พันธสัญญาใหม่ 2023
11–17 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: “​ให้​คืน‍ดี​กับ​พระ‍เจ้า”


“11–17 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: ‘​ให้คืน‍ดี​กับ​พระ‍เจ้า,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“11–17 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
พระเยซูคริสต์

11–17 กันยายน

2 โครินธ์ 1–7

“​ให้​คืน‍ดี​กับ​พระ‍เจ้า”

เริ่มการเตรียมของท่านโดยอ่าน 2 โครินธ์ 1–7  จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว สามารถช่วยท่านศึกษาบทเหล่านี้ และโครงร่างนี้จะให้แนวคิดการสอนแก่ท่านได้

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เด็กบางคนในชั้นเรียนของท่านอาจเขียนจดหมายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับวิธีที่สมาชิกในครอบครัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) หากพวกเขาทำ ขอพวกเขาล่วงหน้าให้มาแบ่งปันจดหมายในชั้นเรียน หรือขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขาเรียนรู้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

2 โครินธ์ 1:3–4

พระบิดาบนสวรรค์ทรงปลอบโยนฉัน และฉันสามารถปลอบโยนผู้อื่นได้

ท่านจะทำให้เด็กมั่นใจได้อย่างไรว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงปลอบโยนพวกเขา? ท่านจะกระตุ้นให้พวกเขาปลอบโยนผู้อื่นได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูสิ่งของที่ให้การปลอบโยนหรือความสบาย เช่น ผ้าห่มหรือผ้าพันแผล ถามเด็กว่าสิ่งใดทำให้พวกเขาสบายใจเมื่อพวกเขาเศร้าหรือกลัวหรือมีปัญหาอื่นๆ อ่าน 2 โครินธ์ 1:3–4 กับเด็ก และอธิบายว่า “ความยากลำบาก” คืออีกคำหนึ่งสำหรับปัญหาที่แก้ไขยาก แบ่งปันวิธีบางอย่างซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ทรงปลอบโยนท่าน และเป็นพยานว่าพระองค์จะทรงปลอบโยนเด็กๆ เช่นกัน

  • ให้ดูภาพผู้คนรับบัพติศมา (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 103–104) ขณะที่ท่านอ่าน 2 โครินธ์ 1:4 ให้เด็กฟัง อธิบายว่าเมื่อเรารับบัพติศมา เราสัญญาที่จะปลอบโยนผู้อื่น เราจะทำตามคำแนะนำของเปาโลให้ “หนุน‍ใจ​คน​ทั้ง‍หลาย ที่​มี​ความ​ยาก‍ลำ‌บาก​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​” ได้อย่างไร?

2 โครินธ์ 2:7–8, 10

ฉันสามารถให้อภัยผู้อื่น

เลือกกิจกรรมหนึ่งต่อไปนี้—หรือคิดขึ้นมาเอง—เพื่อช่วยเสริมสร้างความปรารถนาให้เด็กให้อภัยผู้อื่น

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายให้เด็กๆ ฟังว่าเปาโลต้องการให้วิสุทธิชนชาวโครินธ์ให้อภัยชายคนหนึ่งที่ทำบาป อ่าน 2 โครินธ์ 2:7–8, 10 และเชื้อเชิญให้เด็กวางมือบนหัวใจของพวกเขาทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า ยกโทษ

  • เชื้อเชิญให้เด็กแสดงบทบาทสมมุติวิธีที่พวกเขาสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มีบางคนทำบางสิ่งที่ไม่มีเมตตา ให้พวกเขาผลัดกันบอกว่า “ฉันขอโทษ” และ “ฉันยกโทษให้เธอ” เราจะช่วยให้ผู้อื่นรู้ได้อย่างไรว่าเราให้อภัยพวกเขาแล้ว? อธิบายว่าวิธีหนึ่งคือ “ยืนยันความรัก” หรือแสดงความรักต่อพวกเขา (2 โครินธ์ 2:8)

2 โครินธ์ 4:1–2

ฉันเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์

เปาโลสอนว่าผู้รับใช้ของพระคริสต์ “ได้ละ‍ทิ้ง​การ​กระ‌ทำ​ต่างๆ ที่​แอบ​แฝง​และ​น่า‍อับอาย​ไป​แล้ว” พิจารณาวิธีที่ท่านสามารถเสริมสร้างความปรารถนาของเด็กให้มีความซื่อสัตย์ในทุกเรื่อง

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กท่องจำวลี “เราเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์” (หลักแห่งความเชื่อ 1:13) เขียนประโยคนี้บนกำไลข้อมือกระดาษที่เด็กสามารถตกแต่งและสวมได้ อธิบายว่าการเป็นคนซื่อสัตย์หมายรวมถึงการพูดความจริง

  • ขอให้เด็กยกมือขึ้นเมื่อท่านพูดบางสิ่งที่เป็นความจริงและเอามือลงเมื่อท่านพูดบางสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ใช้ข้อความที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนเช่น “วันนี้เป็นวันอาทิตย์” หรือ “ฉันมีจมูกสามจมูก” ทำกิจกรรมซ้ำสองสามครั้ง ให้เด็กผลัดกันเป็นคนพูดประโยคที่จริงและเท็จ เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราพูดความจริง?

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

2 โครินธ์ 1:3–4

พระบิดาบนสวรรค์ทรงปลอบโยนฉัน และฉันสามารถปลอบโยนผู้อื่นได้

การจำได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงปลอบโยนเราอย่างไรสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราปลอบโยนผู้อื่น

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขณะที่ท่านอ่าน 2 โครินธ์ 1:3–4 ขอให้เด็กฟังคำตอบของคำถามที่ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงทำอะไรเพื่อเรา?” ช่วยเด็กเขียนรายการวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปลอบโยนเรา เชื้อเชิญเด็กแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาเศร้าหรือกังวลหรือกลัวและพระผู้เป็นเจ้าทรงปลอบโยนพวกเขา

  • เชิญเด็กมาแบ่งปันวิธีที่เราสามารถรักษาพันธสัญญาบัพติศมาเพื่อปลอบโยนผู้อื่น (ดู โมไซยาห์ 18:9) ให้เวลาพวกเขานึกถึงใครบางคนที่พวกเขารู้ว่าต้องการการปลอบโยนและวางแผนช่วยเหลือบุคคลนั้น

2 โครินธ์ 2:5–11

ฉันสามารถให้อภัยผู้อื่น

อาจเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยคนที่ทำไม่ดีต่อเรา แต่เด็กที่ท่านสอนจะประสบกับความรัก สันติสุข และความสุขขณะที่พวกเขาเรียนรู้ที่จะให้อภัย

กิจกรรมที่ทำได้

  • บอกเด็กว่ามีบางคนในกรุงโครินธ์ทำบาปและ “ทำให้เกิดความทุกข์โศก” สำหรับวิสุทธิชน (ดู 2 โครินธ์ 2:5) ขอให้เด็กค้นคว้า 2 โครินธ์ 2:7–8 เพื่อหาสิ่งที่เปาโลต้องการให้วิสุทธิชนทำ

  • แบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านให้อภัยใครบางคน—หรือใครบางคนให้อภัยท่าน—และอธิบายว่าท่านรู้สึกอย่างไรหลังจากนั้น เชื้อเชิญให้เด็กเล่าประสบการณ์การให้อภัยของพวกเขาด้วย

2 โครินธ์ 5:6–7

ฉัน “ดำ‌เนิน​โดย​ความ​เชื่อ ไม่​ใช่​โดย​สิ่ง​ที่​มอง‍เห็น”

พิจารณาวิธีที่ท่านจะกระตุ้นให้เด็กรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าได้แม้เมื่อพวกเขาไม่เห็นพรที่พวกเขาปรารถนาในทันที

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 2 โครินธ์ 5:6–7 และ แอลมา 32:21 กับเด็ก ขอให้พวกเขามองหาคำและวลีที่ช่วยอธิบายว่าศรัทธาคืออะไร ขอให้พวกเขาเขียนคำจำกัดความและแบ่งปันกัน

  • เชื้อเชิญให้เด็กคนหนึ่งหลับตาและขอให้เด็กคนอื่นๆ บอกทิศทางเพื่อช่วยให้เขาทำภารกิจอย่างหนึ่งให้สำเร็จ เช่น การสร้างหอสูงด้วยตัวต่อหรือการเดินจากฝั่งหนึ่งของห้องไปยังอีกฝั่งหนึ่ง กิจกรรมนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า “ดำ‌เนิน​โดย​ความ​เชื่อ (ศรัทธา)” ในพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร?

  • แบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านเดินด้วยศรัทธาและกระตุ้นให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์

2 โครินธ์ 7:8–10

ความ​เสีย‍ใจ​ตาม​พระ‍ประ‌สงค์​ของ​พระ‍เจ้านำฉันไปสู่การกลับใจ

เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกละอายหรืออึดอัดใจเมื่อเราถูกจับได้ว่ากำลังทำผิด ช่วยให้เด็กแยกแยะความรู้สึกเหล่านี้จากความ​เสีย‍ใจ​ตาม​พระ‍ประ‌สงค์​ของ​พระ‍เจ้า ซึ่งนำไปสู่การกลับใจ

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายว่าใน 2 โครินธ์ 7:8–10 เปาโลอ้างถึงจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านเคยเขียนไปหาวิสุทธิชน เตือนพวกเขาอย่างองอาจเกี่ยวกับบาปของพวกเขา อ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน เหตุใดเปาโลดีใจที่วิสุทธิชนรู้สึกเสียใจ? ชี้ให้เห็นว่าการเสียใจแบบนี้เรียกว่าความ​เสีย‍ใจ​ตาม​พระ‍ประ‌สงค์​ของ​พระ‍เจ้า

  • ขอให้เด็กนึกถึงครั้งหนึ่งที่พวกเขาทำผิดและรู้สึกแย่ เชิญชวนให้พวกเขาถามตนเองว่า “ทำไมฉันจึงรู้สึกแย่?” แล้วแบ่งปันคำตอบของพวกเขา เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน (เช่น “ฉันกลัวว่าจะมีปัญหา” หรือ “ฉันรู้ว่าฉันทำให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงผิดหวัง” หรือ “ฉันทำให้ใครคนหนึ่งร้องไห้”) คำตอบไหนบนกระดานที่ดูเหมือนเป็น “ความ​เสีย‍ใจ​ตาม​พระ‍ประ‌สงค์​ของ​พระ‍เจ้า”? (2 โครินธ์ 7:10) เหตุใดความ​เสีย‍ใจ​ตาม​พระ‍ประ‌สงค์​ของ​พระ‍เจ้าจึงดีกว่าความเสียใจแบบอื่นๆ ที่เราจะรู้สึกได้เมื่อทำผิด?

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกิจกรรมหนึ่งอย่างจากชั้นเรียนวันนี้กับครอบครัวของตน อาจจะเป็นระหว่างการสังสรรค์ในครอบครัว

ปรับปรุงการสอนของเรา

ให้ดูข้อพระคัมภีร์ เลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่ท่านพบว่ามีความหมาย แล้วติดไว้ในห้องเรียนของท่านซึ่งเด็กจะมองเห็นบ่อยๆ บางทีอาจให้เด็กผลัดกันเลือกข้อพระคัมภีร์ที่จะติด