จงตามเรามา
25–31 มีนาคม มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6: ‘อย่ากลัวเลย’


“25–31 มีนาคม มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6: ‘อย่ากลัวเลย’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“25–31 มีนาคม มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระคริสต์ทรงเลี้ยงอาหารฝูงชน

เลี้ยงอาหารพวกเขา โดย จอร์จ ค็อคโค

25–31 มีนาคม

มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6

“อย่ากลัวเลย”

ขณะที่ท่านเตรียมสอนจาก มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; และ ยอห์น 5–6 ให้มองหาข่าวสารที่เหมาะกับชั้นเรียนของท่าน ขณะทำเช่นนั้น ลองคิดหาวิธีให้สมาชิกชั้นเรียนมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับพระคัมภีร์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

วิธีหนึ่งที่จะเริ่มการสนทนาบทเหล่านี้คือขอให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเลือกอ่านคนละบทและเตรียมมาแบ่งปันข่าวสารจากบทนั้นที่มีความหมายต่อพวกเขา ขณะพวกเขาแบ่งปัน สมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ อาจจะถามคำถามหรือเพิ่มข้อคิด

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ยอห์น 5:16–47

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรที่รักของพระบิดาบนสวรรค์

  • ใน ยอห์น 5 พระเยซูทรงให้ข้อคิดหลายประการเกี่ยวกับพระองค์เอง พระบิดา และความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระบิดา เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนค้นพบข้อคิดเหล่านี้ ลองแบ่งพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ และให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเขียนความจริงเป็นข้อๆ เท่าที่พวกเขาจะหาได้ใน ข้อ 16–47 เกี่ยวกับพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ และความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ เชื้อเชิญให้กลุ่มต่างๆ ผลัดกันอ่านความจริงจากที่เขียนไว้จนกว่าจะแบ่งปันความจริงทุกข้อในแต่ละรายการ ความจริงเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์ดีขึ้นอย่างไร เราจะทำตามแบบอย่างการเชื่อฟังพระบิดาของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

  • กิจกรรมใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เชื้อเชิญให้ผู้เรียนสังเกตทุกครั้งที่พระเยซูทรงใช้คำว่า พระบิดา ใน ยอห์น 5 เชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ขณะทำกิจกรรมนี้ พวกเขาได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูสอนอะไรที่ช่วยให้เราเข้าใจดีขึ้นว่าพระบิดาทรงเป็นใครและเหตุใดเราจึงนมัสการพระองค์ แนวคิดบางประการอยู่ในคู่มือพระคัมภีร์หัวข้อ “พระผู้เป็นเจ้า” และในหัวข้อ “พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา” แน่วแน่ต่อศรัทธา, 197–190 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนร้อง ฟัง หรืออ่านเพลง “โอ้ พระบิดา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 142

มัทธิว 14:16–21; มาระโก 6:33–44; ยอห์น 6:5–14

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถขยายสิ่งที่เรามอบให้เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์

  • อะไรจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบความหมายส่วนตัวในปาฏิหาริย์การเลี้ยงอาหารคนห้าพันคนของพระเยซู ท่านอาจจะถามว่าการอ่านเรื่องปาฏิหาริย์เพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขาในพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้พรพวกเขาเป็นส่วนตัวอย่างไร พวกเขาเคยรู้สึกไหมว่าปัจจัยหรือความสามารถของพวกเขาไม่มากพอจะบรรลุเป้าหมายหรือพระบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาเคยรู้สึกไหมว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงขยายหรือทวีความพยายามของพวกเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาทำสิ่งที่ดูเหมือนเหลือวิสัยให้สำเร็จ

    ภาพ
    ขนมปังกับปลา

    พระเยซูคริสต์ทรงเลี้ยงอาหารคน 5,000 คนได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยขนมปัง 5 ก้อนกับปลาสองตัว

  • วีดิทัศน์เรื่อง “The Feeding of the 5,000” (LDS.org) อาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองปาฏิหาริย์ที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ เราพบรายละเอียดอะไรบ้างในเรื่องนี้ที่เพิ่มพูนศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถเลี้ยงเราทางวิญญาณด้วยวิธีใด พระเยซูคริสต์ทรงเลี้ยงดูและทรงประคับประคองเราเมื่อใด ดูตัวอย่างปาฏิหาริย์ในสมัยของเราที่คล้ายกับปาฏิหาริย์เรื่องขนมปังกับปลาได้จากวีดิทัศน์เรื่อง “Pure and Simple Faith” (LDS.org) หรือ Paul VanDenBerghe, “Power in Prayer,” New Era, July 2012, 34–36

มัทธิว 14:22–33

พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราขจัดความกลัวและความสงสัยเพื่อเราจะมาหาพระองค์ได้เต็มที่มากขึ้น

  • เรื่องราวใน มัทธิว 14:22–33 สามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเพิ่มพูนศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดและความปรารถนาจะติดตามพระองค์ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านเรื่องนี้ โดยเอาใจใส่เป็นพิเศษกับคำที่พระคริสต์ตรัสและคำที่เปโตรกับอัครสาวกคนอื่นๆ พูด พระดำรัสของพระเยซูช่วยให้เปโตรมีศรัทธาที่จะทิ้งเรือและเดินบนน้ำอย่างไร พระดำรัสเตือนของพระเยซูให้ “ทำใจดีดี” และ “อย่ากลัว” (ข้อ 27) ประยุกต์ใช้กับเราทุกวันนี้ได้อย่างไร เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเปโตรเกี่ยวกับความหมายของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์และวางใจพระองค์

  • มัทธิว 14:22–33 มีคำและวลีที่อาจสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนใช้ศรัทธามากขึ้นในพระผู้ช่วยให้รอด ขอให้พวกเขาค้นหาคำและวลีที่สร้างแรงบันดาลใจเหล่านั้น เขียนไว้บนกระดาน และสนทนาสิ่งที่พวกเขาเขียน สมาชิกชั้นเรียนสามารถโยงกับประสบการณ์ของเปโตรได้หรือไม่ ท่านอาจจะกระตุ้นให้พวกเขานึกถึงและแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาลงมือปฏิบัติเช่นเดียวกับเปโตรเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอดแม้เมื่อผลลัพธ์ไม่แน่นอน พวกเขาเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้น พระเยซูคริสต์เสด็จมาช่วยพวกเขาในชั่วขณะที่พวกเขากลัวหรือสงสัยอย่างไร

ยอห์น 6:22–71

ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ เราต้องเต็มใจเชื่อและยอมรับความจริงแม้เมื่อเรายอมรับได้ยาก

  • เหตุการณ์ต่างๆ ใน ยอห์น 6 สามารถให้มุมมองที่เป็นประโยชน์เมื่อผู้คนสงสัยหลักคำสอน ประวัติ หรือนโยบายของศาสนจักรของพระคริสต์ ในบทนี้ ผู้ติดตามพระคริสต์บางคนไม่ยอมรับคำสอนของพระองค์ที่ว่าพระองค์ทรงเป็นอาหารดำรงชีวิตและพวกเขาจะรอดได้โดยผ่านการพลีพระมังสาและพระโลหิตของพระองค์เท่านั้น เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนประยุกต์ใช้เรื่องนี้กับชีวิตพวกเขา ท่านอาจจะเขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาคำตอบใน ข้อ 22–71: ผู้คนคาดหวังอะไร (ดู ข้อ 26) พระคริสต์ทรงมอบอะไรให้พวกเขาแทน (ดู ข้อ 51) ผู้คนเข้าใจผิดเรื่องอะไร (ดู ข้อ 41–42, 52) มีวิธีใดบ้างที่เราจะเลือกเดินกับพระคริสต์แม้เมื่อเรามีคำถาม เชื้อเชิญให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามของพระผู้ช่วยให้รอดและคำตอบของเปโตรใน ข้อ 67–69 หลักคำสอน ศาสนพิธี หรือ “ถ้อยคำแห่งชีวิต” อะไรบ้างที่พบได้ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระคริสต์เท่านั้น เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าหลักคำสอนและศาสนพิธีเหล่านี้เป็นพรแก่พวกเขาและครอบครัวอย่างไร สำหรับข้อคิดจากอัครสาวกยุคปัจจุบัน ให้เชิญสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกชั้นเรียนอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้อ่านข้อต่างๆ สำหรับชั้นเรียนสัปดาห์ถัดไปถ้าท่านชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่พวกเขาอ่านจะยกระดับประสบการณ์ของพวกเขาขณะฟังการประชุมใหญ่สามัญ กระตุ้นให้พวกเขาเตรียมมาแบ่งปันข้อคิดของพวกเขาในชั้นเรียนครั้งต่อไป

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6

“พวกท่านก็จะจากเราไปด้วยหรือ?”

หลังจากอ้างอิง ยอห์น 6:68–69 เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า

“สำหรับบางคน พระดำรัสที่พระคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เชื่อและยังคงดำเนินต่อไปนั้นยากลำบาก—หรือยากเกินจะยอมรับ สานุศิษย์บางคนมีปัญหาในการเข้าใจนโยบายหรือคำสอนที่เจาะจงของศาสนจักร บางคนพบข้อกังขาในประวัติของเราหรือในความไม่ดีพร้อมของสมาชิกและผู้นำบางคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในขณะที่บางคนพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินชีวิตตามศาสนาที่เรียกร้องมากเกินไป ท้ายที่สุด บางคน ‘เบื่อหน่ายในการทำดี’ [คพ. 64:33] เนื่องจากสาเหตุนี้และอื่นๆ สมาชิกศาสนจักรบางคนไม่แน่ใจในศรัทธาของพวกเขา โดยสงสัยว่าบางทีพวกเขาควรทำตามคนที่ ‘ถดถอยไม่ติดตาม’ พระเยซูอีกต่อไปหรือไม่

“หากคนใดในพวกท่านมีศรัทธาคลอนแคลน ข้าพเจ้าขอถามท่านด้วยคำถามเดียวกับที่เปโตรถาม ‘พวก [ท่าน] จะจากไปหาใครได้’ …

“… ก่อนที่ท่านจะทำการเลือกที่เป็นอันตรายทางวิญญาณในการจากไป ข้าพเจ้าขอกระตุ้นให้ท่านฉุกคิดให้ดีก่อนจะยอมทิ้งอะไรก็ตามที่นำท่านมาสู่ประจักษ์พยานของท่านถึงศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ในตอนแรก ฉุกคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านเคยรู้สึกที่นี่และสาเหตุที่ท่านรู้สึกถึงสิ่งนั้น คิดถึงช่วงเวลาที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานกับท่านเกี่ยวกับความจริงนิรันดร์” (“พวกข้าพระองค์จะจากไปหาใครได้” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 90–91)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ฟัง “การฟังเป็นการแสดงออกของความรัก… ขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยท่านให้เข้าใจสิ่งที่สมาชิกชั้นเรียนของท่านพูด เมื่อท่านตั้งใจฟังข่าวสารที่พูดออกมาและไม่ได้พูดออกมา ท่านจะเข้าใจความต้องการ ข้อกังวล และความปรารถนาของพวกเขามากยิ่งขึ้น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 34)