จงตามเรามา
4–10 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5: ‘พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า’


“4–10 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5: ‘พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“4–10 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระคริสต์ทรงมีชัยเหนือซาตาน

พระคริสต์ทรงมีชัยเหนือซาตาน โดย โรเบิร์ต ที. แบร์เรตต์

4–10 กุมภาพันธ์

มัทธิว 4; ลูกา 4–5

“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า”

เริ่มโดยอ่าน มัทธิว 4 และ ลูกา 4–5 โดยเอาใจใส่ข้อคิดที่ท่านได้รับ แนวคิดการศึกษาในโครงร่างนี้จะช่วยให้ท่านค้นพบหลักธรรมสำคัญๆ ในบทเหล่านี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ดูเหมือนพระเยซูทรงทราบตั้งแต่วัยเยาว์ว่าพระองค์ทรงมีพระพันธกิจพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อพระเยซูทรงเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก ปฏิปักษ์หมายมั่นหว่านความสงสัยในพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอด “ถ้า ท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า” ซาตานกล่าว (ลูกา 4:3, เน้นตัวเอน) แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงติดต่อกับพระบิดาในสวรรค์ของพระองค์ พระองค์ทรงรู้พระคัมภีร์ และทรงทราบว่าพระองค์เป็นใคร สำหรับพระองค์แล้ว ข้อเสนอของซาตาน—“อำนาจทั้งหมดนี้เราจะยกให้แก่ท่าน” (ลูกา 4:6)—ไร้ความหมาย เพราะการเตรียมพร้อมตลอดพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดทำให้พระองค์ได้รับ “ฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณ” (ลูกา 4:14) ด้วยเหตุนี้แม้จะมีการล่อลวง การทดลอง และการปฏิเสธ แต่พระเยซูคริสต์ไม่ทรงหวั่นไหวจากงานที่ได้รับมอบหมาย “เราต้องไปประกาศข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า … พระองค์ทรงใช้เรามาก็เพราะเหตุนี้” (ลูกา 4:43)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 4:1–2

การสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าเตรียมฉันให้พร้อมรับใช้พระองค์

เพื่อเตรียมทำพระพันธกิจของพระองค์ พระเยซูเสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อ “ประทับอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 4:1 [ใน Matthew 4:1, footnote b]) คิดถึงสิ่งที่ท่านทำเพื่อรู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า สิ่งนี้เตรียมท่านให้พร้อมทำงานที่พระองค์ทรงต้องการให้ท่านทำอย่างไร

มัทธิว 4:1–11; ลูกา 4:5–13

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับฉันโดยทรงต่อต้านการล่อลวง

บางครั้งผู้คนรู้สึกผิดเมื่อพวกเขาถูกล่อลวงให้ทำบาป แต่แม้กระทั่งพระผู้ช่วยให้รอดผู้ดำเนินพระชนม์ชีพ “ปราศจากบาป” (ฮีบรู 4:15) ก็ยังถูกล่อลวงด้วยการทดลอง เราสบายใจได้ที่รู้ว่าเพราะพระคริสต์ทรงเผชิญและทรงเอาชนะการล่อลวง พระองค์จึงทรงรู้จักการล่อลวงที่เราเผชิญและทรงช่วยให้เราเอาชนะได้ (ดู ฮีบรู 2:18; แอลมา 7:11–12)

ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 4:1–11 และ ลูกา 4:1–13 ท่านเรียนรู้อะไรที่จะช่วยท่านได้เมื่อท่านเผชิญการล่อลวง ท่านอาจจะจัดระเบียบความคิดของท่านลงในตารางแบบนี้:

พระเยซูคริสต์

ฉัน

พระเยซูคริสต์

ซาตานล่อลวงให้พระคริสต์ทำอะไร

ใช้อำนาจของพระองค์สนองความหิวของพระองค์

ฉัน

ซาตานล่อลวงให้ฉันทำอะไร

พระเยซูคริสต์

เหตุใดพระคริสต์ทรงพร้อมต่อต้านการล่อลวง

พระองค์ทรงอดอาหาร พระองค์เสด็จไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงรู้พระคัมภีร์

ฉัน

ฉันจะพร้อมต่อต้านการล่อลวงได้อย่างไร

พระเยซูคริสต์

ฉัน

ท่านได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างจากงานแปลของโจเซฟ สมิธใน มัทธิว 4 (ดูเชิงอรรถทั่ว มัทธิว 4)

ดู 1 โครินธ์ 10:13; แอลมา 13:28; โมเสส 1:10–22; “Temptation,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

ลูกา 4:16–32

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้

ถ้ามีคนขอให้ท่านอธิบายว่าพระบิดาทรงส่งพระเยซูคริสต์มาทำอะไรบนแผ่นดินโลก ท่านจะตอบอย่างไร ใน ลูกา 4:18–19 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงพระพันธกิจด้านต่างๆ ของพระองค์เองโดยทรงอ้างคำพยากรณ์หนึ่งข้อของอิสยาห์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ (ดู อิสยาห์ 61:1–2) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระองค์ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้

ภาพ
พระเยซูทรงสอนในธรรมศาลา

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์

ถึงแม้ชาวยิวจะรอมาหลายศตวรรษเพื่อให้คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกิดสัมฤทธิผล แต่หลายคนไม่ยอมรับว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่า “พระคัมภีร์ตอนนี้ที่พวกท่านได้ยินกับหูก็สำเร็จแล้วในวันนี้” (ลูกา 4:21) ขณะที่ท่านอ่าน ลูกา 4:20–30 (ดู มาระโก 6:1–6ด้วย) ลองสมมติว่าท่านเป็นชาวนาซาเร็ธ มีอะไรบ้างที่อาจจะขัดขวางไม่ให้ท่านยอมรับว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของท่าน

ดู โมไซยาห์ 3:5–12; “Jesus Declares He Is the Messiah” (วีดิทัศน์, LDS.org) ด้วย

มัทธิว 4:18–22; ลูกา 5:1–11

เมื่อฉันวางใจพระเจ้า พระองค์จะทรงช่วยให้ฉันบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของฉัน

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “ชายหญิงผู้ถวายชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าจะพบว่าพระองค์ทรงสามารถรังสรรค์จากชีวิตพวกเขาได้มากกว่าที่พวกเขาจะทำได้” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 42) นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปโตรและเพื่อนชาวประมงของเขา พระเยซูทรงช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าพวกเขาทำได้มากกว่าจับปลา—พวกเขาสามารถเป็น “ผู้หาคนดั่งหาปลา” (มัทธิว 4:19; ดู ลูกา 5:10ด้วย) เพื่อช่วยให้พวกเขาเห็นเช่นนี้ พระเยซูทรงใช้ประสบการณ์ที่พวกเขาคุ้นเคย

ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกท่านให้ติดตามพระองค์ ท่านจะแสดงให้พระเจ้าทรงตระหนักได้อย่างไรว่าท่านเต็มใจ “[ทิ้ง] ทุกสิ่งทุกอย่าง” (ลูกา 5:11) เพื่อติดตามพระองค์ ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 4:18–22 และ ลูกา 5:1–11

ดู “จงตามเรามา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 48

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 4:1–2; ลูกา 4:1–2

พระเยซูทรงอดพระกระยาหารก่อนถูกปฏิปักษ์ล่อลวง เราจะได้ข้อคิดอะไรบ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับพลังของการอดอาหาร ข้อมูลใน “Fasting and Fast Offerings,” Gospel Topics, topics.lds.org อาจจะช่วยท่านนำครอบครัวสนทนาเรื่องการอดอาหาร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับการอดอาหาร บางทีครอบครัวท่านอาจจะวางแผนอดอาหารด้วยกันเพื่อจุดประสงค์พิเศษบางอย่าง

มัทธิว 4:3–4; ลูกา 4:3–4

เมื่อซาตานล่อลวงพระคริสต์ให้เปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปัง เขาท้าทายอัตลักษณ์อันสูงส่งของพระคริสต์โดยกล่าวว่า “ถ้า ท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (มัทธิว 4:3, เน้นตัวเอน) เหตุใดซาตานจึงพยายามทำให้เราสงสัยอัตลักษณ์อันสูงส่งของเรา เขาพยายามทำเช่นนี้อย่างไร (ดู โมเสส 1:10–23 ด้วย)

งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 4:11

หลังจากพระเยซูได้รับการทดสอบทางกายและทางวิญญาณแล้ว พระองค์ทรงนึกถึงความต้องการของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาที่อยู่ในเรือนจำ “และบัดนี้พระเยซูทรงทราบว่ายอห์นถูกโยนเข้าเรือนจำ และพระองค์ทรงส่งเหล่าเทพ และดูเถิด พวกท่านมาปฏิบัติต่อ [ยอห์น]” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 4:11 [ใน Matthew 4:11, footnote a) เราได้รับพรอย่างไรเมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ในการนึกถึงผู้อื่นก่อนตัวเราเอง เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร

ลูกา 4:16–21

เรารู้จักใครหรือไม่ที่ใจชอกช้ำหรือต้องการ “เป็นอิสระ” (ลูกา 4:18) เราจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับการเยียวยาและการปลดปล่อยของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร ท่านอาจจะสนทนาด้วยว่าการประกอบศาสนพิธีพระวิหารช่วยประกาศ “อิสรภาพแก่พวกเชลย” อย่างไร (ลูกา 4:18)

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ “บางทีสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านทำได้ [ในฐานะบิดามารดาหรือครู] คือ … ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณด้วยสุดใจของท่าน … นี่คือวิธีสำคัญที่สุดในการมีคุณสมบัติคู่ควรแก่ความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านไม่จำเป็นต้องดีพร้อม แค่พยายามอย่างขยันขันแข็ง—และแสวงหาการให้อภัยผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใดก็ตามที่ท่านสะดุดล้ม” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 13)

ภาพ
พระเยซูทรงเรียกอัครสาวกให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา

การเรียก โดย จอร์จ ค็อคโค