จงตามเรามา
1–14 เมษายน มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9: ‘พระองค์เป็นพระคริสต์’


“1–14 เมษายน มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9: ‘พระองค์เป็นพระคริสต์’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“1–14 เมษายน มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
การจำแลงพระกายของพระคริสต์

การจำแลงพระกาย โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค

1–14 เมษายน

มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9

“พระองค์เป็นพระคริสต์”

ท่านได้ยินหรืออ่านข่าวสารอะไรบ้างจากการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดที่สามารถสนับสนุนหลักคำสอนในบทเหล่านี้ ขณะที่ท่านศึกษา ให้ไตร่ตรองความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนของท่านและบันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

วิธีหนึ่งที่ท่านสามารถกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวคือเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันทุกสัปดาห์ว่าการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น การศึกษาบทเหล่านี้ของพวกเขาส่งผลอย่างไรต่อประสบการณ์กับการประชุมใหญ่สามัญ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 16:13–17

ประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์มาโดยการเปิดเผย

  • สมาชิกชั้นเรียนคนใดของท่านเคยอธิบายให้คนอื่นฟังว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง ใน มัทธิว 16:13–17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับประจักษ์พยาน ท่านอาจจะแบ่งปันว่าแอลมาได้รับประจักษ์พยานอย่างไร (ดู แอลมา 5:45–46) หรือพระเจ้าทรงสอนอะไรออลิเวอร์ คาวเดอรีเกี่ยวกับการเปิดเผย (ดู คพ. 6:14–15, 22–23; 8:2–3) ท่านคิดว่าเปโตรหรือแอลมาหรือออลิเวอร์ คาวเดอรีจะพูดอะไรถ้ามีคนถามพวกเขาว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง

  • อาจจะมีคนในชั้นเรียนของท่านที่กำลังสวดอ้อนวอนขอการเปิดเผยส่วนตัวแต่ไม่รู้เมื่อการเปิดเผยมา เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ใช้ประสบการณ์ทั่วไปสองอย่างกับแสงสว่างเพื่อสอนวิธีที่เราได้รับการเปิดเผย ท่านอาจต้องการแบ่งปันข้อคิดของเอ็ลเดอร์เบดนาร์กับสมาชิกชั้นเรียน (ดู “วิญญาณแห่งการเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 109–117; ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Patterns of Light: Spirit of Revelation” บน LDS.org ด้วย) ชั้นเรียนของท่านคิดว่าคำสอนหรือเรื่องราวใดอีกบ้างในพระคัมภีร์ที่จะช่วยให้คนบางคนรับรู้การเปิดเผยส่วนตัว (ดูตัวอย่างใน 1 พงศ์กษัตริย์ 19:11–12; กาลาเทีย 5:22–23; อีนัส 1:1–8; คพ. 8:2–3)

มัทธิว 16:13–19; 17:1–9

กุญแจฐานะปุโรหิตจำเป็นอย่างยิ่งต่อความรอดของเรา

  • เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิต ท่านอาจจะเขียนคำถามทำนองนี้ไว้บนกระดาน กุญแจฐานะปุโรหิตคืออะไร ใครถือกุญแจ กุญแจฐานะปุโรหิตได้มาอย่างไร ท่านอาจจะแบ่งปันพระคัมภีร์อ้างอิงบางข้อที่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ เช่น มัทธิว 16:19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:18–19; 128:8–11; 132:18–19, 59; และ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:72 สมาชิกชั้นเรียนสามารถหาความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้โดยอ่าน คู่มือ เล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 2.1.1; ข่าวสารของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “พลังอำนาจในฐานะปุโรหิต” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 92–95); หรือ แน่วแน่ต่อศรัทธา, 147–149 ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าคำถามที่พวกเขาเลือก จากนั้นให้พวกเขาสอนสิ่งที่เรียนรู้ให้กัน

  • การสนทนาเกี่ยวกับเปโตรและอัครสาวกท่านอื่นได้รับกุญแจฐานะปุโรหิตบนภูเขาแห่งการจำแลงพระกายสามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเรื่องการฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตในยุคสุดท้าย เพื่อกระตุ้นการสนทนาเช่นนั้น ท่านอาจจะขอให้นักเรียนครึ่งชั้นศึกษา มัทธิว 17:1–9 (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) และอีกครึ่งชั้นศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 110 จากนั้นพวกเขาอาจแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ให้กันและสังเกตความคล้ายคลึงระหว่างสองเรื่องนี้ วีดิทัศน์เรื่อง “Priesthood Keys: The Restoration of Priesthood Keys” (LDS.org) อาจจะเป็นประโยชน์เช่นกัน

  • สมาชิกในชั้นเรียนของท่านเข้าใจหรือไม่ว่ากุญแจฐานะปุโรหิตเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร เพื่อช่วยพวกเขา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นหารายชื่อผู้ถือกุญแจใน คู่มือ เล่ม 2, 2.1.1 คนเหล่านี้ในวอร์ดและสเตคของท่านเป็นใครบ้าง ท่านอาจจะเขียนรายชื่อคนเหล่านั้นไว้บนกระดานหรือเชิญบางคนมาพูดกับชั้นเรียน พวกเขาใช้กุญแจฐานะปุโรหิตที่ได้รับกำกับดูแลงานของฐานะปุโรหิตภายในการเรียกของพวกเขาอย่างไร เราได้รับพรจากการรับใช้ของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเหล่านี้อย่างไร

ภาพ
รูปปั้นเปโตรถือกุญแจ

กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจในการกำกับดูแลการใช้ฐานะปุโรหิต

มาระโก 9:14–30

เมื่อแสวงหาศรัทธามากขึ้น เราต้องยึดมั่นศรัทธาที่เรามีอยู่แล้วก่อน

  • เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ใช้เรื่องราวของพ่อที่หาทางรักษาลูกชายสอนว่าเราควรพึ่งพระเจ้าอย่างไรเมื่อเรารู้สึกว่าศรัทธาของเราไม่มากพอ (ดู “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93–95) สามประเด็นหลักจากคำพูดของท่านมีอยู่ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” บางทีท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสี่กลุ่มและมอบหมายให้กลุ่มหนึ่งสนทนา มาระโก 9:14–30 และอีกสามกลุ่มสนทนาข้อสังเกตสามประการของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กลุ่มละข้อ พวกเขาอาจจะมองหาข่าวสารในพระคัมภีร์เรื่องนี้ที่สามารถช่วยเราเพิ่มพูนศรัทธาของเรา แต่ละกลุ่มอาจจะแบ่งปันข้อคิดบางอย่างจากการสนทนาของพวกเขากับนักเรียนที่เหลือ

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาที่บ้านสัปดาห์นี้ ให้บอกพวกเขาว่า โครงร่างถัดไป ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว จะช่วยให้พวกเขากับครอบครัวมีอีสเตอร์ที่มีความหมายมากขึ้น นอกจากนี้ ท่านอาจเสนอให้วันอาทิตย์อีสเตอร์เป็นเวลาดีที่พวกเขาจะชวนสมาชิกที่แข็งขันน้อยหรือเพื่อนต่างศาสนามาโบสถ์

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9

ฝ่ายประธานองค์การช่วยได้รับสิทธิอำนาจที่มอบให้

“องค์การช่วยทุกองค์การในวอร์ดและสเตคดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของอธิการหรือประธานสเตคซึ่งเป็นผู้ถือกุญแจในการควบคุม ประธานองค์การช่วยและที่ปรึกษาไม่ได้รับกุญแจ แต่ได้รับสิทธิอำนาจซึ่งมอบหมายให้ทำงานการเรียกในตำแหน่งของตน” (คู่มือเล่ม 2, 2.1.1)

ข้อสังเกตสามประการจะช่วยให้เรามีศรัทธามากขึ้น

หลังจากเล่าเรื่องที่พบใน มาระโก 9:14–29 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า

“ข้อสังเกตแรกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือเมื่อเผชิญความท้าทายเรื่องศรัทธา บิดาคนนี้ประเมินกำลังของเขาก่อน จากนั้นจึงยอมรับข้อจำกัดของตน ถ้อยคำที่เขาประกาศแต่แรกหนักแน่นและไม่ลังเล ว่า ‘ข้าพเจ้าเชื่อ’ ข้าพเจ้าต้องการบอกทุกคนผู้ปรารถนาจะมีศรัทธามากขึ้นว่า จงจดจำชายผู้นี้! “ในช่วงเวลาที่ท่านหวาดกลัว หรือสงสัย หรือว้าวุ่นใจ จงยึดฐานมั่นที่ท่านได้มาแล้ว แม้จะมีพื้นที่จำกัดก็ตาม … ยึดมั่นสิ่งที่ท่านรู้แล้วและยืนหยัดจนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น … ขนาดของศรัทธาหรือระดับความรู้ของท่านไม่ใช่ประเด็น—ประเด็นคือความสุจริตที่ท่านแสดงต่อศรัทธาที่ท่านมีและความจริงที่ท่านรู้แล้ว

“ข้อสังเกตข้อที่สองคือสิ่งที่แปรผันมาจากข้อแรก เมื่อปัญหาเกิดขึ้นและมีคำถาม อย่าเริ่มการแสวงหาศรัทธาของท่านโดยพูดว่าท่าน ไม่ มีศรัทธามากเท่าไร ราวกับนำด้วย ‘ความไม่เชื่อ’ ของท่าน … ข้าพเจ้าไม่ได้ขอให้ท่านแสร้งมีศรัทธาที่ท่านไม่มี ข้าพเจ้า กำลัง ขอให้ท่านแน่วแน่ต่อศรัทธาที่ท่าน มี อยู่แล้ว … จงตรงไปตรงมากับข้อสงสัยของท่านเท่าที่จำเป็น ชีวิตเต็มไปด้วยข้อสงสัยไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง แต่หากท่านและครอบครัวต้องการรักษาให้หาย จงอย่าให้ข้อสงสัยเหล่านั้นมาขวางไม่ให้ศรัทธากระทำสิ่งอัศจรรย์ …

“ข้อสังเกตสุดท้ายคือเมื่อความสงสัยหรือความยากลำบากเกิดขึ้น อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ หากเราต้องการความช่วยเหลืออย่างอ่อนน้อมจริงใจเท่าบิดาคนนี้ เราจะได้รับ พระคัมภีร์เรียกความปรารถนาที่จริงจังเช่นนั้นว่าเป็น ‘เจตนาแท้จริง” ซึ่งพยายาม ‘ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, โดยไม่ทำการหน้าซื่อใจคดและการหลอกลวงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า’ [2 นีไฟ 31:13] ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าในการขานรับคำรบเร้า เช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงส่งความช่วยเหลือมาจากทั้งสองฝั่งของม่านเพื่อเสริมสร้างความเชื่อของเรา” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93–94)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ถามคำถามที่เชื้อเชิญประจักษ์พยาน การถามคำถามที่กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแสดงประจักษ์พยานเป็นวิธีอัญเชิญพระวิญญาณที่ใช้ได้ผล ตัวอย่างเช่น เมื่อสนทนา มัทธิว 16:13–17 ท่านอาจจะถามว่า “ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด” (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 32)