จงตามเรามา
9–15 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: ‘​ให้​คืน‍ดี​กับ​พระ‍เจ้า’


“9–15 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: ‘ให้​คืน‍ดี​กับ​พระ‍เจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“9–15 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระเยซูคริสต์

9–15 กันยายน

2 โครินธ์ 1–7

“​ให้​คืน‍ดี​กับ​พระ‍เจ้า”

เมื่อท่านอ่าน 2 โครินธ์ 1–7 สัปดาห์นี้ ให้นึกถึงสมาชิกชั้นเรียนบางคน—คนที่มาชั้นเรียนและคนที่ไม่มา หลักธรรมในบทเหล่านี้จะเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันแนวคิดที่ทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; 7:4–7

การทดลองของเราจะเป็นพรได้

  • อาจมีบางคนในชั้นเรียนที่กำลังประสบการทดลองที่ยาก ประสบการณ์ที่เปาโลบรรยายและคำแนะนำที่เขาให้ไว้ใน 2 โครินธ์ จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงพรที่จะมาจากการทดลองของพวกเขา เพื่อเริ่มการสนทนานี้ ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนเตรียมมาพูดว่าการทดลองเป็นพรแก่ชีวิตเขาอย่างไรหรือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากคนอื่นที่อดทนต่อการทดลอง จากนั้นท่านอาจให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีเพื่อทบทวน 2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; และ 7:4–7โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับจุดประสงค์และพรของการทดลอง (ดูตัวอย่างคำสอนของเขาใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาอ่านออกเสียงข้อที่พวกเขาพบการสอนบางอย่างและจากนั้นแบ่งปันประสบการณ์หรือประจักษ์พยานที่เกี่ยวข้องกับคำสอนนั้น

  • ท่านอาจให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าการทดลองจะเป็นพรแก่ชีวิตเราอย่างไร รวมถึงการทบทวนคำสอนของเปาโลที่มีอยู่ใน 2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; และ 7:4–7 ระหว่างเวลานี้ท่านอาจเขียนว่าคำสอนของเปาโลอาจประยุกต์ใช้กับความทุกข์ที่พวกเขาเผชิญในชีวิตของพวกเขาเองอย่างไร

  • เพื่อเสริมการสนทนาของท่าน ท่านอาจร้องเพลงสวดซึ่งเป็นที่ชื่นชอบร่วมกับสมาชิกชั้นเรียนโดยเป็นพยานถึงการปลอบโยนและพรที่พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เราในช่วงเวลาของการทดลอง—เช่น “ฐานมั่นคงหนักหนา” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 33) หลังจากร้องเพลงด้วยกัน ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาวลีใน 2 โครินธ์ 1 และ 4 ที่พวกเขารู้สึกว่าสอดคล้องกับข่าวสารในเพลงสวด

2 โครินธ์ 2:5–11

เราได้รับพรและเป็นพรแก่ผู้อื่นเมื่อเราให้อภัย

  • เราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ที่บางคน “ทำ​ให้​เกิด​ความ​ทุกข์‍โศก” กับเราและครอบครัว (ข้อ 5) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจค้น 2 โครินธ์2:5–11 โดยมองหาคำแนะนำจากเปาโลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติกับคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน ลูกา 15:11–32; ยอห์น 8:1–11 และคำพูดโดยเอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคน (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) เพื่อเรียนรู้มากขึ้นว่าเราควรปฏิบัติกับคนที่ทำบาปอย่างไร เราทำร้ายตนเองและผู้อื่นอย่างไรเมื่อเราไม่เต็มใจที่จะให้อภัย

2 โครินธ์ 5:14–21

โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าได้

  • หลายคนมาโบสถ์พร้อมกับความปรารถนาที่จะรู้สึกเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและการสนทนาเกี่ยวกับ 2 โครินธ์ 5:14–21 จะช่วยพวกเขา เพื่อเริ่มชั้นเรียน สมาชิกชั้นเรียนอาจสำรวจความหมายของคำว่า คืนดี อาจเริ่มโดยการมองหาคำนั้นในพจนานุกรม สิ่งนี้ให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า เราได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างจากคำว่า “การชดใช้” ในคู่มือพระคัมภีร์ ข้อคิดเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจ 2 โครินธ์ 5:14–21 อย่างไร ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ซึ่งการชดใช้ของพระองค์ทำให้เรากลับคืนไปหาพระผู้เป็นเจ้าได้

2 โครินธ์ 7:8–11

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้านำไปสู่การกลับใจ

  • 2 โครินธ์ 7:8–11 ให้คำอธิบายที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าและบทบาทในการกลับใจ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าจาก 2 โครินธ์ 7:8–11 และคำพูดของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เหตุใดความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าจึงจำเป็นต่อการกลับใจ

  • ท่านอาจรู้สึกถึงความประทับใจให้กระตุ้นการสนทนาที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการกลับใจ หากเป็นเช่นนั้น ท่านอาจลองทำบางสิ่งต่อไปนี้ เช่น เขียนบนกระดานว่า การกลับใจคือ ขอให้สมาชิกชั้นเรียนหาวิธีเติมประโยคนี้ให้ครบถ้วนโดยการใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก 2 โครินธ์ 7:8–11 รวมถึงจากพระคัมภีร์และแหล่งช่วยอื่นๆ ที่มีใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” พวกเขาจะใช้คำสอนเหล่านี้เพื่อช่วยให้บางคนเข้าใจวิธีกลับใจอย่างจริงใจได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาเคยสวดอ้อนวอนให้การทดลองหรือความทุกข์หมดไปหรือไม่ ใน 2 โครินธ์ 8–13 พวกเขาจะค้นพบว่าเปาโลตอบสนองอย่างไรเมื่อเขาสวดอ้อนวอนเพื่อสิ่งนี้แต่คำสวดอ้อนวอนของเขากลับไม่ได้รับคำตอบในแบบที่เขาคาดหวัง

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

2 โครินธ์ 1-7

การมองผู้อื่นอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรพวกเขาช่วยเราให้อภัย

เอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคนสอนว่า “กุญแจดอกหนึ่งของการให้อภัยผู้อื่นคือพยายามมองพวกเขาดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอง บางครั้งพระผู้เป็นเจ้าอาจแหวกม่านและทรงอวยพรเราด้วยของประทานให้มองเข้าไปในใจ จิตวิญญาณ และวิญญาณของอีกคนหนึ่งที่ทำให้เราขุ่นเคือง การมองเห็นเช่นนี้อาจทำให้เรารักคนนั้นอย่างล้นเหลือ” (“ขี้ผึ้งเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 34)

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความหวัง

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟอธิบายว่า

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความหวังผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ความเสียใจอย่างโลก ดึงเราลง ทำลายความหวัง และชักจูงให้เรายอมแพ้ต่อการล่อลวงที่จะเข้ามา

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส และการเปลี่ยนแปลงของใจ สิ่งนี้ทำให้เราเกลียดชังบาปและรักความดี อีกทั้งกระตุ้นให้เรายืนขึ้นและเดินในแสงสว่างแห่งความรักของพระคริสต์ การกลับใจที่แท้จริงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไม่ไช่ความเจ็บปวดและความทรมาน” (“ท่านสามารถทำได้!” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 56)

การกลับใจคืออะไร

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นสอนว่า

“เมื่อเราทำบาป เราหันหลังให้พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเรากลับใจ เราหวนกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า

“พระดำรัสเชื้อเชิญให้กลับใจน้อยนักจะเป็นพระสุรเสียงแห่งการตีสอน ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นคำวิงวอนจากความรักให้หันกลับมาและหวนคืนไปหาพระผู้เป็นเจ้า [ดู ฮีลามัน 7:17] นี่คือการเชื้อเชิญจากพระบิดาผู้ทรงรักเราและพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ให้เราเป็นมากกว่าที่เราเป็นอยู่เวลานี้ ให้ขึ้นไปสู่วิถีชีวิตที่สูงขึ้น ให้เปลี่ยน และให้สัมผัสความสุขของการรักษาพระบัญญัติ ในการเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์ เราชื่นชมยินดีในพรของการกลับใจและปีติของการได้รับการให้อภัย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นการกำหนดวิธีที่เราคิดและรู้สึก …

“สำหรับคนส่วนใหญ่ การกลับใจเป็นการเดินทางมากกว่าหนึ่งครั้ง สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก เรียกร้องการวิ่งทวนลม ว่ายทวนน้ำ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า ‘ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกและตามเรามา’ [มัทธิว 16:24] การกลับใจคือการหันหลังให้ความไม่ซื่อสัตย์ ความจองหอง ความโกรธ และความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ โดยหันหน้าเข้าหาสิ่งอื่นเช่นความเมตตา ความไม่เห็นแก่ตัว ความอดทน และความเข้มแข็งทางวิญญาณ นี่คือ ‘การหวนคืน’ ไปสู่พระผู้เป็นเจ้า” (“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,”เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 49–50)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ให้คนที่มีปัญหามีส่วนร่วม บางครั้งสมาชิกชั้นเรียนที่มีปัญหาแค่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อรู้สึกว่าเป็นที่รัก ท่านอาจให้งานมอบหมายแก่พวกเขาเพื่อมีส่วนร่วมในบทเรียนที่จะมาถึง อย่ายอมแพ้หากพวกเขาไม่ตอบรับความพยายามของท่านในตอนแรก (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 8–9)