จงตามเรามา
4–10 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5: ‘พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า’


“4–10 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5: ‘พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“4–10 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระคริสต์ทรงมีชัยชนะเหนือซาตาน

พระคริสต์ทรงมีชัยชนะเหนือซาตาน, โดย โรเบิร์ต ที. แบร์เรตต์

4–10 กุมภาพันธ์

มัทธิว 4; ลูกา 4–5

“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า”

ขณะที่ท่านศึกษา มัทธิว 4 และ ลูกา 4–5 ให้บันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน การทำเช่นนี้จะเชื้อเชิญการดลใจเกี่ยวกับวิธีตอบรับความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนให้ดีที่สุด ท่านอาจจะใช้ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และโครงร่างนี้เพื่อหาแนวคิดเพิ่มเติมได้เช่นกัน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

การอ่านของสัปดาห์นี้รวมถึงข้อความนี้: “เขาก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสอนของพระองค์ เพราะพระดำรัสของพระองค์ประกอบด้วยสิทธิอำนาจ” (ลูกา 4:32; ดู มาระโก 1:22 ด้วย) สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันข้อใดจากบทเหล่านี้ได้บ้างที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพลังของหลักคำสอนด้วยตนเอง

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 4:1–11; ลูกา 4:1–13

พระบิดาบนสวรรค์ประทานพลังและวิธีให้เราต่อต้านการล่อลวง

  • เรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดทรงต่อต้านซาตานอาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรู้จักวิธีที่ซาตานพยายามล่อลวงพวกเขา สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเลือกการล่อลวงหนึ่งอย่างใน มัทธิว 4:1–11 หรือ ลูกา 4:1–13 และนึกถึงการล่อลวงยุคปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง (ข้อความใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยได้) เหตุใดการรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบการล่อลวงคล้ายกับที่เราประสบในปัจจุบันจึงเป็นประโยชน์ เหตุใดพระคริสต์จึงทรงสามารถต่อต้านการล่อลวงได้ ดูตัวอย่างอื่นในพระคัมภีร์ของคนต่อต้านซาตานได้ที่ ปฐมกาล 39:7–20; 2 นีไฟ 4:16–35; และ โมเสส 1:10–22

  • วิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับ มัทธิว4:1–11 และ ลูกา 4:1–13 คือท่านอาจจะเขียนคำถามสองข้อไว้บนกระดาน: เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระคริสต์จากเรื่องนี้ และ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับซาตาน จากนั้นเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าข้อเหล่านั้นเพื่อหาคำตอบของคำถามเหล่านี้และเขียนคำตอบไว้บนกระดาน

  • อะไรจะช่วยให้ชั้นเรียนของท่านต่อต้านการล่อลวงได้ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนกรณีตัวอย่างใน มัทธิว 4:1–11 หรือ ลูกา 4:1–13 ซึ่งความรู้เรื่องพระคัมภีร์ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยพระองค์ตอบโต้ซาตาน (โดยตรัสว่า “มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า”) ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนหาและแบ่งปันพระคัมภีร์ที่สามารถเพิ่มพลังและทำให้พวกเขาเข้มแข็งเมื่อพวกเขารู้สึกถูกล่อลวง (พวกเขาดูแนวคิดได้จากข้อมูลในคู่มือพระคัมภีร์ หัวข้อ “การล่อลวง”)

ลูกา 4:16–30

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น ท่านอาจจะอธิบายว่าพระนามทั้งพระเมสสิยาห์และพระคริสต์หมายถึง “ผู้ได้รับการเจิม” ขณะที่พวกเขาอ่าน ลูกา 4:18–21 ขอให้พวกเขาตรึกตรองว่าการพูดว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ พระเมสสิยาห์ หรือพระผู้ได้รับการเจิมหมายความว่าอย่างไร พวกเขาอาจจะพบว่าการอ่าน “ผู้ได้รับการเจิม” ในคู่มือพระคัมภีร์เป็นประโยชน์เช่นกัน พระเยซูทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ในทุกวันนี้อย่างไร เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา

  • อาจมีบทเรียนบางบทช่วยให้เรียนรู้โดยสำรวจว่าเหตุใดชาวนาซาเร็ธจึงไม่ยอมรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้ วิธีหนึ่งที่จะเรียนรู้เรื่องนี้คือเปรียบเทียบเจตคติของพวกเขากับของหญิงม่ายชาวเศราฟัทและนาอามานในพันธสัญญาเดิม ท่านอาจจะติดต่อสมาชิกชั้นเรียนบางคนล่วงหน้าและขอให้พวกเขาเตรียมมาสรุปแต่ละเรื่องนี้ (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 17:8–24; 2 พงศ์กษัตริย์ 5:1–17; ลูกา 4:16–30) เรื่องเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับปาฏิหาริย์และการขานรับผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า สมาชิกชั้นเรียนเห็นข่าวสารสำหรับสมาชิกศาสนจักรยุคปัจจุบันในพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดต่อชาวนาซาเร็ธหรือไม่

มัทธิว 4:18–22; ลูกา 5:1–11

คำมั่นสัญญาว่าจะติดตามพระคริสต์หมายถึงการยอมรับพระประสงค์ของพระองค์และทิ้งความประสงค์ของเราเอง

  • บางครั้งคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เราอาจไม่สมเหตุสมผลในตอนแรก สมาชิกชั้นเรียนอาจจะค้นคว้า ลูกา 5:1–11 โดยดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เปโตรทำอะไรและเหตุใดเปโตรจึงสงสัยคำแนะนำของพระองค์ ประสบการณ์นี้อาจส่งผลอย่างไรต่อทัศนะของเปโตรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและตัวเขาเอง ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาแสดงศรัทธาในการนำทางจากเบื้องบ้นแม้ไม่เข้าใจถ่องแท้ เกิดผลอะไรเมื่อพวกเขาใช้ศรัทธา

    ภาพ
    พระเยซูทรงเรียกเปโตรกับอันดรูว์ริมทะเล

    “จงตามเรามา และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา” (มัทธิว 4:19)

  • เฉกเช่นคนหาปลา “สละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง” เพื่อติดตามพระเยซูคริสต์ (ลูกา 5:11) มีหลายสิ่งที่เราต้องสละทิ้งเพื่อเป็นสานุศิษย์ของพระองค์เช่นกัน มัทธิว 4:18–22 บอกอะไรเกี่ยวกับเจตคติและศรัทธาของเปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์น อาจจะเป็นประโยชน์ถ้านำแหมาที่ชั้นเรียนและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนจดสิ่งที่พวกเขายินดีสละทิ้งหรือสละทิ้งไปแล้วเพื่อติดตามพระคริสต์และใส่ไว้ในแห ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อพวกเขาเลือกสละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน ยอห์น 2–4 ระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง ท่านอาจจะขอให้พวกเขาไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาคิดว่าหมายถึงการ “เกิดใหม่” บอกพวกเขาว่าการอ่านของสัปดาห์ต่อไปจะช่วยพวกเขาตอบคำถามนี้

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 4; ลูกา 4–5

พระเยซูคือพระเมสสิยาห์

“Jesus Declares He Is the Messiah” (วีดิทัศน์, LDS.org)

การล่อลวงแบบต่างๆ

หลังจากพูดถึงการล่อลวงแบบต่างๆ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบในถิ่นทุรกันดารแล้ว ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์สอนว่า

“การล่อลวงทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับท่านและข้าพเจ้าคือหนึ่งในสามรูปแบบต่อไปนี้

“(1) การล่อลวงเรื่องความอยากหรือกิเลสตัณหา

“(2) การยอมจำนนต่อความหยิ่งจองหอง แฟชั่น และความฟุ้งเฟ้อ

“(3) ความปรารถนาในความร่ำรวยทางโลก หรืออำนาจหรือการครอบครองที่ดินหรือทรัพย์ทางโลกของมนุษย์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: เดวิด โอ. แมคเคย์ [2003], 86)

เมื่อพูดถึงประสบการณ์ของพระเยซูใน มัทธิว 4 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า

“‘ถ้าท่านเป็นพระ‍บุตรของพระ‍เจ้า จงสั่งก้อน‍หินเหล่า‍นี้ให้กลายเป็นขนม‍ปัง’ …

“การล่อลวง ไม่ อยู่ในอาหารการกิน … การล่อลวง อย่างน้อยก็ในส่วนที่ข้าพเจ้าประสงค์จะเน้นคือทำ แบบนี้ เพื่อให้ได้ขนมปัง—ความพอใจทางกาย การบรรเทาความอยากของมนุษย์—แบบง่ายๆ โดยใช้อำนาจอย่างผิดๆ โดยไม่ยินดีรอเวลาที่เหมาะสมและวิธีที่เหมาะสม …

“‘ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงกระโดดลง’ จากยอดหลังคาพระวิหาร …

“การล่อลวงครั้งนี้ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าครั้งแรก การล่อลวงในเรื่องวิญญาณ ในเรื่องความหิวส่วนตัวเป็นจริงยิ่งกว่าความต้องการอาหาร พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยพระองค์ไหม … เหตุใดจึงไม่ทูลขอเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสักครั้ง—เพื่อให้ได้รับการยืนยันทางวิญญาณ ได้กลุ่มคนที่ภักดี และตอบซาตานที่ถามยั่ว …

“แต่พระเยซูทรงปฏิเสธการล่อลวงในเรื่องวิญญาณ การปฏิเสธและการหักห้ามใจเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมจากพระเจ้าเช่นกัน … แม้แต่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้ายังต้องรอ พระผู้ไถ่ผู้จะไม่มีวันมอบพระคุณราคาถูกให้ผู้อื่นก็ไม่น่าจะทรงขอเพื่อพระองค์เอง …

“… ‘ถ้าท่านจะก้มลงนมัสการเรา เราจะให้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน’

“ซาตาน … [ถาม], ‘เสนอราคาของท่านมา ท่านปฏิเสธขนมปังราคาถูก ท่านปฏิเสธการโอ้อวดว่าเป็นพระเมสสิยาห์ที่มีฤทธานุภาพ แต่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความมั่งคั่งของโลกนี้ได้ บอกราคาของท่านมาสิ’ ซาตานกำลังดำเนินการภายใต้มาตรการแรกของความซื่อสัตย์—ความเชื่อที่ชัดเจนว่าท่านใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างในโลกนี้

“วันหนึ่งพระเยซูจะทรงครองโลก พระองค์จะทรงปกครองมณฑลและอำนาจในนั้น พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย เจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย แต่ไม่ใช่แบบนี้” (“The Inconvenient Messiah,” Ensign, Feb. 1984, 68–71)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ขอบคุณผู้เรียนของท่าน “อย่าจดจ่ออยู่กับบทเรียนจนท่านลืมขอบคุณผู้เรียนสำหรับการมีส่วนร่วมของพวกเขา พวกเขาต้องรู้ว่าท่านเห็นคุณค่าของความเต็มใจของพวกเขาในการแบ่งปันข้อคิดและประจักษ์พยาน” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 33)