พันธสัญญาใหม่ 2023
4–10 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: “พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ”


“4–10 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘​พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“4–10 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
อ่างบัพติศมาในพระวิหาร

4–10 กันยายน

1 โครินธ์ 14–16

“พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ”

ขณะที่ท่านอ่าน 1 โครินธ์ 14–16 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะสอนอะไรเด็กในชั้นเรียนของท่าน ทบทวนโครงร่างนี้สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ท่านอาจเริ่มบทเรียนของสัปดาห์นี้โดยการอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 14:26 ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเรามาอยู่ด้วยกันที่โบสถ์ เราสามารถจรรโลงใจ (หรือเสริมสร้างและช่วยเหลือ) คนอื่นเมื่อเราแบ่งปันสิ่งที่เราเรียนรู้ ถามเด็กว่าวันนี้พวกเขาสามารถแบ่งปันอะไรเพื่อจรรโลงใจใครบางคนในชั้นเรียนวันนี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

1 โครินธ์ 15:12–22

ฉันจะได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์หลังจากฉันตายเพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์

ท่านจะสอนเด็กในชั้นเรียนได้อย่างไรว่าเพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์เราจึงสามารถมีชีวิตได้อีกครั้ง?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านประโยคต่อไปนี้ซ้ำหลายครั้งกับเด็ก “ทุก​คน​ก็​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​โดย​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​พระ‍คริสต์” (1 โครินธ์ 15:22) ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) อธิบายว่าวันหนึ่งเราทุกคนจะตาย แต่เพราะพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ เราทุกคนก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากเราตาย

  • ให้เด็กดูเสื้อแจ็คเก็ตซึ่งแสดงถึงร่างกายของเรา เมื่อเรามีชีวิตอยู่ วิญญาณของเราอยู่ในร่างกายของเรา และร่างกายของเราเคลื่อนไหวได้ (สวมเสื้อแจ็คเก็ต) เมื่อเราตาย วิญญาณออกจากร่างกายของเรา และร่างกายของเราเคลื่อนไหวไม่ได้ (ถอดเสื้อแจ็คเก็ตออกและวางไว้บนโต๊ะหรือเก้าอี้เพื่อแสดงถึงร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ) เมื่อเราฟื้นคืนชีวิต วิญญาณของเรากลับคืนสู่ร่างกายของเรา (สวมเสื้อแจ็คเก็ตอีกครั้ง) และจะไม่แยกจากกันอีกเลย ให้เด็กผลัดกันสวมเสื้อแจ็คเก็ตและถอดออกขณะที่เด็กอีกคนอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราฟื้นคืนชีวิต

1 โครินธ์ 15:29

ฉันสามารถรับบัพติศมาแทนคนที่ตายไปแล้ว

เมื่อเด็กเตรียมตัวรับบัพติศมาของตนเอง ให้พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้พวกเขาตั้งตารอโอกาสที่จะรับบัพติศมาแทนคนตายด้วยได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ด้วยตนเอง ใครช่วยพวกเขาทำสิ่งเหล่านี้? ให้ดูภาพบรรพชนของท่านคนหนึ่งที่ตายไปโดยไม่ได้รับบัพติศมา บอกเด็กเกี่ยวกับบุคคลนี้และอธิบายว่าบุคคลนี้ต้องการความช่วยเหลือจากเราในการรับบัพติศมา

  • ถามเด็กว่าพวกเขามีสมาชิกครอบครัวที่เคยไปพระวิหารและทำพิธีบัพติศมาแทนคนตายหรือไม่ ให้ดูภาพอ่างบัพติศมาพระวิหาร ถามเด็กว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ อธิบายว่าในพระวิหารเราสามารถรับบัพติศมาแทนคนตายที่ยังไม่ได้รับบัพติศมา จากนั้นคนเหล่านั้นสามารถเลือกได้ว่าเขาจะยอมรับบัพติศมาหรือไม่

1 โครินธ์ 15:40–41

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันอยู่กับพระองค์ในอาณาจักรซีเลสเชียล

ท่านจะสอนเด็กอย่างไรเกี่ยวกับอาณาจักรซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และทีเลสเชียล? กิจกรรมเหล่านี้อาจช่วยได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนบนกระดานว่า ซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และ ทีเลสเชียล ช่วยเด็กเรียนรู้ที่จะพูดคำเหล่านี้

  • ให้ดูภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว เชิญชวนให้เด็กจัดลำดับจากสว่างที่สุดไปยังสว่างน้อยที่สุด อ่าน 1 โครินธ์ 15:40–41 ให้เด็กฟัง (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ ใน คู่มือพระคัมภีร์ ด้วย) อธิบายว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวแสดงถึงอาณาจักรที่เราจะอาศัยอยู่หลังจากฟื้นคืนชีวิต ในอาณาจักรซีเลสเชียล เราจะได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์

  • ให้สำเนาหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้กับเด็กเพื่อระบายสี ขณะที่พวกเขาระบายสี เล่าความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อให้พวกเราสามารถอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ได้อีกครั้ง

ภาพ
ดวงอาทิตย์ขึ้น

“รัศมี​ของ​ดวง‍อา‌ทิตย์​ก็​อย่าง​หนึ่ง” (1 โครินธ์ 15:41)

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

1 โครินธ์ 15:12–22

เพราะพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ฉันจะฟื้นคืนชีวิต

เด็กที่ท่านสอนเข้าใจความสำคัญของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์หรือไม่? แนวคิดเหล่านี้อาจช่วยได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันอ่านแต่ละข้อใน 1 โครินธ์ 15:12–22 มองหาคำตอบของคำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีการฟื้นคืนชีวิต?”

  • เชื้อเชิญให้เด็กแสดงบทบาทสมมุติว่าจะอธิบายเรื่องการฟื้นคืนชีวิตให้บางคนเข้าใจอย่างไร สำหรับแนวคิด พวกเขาสามารถทบทวนเพลงเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “พระเยซูทรงฟื้นขึ้นจริงไหม?” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 45) แสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์

1 โครินธ์ 15:12–13, 20–22, 29

ฉันสามารถเตรียมตัวไปพระวิหารเพื่อรับบัพติศมาแทนคนตาย

บัพติศมาแทนคนตายเป็นงานอันน่าปีติยินดีของความรักในนามบรรพชนของเรา ท่านจะช่วยให้เด็กเตรียมตัวมีส่วนร่วมในงานนี้ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 โครินธ์ 15:29 วิสุทธิชนในสมัยของเปาโลทำอะไรที่เราก็ทำเหมือนกันในสมัยนี้? ถามเด็กว่าทำไมเราจึงรับบัพติศมาแทนคนตาย หากจำเป็น อธิบายว่าบรรพชนของเราหลายคนไม่มีโอกาสรับบัพติศมาและการยืนยันในช่วงชีวิตนี้ ในพระวิหาร เราสามารถรับบัพติศมาและการยืนยันแทนพวกเขาได้

  • สองสามวันก่อนชั้นเรียน ให้พ่อหรือแม่เด็กคนหนึ่งช่วยลูกเตรียมมาแบ่งปันสาแหรกครอบครัวหรือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพชนคนหนึ่ง ท่านอาจจะแบ่งปันเรื่องราวบรรพชนของท่านด้วย

  • เชิญสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือเยาวชนในวอร์ดของท่านมาแบ่งปันบางสิ่งที่เด็กจะทำได้เพื่อเตรียมเข้าพระวิหาร ขอให้เด็กเพิ่มแนวคิดของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งเขาจะไปพระวิหาร

1 โครินธ์ 15:40–41

หลังจากฉันฟื้นคืนชีวิต ฉันสามารถอยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล

เพื่อสอนชาวโครินธ์เกี่ยวกับร่างกายที่เราจะได้รับในการฟื้นคืนพระชนม์ เปาโลกล่าวถึงรัศมีภาพสามระดับ: ซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และทีเลสเชียล

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 โครินธ์ 15:40–41 และเชิญเด็กคนหนึ่งมาวาดรูปดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวบนกระดาน ขอให้สมาชิกชั้นเรียนระบุว่าร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตแล้วแบบไหนที่แสดงถึงภาพวาดแต่ละภาพ

  • ร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับหัวข้อนี้ เช่น “พระเจ้าประทานพระวิหารให้ฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 73) เพลงนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการเตรียมตัวไปอยู่ในรัศมีภาพซีเลสเชียล?

  • อธิบายว่าโจเซฟ สมิธได้รับนิมิตซึ่งท่านเห็นอาณาจักรทั้งสามตรงกับชนิดของร่างกายที่เปาโลบรรยายไว้ ช่วยเด็กหาวลีจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:50–53, 70; 76:71–79; 76:81–82 ที่บรรยายถึงอาณาจักรทั้งสามเหล่านี้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กขอพ่อแม่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพชนคนหนึ่งของพวกเขา พวกเขาอาจเล่าเรื่องราวให้ชั้นเรียนฟังในสัปดาห์หน้า

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้เด็กถามคำถาม “พยายามมองว่าคำถามของ [เด็กๆ] เป็นโอกาส ไม่ใช่สิ่งรบกวนหรืออุปสรรคต่อบทเรียนของท่าน … คำถามเช่นนั้นจะให้ความเข้าใจที่มีค่าแก่ท่านว่าเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ พวกเขากังวลเรื่องอะไร และพวกเขาตอบรับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้อย่างไร ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าคำตอบต่อคำถามของพวกเขาจะพบได้ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)