หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
28 ธันวาคม–3 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 1: “จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน”


“28 ธันวาคม–3 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 1: ‘จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“28 ธันวาคม–3 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 1” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021

ภาพ
ครอบครัวกำลังอ่านพระคัมภีร์

28 ธันวาคม–3 มกราคม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1

“จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน”

ขั้นแรกในการเตรียมสอนของท่านควรจะเป็นการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 1 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ขณะศึกษา ให้ฟังการกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับความต้องการของเด็กๆ และมองหาหลักธรรมที่จะมีความหมายต่อพวกเขา การกระตุ้นเตือนเหล่านี้จะช่วยให้ท่านวางแผนกิจกรรมที่มีความหมายเพื่อสอนหลักธรรมเหล่านี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ชูพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา และขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์เล่มนี้ ใครเขียน? ในนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง? เหตุใดจึงสำคัญ? เพื่อช่วยตอบคำถาม ท่านอาจจะให้อ่าน “บทที่ 23: หลักคำสอนและพันธสัญญา” (เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา หน้า 90–92) พูดถึงความรักที่ท่านมีต่อพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและความกระตือรือร้นของท่านที่จะเรียนรู้จากพระคัมภีร์ดังกล่าวปีนี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4

พระเจ้าทรงเตือนเราให้รู้อันตรายทางวิญญาณผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

พระเจ้าทรงประกาศว่าสุรเสียงของพระองค์เป็น “เสียงเตือน” ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กฟังและเชื่อฟังคำเตือนที่พระองค์ประทานอย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กถือภาพป้ายเตือน—อาทิ ภัยจราจร สภาพอากาศเลวร้าย หรือยาพิษ—และพูดคุยกันว่าป้ายเหล่านั้นเตือนเราให้รู้ถึงอันตรายอย่างไร หรือเล่าเรื่องเมื่อครั้งท่านเชื่อฟังคำเตือน เปรียบเทียบคำเตือนเหล่านี้กับคำเตือนที่พระเจ้าประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ เป็นพยานว่าพระองค์ทรงเตือนเราเพราะทรงรักเราและทรงต้องการให้เราปลอดภัย (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ด้วย)

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4 ให้เด็กฟัง: “และเสียงเตือนจะมาถึงผู้คนทั้งปวง” แบ่งปันบางอย่างที่ศาสดาพยากรณ์สอนเมื่อเร็วๆ นี้ที่สามารถทำให้เราปลอดภัย ให้ดูภาพที่เกี่ยวข้องหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ พูดคุยกันว่าท่านกำลังทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17, 29

โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อท่านและเด็กเริ่มศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา จงช่วยพวกเขาสร้างประจักษ์พยานของตนเกี่ยวกับการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของโจเซฟ สมิธ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (ดู จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว; ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 87 ด้วย) ขอให้เด็กยืนข้างๆ ภาพนั้นและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ

  • ให้เด็กถือภาพพระผู้ช่วยให้รอดและภาพโจเซฟ สมิธ พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เราผ่านโจเซฟ สมิธ เช่น พระบัญญัติ (ดู ข้อ 17) และพระคัมภีร์มอรมอน (ดู ข้อ 29) บอกเด็กว่าในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาพวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่ศาสนจักรผ่านโจเซฟ สมิธ

  • แบ่งปันความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ และเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรง “เรียกหาผู้รับใช้ของเรา โจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, และพูดกับเขาจากสวรรค์” (ข้อ 17)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38

ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

เด็กที่ท่านสอนอาจเคยได้ยินประธานศาสนจักรกล่าว แต่พวกเขาอาจไม่ตระหนักว่าถ้อยคำเหล่านั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่นเกมง่ายๆ โดยบอกวิธีเล่นกับเด็กคนหนึ่งและขอให้เขาพูดทวนวิธีเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าการทำตามวิธีเล่นของเด็กคนนั้นก็เหมือนกับการทำตามวิธีเล่นของท่านและการทำตามศาสดาพยากรณ์เหมือนกับการทำตามพระเจ้า อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38 บรรทัดสุดท้ายให้เด็กฟัง: “ไม่ว่าโดยเสียงของเราเอง หรือโดยเสียงของผู้รับใช้ทั้งหลายของเรา, ก็เหมือนกัน”

  • ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ เช่นข้อสุดท้ายของเพลง “ทำตามศาสดา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 58–59) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าศาสดาพยากรณ์พูดพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

  • ให้ดูภาพ ฟังเทปบันทึกเสียง หรือดูคลิปวีดิทัศน์ของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าศาสดาพยากรณ์บอกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เรารู้ เชิญเด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์

    ภาพ
    ภาคการประชุมใหญ่สามัญ

    ศาสดาพยากรณ์สอนสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เรารู้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:15–17, 29–30

พระเจ้าทรงทราบความท้าทายที่เราจะประสบ ด้วยเหตุนี้จึงทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านโจเซฟ สมิธ

ท่านสามารถช่วยให้เด็กเตรียมรับความท้าทายในอนาคตโดยสอนพวกเขาว่าการฟื้นฟูพระกิตติคุณให้ความคุ้มครองทางวิญญาณอย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กคิดถึงปัญหาบางอย่างในโลกทุกวันนี้ ทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:15–16 กับพวกเขา และช่วยพวกเขาระบุปัญหาบางอย่างที่พระเจ้าทรงพยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้น เชื้อเชิญให้พวกเขาค้นหาใน ข้อ 17 และ 29–30 เพื่อดูว่าพระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อช่วยเราเผชิญความท้าทายในสมัยของเรา

  • ขอให้เด็กสมมติว่าพวกเขากำลังเตรียมตัวเดินทาง พวกเขาจะเก็บอะไรลงกระเป๋า? การที่พวกเขารู้ว่าฝนจะตกระหว่างการเดินทางหรือรถจะยางแบนจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร? อ่าน ข้อ 17 ด้วยกันและสนทนาว่าพระเจ้าทรงทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นและพระองค์ทรงเตรียมอย่างไร (หากจำเป็นให้อธิบายว่า “ภัยพิบัติ” คือความพินาศหรือเรื่องร้ายๆ) พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเรารับมือกับความท้าทายในสมัยของเราอย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:30

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็น “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่” ของพระเจ้า

ท่านจะช่วยให้เด็กๆ ชื่นชมพรมากมายของการเป็นสมาชิก “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่แห่งเดียว” ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กเขียนรายชื่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตบางอย่าง (หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้นำภาพหรือตัวอย่างของสิ่งนั้นมา) อะไรคือความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต? อ่าน ข้อ 30 ด้วยกัน ศาสนจักรที่ “แท้จริง” ศาสนจักรที่ “ดำรงอยู่” ​หมายความว่าอย่างไร?

  • ให้ดูภาพ เช่น ภาพวาดพระผู้ช่วยให้รอด และขอให้เด็กบรรยายภาพขณะปิดไฟในห้อง ใช้กิจกรรมนี้ช่วยให้เด็กเห็นว่าสำหรับคนจำนวนมาก ศาสนจักรที่แท้จริงของพระผู้ช่วยให้รอดอยู่ใน “การปิดบัง” และ “ความมืด” เราจะช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรได้อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:37–38

พระคำของพระเจ้าคงอยู่ตลอดไป

ท่านสามารถช่วยเด็กสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยสอนพวกเขาว่าพระวจนะของพระองค์แน่นอนและเชื่อถือได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กเปรียบเทียบสิ่งที่อยู่ชั่วคราวอย่างเช่นฟองสบู่หรือเกล็ดหิมะกับสิ่งที่อยู่ถาวรอย่างเช่นภูเขาหรือดวงอาทิตย์ ขอให้พวกเขาหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าอยู่ถาวรใน ข้อ 37–38 เหตุใดการรู้ว่าพระคำของพระผู้เป็นเจ้า “จะไม่สูญสิ้นไป” จึงเป็นพร?

  • ช่วยให้เด็กเข้าใจว่า “เสียงของผู้รับใช้ทั้งหลายของเรา” ได้แก่เสียงของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ของเรา ช่วยเด็กหา “คำพยากรณ์และสัญญา” ในคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดโดยผู้รับใช้คนหนึ่งของพระเจ้า แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าถ้อยคำเหล่านี้ได้รับการดลใจจากพระเจ้าและ “จะเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด”

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้วันนี้กับเด็ก และเชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกหนึ่งเรื่องที่รู้สึกว่าทุกคนควรรู้ กระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันเรื่องนั้นกับเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กเรียนรู้หลายวิธี “เด็กทุกคนไม่เหมือนกัน และแต่ละคนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ความพยายามของท่านในการสอนเด็กจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อท่านใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย” อาทิ เรื่องเล่า โสตทัศนอุปกรณ์ และเพลง (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25)