น จึงมีการฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษาครั้งสุดท้ายสำหรับทุกคน” (“การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 113)

ศาสนพิธีแทนคนตาย : “ลำแสงจากบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า”

เอ็ลเดอร์วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์พูดว่าเมื่อท่านเรียนรู้ว่าสมาชิกที่มีชีวิตอยู่ของศาสนจักรจะได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดแทนบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ “นั่นเป็นเหมือนลำแสงจากบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่ใจเรา ความรู้นั้นเปิดความคิดเราให้กว้างถึงนิรันดร” ท่านกล่าวด้วยว่า “สำหรับข้าพเจ้า ดูเหมือนว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปิดเผยหลักธรรมดังกล่าวแก่มนุษย์นั้นมีปัญญา เที่ยงธรรมและจริง ทรงมีทั้งคุณลักษณะอันเป็นเลิศและความรู้อันปราดเปรื่อง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพระองค์ทรงมั่นคงทั้งในความรัก ความเมตตา ความยุติธรรมและวิจารณญาณ ข้าพเจ้ารู้สึกรักพระเจ้ามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต … ข้าพเจ้ารู้สึกอยากร้องฮาเลลูยาเมื่อตระหนักในการเปิดเผยที่เราได้รับเกี่ยวกับบัพติศมาแทนคนตาย …”

“สิ่งแรกที่เข้ามาสู่ความคิดข้าพเจ้า” เขากล่าว “คือข้าพเจ้ามีแม่ในโลกวิญญาณ ท่านสิ้นชีวิตเมื่อข้าพเจ้าอายุ 14 เดือน …” หลังจากนั้น ท่านกล่าวถึงโอกาสที่ท่านได้ผนึกแม่ของท่านกับพ่อของท่าน “ท่านจะมีส่วนในการฟื้นคืนชีวิตแรก และเรื่องเดียวนี้ตอบแทนทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าทำมาทั้งชีวิต” (ดูคำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, [2011], 185–86)

ปรับปรุงการสอนของเรา

รู้จักคนที่ท่านสอน ไม่มีใครเหมือนกันทุกอย่าง แต่ละคนที่ท่านสอนมีพื้นเพ ทัศนคติ และพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน สวดอ้อนวอนเพื่อให้รู้วิธีที่ท่านจะใช้สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนของท่านมีส่วนร่วม ขณะที่ท่านเข้าใจคนที่ท่านสอนดีขึ้น ท่านจะสร้างช่วงเวลาการสอนที่มีความหมายและน่าจดจำสำหรับพวกเขา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด 7)