จงตามเรามา
6–12 มกราคม 1 นีไฟ 1–7: “ข้าพเจ้าจะไปและทำ”


“6–12 มกราคม 1 นีไฟ 1–7: ‘ข้าพเจ้าจะไปและทำ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“6–12 มกราคม 1 นีไฟ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
ครอบครัวของลีไฮเดินทางในทะเลทราย

ลีไฮเดินทางใกล้ทะเลแดง โดย แกรีย์ สมิธ

6–12 มกราคม

1 นีไฟ 1–7

“ข้าพเจ้าจะไปและทำ”

การเตรียมของท่านในฐานะครูโรงเรียนวันอาทิตย์เริ่มจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน จงเอาใจใส่และบันทึกการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่ท่านได้รับ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว สามารถเสริมการศึกษาของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

สมาชิกชั้นเรียนของท่านหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ 1 นีไฟ 1–7 แต่ทุกครั้งที่เราอ่านพระคัมภีร์ เราสามารถเรียนรู้ความจริงที่ประยุกต์ใช้กับสภาวการณ์ปัจจุบันของเรา เพื่อเริ่มการสนทนาของท่าน ท่านอาจจะถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรหรือได้รับการเตือนให้นึกถึงอะไรขณะศึกษาสัปดาห์นี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

1 นีไฟ 1; 3–6

พระคัมภีร์มีค่ามาก

  • ข่าวสารที่โดดเด่นประการหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนคือคุณค่าใหญ่หลวงแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า อาจจะเป็นข่าวสารที่ดีที่ต้องแบ่งปันขณะชั้นเรียนของท่านเริ่มศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจจะเริ่มโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนเลือกบทหนึ่งจาก 1 นีไฟ 1; 3–6 และอ่านเพื่อค้นหาข้อมูลโดยมองหาด้านต่างๆ ที่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็นพรแก่สมาชิกครอบครัวของลีไฮทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (สมาชิกชั้นเรียนอาจได้ประโยชน์จากการทำกิจกรรมนี้เป็นกลุ่มเล็ก) จากนั้นให้เชิญแต่ละคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ เรื่องราวเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความสำคัญของพระคัมภีร์

  • เป้าหมายหนึ่งของท่านในฐานะครูคือกระตุ้นให้บุคคลและครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์นอกชั้นเรียน ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสำรวจว่าลีไฮศึกษาแผ่นจารึกทองเหลืองอย่างไร (ดู 1 นีไฟ 5:10–19) จากนั้นท่านอาจจจะถามคำถามทำนองนี้: ลีไฮมีเจตคติอย่างไรต่อพระคัมภีร์ เขาพบคุณค่าอะไรในพระคัมภีร์ สมาชิกชั้นเรียนจะสำรวจข่าวสารของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์เรื่อง “พลังแห่งพระคัมภีร์” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 6–8) หรืออ่านข้อความที่คัดมาจากข่าวสารนี้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เราจะประยุกต์ใช้คำสอนของเอ็ลเดอร์สก็อตต์ได้อย่างไรขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนปีนี้

  • ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนร้องเพลงสวดเพลงหนึ่งเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “เมื่อฉันค้นพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” (เพลงสวด บทเพลงที่ 108) จากนั้นท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของพวกเขาเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร พวกเขาอาจจะแบ่งปันเช่นกันว่าพระคัมภีร์เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา “มาหาพระผู้เป็นเจ้า … และได้รับการช่วยให้รอด” (1 นีไฟ 6:4)

1 นีไฟ 2:11–19; 3:28–31

เราจะมีประจักษ์พยานของเราเองเมื่อเราทำให้ใจเราอ่อนลง

  • นีไฟได้ชื่อว่ามีศรัทธาแรงกล้าในพระจ้า แต่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกชั้นเรียนถ้าตระหนักว่านีไฟต้องทำให้มีประจักษ์พยาน—เช่นเดียวกับเราทุกคน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะค้นพบใน 1 นีไฟ 2:16–19 ว่าอะไรทำให้นีไฟได้พยานของเขา พวกเขาอาจจะทบทวน ข้อ 11–14 ด้วยเพื่อสังเกตว่าเหตุใดเลมันกับเลมิวเอลจึงไม่ได้พยาน ตรงนี้อาจเป็นเวลาเหมาะที่จะให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขามีประจักษ์พยานได้อย่างไร

  • บางครั้งเราอาจจะต้องการมีประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์เพื่อให้มีหรือทำให้ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็ง แต่เลมันและเลมิวเอลพบกับเทพ ทว่าดูเหมือนมีผลต่อศรัทธาของพวกเขาน้อยมาก สมาชิกชั้นเรียนสามารถเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นี้ที่บรรยายไว้ใน 1 นีไฟ 3:28–31 ว่าอะไรทำให้ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็ง (ดู 1 นีไฟ 2:16) ท่านอาจแบ่งปันคำพูดอ้างอิงของประธานฮาโรลด์ บี. ลีใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาประจักษ์พยานของเราให้เข้มแข็ง

1 นีไฟ 3–4

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเตรียมทางให้เราทำตามพระประสงค์ของพระองค์

  • ประสบการณ์ของพวกบุตรของลีไฮใน 1 นีไฟ 3–4 อาจดูเหมือนผิดธรรมดา แต่พวกเราหลายคนเคยมีประสบการณ์ที่เราทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแม้ดูเหมือนจะทำได้ยาก ขณะสมาชิกชั้นเรียนอ่าน 1 นีไฟ 3–4 สัปดาห์นี้ พวกเขาพบความจริงอะไรบ้างที่เตือนให้พวกเขานึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อที่สอนความจริงเหล่านี้ และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ ความจริงเหล่านี้ช่วยเราอย่างไรเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้เราทำบางสิ่งที่ดูเหมือนทำได้ยาก

  • ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและมอบหมายให้แต่ละกลุ่มแบ่งกันศึกษาความพยายามสามครั้งในการไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองมาจากเลบัน (ดู 1 นีไฟ 3:9–21; 1 นีไฟ 3:22–31; 4:1–4; และ 1 นีไฟ 4:5–38) จากนั้นท่านอาจจะเชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันว่าความพยายามแต่ละครั้งสอนอะไรเราเกี่ยวกับการทำให้บรรลุพระประสงค์ของพระเจ้า ตัวอย่างเหล่านี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับความพยายามของเราเองในการทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
ลีไฮกับซาไรยาห์ต้อนรับนีไฟและพี่ๆ

พวกท่านเปี่ยมด้วยปีติ โดย วอลเตอร์ เรน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน 1 นีไฟ 8–10 ท่านอาจจะแบ่งปันคำกล่าวนี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ “โดยที่มีพลังมากมายพยายามดึงเราไป เราจะทำให้วิสัยทัศน์ของเราจดจ่ออยู่ที่ความสุขอันเรืองโรจน์ที่สัญญาไว้กับผู้ที่ซื่อสัตย์ได้อย่างไร ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำตอบมีอยู่ในความฝันของศาสดาพยากรณ์ท่านหนึ่งเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ศาสดาพยากรณ์ท่านนี้ชื่อลีไฮ ความฝันของท่านบันทึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนอันล้ำค่าและยอดเยี่ยม” (“สามใบเถา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 18–19)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

วีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอน

หาวีดิทัศน์ที่บรรยายเรื่องราวจาก 1 นีไฟ 1–7 ในชุดวีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอนที่ ChurchofJesusChrist.org หรือแอปพลิเคชันคลังค้นคว้า

พระคัมภีร์มีพลังซ่อนอยู่

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์เป็นพยานถึงคุณค่าของพระคัมภีร์ดังนี้

“พระคัมภีร์เป็นเหมือนแสงสว่างดวงเล็กๆ ที่ส่องสว่างความคิดเราและเตรียมเราให้พร้อมรับการนำทางและการดลใจจากเบื้องบน พระคัมภีร์สามารถเป็นกุญแจเปิดช่องทางการสื่อสารกับพระบิดาในสวรรค์ของเราและพระบุตรที่รักของพระองค์พระเยซูคริสต์

“พระคัมภีร์สามารถเป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ที่ไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์หรือปฏิทินเวลา พระคัมภีร์ว่างเสมอเมื่อเราต้องการ การใช้พระคัมภีร์จะสร้างรากฐานแห่งความจริงซึ่งปลุกขึ้นมาได้ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ การเรียนรู้ ไตร่ตรอง ค้นคว้า และท่องจำพระคัมภีร์เป็นเหมือนการเก็บมิตรสหาย คุณค่า และความจริงเข้าตู้เอกสารซึ่งจะเรียกใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาในโลกนี้ …

“การไตร่ตรองข้อความในพระคัมภีร์สามารถเป็นกุญแจไขการเปิดเผยและการนำทางและการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระคัมภีร์สามารถปลอบจิตวิญญาณที่ร้อนรุ่ม ให้สันติสุข ความหวัง และฟื้นความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่จะเอาชนะความท้าทายในชีวิต พระคัมภีร์มีพลังแรงกล้าในการเยียวยาปัญหาทางอารมณ์เมื่อมีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด พระคัมภีร์สามารถเร่งการเยียวยาทางร่างกายเช่นกัน” (“พลังแห่งพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 6–7)

เราต้องเพิ่มพลังประจักษ์พยานของเราทุกวัน

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีสอนว่า “สิ่งที่ท่านมีอยู่ในประจักษ์พยานวันนี้จะไม่เป็นของท่านในวันพรุ่งนี้เว้นแต่ท่านจะทำบางสิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้” (คำสอนของประธานศาสนจักร: ฮาโรลด์ บี. ลี [2000], 39)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้เรื่องเล่าและตัวอย่างสอนหลักธรรมพระกิตติคุณ ความจริงนิรันดร์มากมายในพระคัมภีร์สอนผ่านประสบการณ์หรือเรื่องราวที่อยู่ในนั้น ขณะท่านเตรียมสอน ให้นึกถึงประสบการณ์ที่ท่านเคยมีซึ่งจะเพิ่มพยานที่สองให้เรื่องราวในพระคัมภีร์และหลักธรรมที่พระคัมภีร์พูดถึง (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22)