หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
8–14 มีนาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26: “เสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร”


“8–14 มีนาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26: ‘เสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“8–14 มีนาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2021

ภาพ
เอ็มมา สมิธ

8–14 มีนาคม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26

“เสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร”

ก่อนอ่านโครงร่างนี้ ให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26 และไตร่ตรองหลักธรรมที่ท่านรู้สึกว่าจะเสริมสร้างความมั่นคงแก่สมาชิกในชั้นเรียน จากนั้นให้พิจารณาว่าแหล่งข้อมูลใดจะช่วยท่านสอน รวมทั้งแหล่งข้อมูลที่แนะนำไว้ในโครงร่างนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เราเคยประสบพรอะไรบ้างเมื่อเรา “อุทิศเวลา [ของเรา] แก่การศึกษาพระคัมภีร์”? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 26:1) เราเคยรู้สึกถึงพระวิญญาณในบ้านของเราอย่างไร? บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันว่าพวกเขาได้เอาชนะอุปสรรคหรือสิ่งล่อใจเพื่ออุทิศเวลาให้แก่การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัวอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26

เราทุกคนสามารถเสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร

  • ท่านอาจต้องการสำรวจกับสมาชิกชั้นเรียนว่า “แนะนำศาสนจักร” หมายความว่าอย่างไร (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:7) บางคนอาจจะแบ่งปันคำจำกัดความของ แนะนำ จากพจนานุกรมหรือยกตัวอย่างการแนะนำที่พวกเขาเคยเห็น เรามีโอกาสใดให้แนะนำกัน? การทำเช่นนี้เสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักรอย่างไร? เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26 ที่สามารถช่วยเราเสริมสร้างความมั่นคงแก่ศาสนจักร? ท่านอาจสนทนาด้วยว่าหลักธรรมเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับการเสริมสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัวเราอย่างไร เพื่อประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้กับงานปฏิบัติศาสนกิจของเรา ท่านจะทบทวนข่าวสารบางตอนของซิสเตอร์บอนนี่ เอช. คอร์ดอนเรื่อง “การเป็นเมษบาล” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 74–76)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 24

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถยกเรา “ขึ้นจากความทุกข์ [ของเรา]”

  • การเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 24 ประทานให้เพื่อ “บำรุงขวัญ, กำลังใจ และสอน” โจเซฟกับออลิเวอร์ในเวลาของการทดลอง (หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 24; ดู วิสุทธิชน 1:94–96ด้วย) ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนค้นคว้าภาคนี้เพื่อหาหลักฐานยืนยันว่าพระเจ้าทรงรู้จักโจเซฟและทรงทราบสถานการณ์ของท่าน พระเจ้าทรงตอบสนองความต้องการของโจเซฟอย่างไร? พระองค์ทรงตอบสนองความต้องการของเราในปัจจุบันอย่างไร? ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกว่าพระเจ้าทรงทราบสภาวการณ์ส่วนตัวของพวกเขาและทรงยกพวกเขาขึ้นในช่วงความทุกข์ของพวกเขา

    ภาพ
    พระเยซูคริสต์ทรงรักษาผู้คน

    พระองค์ทรงรักษาคนเป็นโรคต่างๆ โดย เจ.เคิร์ค ริชาร์ดส์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25

เอ็มมา สมิธเป็น “สตรีที่ทรงเลือกไว้”

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบความเกี่ยวโยงเป็นส่วนตัวในการเปิดเผยของพระเจ้าต่อเอ็มมา สมิธ ให้พิจารณากิจกรรมนี้: ขอให้ชั้นเรียนครึ่งชั้นค้นคว้า ภาค 25 เพื่อหาสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้เอ็มมาทำ และขอให้อีกครึ่งชั้นค้นหาสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาจะทำ เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนสิ่งที่พบและแบ่งปันกัน สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนจะแบ่งปันหลักธรรมที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษ

  • คำและวลีใดใน ภาค 25 สนับสนุนพระดำรัสของพระเจ้าต่อเอ็มมา สมิธที่ว่า “เจ้าเป็นสตรีที่เราเลือกไว้”? (ข้อ 3) สมาชิกชั้นเรียนจะสนทนาด้วยว่าเอ็มมาดำเนินชีวิตตามหลักธรรมในการเปิดเผยนี้อย่างไร แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้แก่ วีดิทัศน์เรื่อง “An Elect Lady” (ChurchofJesusChrist.org) “Thou Art an Elect Lady” (Revelations in Context, 33–39) และ “เสียงของการฟื้นฟู” ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:11–12 พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อเพลงศักดิ์สิทธิ์? ชั้นเรียนอาจจะสนทนาวิธีใช้เพลงสวดอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในบ้านของพวกเขา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:5, 14

เราควรพยายามให้มี “วิญญาณแห่งความอ่อนโยน”

  • พระเจ้าทรงแนะนำให้เอ็มมา “ดำเนินต่อไปในวิญญาณแห่งความอ่อนโยน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:14; ดู ข้อ 5 ด้วย) เพื่อสำรวจว่าวลีนี้น่าจะหมายความอย่างไร ท่านจะเขียน ความอ่อนโยน ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนสิ่งที่คำนั้นทำให้พวกเขานึกถึงไว้ข้างๆ คำนั้น จากนั้นพวกเขาจะค้นคว้า ภาค 25 เพื่อหาคำและวลีที่รู้สึกเกี่ยวข้องกับความอ่อนโยนแล้วแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจจะแบ่งปันคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เหตุใดการเป็นคนอ่อนโยนจึงสำคัญ?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:10, 13

เราควรแสวงหาสิ่งต่างๆ ของโลกที่ดีกว่า

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระเจ้าให้ “ละทิ้งสิ่งต่างๆ ของโลกนี้, และแสวงหาสิ่งต่างๆ ของโลกที่ดีกว่า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:10) ท่านจะขอให้พวกเขาเขียนตัวอย่าง “สิ่งต่างๆ ของโลกนี้” และตัวอย่าง “สิ่งต่างๆ ของโลกที่ดีกว่า” เราจะแบ่งปันคำแนะนำอะไรให้กันเพื่อช่วยให้เรามุ่งเน้นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์? คำแนะนำใน ข้อ 13 เกี่ยวข้องกับเป้าหมายนี้อย่างไร?

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ความอ่อนโยนคือความเข้มแข็ง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายว่า “คุณสมบัติเหมือนพระคริสต์อันได้แก่ความอ่อนโยนมักจะถูกเข้าใจผิดในโลกร่วมสมัยของเรา ความอ่อนโยนคือเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ลงมือทำ ไม่อยู่เฉย กล้าหาญ ไม่ขลาดกลัว ยับยั้งชั่งใจ ไม่เลยเถิด เจียมตัว ไม่อวดดี และมีมารยาท ไม่สามหาว คนอ่อนโยนไม่ขุ่นเคืองง่าย ไม่โอ้อวด หรือยกตนข่มท่าน และยอมรับความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความยินดี” (“อ่อนโยนและใจนอบน้อม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 32)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เป็นพยานถึงพรที่สัญญาไว้ เมื่อท่านเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ให้เป็นพยานถึงพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 35)