จงตามเรามา
13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35: “เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน”


“13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35: ‘เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
เมล็ดพืชในมือเด็ก

13–19 กรกฎาคม

แอลมา 32–35

“เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน”

ไม่ว่าท่านจะเคยอ่าน แอลมา 32–35 กี่ครั้ง ให้อ่านอีกครั้งขณะท่านเตรียมสอน จงเปิดรับข้อคิดใหม่ๆ จากพระวิญญาณ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากการอ่าน แอลมา 32–35 ที่บ้าน ท่านจะให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีทบทวนบทเหล่านี้และเขียนหัวข้อที่พวกเขาสังเกตเห็นไว้บนกระดาน ให้ชั้นเรียนสนทนาว่าเหตุใดหัวข้อเหล่านี้จึงมีความหมาย

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

แอลมา 32:1–16

เราสามารถเลือกถ่อมตน

  • เพื่อนำการสนทนาเรื่องความถ่อมตนตามที่สอนใน แอลมา 32:1–16 ท่านอาจจะเริ่มโดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนบอกประสบการณ์ที่จะทำให้คนคนหนึ่งถ่อมตน (แอลมา 32:2–5 ให้ตัวอย่างหนึ่ง) สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจยินดีแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเองกับการเรียนรู้เรื่องความถ่อมตน การ “นำท่านมาให้ถ่อมตน” (แอลมา 32:12) จะเป็นพรได้อย่างไร คำกล่าวเกี่ยวกับความถ่อมตนใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยเสริมการสนทนา ท่านจะอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10 หรือให้ชั้นเรียนร้องเพลงสวดเกี่ยวกับความถ่อมตน เช่น “ท่านจงถ่อมใจ” (เพลงสวด บทเพลงที่ 55) ด้วยก็ได้

แอลมา 32:17–43; 33

เราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยเพาะและบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระองค์ในใจเรา

  • บางครั้งเรานึกถึงการนมัสการต่อเมื่อเรานมัสการในสภาวะแวดล้อมทางการเช่น อาคารศาสนจักร (ดู แอลมา 32:5, 9, 11) แต่นิยามการนมัสการของแอลมากว้างกว่านั้นมาก ตัวอย่างเช่น เขาสอนว่าการพัฒนาและใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เป็นรูปแบบสำคัญของการนมัสการที่เกิดขึ้นได้นอกสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจหลักธรรมนี้ ท่านอาจจะวาดภาพเมล็ดพืชและต้นไม้บนกระดาน และสนทนาคำถามทำนองนี้: เมล็ดพืชหมายถึงอะไร (ดู แอลมา 32:28; 32:22–23) เราจะเพาะเมล็ด—หรือประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์—ไว้ในใจเราและบำรุงเลี้ยงได้อย่างไร (ดู แอลมา 32:36–43; 33) เราจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพยายามติดตามพระผู้ช่วยให้รอดเกิดผลล้ำค่า คำสอนของแอลมามีผลต่อวิธีที่เรานมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • การ “ทดลอง” ที่แอลมาบอกว่าจะช่วยให้ชาวโซรัมพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะช่วยให้เราเรียนรู้เช่นกันหรือไม่ว่าหลักธรรมพระกิตติคุณข้ออื่นเป็นความจริง เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจการทดลองของแอลมา ท่านจะบอกว่าการทดลองคืออะไร อาจมีบางคนในชั้นเรียนที่เคยทำการทดลองมาก่อนและจะช่วยอธิบายเรื่องนี้ได้ อะไรคือจุดประสงค์ของการทดลอง การทดลองคล้ายกับสิ่งที่แอลมาเชื้อเชิญให้ผู้คนทำใน แอลมา 32:26–36 อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันหลายๆ วิธีที่พวกเขา “ทดลอง” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาทราบได้อย่างไรว่า “พระวจนะ [ของพระผู้เป็นเจ้า] ดี” (แอลมา 32:28)

  • แอลมาจะพูดอะไรกับคนที่ต้องการได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ เพื่อสำรวจคำถามนี้ ท่านจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะอ่าน แอลมา 32:26–36 เพื่อพิจารณาว่าแอลมาจะพูดอะไรกับคนที่พยายามได้รับประจักษ์พยาน และอีกกลุ่มจะอ่าน แอลมา 32:36–43 เพื่อพิจารณาว่าเขาจะพูดอะไรกับคนที่ประจักษ์พยานอ่อนแอ จากนั้นคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มจะผลัดกันเป็นแอลมาและแสดงบทบาทสมมติว่าจะช่วยคนๆ นั้นให้ได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานอย่างไร

แอลมา 31:13–23; 33:2–11; 34:17–29

เราสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอนได้ทุกเวลาและทุกแห่ง

  • ท่านอาจจะช่วยให้ชั้นเรียนเปรียบเทียบคำสอนของแอลมาและอมิวเล็คเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนและการนมัสการกับแนวคิดผิดๆ ของชาวโซรัม สมาชิกชั้นเรียนจะทบทวน แอลมา 31:13–23 และเขียนสิ่งที่ชาวโซรัมเชื่อเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนและการนมัสการไว้บนกระดาน จากนั้นพวกเขาจะมองหาความจริงใน แอลมา 33:2–11 และ 34:17–29 ที่ตรงข้ามกับความเชื่อเหล่านี้ ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่เราจะปรับปรุงการสวดอ้อนวอนและการนมัสการของเรา

  • ท่านจะกระตุ้นให้สนทนาเรื่องการสวดอ้อนวอนโดยเขียนคำเช่น ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน เหตุใด และ อย่างไร ไว้บนกระดาน สมาชิกชั้นเรียนจะค้นคว้า แอลมา 33:2–11 และ 34:17–29 เพื่อหาคำตอบของคำถามเหล่านี้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะตอบคำถามทำนองนี้: เราจะสวดอ้อนวอนได้ที่ไหน เราจะสวดอ้อนวอนขออะไร พวกเขาอาจจะหาคำตอบในเนื้อร้องของเพลงสวดเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนด้วย เช่น “สวดอ้อนวอนหรือเปล่า?” หรือ “โมงสวดอ้อนวอน” (เพลงสวด บทเพลงที่ 61, 63) เราจะปรับปรุงการสวดอ้อนวอนของเราได้อย่างไร

แอลมา 34:9–17

การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด “ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์”

  • อมิวเล็คใช้คำว่า “ไม่มีขอบเขต” และ “เป็นนิรันดร์” หลายครั้งเพื่ออธิบายการพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์เพื่อชดใช้บาปของเรา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหาคำเหล่านี้ใน แอลมา 34:9–14 แล้วค้นคว้าในพจนานุกรม การพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ในด้านใด (ดู ฮีบรู 10:10; 2 นีไฟ 9:21; โมไซยาห์ 3:13) ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 34:15–17 เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับพรจากการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด “ใช้ศรัทธาของท่านสู่การกลับใจ” หมายความว่าอย่างไร(แอลมา 34:17)

แอลมา 34:32–35

“อย่าผัดวันแห่งการกลับใจของท่าน”

  • เรื่องเปรียบเทียบต่อไปนี้จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนได้ไตร่ตรองอันตรายของการผัดวันแห่งการกลับใจ: เชื้อเชิญให้พวกเขาสมมติว่าพวกเขาได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องใช้เวลาฝึกและเตรียมหลายปี เช่น การแข่งโอลิมปิก หรือการแสดงดนตรี (เลือกบางอย่างที่มีความหมายต่อชั้นเรียนของท่าน) แต่เหตุการณ์นี้จะจัดวันพรุ่งนี้ สนทนากับชั้นเรียนว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่น่าจะประสบความสำเร็จในเหตุการณ์นั้นแม้พวกเขาจะใช้เวลาที่เหลือของวันนั้นเตรียมตัวก็ตาม ตัวอย่างนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับคำเตือนของอมิวเล็คใน แอลมา 34:32–35 เหตุใดการผัดวันกลับใจและเปลี่ยนแปลงจึงเป็นอันตราย เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อ “เตรียมพร้อมสำหรับนิรันดร” (ข้อ 33) และวางแผนทำโดยไม่ผัดวัน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน แอลมา 36–38 ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ท่านจะชี้ให้พวกเขาเห็นว่าแอลมา “โศกเศร้าเพราะความชั่วช้าสามานย์ของผู้คน” เขาจึงให้บุตรชายมารวมกันและสอนพวกเขา “ในเรื่องเกี่ยวกับความชอบธรรม” (แอลมา 35:15–16) หลายบทถัดไปของแอลมาจะให้เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่แอลมาได้รับการดลใจให้สอนบุตรชาย

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ถ่อมตนหมายความว่าอย่างไร

“[ถ่อมตน] คือยอมรับด้วยความกตัญญูว่าท่านต้องพึ่งพาพระเจ้า—เข้าใจว่าท่านต้องการการสนับสนุนจากพระองค์ตลอดเวลา … มิใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอ ความขี้ขลาด หรือความกลัว แต่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าท่านรู้ว่าความเข้มแข็งที่แท้จริงของท่านอยู่ที่ไหน” (แน่วแน่ต่อศรัทธา [2004], 112)

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกอธิบายว่า “เมื่อเราใคร่ครวญว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระคริสต์พระบุตรทรงเป็นใคร และพระองค์ทรงบรรลุผลในเรื่องใดแทนเรา เราจะเปี่ยมไปด้วยความคารวะ ความเกรงขาม ความสำนึกคุณ และความอ่อนน้อมถ่อมตน … ความอ่อนน้อมถ่อมตนรวมถึงการสำนึกคุณต่อพรมากมายและความช่วยเหลือจากสวรรค์ที่เราได้รับ ความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ใช่ความสำเร็จใหญ่โตบางอย่างที่ระบุได้หรือแม้กระทั่งการเอาชนะความท้าทายบางอย่าง ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเครื่องหมายของความเข้มแข็งทางวิญญาณ คือการมีความเชื่อมั่นอย่างเงียบๆ ว่าวันแล้ววันเล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าเราสามารถพึ่งพาพระเจ้า รับใช้พระองค์ และบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์” (ดู “นิรันดรทุกวัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 52, 54)

พระคัมภีร์เกี่ยวกับศรัทธา

ปรับปรุงการสอนของเรา

เน้นพระคัมภีร์ แม้จะมีแหล่งข้อมูลเสริมจำนวนมากที่สามารถยกระดับการสนทนา แต่จำไว้ว่าพระคัมภีร์เป็นแหล่งหลักคำสอน จงช่วยสมาชิกหาความจริงในพระคัมภีร์ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 21)