จงตามเรามา
13–19 มกราคม 1 นีไฟ 8–10: “มารับส่วนผลนั้น”


“13–19 มกราคม 1 นีไฟ 8–10: ‘มารับส่วนผลนั้น’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“13–19 มกราคม 1 นีไฟ 8–10” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
นิมิตของลีไฮเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิต

ความฝันของลีไฮ โดย สตีเวน ลอยด์ นีล

13–19 มกราคม

1 นีไฟ 8–10

“มารับส่วนผลนั้น”

ก่อนอ่านแนวคิดในโครงร่างนี้ ให้อ่าน 1 นีไฟ 8–10 นึกถึงความท้าทายและโอกาสตรงหน้าคนที่ท่านสอน บันทึกความประทับใจของท่านว่าท่านควรเน้นหลักธรรมใดจากบทเหล่านี้ในชั้นเรียน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

นิมิตของลีไฮมีหลายวิธีให้ประยุกต์ใช้กับสมัยของเรา เมื่อเริ่มชั้นเรียน ท่านอาจจะต้องการให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อคิดขณะพวกเขาอ่านเรื่องนิมิตนี้ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันบางข้อและความหมายที่พวกเขาพบสำหรับชีวิต

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

1 นีไฟ 8:10–16

เมื่อเราประสบความรักของพระผู้เป็นเจ้า เราปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นประสบเช่นกัน

  • เป็นธรรมดาที่เราจะแบ่งปันสิ่งที่เรารักกับคนที่เรารัก แต่บางครั้งเราพบว่ายากจะแบ่งปันพระกิตติคุณ การสนทนาเรื่องนิมิตของลีไฮอาจช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณ ท่านอาจจะแจกผลไม้ให้สมาชิกชั้นเรียนคนละผลและขอให้เขาโน้มน้าวเพื่อนคนอื่นในชั้นเรียนให้รับประทานผลไม้นี้เป็นประจำ บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงเรื่องนี้คล้ายกับประสบการณ์ของลีไฮใน 1 นีไฟ 8:10–16 อย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของลีไฮที่จะช่วยเราเมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจต้องการให้ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Good Things to Share” (ChurchofJesusChrist.org)

  • เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “ผลบนต้นไม้นั้นเป็นสัญลักษณ์แทนพรของการชดใช้” (“ความฝันของลีไฮ: ยึดราวเหล็กไว้แน่น,” เลียโฮนา, ต.ค. 2011, 34) ท่านอาจจะติดต่อสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนล่วงหน้า ขอให้พวกเขาใคร่ครวญ 1 นีไฟ 8:11–16 และตรึกตรองคำถามทำนองนี้: ฉันจะอธิบายความหวานชื่นที่การชดใช้ของพระเยซูคริสต์นำเข้ามาในชีวิตฉันว่าอย่างไร ฉันกวักมือเรียกคนอื่นมาลิ้มรสความหวานชื่นของการชดใช้นั้นอย่างไร (ดู ข้อ 15) คนอื่นเชื้อเชิญให้ฉันแสวงหาพรจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร ฉันได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรขณะที่ฉันอ่าน 1 นีไฟ 8:11–16 เชิญสมาชิกเหล่านี้แบ่งปันคำตอบระหว่างชั้นเรียน และเชิญสมาชิกทุกคนให้ข้อคิดระหว่างการสนทนา

ภาพ
นิมิตของลีไฮเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิต

มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต (1888–1976), บ้านของโลก 1954, สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 36 x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์

1 นีไฟ 8:19–38

พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าพาเราไปถึงพระผู้ช่วยให้รอดและช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระองค์

  • วิธีหนึ่งที่จะเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับนิมิตของลีไฮคือเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนวาดรูปนิมิตบนกระดาน โดยใช้ 1 นีไฟ 8:19–38 เป็นแนวทาง หรืออาจจะให้ดูภาพนิมิตของลีไฮใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว จากนั้นท่านอาจจะให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนหาข้อที่แปลความหมายของสัญลักษณ์ในภาพวาดหรือรูปภาพ—ความหมายเหล่านี้อยู่ใน 1 นีไฟ 11:4–25, 35–36; 12:16–18; และ 15:21–33, 36 ขณะสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ขอให้พวกเขาสนทนาว่าสัญลักษณ์เหล่านี้สอนอะไรเรา ตัวอย่างเช่น อาคารใหญ่และกว้างสอนอะไรเราเกี่ยวกับความจองหอง ราวเหล็กสอนอะไรเราเกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะพูดคุยกันว่านิมิตของลีไฮช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์อย่างไร เราเห็นตัวเราในนิมิตอย่างไร

  • ข่าวสารที่โดดเด่นประการหนึ่งในนิมิตของลีไฮคือความสำคัญของพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า โดยใช้ราวเหล็กเป็นสัญลักษณ์ เพื่อช่วยเน้นข่าวสารนี้ ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสี่กลุ่มและมอบหมายให้แต่ละกลุ่มเรียนรู้เกี่ยวกับคนสี่กลุ่มที่ลีไฮเห็น ดังอธิบายไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” และใน 1 นีไฟ 8:21–23, 24–28, 30 และ 31–33 จากนั้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ให้กัน ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองสองสามนาทีว่าพวกเขารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไรเพื่อให้พวกเขา “ยึดราวเหล็กไว้แน่น” (1 นีไฟ 8:30)

1 นีไฟ 10:17–19

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยความจริงต่อเราถ้าเราแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียร

  • หมอกแห่งความมืดที่บดบังทางเดินของเราและเสียงล้อเลียนจากอาคารใหญ่และกว้างทำให้เราพบความจริงได้ยาก การอ่านแบบอย่างเกี่ยวกับการเป็นผู้แสวงหาความจริงของนีไฟด้วยกันจะช่วยได้ ท่านอาจจะเริ่มการสนทนาโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนบอกข่าวสารน่าสับสนที่โลกกำลังส่งออกมา ตัวอย่างเช่น มีแนวคิดทางโลกเรื่องใดบ้างที่ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเตือนเราในการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุด ท่านอาจจะเขียนขั้นตอนที่นีไฟใช้เพื่อให้เขาได้พยานเกี่ยวกับความจริงในนิมิตของบิดาเขาไว้บนกระดาน (ดู 1 นีไฟ 10:17–19; 11:1) เราจะทำตามแบบอย่างของนีไฟได้อย่างไรขณะที่เราแสวงหาความจริง

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่สมาชิกชั้นเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 11–15 เชื้อเชิญให้พวกเขาหาดูว่าภาพต่อไปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับความฝันของลีไฮ: พระกุมารเยซู ไม้กางเขน มารดาของหญิงโสเภณี ฝูงชนมารวมกันเพื่อสู้รบ และหนังสือ

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

วีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอน

ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์ที่บรรยายเหตุการณ์จากบทเหล่านี้ (ดูชุดวีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอนบน ChurchofJesusChrist.org หรือแอปพลิเคชันคลังค้นคว้า)

คนสี่กลุ่มในความฝันของลีไฮ

กลุ่ม 1“ใน 1 นีไฟ 8:21–23 เราเรียนรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มแรกที่เบียดเสียดกันออกมาและเริ่มเดินในทางซึ่งพาไปถึงต้นไม้แห่งชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาพบหมอกแห่งความมืด ซึ่งแทน ‘การล่อลวงของมาร’ (1 นีไฟ 12:17) พวกเขาหลงทาง พลัดออกนอกทาง และหลงไป พึงสังเกตว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ไม่ได้กล่าวถึงราวเหล็กเลย คนที่เพิกเฉยหรือปฏิบัติเล่นๆ กับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่ใช้เข็มทิศจากเบื้องบนซึ่งชี้ทางสู่พระผู้ช่วยให้รอด”

กลุ่ม 2“ใน 1 นีไฟ 8:24–28 เราอ่านเกี่ยวกับคนกลุ่มที่สองผู้มาถึงทางคับแคบและแคบซึ่งพาไปยังต้นไม้แห่งชีวิต คนกลุ่มนี้ ‘มุ่งหน้าผ่านหมอกแห่งความมืดไป, โดยยึดราวเหล็ก, แม้จนพวกเขามารับส่วนผลของต้นไม้นั้น’ (ข้อ 24) อย่างไรก็ดี เมื่อคนแต่งกายประณีตในอาคารใหญ่และกว้างล้อเลียนคนกลุ่มที่สองนี้ ‘พวกเขามีความละอาย’ และ ‘ตกลงไปในทางที่ต้องห้ามและหายไป’ (ข้อ 28) … แม้มีศรัทธา ความมุ่งมั่น และพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังหายไปในท้ายที่สุด—บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาอ่าน หรือ ศึกษา หรือ ค้นคว้าพระคัมภีร์ เป็นครั้งคราว ก็ได้”

กลุ่ม 3“ใน ข้อ 30 เราอ่านเกี่ยวกับคนกลุ่มที่สามผู้เบียดเสียดกันออกมา ‘ยึดราวเหล็กไว้แน่นตลอดเวลา, จนพวกเขาเข้ามาและทรุดตัวลงและรับส่วนผลของต้นไม้นั้น’ วลีสำคัญในข้อนี้คือ ยึดราวเหล็กไว้แน่นตลอดเวลา คนกลุ่มที่สามเบียดเสียดกันออกมาด้วยศรัทธาและความเชื่อมั่นเช่นกัน แต่ไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าพวกเขาพลัดออกนอกทาง ตกลงไปในทางที่ต้องห้ามหรือหายไป บางทีคนกลุ่มที่สามนี้อาจจะอ่าน และ ศึกษา และ ค้นคว้าพระคัมภีร์ อย่างสม่ำเสมอ … นี่คือกลุ่มที่ท่านและข้าพเจ้าควรพยายามเข้าร่วมด้วย”

กลุ่ม 4“คนกลุ่มที่สี่ไม่พยายามไปให้ถึงต้นไม้ แต่กลับปรารถนาให้อาคารใหญ่และกว้างเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเขา (ดู 1 นีไฟ 8:31–33)”

(เดวิด เอ. เบดนาร์, “ความฝันของลีไฮ: ยึดราวเหล็กไว้แน่น,” เลียโฮนา, ต.ค. 2011, 34–36)

ปรับปรุงการสอนของเรา

แสดงความมั่นใจผ่านความคาดหวังสูง ผู้เรียนบางคนไม่มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถเรียนรู้พระกิตติคุณด้วยตนเอง สัญญากับสมาชิกชั้นเรียนว่าเมื่อพวกเขาพยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสอนพวกเขา ท่านอาจเสนอวิธีช่วยพวกเขาเริ่มต้น (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 29–30)