จงตามเรามา
11–17 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4: ‘พวกท่านต้องเกิดใหม่’


“11–17 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4: ‘พวกท่านต้องเกิดใหม่’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“11–17 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์ 2019

ภาพ
พระเยซูตรัสกับนิโคเดมัส

11–17 กุมภาพันธ์

ยอห์น 2-4

“พวกท่านต้องเกิดใหม่”

การอ่าน ยอห์น 2–4 เป็นวิธีที่ดีในการเริ่มเตรียมสอน บันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ และใช้โครงร่างนี้หาข้อคิดเพิ่มเติมและแนวคิดการสอน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ยอห์น 2 ยอห์น 3 และ ยอห์น 4 ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีทบทวนบทเหล่านี้ จากนั้นขอให้พวกเขาเขียนข้อหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักคำสอนและเหตุการณ์ในบทนั้นไว้ใต้แต่ละหัวข้อ สนทนาข้อที่เขียน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ยอห์น 2:1–11

ชีวิตเราเปลี่ยนเมื่อเราติดตามพระเยซูคริสต์

  • บางครั้งเราได้ข้อคิดทางวิญญาณจากการเอาใจใส่รายละเอียดในเรื่องราวพระคัมภีร์ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน ยอห์น 2:1–11 และเขียนรายละเอียดที่ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของปาฏิหาริย์ที่งานเลี้ยงฉลองสมรสมากขึ้น ปาฏิหาริย์นี้แสดงให้เห็นพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (ดู ข้อ 11)

  • อาจช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจเรื่องนี้ถ้าพวกเขาพิจารณาปาฏิหาริย์จากมุมมองพิเศษของผู้ที่เห็นปาฏิหาริย์นั้น เจตคติที่เรามีต่อปาฏิหาริย์บางครั้งเหมือนท่าทีของคนที่งานเลี้ยงฉลองสมรสอย่างไร—ตัวอย่างเช่น เหมือนมารีย์ผู้รู้ว่าปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ หรือเหมือนเจ้าภาพผู้ไม่รู้ว่าปาฏิหาริย์ได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเล่าเรื่องงานสมรสประหนึ่งพวกเขาอยู่ที่นั่น

ยอห์น 2:13–22

เราสามารถปกป้องสถานศักดิ์สิทธิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

  • ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากเรื่องพระเยซูทรงไล่คนรับแลกเงินออกจากพระวิหารได้อย่างไร พวกเขาจะปกป้องสถานศักดิ์สิทธิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นบ้าน โบสถ์ พระวิหาร และพระคัมภีร์ได้อย่างไร คำกล่าวนี้จากประธานเดวิด โอ. แมคเคย์อาจจะช่วยได้ “‘อย่าทำให้พระ‍นิ‌เวศของพระ‍บิดาเรากลายเป็นตลาด’ (ยอห์น 2:16) การหาเงินและใช้เงิน … การจับผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนินทาเพื่อนบ้านในบ้านแห่งการนมัสการ เป็นการฝ่าฝืนพระบัญญัติข้อนี้ที่ประทานให้เกือบสองพันปีมาแล้ว” (ใน Conference Report, Oct. 1956, 7) เราจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารและสถานศักดิ์สิทธิ์อื่นได้อย่างไร

ยอห์น 3:1–21

เราต้องเกิดใหม่จึงจะเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเยซูให้เกิดใหม่ (ดู ยอห์น 3:3) ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันข้อคิดที่ได้จากสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนนิโคเดมัสในข้อเหล่านี้ พระองค์ทรงใช้คำและวลีอะไรบ้าง ข้อพระคัมภีร์หรือคำกล่าวอะไรอีกบ้างจากผู้นำศาสนจักรสามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพระดำรัสเชื้อเชิญนี้มากขึ้น (ดูตัวอย่างพระคัมภีร์ใน Topical Guide, “Man, New, Spiritually Reborn” ; ดูคำกล่าวจากผู้นำศาสนจักรใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”)

  • สมาชิกชั้นเรียนจะอธิบายความหมายของการเกิดใหม่ให้แก่คนที่นับถือศาสนาอื่นว่าอย่างไร พวกเขาจะรวมเรื่องการกลับใจ บัพติศมา และการยืนยันไว้ในการสนทนานี้อย่างไร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนฝึกตอบคำถามข้อนี้กับคนที่นั่งข้างๆ พวกเขา คำพูดอ้างอิงจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจเสริมการสนทนานี้ได้

  • บางคนเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนไม่ได้ แต่นิโคเดมัสเป็นแบบอย่างของคนที่เปลี่ยนเนื่องจากการทำตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นเช่นนี้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้า ยอห์น 3:1–2; ยอห์น 7:40–52; และ ยอห์น 19:39–40 เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับเจตคติและความเชื่อของนิโคเดมัส เขาเปลี่ยนอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา เราจะยกตัวอย่างอะไรได้อีกบ้างเกี่ยวกับคนที่เรารู้จักผู้เปลี่ยนแปลงเพราะพระกิตติคุณ

  • การมองดูทารกหรือภาพของทารกอาจเปิดโอกาสให้ชั้นเรียนได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของเด็กแรกเกิดกับคุณสมบัติของคนที่เกิดใหม่ทางวิญญาณ

ยอห์น 4:6–34

พระเยซูคริสต์ทรงมอบน้ำดำรงชีวิตและ “เนื้อ” ของการทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้เรา

  • ร่างกายเราต้องการอาหารและน้ำทุกวัน พระเยซูตรัสถึงความต้องการทั่วไปเหล่านี้เมื่อทรงสอนทั้งหญิงชาวสะมาเรียกับเหล่าสาวกของพระองค์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน ท่านอาจจะติดภาพอาหารและน้ำบนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนความจริงทางวิญญาณที่พระเยซูทรงสอนไว้ใต้ภาพแต่ละภาพ การนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในวิญญาณและในความจริงจะดับความกระหายทางวิญญาณของเราได้อย่างไร การทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าตอบรับความหิวทางวิญญาณของเราอย่างไร

    ภาพ
    ลำธาร

    พระเยซูคริสต์ทรงมอบน้ำดำรงชีวิตให้เรา

  • การใคร่ครวญความก้าวหน้าในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ของหญิงชาวสะมาเรียจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ให้ชั้นเรียนมองหาคำที่หญิงชาวสะมาเรียใช้กล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 4:6–30 คำเหล่านี้บอกนัยอะไรเกี่ยวกับความรู้ของเธอที่ว่าพระเยซูทรงเป็นใคร เราเติบโตในประจักษ์พยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มัทธิว 5 และ ลูกา 6 บอกพวกเขาว่าบทเหล่านี้มีสิ่งที่ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธเรียกว่า “[คำเทศนา] ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยสั่งสอนมา ตามที่เราทราบ” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ [2013], 234)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ยอห์น 2–4

วีดิทัศน์เกี่ยวกับพระกรณียกิจและคำสอนของพระเยซู

“Jesus Turns Water into Wine,” “Jesus Cleanses the Temple,” “Jesus Teaches of Being Born Again,” “Jesus Teaches a Samaritan Woman” (LDS.org)

เกิดใหม่หมายความว่าอย่างไร

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “ท่านให้บัพติศมาถุงทรายยังดีกว่าให้บัพติศมามนุษย์หากไม่ได้ทำเพื่อการปลดบาปและการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ บัพติศมาด้วยน้ำเป็นบัพติศมาเพียงครึ่งเดียว และไม่เกิดประโยชน์อันใดหากปราศจากอีกครึ่งที่เหลือ ซึ่งก็คือการบัพติศมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 102)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “การเปลี่ยนใจเลื่อมใส … เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก—เป็นการเกิดใหม่ทางวิญญาณและการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของสิ่งที่เรารู้สึกและปรารถนา สิ่งที่เราคิดและทำ และสิ่งที่เราเป็น เนื้อแท้ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นพื้นฐานและถาวรของนิสัยเราซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เราวางใจใน ‘ความดีงาม, และพระเมตตา และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์’ (2 นีไฟ 2:8) เมื่อเราเลือกทำตามพระอาจารย์ เราเลือกรับการเปลี่ยน—เกิดใหม่ทางวิญญาณ” (“ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 25)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “ท่านอาจถามว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงอันล้ำลึกจึงไม่เกิดกับฉันเร็วกว่านี้ ท่านควรจำไว้ว่าแบบอย่างอันน่าทึ่งของผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน แอลมา และคนอื่นๆ บางคนในพระคัมภีร์เป็นเช่นนั้น—น่าทึ่งแต่ไม่เป็นแบบฉบับ สำหรับเราส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละน้อยและใช้เวลา การเกิดใหม่อีกครั้ง ไม่เหมือนการเกิดทางกาย เป็นกระบวนการมากกว่าเหตุการณ์ และการได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการนั้นคือจุดประสงค์สำคัญของความเป็นมรรตัย” (“การเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 95)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า

“เราเกิดใหม่เมื่อเราเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญากับพระผู้ช่วยให้รอดของเราโดยเกิดจากน้ำและพระวิญญาณและโดยรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเรา เราสามารถทำการเกิดใหม่นั้นได้อีกครั้งทุกวันสะบาโตเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก

“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายยืนยันว่าคนที่เกิดใหม่ในวิธีนี้เป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดทางวิญญาณของพระเยซูคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 5:7; 15:9–13; 27:25) อย่างไรก็ดี เพื่อให้พรของสถานะการเกิดใหม่นี้เกิดขึ้นจริงตามที่ตั้งใจไว้ เรายังต้องรักษาพันธสัญญาของเราและอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ระหว่างนั้น โดยผ่านพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า เราเกิดใหม่เป็นคนใหม่มีเชื้อสายทางวิญญาณใหม่และมีโอกาสรับมรดกอันรุ่งโรจน์” (“ท่านได้รับการช่วยให้รอดแล้วหรือ” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 67)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ครูไม่ดีกว่าผู้เรียน บทบาทการเป็นครูของท่านสำคัญ แต่ท่านไม่ใช่แหล่งการดลใจแหล่งเดียวในชั้น จงช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากพระวิญญาณและแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ให้กัน